เปิดชีวิต Karl Lagerfeld สมัยวัยเด็กที่เคยเป็นตัวประหลาดในแถบชนบทและถูกมองเป็นพวกนาซี!
สุดยอดดีไซเนอร์ที่ไม่ได้สร้างแค่ตำนานเสื้อผ้า แต่เขาสร้างตำนานให้ตัวเองแบบไม่หยุดนิ่งมาเสมอ
“ตำนานไม่ใช่ตำนานสำหรับทุกที่เสมอไป” โคว้ตจากวงการกีฬา โคว้ตนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับสถานะตำนานของทุกแวดวง แน่นอนว่าบุคคลระดับตำนานต้องมีผลอย่างมากไม่ว่าจะด้านใดก็ด้านหนึ่ง สำหรับวงการแฟชั่นบุคคลระดับตำนานก็มีทั้งดีไซเนอร์ นางแบบ ดารา หรือแม้กระทั่งช่างภาพ ทุกคนมีความโดดเด่นของตัวเอง เรื่องราวชีวิตถ่ายทอดประสบการณ์เฉพาะ ยิ่งบุคคลอย่าง Karl Lagerfeld ที่ถือว่าเป็นตำนานระดับโลก เขาไม่ใช่แค่ไอคอนของคนแฟชั่นแต่ยังเป็นคนสำคัญของโลกเลยทีเดียว แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้สวยหรูถูกยอมรับเชิดชูมาตั้งแต่เด็ก วันนี้เรื่องราวการผิดแปลกจากสังคมและถูกเพ่งเล็งในเรื่องต่างๆ ของเขาในวัยเด็กจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้เลย
บรรยากาศเมืองชนบทของประเทศเยอรมันช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 / ภาพ: Old Germany
เราต่างเห็นเด็กน้อยในโรงเรียนมีปัญหากันทางความคิดแบบเด็กๆ ส่วนใหญ่สังคมแบบเสรีนิยมมักเปิดกว้างทางความคิดค่อนข้างมาก ในทางกลับกันสังคมอนุรักษ์นิยมตามวิถีเดิมมักมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เมื่อสปอตไลต์ลงเมื่อไหร่ก็ย่อมมีสายตาเพ่งเล็งด้วยเช่นกัน ประเด็นแรกจึงเป็นเรืองครอบครัวตอนวัยเด็กของคาร์ล ทั้ง Otto และ Elisabeth Lagerfeld พ่อและแม่ของเขาคือนักธุรกิจด้านอาหาร ฐานะร่ำรวย เหตุเกิดเมื่อพวกเขาอยู่ในแถบชนบทของเมืองฮัมบูร์ก เป้าสายตาคือสิ่งแรกที่ต้องเจอเพราะในบริเวณนั้นไม่มีนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการระดับสูงอยู่กันนัก ความแปลกตาและแตกต่างทางวัฒนธรรมของชนชั้น(ในสมัยก่อน) ทำให้ครอบครัวลาเกอร์เฟลด์โดดเด่นขึ้นทันที
โฉมหน้าของ Otto Lagerfeld พ่อของสุดยอดดีไซเนอร์ / ภาพ: Geni
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คาร์ลและครอบครัวตกเป็นเป้าสายตานอกจากสถานะคือเรื่องของสไตล์ เมื่อค้นหลักฐานหลายชุดจะพบว่าแม่ของคาร์ลเป็นเซลล์ขายเสื้อผ้าซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีสไตล์จัดจ้านกว่าเสื้อผ้าเน้นฟังก์ชั่นสำหรับคนตามชนบทยุคก่อน ความจัดจ้านที่สร้างขึ้นอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ยอมให้ความเรียบง่ายมากลืนกินกลิ่นอายความมีเซนส์ด้านนี้ของตัวเองและครอบครัวไป ถ้าจะพูดว่าครอบครัวเลเกอร์เฟลด์เป็นครอบครัวที่มีสไตล์ที่สุดครอบครัวหนึ่งในประวัติศาสตร์เมืองฮัมบูร์กก็อาจเรียกได้ไม่ผิดนัก
WATCH
Elisabeth Lagerfeld แม่อันเป็นที่รักของ Karl Lagerfeld / ภาพ: MyHeritage
ทว่าการเป็นคนมีสไตล์อาจไม่ใช่เรื่องราวที่ทำให้คนตั้งคำถามกับครอบครัวลาเกอร์เฟลด์ แต่กลับเป็นเรื่องความเห็นทางการเมืองเสียมากกว่า มีเอกสารหลายฉบับและข่าวมากมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันตั้งคำถามไปจนถึงขั้นกล่าวว่าครอบครัวนี้เป็นฟันเฟื่องอยู่ในพรรคนาซีเยอรมัน เรารู้กันดีว่านาซีสร้างวีรกรรมกระฉ่อนโลกอะไรไว้บ้างจากบันทึกประวัติศาสตร์(ซึ่งอาจจะมีการบันทึกเอนเอียงบ้างเพราะส่วนมากผู้ชนะมักเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์และซ่อนความโหดร้ายของฝั่งตนเสมอ) การที่ครอบครัวลาเกอร์เฟลด์ข้องเกี่ยวจึงเป็นเครื่องหมายคำถามสำคัญในประวัติศาสตร์แฟชั่น
