FASHION

ความลับจากศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย! กว่าจะเป็นโขนสักเรื่องไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

สืบค้นที่มาของ “โขน” ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่ต้องรวบรวมศิลปินผู้มีความสามารถจำนวนมากมาร่วมถ่ายทอดความงดงามของศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ นาฏศิลป์ วรรณคดี การบรรเลงปี่พาทย์ การจัดเครื่องแต่งกายให้ถูกต้องตามแบบแผน กระทั่งการจัดตกแต่งเวที

     การเล่นโขนมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการเล่นแสดงตำนานในพระราชพิธีเพื่อแสวงสวัสดิมงคลและถวายพระพรชัยมงคลแด่พระมหากษัตริย์ มิได้เป็นการมหรสพหรือนาฏกรรมเพื่อความบันเทิงใจเช่นในทุกวันนี้ ซึ่งนักวิชาการหลายคนเชื่อว่านักบวชพราหมณ์ในราชสำนักน่าจะเป็นผู้เผยแพร่เรื่องราว รามเกียรติ์ หรือ รามายณะ ของอินเดียในรูปแบบของการสวดสาธยายตามคัมภีร์มหากาพย์ จากนั้นจึงใช้รูปเงาที่เกิดจากฉลักแผ่นหนังเป็นตัวละครตอนสำคัญต่างๆ ประกอบการสาธยาย ภาพเงาที่ปรากฏกระเพื่อมไหวบนจอผ้าตามแสงไฟชวนให้ผู้ชมคล้อยตามและซึมซับเรื่องราวได้เป็นอย่างดี ต่อมาภาพนิ่งจากตัวหนังจึงถูกประดิษฐ์เป็นท่าทางนาฏลักษณ์ให้สัมพันธ์กับตัวผู้เชิดตัวหนัง เกิดพัฒนาการในการเล่าเรื่อง รามเกียรติ์ โดยใช้คนเป็นผู้แสดงและแต่งกายให้เกิดจินตภาพความเป็นเทพเจ้า เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างสมจริงมากขึ้น

Fallen Prince - หนุมานถอนหอกโมกขศักดิ์ซึ่งถูกกุมภกรรณพุ่งออกมาให้ต้องอกพระลักษมณ์ โดยมีพระรามอยู่ดูแลด้วยพระอาการโศกเศร้า

 

     แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการแสดงโขนเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ข้อความที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาได้ระบุถึงพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งต้องจัดให้มีการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์หรือกวนเกษียรสมุทรตามคติพราหมณ์อันถือเป็นพระราชพิธีเกี่ยวกับความเป็นจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์ผู้เข้าร่วมประกอบพิธีจะแต่งกายเป็นเทวดายักษ์และวานรโดยระบุชื่อตัวละครสำคัญไว้คือพาลีสุครีพมหาชมพูแลบริวารพานรการประกอบพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์นี้แม้จะมิใช่การแสดงโขนอย่างชัดเจนแต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ตัวละครและความเชื่อมโยงมาสู่การสร้างเครื่องแต่งกายตามลักษณะของตัวละครนั้นๆจนคลี่คลายกลายเป็นมหรสพสำคัญของราชสำนักที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้จัดแสดงขึ้นในโอกาสต่างๆ

หัวโขน 

 

     ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่างปี 2199-2231) โขนมิได้เป็นการแสดงกึ่งพิธีกรรมของราชสำนักเท่านั้น แต่กลายเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมและจัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานเป็นสำคัญ เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลงในปี 2310 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในทศวรรษต่อมา โขนถือเป็นความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับการสืบทอดต่อมาโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โขนในฐานะที่เป็นมหรสพหลวง โขนจึงมิได้เป็นการแสดงเพื่อมุ่งเพียงความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกทางวัฒนธรรมและสังคมที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน และเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน



WATCH




ปัจจุบันเครื่องประดับของโขนละครจะมีขนาดใหญ่กว่าในอดีต เนื่องจากเป็นการแสดงที่อยู่บนเวทีและใช้ระยะการมองที่ไกล

 

     เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักว่าในปัจจุบันการแสดงโขนเริ่มเสื่อมความนิยมลง ดังที่มีพระราชปรารภว่าทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ทำการศึกษาค้นคว้าการแสดงโขนตามแบบโบราณราชประเพณี และฟื้นฟูความรู้ในการสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้งดงามตามธรรมเนียมเดิม โดยเมื่อปี 2548 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญดำเนินการศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องแต่งกายโขนในอดีต แต่เนื่องจากหลักฐานองค์ประกอบเครื่องแต่งกายโขนเหล่านั้นได้สูญสลายไปตามกาลเวลาเกือบหมด จึงต้องอาศัยหลักฐานเทียบเคียงที่ถือเป็นต้นเค้าของเครื่องโขนมาตั้งแต่ครั้งอดีต นั่นคือพระเครื่องต้น เครื่องทรงตามที่ปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ จากพระราชพิธีสำคัญในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีอยู่มากมายให้ศึกษาได้ในรายละเอียด ประกอบกับชิ้นส่วนองค์ประกอบเครื่องโขนของกรมมหรสพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พอหลงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน

