FASHION

เส้นบางๆระหว่างคลั่งชาติกับเห็นค่า นักรบ มูลมานัส ศิลปินที่นำของสูงอย่าง 'ชฎา' มาล้อเล่น

ชฎา ความคลั่งชาติ และสาวๆ BNK 48 คือส่วนหนึ่งจากอีกหลายประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินคอลลาจผู้ชอบหยิบ ‘ความไทย’ มาเล่นสนุกและตั้งคำถามผ่านผลงานตัดแปะ แต่ล่าสุดใน Coronets นิทรรศการเดี่ยวของเขา ณ ทองหล่อ อาร์ต สเปซจะไม่ได้มีแค่คอลลาจอีกต่อไป เพราะนักรบสั่งทำชฎายอดสูงหลายเมตรทะลุชั้นอาคารมาตั้งเป็นอินสตอลเลชั่นให้เราได้ขบคิดกันเล่นๆ ว่าตกลงแล้วความเป็นไทยจะแช่แข็งอยู่อีกนานแค่ไหน

ชฎา ความคลั่งชาติ และสาวๆ BNK 48 คือส่วนหนึ่งจากอีกหลายประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจผู้ชอบหยิบ ‘ความไทย’ มาเล่นสนุกและตั้งคำถามผ่านผลงานตัดแปะ แต่ล่าสุดใน Coronets นิทรรศการเดี่ยวของเขา ณ ทองหล่อ อาร์ต สเปซจะไม่ได้มีแค่คอลลาจอีกต่อไป เพราะนักรบสั่งทำชฎายอดสูงหลายเมตรทะลุชั้นอาคารมาตั้งเป็นอินสตอลเลชั่นให้เราได้ขบคิดกันเล่นๆ ว่าตกลงแล้วความเป็นไทยจะแช่แข็งอยู่อีกนานแค่ไหน

 

คิดยังไงกับคำว่า ‘โคตรไทย’ ที่หมายถึงนิสัยในเชิงลบ

(หัวเราะ) มันก็เป็นความเป็นไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง จริงๆ แล้วมันเป็นความเป็นไทยที่ดูแท้และชัดเจนมากกว่าการรำไทยหรือโขนอีก นิสัยที่แบบ ‘อะไรก็ได้' 'ช่างแม่ง' 'เอามาหมด' หรือความสบายๆ เราว่าสิ่งเหล่านี้มันจริงแท้มากว่าความเป็นไทยที่หลายคนยึดติดด้วยซ้ำ ไม่ได้มองว่ามันดีหรือแย่อะไรนะ แต่มันก็เป็นจุดที่ทำให้เกิดสารพัดปัญหา ทั้งรถติด คอร์รัปชั่น การละเลยกฎหรือความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากคำว่า ง่ายๆ สบายๆ นี่ล่ะ

นิทรรศการล่าสุดของคุณต้องการจะบอกอะไรกับสังคม

สิ่งที่เราต้องการบอกคือความเป็นไทยในสังคมเรามันมีมิติที่ซับซ้อน ลุ่มลึก และสนุกสนานกว่าที่เราเคยชินกันอยู่ อยากให้หลายคนได้ลองเปลี่ยนมุมมองกันนิดนึงซึ่งอาจทำมองเห็นความเป็นไทยในมิติใหม่ๆ ที่สวยงาม มีชีวิตชีวา มีไดนามิกมากขึ้น ถ้าสมมติตอนเด็กๆ เรามองความเป็นไทยในมุมนี้ โตมาก็ในมุมนี้ จนตายไปก็ยังเป็นมุมนี้ ความเป็นไทยมันก็จะแช่แข็งอยู่ตรงนั้น ไม่มีวันไปไหน และอาจตายไปในที่สุด เราก็เลยต้องการจะกระตุ้นความคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะรู้สึกว่าในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและดราม่าขนาดนี้ แสดงว่ามันอาจต้องการเรื่องราวแบบนี้มากขึ้นแล้ว

