FASHION

บทสรุปสำคัญ #VogueBusinessTalk ตอนแรกในหัวข้อ 'ธุรกิจแฟชั่นในยุคโควิด-19 จะเป็นอย่างไร'

เชื่อว่าหลายคนกำลังมองหาที่พึ่งสำคัญในยามวิกฤตินี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและคนวงการกำลังบอกกับทุกคน

     ในยามที่ทุกคนต้องเผชิญการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจแทบทุกรูปแบบได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวรับมือการอย่างฉับพลัน ธุรกิจแฟชั่นก็เช่นกัน โว้กจึงมีแนวคิดว่าอยากจะพูดคุยกับคนในแวดวงเพื่อเสนอแนวทางออกและการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในโปรเจกต์ #VogueLive - #VogueBusinessTalk โดยตอนแรกกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย แก้ม-มลลิกา เรืองกฤตยา จากแบรนด์ Kloset, ธรณ ชัชวาลวงศ์ จากแบรนด์ Tawn C และ โจ้-ศุภจักร ไตรรัตโนภาส ซีอีโอบริษัท Siam Alpha Equity Co., Ltd. จะมาพูดคุยกันในหัวข้อเรื่อง “ธุรกิจแฟชั่นในยุคโควิด-19 จะเป็นอย่างไร” วันนี้เราจะมาสรุปประเด็นพร้อมทั้งไขข้อสงสัยในเรื่องหลักๆ ของบันทึกการพูดคุยครั้งนี้ จะมีประเด็นไหนน่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้บ้างเชิญชมได้ในบทความนี้เลย

     เราจะเริ่มวลีของบรรณาธิการบริหารของโว้กที่ว่าด้วย “สินค้าแฟชั่นนี้อย่างไรก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญอยู่” คำนี้หลายคนอาจจะฟังดูขัดหูสักเล็กน้อยในสภาวะแบบนี้ แต่ถ้าหากตีความออกไปจะเห็นแฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แฟชั่นยังเป็นเหมือนสัญญะการแสดงออกทางศิลปะของผู้คน บ้างก็วาดรูป บ้างก็วาดตัวโน้ตบรรเลงดนตรี แต่สำหรับใครหลายคนแฟชั่นคือสิ่งนั้น ในอีกแง่หนึ่งเครื่องนุ่งห่มเป็นปัจจัย 4 ซึ่งสำคัญกับมนุษย์เสมอ และความสวยความงามก็มาคู่กันอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นก็จงอย่าเพิ่งท้อสู้ผ่านช่วงอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทอื่นเองก็ต้องผ่านไปให้ได้เช่นกัน

 

     สิ่งนี้เป็นเรื่องไม่ทันตั้งตัว โควิด-19 ถาโถมเข้ามารวดเร็วจนคนส่วนใหญ่ไม่มีแผนการรับมือไว้ได้ทันท่วงที จุดนี้เองทำให้ไม่ว่าธุรกิจจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบและเรียกได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นในจุดเดียวกันหลังวิกฤติ ก่อนหน้าปลาเล็กมักถูกปลาใหญ่งับหรือเบียดพื้นที่เสมอ แต่ท้องฟ้าของวันใหม่หลังจบโควิดต้องบอกว่าเป็นฟ้าเปิดสดใสส่องแสงสว่างให้กับทุกคน แต่ต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้คุณโจ้จึงเผยวลีเด็ดสร้างแรงบันดาลใจนการพูดคุยครั้งนี้ว่า “หลังวิกฤติมักมีผู้ชนะคนใหม่เสมอ...” ซึ่งเราจะหยิบยกมาเป็นประเด็นหลักประเด็นแรก

คุณโจ้-ศุภจักร ไตรรัตโนภาส ซีอีโอบริษัท Siam Alpha Equity Co., Ltd.