กรองคอปักบนผ้าตาด เครื่องตกแต่งของตัวนาง ได้รับอิทธิพลมาจากกรองศอในพระราชพิธีโสกันต์

 

     โขนแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งมีต้นเค้ามาจากมหากาพย์ รามายณะ ของอินเดีย ว่าด้วยอวตารหนึ่งของพระนารายณ์เป็นพระราม ซึ่งต้องออกเดินป่า ยกทัพทำสงครามกับเหล่าอสูร เพื่อติดตามนำนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาไปกรุงลงกากลับคืนมา ตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ฮินดู การแสดงโขนในแต่ละครั้งจะดำเนินเรื่องเป็นตอนๆ มีผู้แสดงแต่งกายด้วยเครื่องโขนตามบทบาททั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง และตัวละครอื่นๆ เครื่องแต่งกายแต่ละชุดจึงต้องแสดงถึงความสำคัญและฐานานุศักดิ์ของตัวละคร ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตงดงาม เพื่อประกอบลีลาท่วงท่าอันสง่างามของผู้แสดง ตัวละครหลักส่วนหนึ่งในการแสดงโขนคือเหล่าเทวดา หรือกษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา และยักษ์อสุรพงศ์จากกรุงลงกาและเมืองอื่นๆ เครื่องแต่งกายจึงทำขึ้นเลียนเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และพัสตราภรณ์ของพระราชวงศ์ที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีโสกันต์ ดังปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปี 2396-2411) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปี 2411-2453)

ห้อยหน้า เครื่องแต่งกายของโขนตัวพระ จะปักประดับด้วยลายพรรณพฤกษาสวยงามต่างจากตัวยักษ์ที่ส่วนใหญ่จะปักด้วยลายหน้ากาฬ

 

     ความวิจิตรงดงามของเครื่องถนิมพิมพาภรณ์และพัสตราภรณ์ของเครื่องต้นเครื่องทรงเหล่านั้นได้กลายเป็นที่มาและแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์เครื่องโขนสำหรับการแสดง องค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบเป็นพระเครื่องต้นเครื่องทรง อันได้แก่ ฉลองพระองค์ สนับเพลา พระภูษาโจง สังวาล ทับทรวง ตาบทิศ ทองกร ปั้นเหน่ง สายรัดพระองค์ และกำไลข้อพระบาท ล้วนปรากฏอยู่ในเครื่องโขนทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี คนไทยถือธรรมเนียมไม่ทำเทียมเจ้ามาตั้งแต่อดีตทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวัสดุมิให้เป็นการเจาะจงเลียนแบบพัสตราภรณ์ของพระมหากษัตริย์โดยตรง

     หลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องโขนในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเพียงหลักฐานชั้นรองที่เป็นข้อเขียนหรือความทรงจำของผู้ที่เคยพบเห็นความงามของโขนในครั้งนั้น ชิ้นส่วนและองค์ประกอบของเครื่องโขนทั้งหลายในยุคนั้นคงผุพังสูญสลายไปตามกาลเวลา เครื่องโขนโบราณซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบันจึงมีอายุไม่เกินไปกว่าเครื่องโขนของกรมมหรสพ อันเป็นยุคที่โขนเจริญรุ่งเรืองภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปี 2453-2468) เครื่องโขนเหล่านี้มักมีขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าโขนในเวลานั้นยังคงใช้ผู้แสดงที่เป็นเด็กหรือเยาวชนส่วนใหญ่ การสร้างเครื่องแต่งกายของโขนในยุคก่อนยึดถือสัดส่วนรวมถึงวิธีการแต่งตามแบบแผนของกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ 6เช่นตัวพระนุ่งสนับเพลาปลายเชิงตำกว่าหัวเข่าใช้ผ้าห้อยข้างและผ้าห้อยหน้าที่มีขนาดยาวปลายผืนผ้าจะอยู่ในระดับหัวเข่าใส่เสื้อแนบกระชับกับลำตัวและช่วงแขนเป็นอย่างมากมีการติดอินทรธนูในลักษณะครอบไหล่ตามแนวตะเข็บรอยต่อของเสื้อกับแขนเสื้อส่วนตัวนางนุ่งปลายเชิงต่ำกว่ากลางน่องใช้ผ้าห่มที่มีความกว้างห่มแล้วริมผ้าห่มจะตกคลุมลงมาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงแขนท่อนบนเป็นต้น

