FASHION
ย้อนรอยแฟชั่นสุดอู้ฟู่ของราชวงศ์ฝรั่งเศส เมื่อความฟุ้งเฟ้อนำไปสู่การปฏิวัติ 1789ความฟุ่มเฟือยพุ่งไปถึงขีดสุด ขนาดที่ว่าพระนางมารี อ็องตัวแนตต์ ลงทุนใช้เรือไม้อันเป็นเครื่องเรือนมาใช้ประดับไว้บนผมที่สูงกว่า 60 เซนติเมตร! |
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า วันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศฝรั่งเศสที่ถูกปักหมุดหมายเอาไว้ด้วยเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชาติฝรั่งเศส และทั่วภาคพื้นยุโรป นั่นคือเหตุการณ์ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” และก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอีกนั่นแหละว่า “เพราะเหตุใด” จึงลากพาให้ฝรั่งเศสไปถึงจุดนั้นได้ในปี 1789 หนึ่งในเหตุผลสำคัญ และเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มิอาจปฏิเสธได้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นความโกรธเคืองของประชาชนที่มีต่อความอู้ฟู่ ร่ำรวย และสุรุ่ยสุร่าย ของสำนักพระราชวังฝรั่งเศสในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างเหตุผลของการเขียนประวัติศาสตร์การปฏิวัติให้เกิดความชอบธรรม สะท้อนให้เห็นถึงภาพของประชาชนนอกรั้ววังที่มีชีวิตแสนแร้นแค้น อดอยาก และถูกขูดรีดภาษีอย่างหนักหน่วง แตกต่างจากภาพของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ฝรั่งเศสในรั้ววังโดยสิ้นเชิง ...ทว่า “ความอู้ฟู่” เกินพอดีที่ว่านั่นล่ะ เป็นแบบไหนกัน และจะมีสักกี่คนที่จะนึกออกว่า การใช้ชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16, พระนางมารี อ็องตัวแนตต์ ไปจนถึงเหล่าขุนนางในยุคนั้น หรือก่อนหน้านั้น พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ครั้งนี้โว้กจึงขอพาทุกคนไปสำรวจไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ฝรั่งเศสในยุคปฏิวัติที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง
รายละเอียดงานศิลปะ และงานตกแต่งในสไตล์ "Rococo" ที่ปรากฏอยู่ในตัวพระราชวังแวร์ซายส์
สำหรับราชสำนักฝรั่งเศสแล้ว ในช่วงศตวรรษที่ 17 ถือว่าเป็นปีทองที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคนสำคัญของภาคพื้นทวีปยุโรปเลยก็ว่าได้ ไล่เรียงตั้งแต่สมัยการปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระมหากษัตริย์ผู้มีบัญชาการให้ก่อสร้างพระราชวังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง Le Versailles หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันในชื่อของ "พระราชวังแวร์ซายส์" ซึ่งยังเป็นจุดกำเนิดของสถาปัตยกรรมการจัดสวนแบบรูปทรงเรขาคณิต ที่ต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาติฝรั่งเศสไปโดยปริยาย หรือกระทั่งการก่อกำเนิดของศิลปะแบบ “Rococo” แสดงให้เห็นผ่านข้าวของเครื่องใช้ในราชสำนัก ไม่ว่าจะเป็นผนัง เครื่องเรือน หรือเครื่องประดับ ที่จะได้รับการออกแบบให้มีความกลมกลืน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายในห้องต่างๆ จะได้รับการตกแต่งที่เต็มไปด้วยเครื่องเรือนหรูหรา รูปปั้นขนาดเล็ก ไปจนถึงภาพเขียน หรือกระจกก็จะมีกรอบทองเป็นลวดลายโอบล้อมอยู่ ซึ่งรวมไปถึงของตกแต่งอย่างพรมแขวนผนังด้วย แน่นอนว่าความยิ่งใหญ่ของแวร์ซายส์เองก็คือภาพสะท้อนสำคัญถึงศิลปะการใช้ชีวิตอันละเมียดละไมบนกองเงินกองทองของเหล่าขุนนาง และสมาชิกราชวงศ์แห่งประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้น จนไม่อาจมีใครคาดคิดมาก่อนเลยว่าหุบเหวที่รออยู่เบื้องหน้ามันจะโหดร้ายได้ถึงเพียงนี้
1 / 5
2 / 5
3 / 5
4 / 5
5 / 5
WATCH
