FASHION

เมื่อองค์การนาซ่าส่ง 'ทีมหญิงล้วน' ไปอวกาศ เพื่อต่อจิ๊กซอว์ความเท่าเทียมทางเพศบนโลก

     หลังจากที่เหล่าสุภาพสตรีฝ่าฟันอุปสรรค วัฒนธรรมกดขี่ และคำดูหมิ่นมากว่าหลายศตวรรษ เพื่อปลดแอกตัวตนให้มีที่หยัดยืนทัดเทียมกับเหล่าสุภาพบุรุษในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง จากก้าวขาออกจากระโปรงสุ่มวิกตอเรียน ปลดเปลื้องพันธนาการจากคอร์เซ็ต ไปจนถึงการลุกขึ้นมาสวมใส่กางเกงเฉกเช่นชายชาตรี ก่อนที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงบทบาทในมิติของหน้าที่ในสังคม เมื่อหญิงสาวปรากฏโฉมในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ประธานาธิบดีหญิงคนแรก กระทั่งการกุมอำนาจเกมการเมืองในช่วงเวลาสำคัญ พร้อมแสดงสิทธิ์ในเสียงที่ดังก้อง สู่การเป็น "คน" ที่เป็น "คน" เมื่อภาวะสตรีนิยมไม่ใช่เรื่องของโลกสตรีเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงเรื่องของทุกคน และล่าสุดกับอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จบนหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกเอาไว้ เมื่อองค์การ NASA พาทีมนักบินอวกาศหญิงล้วนขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก!

(ซ้าย) นักบินอวกาศหญิง Christina Koch และ (ขวา) นักบินอวกาศหญิง Jessica Meir / ภาพ : NASA

 

     ก่อนหน้านี้เรายังได้รู้จักกับทีมนักบินอวกาศที่เป็นผู้ชายล้วน หรือทีมลูกผสมมามากมาย หากไม่มีครั้งไหนที่สุภาพสตรีจะภาคภูมิ และพูดได้เต็มปากเท่าครั้งนี้ว่า ผู้หญิงได้ไปสัมผัสอวกาศด้วยตัวของพวกเธอเองอย่างแท้จริง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา องค์การนาซ่าแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งทีมนักบินอวกาศหญิงล้วน ซึ่งประกอบไปด้วย คริสตินา คอช และเจสสิกา เมียร์ สู่อวกาศอีกครั้ง เพื่อปฏิบัติภารกิจเดินบนอวกาศ (Spacewalk) ให้สำเร็จ (หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมา ยังมีกระแสดราม่ายกเลิกโปรเจ็กต์ดังกล่าวไป เนื่องจากปัญหาของชุดนักบินอวกาศ) โดยภารกิจดังกล่าวเป็นการเดินบนอวกาศเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ควบคุม และจ่ายกระแสไฟที่ไม่ทำงาน เพื่อออกแบบในการช่วยเก็บสะสมพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่บริเวณนอกสถานีอวกาศนานาชาติ โดยผู้ที่ออกไปทำ Space Walk ในครั้งนี้คือ เจสสิกา เมียร์ และมี คริสตินา คอช ประจำอยู่ที่สถานีอวกาศนั่นเอง

ภาพ : NASA

 

     ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในวันที่ 16 มิถุนายน 1963 โลกยังได้รู้จักกับนักบินอวกาศหญิงคนแรกนามว่า วาเวนตินา เทเรสโคฟวา ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้ออกไปฏิบัติภารกิจโคจรรอบโลก ก่อนที่จะถึงคิวของ ซาลลี่ ไรด์ นักบินอวกาศหญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางขึ้นไปกับกระสวยอวกาศในปี 1983 และตามมาด้วย สเวทลานา สาวิทสกายา ที่กลายเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้ออกไปนอกยานอวกาศด้วยการทำ Spacewalk ดังกล่าว ในปี 1984 



WATCH




ภาพ : UPI

 

     และก็ดูจะเป็นเรื่องจริงอยู่ที่ว่า การทำ Spacewalk ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากจะว่ากันตามข้อมูลจริงแล้วนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 43 ในการปฏิบัติภารกิจ Spacewalk ที่มีสุภาพสตรีเข้าร่วม หรือแม้แต่เจสสิกา เมียร์ ยังเป็นผู้หญิงคนที่ 15 ที่ได้ออกไปทำ Spacewalk กลางอวกาศ แต่ถ้าจะบอกว่าสิ่งนี้เป็นเพียงความสำเร็จทางด้านการบันทึกสถิติก็ดูจะใจร้ายเกินไปเสียหน่อย เพราะหากพิจารณาให้ดี การทำ Spacewalk โดยทีมหญิงเดี่ยวครั้งแรก ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นดั่งตัวจิ๊กซอว์ตัวที่ 15 ของโลกที่จะถูกเสริม และเติมให้เต็ม เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจน และสามารถใช้ยืนยัน กระทั่งที่นำคนทั้งโลกไปสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างดี ดังนั้นการทำให้ภารกิจดังกล่าวที่ถูกปฏิบัติโดยผู้หญิงให้กลายเป็นเรื่องดัง หรือเฉลิมฉลองให้กลายเป็นกระแสนิยม คือการไฮไลต์ ความเป็นคนของ ผู้หญิงให้ชัดเจนมากขึ้น ในสังคมปิตาธิปไตย(ทิ้งร่องรอย)แห่งนี้ ไม่ให้ใครหลงลืมไปต่างหากว่า เราต่างเท่าเทียม แม้แต่การออกไปทำงานตามหน้าที่ อย่างที่ เจสสิกา เมียร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ มิใช่การทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ธรรมดา และถูกแบ่งแยกเสียทีเดียว

     อย่างไรก็ตามความน่าสนใจอีกหนึ่งประการนอกเสียจากบทสนทนาเรื่องกระแสสตรีนิยมบนอวกาศ (ที่กว่าจะฝ่าฟันกฎเกณฑ์ทางสรีระวิทยา และข้อจำกัดมากมายทางด้านวิทยาศาสตร์มาได้ ก็นับเวลากว่าหลายทศวรรษ) นั่นคือความเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศที่น่าจับตามองไม่น้อยที่ยังคงแข่งขันกันอย่างเข้มข้นและน่าสนใจ ดังนั้นแล้วการส่ง "ทีมผู้หญิงล้วน" ขึ้นไปสัมผัสอวกาศในครั้งนี้ คือนัยแฝงให้เห็นถึงมิติแห่งความก้าวหน้าในสนามรบเรื่องอวกาศ เพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจโลกของชาติอเมริกาในอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #NASA #WomenInSpace