Alfons Kaiser ผู้เขียนหนังสือประวัติ Karl Lagerfeld กับเจ้าของประวัติเอง / ภาพ: Der Mode Podcast
“พ่อแม่ไม่คุยกับคาร์ลเรื่องการเมือง” Alfon Kaiser ผู้เขียนหนังสือบันทึกประวัติชีวิตคาร์ลกล่าวถึงแนวทางการพูดคุยกันในบ้าน เริ่มกันที่ตัวคาร์ลกันก่อน ณ เวลาสงครามโลกก็ถือว่าคาร์ลยังเด็กมาก เด็กเกินกว่าจะมีส่วนสำคัญในเรื่องการเมือง แม้แต่ในบ้านเองก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนั้นที่จะเป็นสมาชิกพรรคนาซี เพราะการขับเคลื่อนเยอรมันพ้นจากวิกฤติสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ต้องให้เครดิตชายผู้อยู่ถือเป็นตัวร้ายของโลกอย่าง Adolf Hitler ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นคนดังในยุคนั้นก็มีแนวโน้มจะร่วมพรรคไม่น้อย แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญหรือรู้เรื่องราวแผนการของพรรคเท่าไรนัก คงไม่แปลกถ้าคาร์ลและครอบครัวจะถูกกล่าวถึงว่าเคยเป็นสมาชิก
ตัวอย่างหนุ่มน้อย 2 คนที่เข้าร่วมพรรคนาซีโดยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไตร่ตรองด้วยตัวเอง / ภาพ: The Wiener Holocaust Library
แต่ตามบันทึกคาร์ลไม่เคยร่วมพรรคนาซี และไม่เคยอยู่ในโครงการพัฒนาเยาวชนของนาซีเยอรมันเลยด้วยซ้ำ เรียกว่าตัวคาร์ลเองไม่เคยเข้าร่วมพรรคนาซีหรือถ้าร่วมขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกของสังคมยุคนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดเพราะแนวคิดต่างๆ ก็ลงล็อคกันไปตามยุคสมัย เราใช้แนวคิดของโลกยุคปัจจุบันไปเทียบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ต่างกันแล้วชิงตัดสินไม่ได้แน่นอน แม้จะมีภาพหลุดคาร์ลถือธงสวัสดิกะแต่สำหรับเด็ก 4 ขวบมันก็ไม่ได้สื่อความหมายว่าเขาผ่านการไตร่ตรองด้วยตัวเองหรือคิดถึงความเหมาะสมในองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแรกที่นาซีก็คือการรวมกลุ่มของคนชนชาติเยอรมัน ไม่ได้กระทำให้เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนไปทั้งหมดเสียทีเดียว
การบ่อนทำลายธุรกิจของชาวยิวโดยกองทัพนาซี ซึ่งถ้าเจ้าของธุรกิจไม่่ร่วมมือเป็นสมาชิกด้วยก็อาจเผชิญชะตากรรมเดียวกัน / ภาพ: Wiki Library
ส่วนพ่อเป็นนาซีอย่างเปิดเผย...หลายคนอาจจะสะอิดสะเอียนรังเกียจเหล่าสมาชิกพรรคนาซี แต่ต้องบอกว่าสถานการณ์ก็บีบบังคับกลุ่มคนเหล่านี้ไม่น้อย ยามสงคราม ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง อ็อตโต้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นสมาชิกเมื่อปี 1933 ถึง 1945 เหตุผลสำคัญที่อธิบายได้รวดเร็วที่สุดคือการอยู่รอดของธุรกิจ โดยส่วนใหญ่นักธุรกิจยุคนั้นเรียกว่ามีกฎเหล็กคือการเป็นสมาชิกของพรรคเลยก็ว่าได้ พ่อของคาร์ลจึงเข้าไปอยู่ในวังวนของพรรคแต่ไม่ได้มีหน้าที่สำคัญหรือข้องเกี่ยวกับสงครามแต่อย่างใด จะเรียกว่าการเอาตัวรอดของนักธุรกิจยุคนั้นก็ว่าได้ที่ยอมกลมกลืนไหลไปตามน้ำดีกว่าที่จะโดนน้ำซัดจนไม่เหลือชิ้นดี (บางข้อมูลอ้างว่าเจ้าของธุรกิจที่เป็นสมาชิกพรรคจะได้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเช่นแรงงานจากโปแลนด์ด้วย)