กระนั้นความหรูหราฟู่ฟ่าก่อนยุคสมัยแห่งการปฏิวัตเพียงไม่กี่ปี ก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่มิติของสถาปัตยกรรม หรือการตกแต่งพระราชวังเท่านั้น หากการแต่งกายก็นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างอิงทางประวัติศาสตร์ถึงความฟุ่มเฟือยของเหล่าสมาชิกของราชสำนักฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ดังที่สายแฟ(ชั่น)หลายคนคุ้นเคยกับภาพวาดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มการสวมวิกศรีษะ และใส่ส้นสูง ที่นอกจากจะช่วยในเรื่องของส่วนสูงของพระองค์อย่างที่ปรากฏบนหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ชนชั้น และความหรูหรา เกินความจำเป็นกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึงได้ ถัดมาในยุคสมัยอันแสนสั้นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มาดาม เดอ ปงปาดูร์ พระสนมเอกยังได้ยกระดับความหรูหราของชนชั้นสูงในฝรั่งเศสให้ถึงขีดสุดด้วยการกว้านซื้อ “น้ำหอม” มาใช้ดับกลิ่นตัว จนกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในเวลานั้น หรือกระทั่งการให้กำเนิดเทรนด์เสื้อคลุมยาว ที่รู้จักกันในชื่อ Robe à la Française อีกด้วย แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนเดือดดาลจนถึงขีดสุด กระทั่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติในปี 1789 ก็คงจะเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับชื่อของสตรีที่เราคุ้นหูอย่าง พระนางมารี อ็องตัวแนตต์
จริงๆ แล้วจะโทษพระนางมารี อ็องตัวแนตต์ ในเรื่องความฟุ่มเฟือยเสียผู้เดียวก็ดูจะไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ เพราะวัฒนธรรมความฟุ่มเฟือยได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วก่อนหน้า ดังที่ยกตัวอย่างให้ได้อ่านกันไปเพลินๆ ข้างต้น แต่ก็นั่นแหละ... อย่างที่ใครเขาว่าไว้ “กาลเทศะ” ก็เป็นเรื่องสำคัญ การเลือกรับไม้ต่อวัฒนธรรมหรูหราเกินพอดีมาห่อหุ้มร่างกายในห้วงเวลาที่ชาติกำลังเผชิญกับสภาวะล้มละลาย กอปรกับชาวบ้านร้านตลาดนอกรั้ววังกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเช่นกัน ความฟุ่มเฟือยเกินความคาดหมายแสดงออกผ่านการแต่งตัวของพระนางอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรงผมบนศีรษะของสตรีในรั้ววังให้มีความสูงมากถึงกว่า 24 นิ้ว พร้อมประดับประดาไปด้วยดอกไม้, เครื่องประดับจิวเวลรี, เครื่องเรือน หรือสัตว์สต๊าฟ เพียงเพื่อใช้โอ้อวดกันในราชสำนัก หรือกระทั่งการใช้เงินภาษีที่ขุดรีดมาจากประชาชนอย่างสุรุ่ยสุร่ายต่อเติมพระราชวัง และแสวงหาความสุขส่วนพระองค์โดยไม่จำเป็น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นฟืนที่เติมให้เชื้อไฟแห่งความโกรธเกรี้ยวของประชาชนโหมกระพือได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกระแสการปลดแอกระบอบกดขี่ของเหล่านักปราชญ์ยุโรปที่เข้ามามีบทบาทสำคัญทางความคิดของสังคมในเวลานั้น ก็ยิ่งเร่งให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในเวลาต่อมา
ภาพวาด Chemise à la reine โดยฝีมือการวาดของศิลปิน Élisabeth-Louise Vigée-Le Brun ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสมถะของพระนางมารี อ็องตัวแนตต์ ในชุดผ้าฝ้ายมัสลิน ที่ถูกครหาจากประชาชนไปทั่วเมือง
อย่างไรก็ตามเรื่องเล่าทั้งหมดที่ผู้เขียนสาธยายไปให้ผู้อ่านได้อ่านกันไปทั้งหมดข้างต้น ก็นับเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ราชสำนักฝรั่งเศสต้องเผชิญกับความล่มสลายในที่สุด แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะอ้างว่า พระนางมารี อ็องตัวแนตต์ พยายามปรับตัวเองตามข้อเรียกร้องของประชาชน ขนาดรับสั่งให้จิตรกรวาดภาพพระองค์ในชุดผ้าฝ้ายมัสลินแสนธรรมดา ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ที่กะท่อมปลายนาอย่าง Le Petit Trianon (เลอ เปอติ ทรีอานง) เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพความสมถะในชีวิตของพระนาง แต่นั่นก็คงจะสายเกินกาลเสียแล้ว เพราะภาพของประโปรงสุ่มตัดเย็บผ้าไหมอย่างดี, ทรงผมอลังการที่ถึงขนาดต้องฆ่าสัตว์มาเพื่อสต๊าฟไว้ ไปจนถึงเครื่องประดับอัญมณีเม็ดโต ก็ยังคงติดตาคนทั่วไปอย่างไม่อาจลืมเลือนได้ จวบจนลมหายใจสุดท้ายของพระนาง
ข้อมูล : www.townandcountrymag.com www.encyclopedia.com Wikipedia – King Louise XVI และ www.baanjomyut.com
WATCH