     “ทบทวนข้อด้อย อุดรอยรั่ว วางแผนธุรกิจใหม่ นำมาซึ่งสถานผู้ชนะคนใหม่” ในโลกความเป็นจริงยากมากที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Game Changer” แบบนี้ ผู้ชนะเมื่อก่อนอาจกลายเป็นผู้แพ้ ส่วนผู้แพ้อาจกลับมาเป็นผู้ชนะในสถานการณ์ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการทบทวนตัวเองอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญคือจุดอ่อนข้อด้อยเราคืออะไร (พ่วงมากับเรามีจุดเด่นอะไร) รอยรั่วของธุรกิจตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และที่สำคัญการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่คิดมาตลอดแต่ไม่มีโอกาสลงมือนำนี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาส ในสภาวะที่เราเปลี่ยนแปลงกระแสโลกภายนอกหรือสถานการณ์ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ก็หันมาใส่ใจตัวเราเองให้มากขึ้น อย่างคุณแก้มกล่าวเรื่องค่าขนส่งกับบริษัทแห่งหนึ่งว่าเดิมทีใช้เม็ดเงินกับเรื่องนี้เยอะมาก เรามองข้ามไปอย่างไม่เคยสนใจ แต่วันหนึ่งเราก็หันมามองและสามารถต่อรองลดค่าใช้จ่ายมาได้กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากว่าหากเรากลับมามองตัวเราในวันที่มีเวลาให้มองเยอะขนาดนี้เราสามารถเห็นรอยรั่วในเรื่องต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น

     ในขณะเดียวกันปรับตัวเองแล้วก็ต้องวางแผนสู่อนาคต เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีเหตุการณ์ระดับโลกพฤติกรรมคนมักเปลี่ยนไปเสมอ คนเหนือกว่าไม่ใช่คนฮุบและลากตลาดอีกต่อไป แต่จะเป็นคนที่พร้อมจับทิศทางตลาดได้ก่อนใครและดำเนินแผน เรื่องนี้อาจไม่มีสูตรสำเร็จข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 แต่ลองมองว่ากลุ่มลูกค้าของเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรและสินค้าแบบใดบ้างจะตอบโจทย์ มากไปกว่านั้นคือเรื่องช่องทางและกลยุทธ์ว่าสิ่งที่เราทำไปรวมถึงกำลังจะทำนั้นเป็นหนทางที่เหมาะสมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง รวมถึงสร้างเป็นฐานการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว สิ่งเหล่านี้คือบันไดก้าวสำคัญที่จะดึงสถานะ “ผู้ชนะคนใหม่” มาสู่ผู้ประกอบการหลังจากจบวิกฤติครั้งนี้



WATCH




ธรณ ชัชวาลวงศ์ จากแบรนด์ Tawn C

      “อายุของสินค้าแฟชั่นจะต้องมีเวลายาวนานขึ้น” วลีนี้เรียกว่าเหมือนการย้อนไปก่อนยุคฟาสต์แฟชั่นอีกครั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาพักใหญ่เหมือนกันว่าคอลเล็กชั่นในแต่ละปีของแต่ละแบรนด์ “เยอะเกินไปหรือเปล่า” แต่ท้ายที่สุดแฟชั่นก็ต้องออกมาเพื่อตอบสนองอุปสงค์ล้นเพดาน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ไล่มาจนถึงแบรนด์ธุรกิจออนไลน์รายย่อย ทุกอย่างคือการแข่งขันที่รวดเร็ว ของผลัดไปไวอย่างมาก ทุกกระบวนการเกิดขึ้นโดยไม่ทิ้งกลไกด้านเวลาทำงานให้เหมือนในยุคสมัยก่อน แต่วันนี้เมื่อโควิดมา เชื้อไวรัสกำลังสะกิดไหล่ผู้ทำธุรกิจแฟชั่นให้ย้อนกลับไปให้มองเรื่องอายุสินค้ากันอีกครั้ง

 

     คุณธรณก็กล่าวเองว่ามันยากมากที่จะมองถึงเรื่องคอลเล็กชั่นในฤดูกาลถัดไป ทุกอย่างมันปิดหมด บรรณาธิการของเราเองก็กล่าวกับทุกคนผ่านข้อมูลเชิงลึกทางแฟชั่นว่าแถบยุโรปโดยเฉพาะอิตาลีประสบปัญหาหนักขนาดนี้ เหล่าแบรนด์ใหญ่ก็พักเบรกกันไปตามๆ กัน นั่นทำให้อายุของสินค้าประจำฤดูกาลที่นำเสนอและผลิตมาแล้วจะใช้เวลานานขึ้น คุณธรณเองก็ย้ำเช่นกันว่าเราคงต้องโฟกัสไปถึงเบสิกคอลเล็กชั่นหรือคอลเล็กชั่นที่เป็นถาวรมากขึ้น ไอเท็มชิ้นคลาสสิกมากขึ้นเพื่อรักษาระดับยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอ ท้ายที่สุดมันเป็นช่วงเวลาที่โลกธุรกิจแฟชั่นต้องหันมาตั้งคำถามว่า “เราจำเป็นต้องเร็วแบบก่อนช่วงโควิดจริงหรือ”