เกี่ยวไหมที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมท่องจำ

เกี่ยว ดูได้จากสุภาษิตที่ได้ยินกันตั้งแต่เด็กอย่าง เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด หรือการปลูกฝังให้ท่องบทสวดมนต์และบทอาขยานทั้งที่เด็กไม่รู้เลยว่าความหมายของแต่ละคำคือะไร ‘อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา’ แปลว่าอะไร? เราท่องออกมาเป็นภาษาบาลีแต่เราไม่รู้คำแปล เหมือนมันเป็นกลไกบางอย่างของสังคมไทยที่คอยป้อนให้ทำตาม ให้ท่องสิ่งเหล่านี้เหล่านั้นตามๆ กัน แต่ยังเราเราก็คิดว่าวัฒนธรรมไทยก็มีบางอย่างที่ดีมากๆ นะ

เช่น...

ประเทศชาติของเราน่ะสวย รุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรม การกิน การใช้ การแต่งตัว เราว่ามันเป็นขุมของแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ สามารถหยิบมาใช้ได้ตลอดเวลา แต่ก็จะมีบางส่วนที่ไม่ค่อยขนานไปกับสังคมโลก ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราทุกคนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ควรช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรกับมันดี

'ความเป็นไทย’ จะมีเส้นบางๆ ที่ทำให้เราหยิบมาเล่นไม่ได้ เวลาที่คนหยิบประเด็นไทยๆ มาทำใหม่ ตัวอย่างเช่น เอ็มวีทศกัณฐ์ทำขนมเบื้องของปีที่แล้ว หรือชุดประจำชาตินางงามที่ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบดั้งเดิมสุดๆ หรือใส่ความป๊อปเข้าไป มันก็ต้องมีดราม่าทุกปี เหมือนมีภาพจำกันอยู่แล้วว่าความเป็นไทยต้องเป็นแบบนี้ ต้องมงกุฏชฎาแบบนี้ รำไทยก็ต้องแบบนี้ จนขยับไปไหนไม่ได้เลย ซึ่งบางทีการหยิบมาใช้หรือนำมาสร้างสรรค์เข้ากับสิ่งใหม่ๆ จะช่วยทำให้ของเหล่านี้จับต้องได้มากขึ้น กลมกลืนกับสังคมปัจจุบันได้มากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้ศิลปะหรือวัฒนธรรมนั้นไม่หายไปจากสังคมง่ายๆ ต่างกับการไว้บนหิ้งเฉยๆ จนถูกลืม

ทำไมต้องตัวเอกของนิทรรศการนี้ต้องเป็น ‘ชฎา’

เพราะที่ทองหล่อ อาร์ตสเปซจะมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นโรงละคร โรงมหรสพอยู่แล้ว พอดีกับได้พื้นที่ข้างล่างซึ่งเป็นโรงละครพอดี เราก็นึกถึงศิลปะการละครไทยสมัยก่อนหลายๆ อย่างที่มีทั้งโขน ละครใน ละครนอก ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีชฎาเป็นแอคเซสซอรี่ที่แสดงถึงความเป็นชนชั้นสูง แล้วชฎาก็มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ทุกวันนี้เราจะเห็นชฎาในบริบทของเครื่องแต่งกายคนรำแก้บน หรือในโขน ละคร ซึ่งไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ วัตถุชิ้นนี้มีความหมายเยอะแต่คนไม่แน่ใจว่าจะตีความหมายเป็นอะไรดี สมมติฝห้ชฎาลองไปตั้งอยู่ที่พาหุรัด มันจะเป็นพร็อพธรรมดาตลาดๆ แต่ถ้าไปอยู่ตรงพระพรหมเอราวัณ มันจะกลายเป็นเครื่องประกอบการบวงสรวง เราก็เลยตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดมันไปตั้งอยู่ข้างถนน ในร้านกาแฟ หรือในหอศิลป์ ความหมายจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยไหมทั้งที่มันเป็นวัตถุเดียวกัน แล้วคนก็ปฏิบัติกับชฎาในหลายรูปแบบมาก ทั้งสิ่งสูงส่งศักดิ์สิทธิ์และอุปกรณ์แต่งตัวนางละคร ในนิทรรศการนี้เราเลยอยากพูดถึงและตั้งคำถามถึงความพิเศษของสิ่งนี้