ภาพตัวอย่างความโหดร้ายลักษณะเดียวกันกับที่คาดการณ์ว่าแม่ของ Karl Lagerfeld รับไม่ได้กับกองทัพนาซี (ยูเครน, 1942) / ภาพ: The Times of Isarael
ฝั่งแม่มีรายงานแตกออกเป็น 2 ฝั่งคืออย่างแรกอลิซาเบธเคยเห็นว่าฮิตเลอร์มีอำนาจและความสามารถในการจัดการความวุ่นวายของเยอรมันให้กลับมาสงบเรียบร้อยและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลังเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เริ่มเห็นความโหดร้ายของนาซีช่วงการปราบคนยิวที่เธอเห็นเองกับตัว ณ เมืองฮัมบูร์กเธอจึงเริ่มสิ้นหวังจนแทบจะถอนตัวออกจากวังวนนี้ แต่ก็ไม่สละสถานะสมาชิกเพราะยังเกรงกลัวอยู่ ทว่าหลังจบสงครามกลับมีจดหมายของอลิซาเบธเองที่ระบุว่าเธอไม่เคยข้องเกี่ยวกับพรรคนาซีแต่อย่างใด มีเพียงอ็อตโต้สามีเธอเท่านั้นที่เข้าร่วมเพื่อการดำรงอยู่ของธุรกิจนมข้นดังที่กล่าวไปด้านบน
เด็กน้อยที่ชื่อ Karl Lagerfeld ในวัยเด็กกับโลกที่ไม่ได้สงบสุขสวยงามนัก / ภาพ: HEAVEN RAVEN
ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นการเล่าเรื่องราวในอดีตโดยพูดในปัจจุบัน กรอบความคิดบางอย่างอาจจะมีการมองโลกแบบดี-ชั่วและตัดสินไปก่อนเข้าใจบริบทสังคมอย่างลึกซึ้ง ถ้าจะถามว่าแปลกไหมก็ไม่แปลกนักสำหรับการเข้าพรรคนาซีในตอนนั้น และถามว่าแปลกไหมถ้าครอบครัวลาเกอร์เฟลด์จะเป็นตัวประหลาดก็ต้องบอกว่าไม่แปลก ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและความลื่นไหลทางวัฒนธรรมไม่ได้เดินทางไร้ขีดจำกัดแบบปัจจุบัน วัฒนธรรมหลักของสังคมนั้นๆ ยังคงใช้ตัดสินความผิดแปลกของบรรทัดฐาน ณ ที่นั้นๆ ไม่ใช่การมองโลกแบบอิสระแบบสมัยใหม่ ดังนั้นความล้มเหลวและน่าเบื่อหน่ายของเยอรมันในขณะนั้นเป็นอีกฟันเฟืองที่ทำให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ตัดสินใจย้ายมาอยู่ปารีสในเวลาต่อมา มุมมองความสวยงามจากแม่ หัวธุรกิจระดับแถวหน้าของคุณพ่อ หลอมรวมตัวตนคาร์ลได้เป็นอย่างดี
Karl Lagerfeld ช่วงวัยรุ่น ณ กรุงปารีส ช่วงเวลาที่ผ่านความพังพินาศของนาซีและประเทศเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่นานนัก / ภาพ: Kickshaw Productions
การอยู่รอดของครอบครัวเกิดจากการตัดสินใจที่เสียน้อยได้มาก แม้เขาจะโดนตราหน้าว่าเป็นตัวประหลาดของชุมชน แต่คาร์ลก็ดำเนินชิวิตด้วยความเป็นตัวเองเสมอมา ในวันที่ครอบครัวโดนกล่าวหาว่าเป็นนาซี พวกเขาไม่ได้ไม่ยอมรับ พวกเขายอมรับพร้อมกับสะท้อนให้เห็นว่าคนระดับหัวกะทิเลือกสิ่งที่ดีที่สุดตอนนั้นแล้ว จะเอาความรู้สึกหรือตรรกะปัจจุบันมาเปรียบปัจจัยในยุคก่อนคงไม่ใช่เรื่องถูกต้องแม่นยำเท่าไร สุดท้ายเราต้องตอบคำถามตัวเองว่าเรากำลังเหมารวมสมาชิกนาซีไปทั้งหมดหรือไม่ เราตีความคำว่านาซีผูกติดกับภาพจำของทหารอย่างเดียวหรือเปล่า และถ้านาซีย่ำแย่ไปทั้งหมดจริง เรายังจะมองคาร์ลและครอบครัวเป็นเทพเจ้าดีไซเนอร์คนเดิมอยู่หรือไม่ มีแต่คุณเท่านั้นที่จะตอบตัวคุณเอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการจากไปของคาร์ล เลเกอร์เฟลด์ เราจึงมอบงานชิ้นนี้ให้ทุกคนได้สัมผัสชีวิตอีกแง่มุมของคาร์ลกันสักครั้ง
ข้อมูล: WWD, Karl Lagerfeld, A German in Paris by Alfons Kaiser (2020), The Irish Times, Fashion United และ WIKI
WATCH