แก้ม-มลลิกา เรืองกฤตยา จากแบรนด์ Kloset

     เรื่องทบทวนกิจการตัวเองเรื่อยมาถึงประเด็นของการนำเสนอสินค้า สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกสิ่งหนึ่งของการทำธุรกิจคือเรื่องการเงิน สภาพคล่องทางการเงินคือสิ่งที่แบรนด์ต้องบริหารจัดการให้ลงตัวที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติระดับโลก เงินทุกบาททุกสตางค์ ทุกการใช้จ่ายต้องรอบคอบ ลดอะไรก็ได้ลด คุณโจ้เน้นย้ำเลยว่า “อย่าพยายามสวนกระแส” หมายถึงน้ำกำลังไหลเชี่ยวอย่าคิดว่าเราต้านไหวเอาอยู่ ดูสถานการณ์ให้รอบคอบก่อนแล้ววิ่งตามความคลี่คลายเป็นการลดความเสี่ยงได้ดีกว่า ตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออกให้ได้มากที่สุดซึ่งจะไปสอดคล้องกับข้อแรกว่าพอเราต้องทบทวนอุดรอยรั่ว ช่องทางที่เงินไหลออกนี่ล่ะคือรอยรั่วของธุรกิจที่ผู้ประกอบการทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะธุรกิจแฟชั่นต้องพึงกระทำ

 

     ล้มแล้วต้องลุกได้...เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่แค่วางแผนตัดเพื่ออยู่รอด แต่ต้องตัดเพื่อการอยู่รอดและพร้อมพัฒนาในวันข้างหน้า ถึงแม้เราประคองธุรกิจให้อยู่ได้ ณ ตอนนี้แต่เมื่อโควิดจบลงเราก็ต้องเดินหน้าทำสินค้าใหม่ออกมาอยู่ดี ไม่เกิน 3 เดือนต่อจากนี้ก็ต้องคิดถึงเรื่องเส้นทางการเดินหน้าของธุรกิจแล้ว ด้วยเหตุนี้เงินทุนสำรองสำหรับการพัฒนาก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้เรื่องสำคัญสุดๆ เกี่ยวประเด็นเรื่องสภาพคล่องทางการเงินคือธนาคาร ตลอดระยะเวลาหลายปีธนาคารอาจไม่ใช่หน่วยงานที่ใครหลายคนอยากข้องเกี่ยวนัก แต่เมื่อถึงเวลาแบบนี้้ธนาคารเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด นโยบายต่างๆ ของธนาคารเองก็ออกมาเพื่อตอบสนองการสร้างสภาพคล่องให้ได้มากยิ่งขึ้น เงินทุนสำหรับการเริ่มต้นใหม่ การผ่อนชำระเงินกู้ก็มีการงดเว้นชั่วคราวเพื่อประครองสถานการณ์ คุณโจ้บอกกับผู้ประกอบการทุกคนว่า “ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ธนาคารมีความเป็นกันเองมากที่สุด ใครยังไม่เคยติดต่อธนาคารให้รีบไปเพราะไม่มีช่วงไหนธนาคารจะใจดีเท่ากับช่วงนี้” เท่ากับว่าการแผนการเงินครั้งนี้ไม่ใช่ประคองตัวแต่เป็นการวางแผนระยะยาวเผื่อลุกขึ้นใหม่อีกครั้งโดยมีนโยบายธนาคารเป็นการอุ้มหลังไว้ด้วยส่วนหนึ่ง ปิดท้ายประเด็นด้วยการคงสภาพคล่องเพื่อเผื่อที่ว่างสำหรับข้อผิดพลาดซึ่งอาจเกิดขึ้นซ้ำในสภาวะอาฟเตอร์ช็อกของโรคระบาด...

กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทย

     ปิดท้ายกันด้วยเรื่องของบุคลากร ในที่นี้ครอบคลุมทั้งเรื่องการทำงานและสภาพจิตใจ คุณโจ้กล่าวว่า “ธุรกิจอยู่ได้เพราะคน” คำนี้จริงอย่างมาก ธุรกิจแฟชั่นต้องมีหน้าที่มากมายหลากหลายตั้งแต่ช่างตัดเย็บ บัญชี พนักงานขาย และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกคนสำคัญหมดเพราฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับพวกเขาให้ได้มากที่สุด เราจะดำเนินต่อไปได้ส่วนสำคัญก็คือพวกเขา คุณแก้มกล่าวว่ามันยากมากที่จะต้องไปบอกพวกเขาว่าต้องตัดงบตัดรายได้ของพวกเขาไป แต่ด้วยสถานการณ์บีบบังคับจากประเด็นเรื่องสภาพคล่องก็ต้องยอมทำ แต่ที่สำคัญคือต้องสื่อสารให้นิ่มนวลและมีเหตุผลที่สุด...

 

     คุณธรณเองก็มองเรื่องนี้สำคัญอย่างมากการรักษาผู้คนให้อยู่ภายใต้องค์กรเราอย่างจงรักภักดีคือความใส่ใจ คุณธรณกล่าวว่าถ้าจะตัดค่าใช้จ่ายในส่วนเงินเดือนคนแรกที่จะต้องได้รับผลกระทบคือตัวของเขาเอง เราสามารถประคองตัวเองเพื่อยังหล่อเลี้ยงทีมงานได้อยู่และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าเราจะไม่ทิ้งเขาเช่นกัน มากไปกว่านั้นเราสามารถพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคลได้ในช่วงนี้ ทักษะของคนในองค์กรที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ช่องทางในการพัฒนาเปิดกว้างมาพ่วงกับเวลาที่เราได้หันมองมากขึ้นอันสอดคล้องกับประเด็นหัวเรื่องแรก ทุกอย่างตอนนี้เราไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน แต่ต้องใช้พลังใจในการซื้อด้วย ความเข้าอกเข้าใจไม่ฝืนคนในสภาวะคับขันคือกุญแจสำคัญ คุณโจ้เล่าให้ฟังว่าพนักงานคนหนึ่งต้องการขอพักร้อนช่วงนี้เลยเพราะช่วงอื่นก็ไม่มีโอกาสเวลาในการพักยาวๆ มากนัก คุณโจ้ยินดีให้เขาพักทันที ไม่ฝืนรั้งไว้ในสถานการณ์ที่สภาพจิตใจทุกคนดำดิ่งลง ให้เขาได้ชาร์จพลังและกลับมาลุยกันต่อ สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราไม่ใส่ใจคนของเราเองวันหนึ่งที่เราลุกขึ้นมาได้กองทัพเราไม่สมบูรณ์เราจะไปลุยต่อในโลกธุรกิจการแข่งขันได้อย่างไร

 

     สุดท้ายแล้ววิกฤตินี้จะต้องผ่านพ้นไป เดี๋ยวก็มียา เดี๋ยวก็มีวัคซีนออกมาเพื่อรักษาและบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ระหว่างนั้นตัวผู้ประกอบการเองต้องไม่หมดกำลังใจพร้อมป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเพิ่มเติม มากไปกว่านั้นยังเตรียมพัฒนาสู่ความสำเร็จในฐานะ “ผู้ชนะคนใหม่” ได้อีกด้วย ถึงแม้ 3 เดือนแรกอาจจะยังทุลักทุเลลำบากกันไปบ้าง 7-8 เดือนก็ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราป้องกันตัว รักษาแผล และเดินหน้าต่อได้อย่างรอบคอบ เข้าเดือนที่ 12-15 ซึ่งคุณโจ้คาดการณ์ว่าโลกจะกลับมาเป็นปกติ แม้จะมีการเปลี่ยนนิยามบรรทัดฐานคำว่า “ปกติ” ไปบ้าง (New Normal) แต่เชื่อเลยว่าทุกคนจะลุกขึ้นมาประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจแฟชั่นรวมถึงทุกๆ แขนงอีกครั้ง ขอให้ทุกคนโชคดี

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19