เรื่องที่คุณอินเป็นพิเศษในตอนนี้

BNK 48 ได้มั้ย? (หัวเราะ)

เพราะความน่ารักหรือสังคมพาไป

เราไม่ถึงกับอินหรอกแค่สนใจตัวปรากฏการณ์ ว่าทำไมทำนองเพลงถึงทำให้คนติดหูกันได้ขนาดนี้ เพราะเป็นอุปทานหมู่เหรอ หรือเพราะถูกเปิดบ่อยมากๆ แชร์เยอะมากจนติดในหัวผู้คนรึเปล่า คิดดูว่าถ้าใช้วิธีนี้ในการสร้างข่าวบางอย่างก็อาจจะได้ผลเหมือนกันนะ 

Diversity เป็นเทนด์โลกที่มาแรงสุดแม้แต่ในวงการศิลปะ 

คือจริงๆ เรื่องนี้หลายคนมองว่าเป็นเทรนด์อยู่แล้ว ในหนังฮอลลีวู้ดหรือเรื่องที่อยากเข้าชิงออสการ์ก็ต้องใส่เรื่องนี้เข้าไป ไม่ว่าจะเรื่องผิวสีผิวขาว ความเอเชียฝรั่ง อะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนแล้วแต่เราเพิ่งเห็นว่าเป็นประเด็น เมื่อก่อนด้วยเส้นรัฐชาติมันยังไม่ชัดเจน วัฒนธรรมก็เลยมีการไหลไปมา อย่างทองหยิบทองหยอด หรือสถาปัตยกรรมวัดพระแก้ว พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระปรางค์ วัดอรุณฯ ที่มีการนำศิลปะจากที่อื่นๆ เข้ามาใช้เยอะมาก แต่ทำไมคนไทยสมัยก่อนไม่เห็นรู้สึกเลยว่าเป็นชาติอื่น ซึ่งเราว่าอาจเป็นเพราะเขาเปิดกว้าง อะไรที่ดี สวยงามก็รับมาใช้ ไม่เห็นต้องคิดเลยว่าอะไรไทยไม่ไทย แนวความคิดนี้มันค่อนข้างเป็นสากลในทุกวันนี้มาก ต่างจากทุกวันนี้ที่ยึดติดแบบแผนมากกว่าเพราะห่วงกับคำว่า ‘อนุรักษ์ความเป็นไทย’



WATCH




ในนิทรรศการคุณมีอะไรแบบนั้นบ้างไหม

จริงๆ นิทรรศการนี้กำลังแอบบอกคนดูอยู่ว่า มันมีเส้นบางๆ คั่นระหว่าง ‘คลั่งชาติ’ กับ ‘เห็นคุณค่าในวัฒนธรรมตัวเอง’ ซึ่งจริงๆ ในนิทรรศการนี้จะมีเรื่องคลั่งชาติอยู่เยอะกว่าเพื่อให้เห็นว่ามันกำลังทำลายเรา และเราควรพิจารณาตัวเองได้แล้วว่า 'ความเป็นไทย’ มีปัญหาอะไรบ้าง และถึงเวลาหรือยังที่เราควรก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองโลก

 

นิทรรศการ Coronets จัดแสดงถึงวันที่ 20 ก.พ.นี้ สามารถไปชมกันได้ที่ทองหล่อ อาร์ต สเปซ 58/14-15 ซอยสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (บีทีเอสทองหล่อ)

โทร. 095 924 4555
www.facebook.com/Thonglorartspace

 

(แก้ไขล่าสุด: 12 ก.พ. 61 เวลา 20.12 น.)

WATCH