Dior and Japan History
FASHION

VOGUE HISTORY | ย้อนความสัมพันธ์ของ DIOR และประเทศญี่ปุ่น ที่ยาวนานกว่า 70 ปี!

รู้หรือไม่...Christian Dior คือกูตูริเยร์ฝั่งตะวันตกเจ้าแรกที่เดินทางไปทำการค้าอย่างจริงจังในดินแดนอาทิตย์อุทัย

     ท่ามกลางดอกซากุระที่ร่วงพรูสู่พื้น ณ บริเวณวัดโทจิ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏนางแบบหลายสิบชีวิตก้าวท้าวสลับกันออกมานำเสนอเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง ประจำปี 2025 ของแบรนด์ Dior ซึ่งบัดนี้ได้พาเหล่าสาวกแบรนด์และคนแฟชั่นกลับมาสู่ดินแดนอาทิตย์อุทัยอีกครั้ง เพื่อสดุดีและย้ำเตือนให้ทุกคนได้รับรู้ถึงหน้าสำคัญของปะวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง Christian Dior กับประเทศญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี ทั้งในแง่ของแรงบันดาลใจในการสร้างสรค์คอลเล็กชั่น เรื่อยไปจนถึงรสนิยมความชอบส่วนตัวของคริสเตียน ดิออร์ ซึ่งตัวของผู้ก่อตั้งแบรนด์เองถือเป็นสุดยอดแห่งความหลงใหล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานศิลปะและงานแกะสลักแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ขนาดที่ว่าบ้านของเขาในเมืองนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ยังประดับประดาไปด้วยภาพพิมพ์และสิ่งทอของ ที่คริสเตียน ดิออร์ ได้เขียนเอาไว้ในไดอารี่ของเขา โดยอ้างถึงชุดแผงบันไดในบ้านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินญี่ปุ่นอีกด้วย

     ความแน่นแฟ่นในความสัมพันธ์ของแบรนด์ Dior และประเทศญี่ปุ่นนั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1952 เมื่อครั้งได้โชว์ผลงานคอลเล็กชั่นประจำฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 1952 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีผลงานชุดเดรสที่ได้รับแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นโดยตรง อันได้แก่ ชุดเดรสชื่อ 'Tokyo' ก่อนที่ในปีต่อมา Dior ยังคงสานต่อแรงบันดาลใจจากแดนอาทิตย์อุทัยในจินตนาการด้วยชุดโอตกูตูร์ คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 1953 ในชื่อ 'Jardin Japonais' ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในชุดไอคอนิกที่ต้องถูกพูดถึงทุกครั้งเมื่อเล่าถึงประวัติศาสตร์ของแบรนด์ โดยในปี 1953 เองนั้น ที่ภาพความสัมพันธ์ของแบรนด์ Dior และประเทศญี่ปุ่นชัดเจนและเป็นความจริงมากขึ้นกว่าครั้งไหนๆ

     ในปี 1953 แบรนด์ Christian Dior กลายเป็นกูตูริเยร์ห้องเสื้อฝั่งตะวันตกเจ้าแรกที่เดินทางเข้าไปทําการค้าคอลเล็กชั่นของเขาอย่างจริงจังในญี่ปุ่น ด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าไดมารูและต่อมากับห้างสรรพสินค้าคาเนโบะ และในช่วงเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้น คอลเล็กชั่นโอต์กูตูร์ ประจำฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 1953 ก็ได้ถูกนําเสนอโดยนางแบบในหลายเมืองใหญ่ ทั้งในโตเกียว โอซาก้า เกียวโต และนาโกย่า ซึ่งนับเป็นการแสดงคอลเล็กชั่นครั้งแรกในญี่ปุ่นโดยแฟชั่นเฮาส์ของยุโรปก็ว่าได้ และหลังจากนั้นอีกเพียงแค่ 6 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างแฟชั่นเฮาส์ Dior และประเทศญี่ปุ่นก็ได้เดินทางไปสู่จุดสูงสุด เมื่อแบรนด์ Dior ได้รับการรับรองจากราชสำนักและรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เป็นห้องเสื้อในการสร้างสรรค์ชุดถึง 3 ชุดในงานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงมิจิโกะกับมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ ในปี 1959

 

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Vogue Thailand (@voguethailand)

     

     แม้ว่าจะผ่านพ้นยุคสมัยของ Christian Dior และถูกแทนที่ด้วยดีไซเนอร์ที่ดาหน้าเข้ามารับตำแหน่งกุมบังเหียนเป็นหัวเรือใหญ่ในเวลาต่อมานักต่อนัก แต่ทุกคนต่างก็ยังคงสานต่อความสัมพันธ์กับแดนอาทิตย์อุทัยบนหน้าประวัติศาสตร์ของดิออร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Marc Bohan ที่เคยเลือกกรุงโตเกียวและโอซาก้าเป็นสถานที่จัดโชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 1964, คอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2007 โดยฝีมือการสร้างสรรค์ของ John Galliano ที่ได้ออกแบบคอลเล็กชั่นสวยสะกดจนกลายเป็นที่จดจำของโลกแฟชั่น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากละครโอเปร่าเรื่อง'Madama Butterfly' นำเสนองานศิลปะญี่ปุ่นดั้งเดิมบนเครื่องแต่งกายที่มาพร้อมกับซิลูเอตโมเดิร์นอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนวัตกรรมใหม่บนโอริกามิ กิโมโน ภาพพิมพ์ไม้แกะสลักโฮคุไซ ผสมผสานกับการเลือกใช้พาเลตต์สีสะดุดตา ท่ามกลางฉากหลังเป็นดอกซากุระ ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในโชว์ที่ดีที่สุดของโลกแฟชั่นไปโดยปริยาย, ในเดือนเมษายน ปี 2017 คอลเล็กชั่นโอต์กูตูร์ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2017 ได้ถูกจัดแสดงขึ้นอีกครั้งในกรุงโตเกียว โดยมีการเพิ่มลุคเก้าลุคที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสําหรับโอกาสนี้โดยเฉพาะ โดย Maria Grazia Chiuri รวมถึงการตีความชุดเดรส 'Jardin Japonais' ในปี 1953 ใหม่ในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น เรื่อยไปจนถึง ในปี 2022 กับการเปิดบูติก House of Dior ในย่าน Ginza ที่เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการค้าขายในระยะยาวร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และครั้งล่าสุดในปี 2025 นี้...

     (ตามไปอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบรนด์ DIOR ได้ที่ เปิดกรณีศึกษา ‘Dior’ เมื่อแบรนด์ใช้เหล่าคนดังเป็นอาวุธชิ้นหลักในการต่อสู้สงครามการตลาดแฟชั่น)

ภาพ : Chris Moore/ Catwalking from Getty Images

WATCH