1 / 3

การแต่งกายตัวนาง ใช้ การเย็บตรึงไปตามร่างกายของ นักแสดง ให้มีขนาดสมส่วนกับ ร่างกาย ซึ่งครูผู้แต่งกายให้นักแสดง ต้องมีความชำนาญและความรู้ เฉพาะทาง


2 / 3

การแต่งกายตัวนาง ใช้ การเย็บตรึงไปตามร่างกายของ นักแสดง ให้มีขนาดสมส่วนกับ ร่างกาย ซึ่งครูผู้แต่งกายให้นักแสดง ต้องมีความชำนาญและความรู้ เฉพาะทาง


3 / 3

การแต่งกายตัวนาง ใช้ การเย็บตรึงไปตามร่างกายของ นักแสดง ให้มีขนาดสมส่วนกับ ร่างกาย ซึ่งครูผู้แต่งกายให้นักแสดง ต้องมีความชำนาญและความรู้ เฉพาะทาง


     เมื่อคณะทำงานเครื่องโขนได้ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงได้ลงมือออกแบบเครื่องโขนทั้งในแง่ลวดลาย และขยายสัดส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับรูปร่างของผู้แสดงนาฏศิลป์ในปัจจุบัน เช่น การขยายหน้าผ้ายกให้กว้างขึ้น ออกแบบเครื่องประดับทั้งหลายให้ใหญ่ขึ้นตามส่วน ตลอดจนการประดิษฐ์หัวโขนและศิราภรณ์ทั้งหลายให้มีลายละเอียดงดงาม โดยขยายขึ้นจาก กระสวน หรือสัดส่วนโบราณ การฟื้นฟูโขนเริ่มจากการฝึกหัดช่างฝีมือสำหรับงานหัตถศิลป์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ส่วนผ้านุ่งผ้าโจงที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักของการแต่งกายตัวโขนยังจำเป็นต้องสั่งผ้ายกจากประเทศอินเดียตามที่เคยปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลานับร้อยปี ต่อเมื่องานช่างสำหรับการสร้างองค์ประกอบของเครื่องแต่งกายต่างๆ มีความชำนาญและเพียงพอต่อความต้องการแล้ว งานอนุรักษ์ฟื้นฟูการทอผ้ายกอันเป็นงานที่ยากแต่จำเป็นต่อการแสดงอย่างยิ่งจึงได้เกิดตามมา

     เครื่องโขนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การแสดงเรื่องราวดูสมจริง เครื่องโขนสำหรับตัวพระนั้นประกอบด้วยสนับเพลา ผ้ายก เสื้อตัวนอก ตัวใน ห้อยหน้า ห้อยข้าง รัดสะเอว และกรองคอ ส่วนตัวนางนุ่งผ้ายก สวมเสื้อในนาง ทับด้วยผ้าห่มนาง และกรองคอ ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทั้งพระและนาง

     ก่อนปี 2453 เครื่องแต่งกายโขนมักสร้างขึ้นจากวัตถุดิบที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด สีสันของเครื่องโขนจึงถูกจำกัดด้วยผ้าทอโรงงานที่ไม่มีความหลากหลายตามที่ควรจะเป็นในแง่ของจารีตสีตามพงศ์ของตัวละคร เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริในการฟื้นฟูโขน จึงเป็นการยกระดับเครื่องโขนทั้งในแง่ของการออกแบบ คุณภาพ และความประณีตบรรจงของงานช่าง เครื่องแต่งกายโขนพระราชทานยึดจารีตสีตามพงศ์ที่ปรากฏบนหัวโขนเป็นตัวกำหนด ซึ่งต้องย้อมสีเส้นไหมให้ตรงสีตามพงศ์ ก่อนนำไปทอและปักลวดลายประดับ เช่น ทศกัณฐ์ สีเขียว พระลักษณ์ สีเหลืองทอง เป็นต้น ผู้ออกแบบลวดลายต้องคำนึงถึงธรรมชาติและฐานานุศักดิ์ของตัวละครนั้นๆ จึงมีการกำหนดระดับชั้นยศและประเภทของลายที่แตกต่างกันให้เหมาะสมกับประเภทของตัวละคร เช่น วานรใช้ลายเครือเถายักษ์ใช้ลายหน้าขบเป็นต้น ส่วนเครื่องประดับก็สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยโลหะทองแดงชุบทอง ใช้ทั้งเทคนิคการหล่อและการสลักดุนลาย ฝังแก้วเจียระไนแทนเพชรและพลอยสี ดูแวววาวงดงามใกล้เคียงกับอัญมณีมีค่า เครื่องโขนพระราชทานนี้จึงมีมิติตื้นลึกปรากฏต่อสายตาผู้ชม

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #culture #Performance #Khon