FASHION

ก้าวข้ามปีที่แสนทรมานจิตใจผ่านงานศิลป์ของ Saint Laurent กับการชนของความแตกต่างสุดขั้ว

เมื่อพูดถึงงานศิลปะอันงดงาม สิ่งแรกที่นึกถึงคงห่างไกลจากเรื่องราวของความทรมานที่เอามาวางคู่กันแล้วเป็นปฏิทรรศน์ที่ฟังดูบิดเบี้ยว แต่ดูเหมือนว่า Saint Laurent จะนำสิ่งที่มีความแตกต่างสุดขั้วนี้มาชนกันได้อย่างลงตัว

เมื่อพูดถึงงานศิลปะอันงดงาม สิ่งแรกที่นึกถึงคงห่างไกลจากเรื่องราวของความทรมานที่เอามาวางคู่กันแล้วเป็นปฏิทรรศน์ที่ฟังดูบิดเบี้ยว แต่ดูเหมือนว่า Saint Laurent จะนำสิ่งที่มีความแตกต่างสุดขั้วนี้มาชนกันได้อย่างลงตัวในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2021 นี้ ทั้งในแง่ของเสื้อผ้าและการเล่าเรื่องราว การปะทะกันของ 2 ขั้วตรงข้ามนี้เป็นสิ่งที่แบรนด์ทำได้ดีตลอดมาตั้งแต่ยุคของ Yves Saint Laurent ผู้ก่อตั้ง แต่ในคอลเล็กชั่นนี้ Anthony Vaccarello ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ใส่ตัวตนสมัยใหม่ลงไป

มู้ดทั้งหมดของคอลเล็กชั่นที่ชื่อ Where the Silver Wind Blows คือแรงปะทะ แต่เป็นพลังจู่โจมที่ทำงานกับความรู้สึกมากมายในหลายมิติ ตั้งแต่การนำเสนอเสื้อผ้าในภูมิทัศน์อันหนาวเหน็บ ปราศจากสีสัน โคจรมาเจอกับชิ้นสีสันฉูดฉาดที่เปี่ยมไปด้วยคาแร็กเตอร์ ราวแสงสะท้อนระยิบระยับแห่งความสุกใส ทุกชิ้นโดดเด่นเท่ากันหมด ไม่มีชิ้นใดกลายเป็นพื้นหลังส่งให้ชิ้นอื่นลับหายไป เกิดเป็นทัศนศิลป์ในระบบแฟชั่นที่สมบูรณ์แบบจนยากจะหาที่ติ

คอลเล็กชั่นนี้เปรียบเสมือนการสานต่อเจตนารมณ์ของแบรนด์ในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าให้สตรีผู้สวมใส่สง่างาม แต่ในขณะเดียวกันก็ฉีกขนบของความสง่าดังกล่าวจนขาดวิ่นด้วยกลิ่นอายความขบถ แจ็กเกตกลางคืนของหญิงสาวชาวแซ็งซึ่งครั้งหนึ่งเป็นลายเซ็นประจำแบรนด์ในทศวรรษ 1960 และเป็นไอเท็มที่สตรีโก้หร่านทั่วโลกต้องมีไว้ประจำตู้เสื้อผ้านำมาปรับใหม่โดยใช้พาเลตต์สีแห่งยุค 1980 คือสีม่วง โคบอลต์ แดงเพลิง ทอง และเขียวชาร์ทรูส์ ก่อนตัดแต่งซิลูเอตรูปทรงใหม่ให้เพรียวไหลลื่น และยืดชายเสื้อให้ยาวลงมาเสมอกับชายกระโปรงสั้นระดับมินิสเกิร์ต ซึ่งสั้นกุดเติมรสชาติเปรี้ยวจี๊ด...แต่ผลลัพธ์กลมกล่อม



WATCH




ไอเดียการทิ่มแทงทางแฟชั่นเพิ่มดีกรีด้วยรองเท้าส้นเข็มหัวแหลมสูง 6 นิ้วตกแต่งแผ่นเหล็กเมทัลลิกที่หัวรองเท้า ทั้งเงาวับและน่าหวั่นใจไปพร้อมๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดในตำนานยังถือเป็นของหวานสำหรับแอนโทนี่ แว็กคาเรลโลให้เขาเลือกหยิบงานวินเทจจากกรุเก่าของแบรนด์ เช่น หมวกขนสัตว์ แขนเสื้อและชายกระโปรงประดับขนสัตว์ มาเสริมเข้าไปในคอลเล็กชั่น ชัดเจนว่าความนุ่มชวนสัมผัสมีที่มาจากคอลเล็กชั่น Opéra-Ballet Russe ปลายยุค 1970 แน่นอน แต่แต่งแต้มด้วยสีสดใส ไม่ได้เป็นเฟอร์สีมืดขรึมเหมือนทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีรองเท้าบู๊ตทรงหลวมยาวถึงต้นขาไอเท็มเด็ดของแบรนด์ซึ่งหลุดมาจากคอลเล็กชั่นปี 1963 รวมไปถึงโช้กเกอร์ประดับใบโคลเวอร์นำโชค 4 แฉกอันเป็นสัญลักษณ์ของแผนกจิวเวลรีมาช้านาน

การชนโครมของสีสันเพื่อสร้างความรู้สึกกดดันในใจของผู้ชมสามารถย้อนแรงบันดาลใจกลับไปถึง Peaches ศิลปินป๊อปยุค 1990 เจ้าของบทเพลง F*** the Pain Away ที่ทำให้ชาว-อนุรักษนิยมต่างกระอักกระอ่วนใจ “เธอไม่ได้สวยตามขนบ” ดีไซเนอร์กล่าว “แต่ผมไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มันไม่น่าสนใจสำหรับผม” และการตีความที่สลายเส้นกั้นระหว่างความสง่างามกับความสุ่มเสี่ยงล่อแหลมนี่เองทำให้คอลเล็กชั่นนี้ทรงพลัง “ผมชอบเล่นกับเส้นขอบเขตพวกนั้นนะ การเดินอยู่บนเส้นกั้นระหว่างดีกับไม่ดีนี่เป็นอะไรที่ฝรั่งเศสมาก แฟชั่นไม่ควรเป็นเรื่องซีเรียส ยิ่งสำหรับตอนนี้ด้วยแล้ว เราควรจะสามารถหัวเราะให้กับชีวิตได้”

รันเวย์นี้นอกจากจะเป็นการฉีกขนบความงามสง่าแล้วยังเป็นการว่ายน้ำสวนทางกับเทรนด์ทศวรรษ 1920 ที่แบรนด์อื่นๆ คาดการณ์กันไว้ว่าต้องกลับมายิ่งใหญ่ “ผมทำเสื้อผ้าเพื่อตอบสนองปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไรผมไม่สามารถรู้ได้หรอก” แอนโทนี่อธิบาย “ผมอยากให้แซ็ง โลร็องมีความเบาและสนุกสนาน ชีวิตนี้จะเอาแต่ปาร์ตี้ตามบาร์อย่างเดียวไม่ได้หรอกนะ พอชีวิตแย่ก็สวมชุดนอนสีดำๆ มืดๆ แล้วพอชีวิตดีเราก็ค่อยใส่เสื้อผ้าเปรี้ยวๆ ไม่ได้หรอก หลังจากปีสองปีที่ผ่านมานี้เราจะกลับไปเป็นแบบนั้นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะสูญเสียทุกอย่างที่เราสร้างมา”

WATCH