FASHION

Starting Over - ภารกิจแลกเปลี่ยนชุดของ John Galliano และ Tomo Koizumi ดัดแปลงชุดงานเมท กาล่าของริฮานน่า

เมื่อ Tomo Koizumi ได้รับโครงผ้าดิบจากอาเตลิเยร์ Margiela Artisanal ส่วน John Galliano แห่ง Margiela ก็ได้รับชุดกระโปรงจากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ 2021 ของโทโมะ โคอิซูมิ ต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมาเป็นงานฝีมือละลานตา

Lulu Tenney สวมชุดนิตติ้งแขนยาวทรงโอเวอร์ไซซ์ จาก TOMO KOIZUMI ดัดแปลงใหม่โดย JOHN GALLIANO เพื่อ MAISON MARGIELA ARTISANAL รองเท้าบู๊ตหนังกระเป๋าคลัตช์หนังใบใหญ่ทั้งสองจาก MAISON MARGIELA

 

PHOTOGRAPHS BY MACIEK POżOGA

แต่งหน้า: Marianne Agbadouma

ทำผม: Eugene Souleiman

บรรณาธิการแฟชั่น: Tonne Goodman 

 

เมื่อ Tomo Koizumi ได้รับโครงผ้าดิบจากอาเตลิเยร์ Margiela Artisanal ส่วน John Galliano แห่ง Margiela ก็ได้รับชุดกระโปรงจากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ 2021 ของโทโมะ โคอิซูมิ ต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมาเป็นงานฝีมือละลานตา

ครั้งที่ Rihanna ก้าวขึ้นพรมแดงในงานนิทรรศการ Heavenly Bodies ของสถาบันเครื่องแต่งกายแห่งพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ปี 2018 ในชุดที่สื่อถึงเครื่องทรงเต็มยศของคาทอลิก ประกอบด้วยมินิเดรสปักมุกและคริสตัลสะท้อนแสงวาววับกับเสื้อคลุมเต็มตัวที่ท่อนล่างเป็นกระโปรงบาน ออกแบบโดยจอห์น กัลลิอาโน่แห่ง Maison Margiela Artisanal พร้อมหมวกพระสันตะปาปาฝีมือ Stephen Jones เราตั้งข้อสังเกตว่าเธอแสดงให้เห็นว่า “ทำไมเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ศรัทธาแฟชั่น” ดีไซเนอร์โทโมะ โคอิซูมินั้นชื่นชมจอห์นมาตั้งแต่อายุ 14 หลังจากเห็นงานที่เขาออกแบบให้ Dior เป็นครั้งแรก โทโมะเล่าความประหลาดใจแกมปลื้มกับการปรากฏตัวของรีอานน่าในงานนั้น “ลุคนั้นโก้มาก ผิดจากที่ผมคาดไว้ แต่เป็นในแง่ดีนะครับ” เขาจึงทั้งดีใจและยำเกรงเมื่อจอห์นส่งมอบโครงผ้าดิบชุดนั้นมาที่สตูดิโอของเขาที่โอซากะ ตามโครงการคอลแลบอเรชั่นสร้างสิ่งใหม่จากของใช้แล้วที่โว้กเป็นสปอนเซอร์แบบนัดเดียวจบ เพื่อส่งเสริมให้ดีไซเนอร์สื่อสารกันผ่านการทำงาน

สิ่งแรกที่โทโมะทำกับโครงผ้าดิบแข็งของชุดจากมาร์เจียล่าคือ “ระบายสีผ้าดิบเหมือนเป็นผ้าใบโดยใช้เทคนิคย้อมระบายที่พัฒนาขึ้นสำหรับคอลเล็กชั่นต่อไปของผม” ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นเล่า “ผมพยายามรังสรรค์ชุดที่เมื่อนำทั้ง 3 ชิ้นมาประกอบกันจะเกิดความกลมกลืน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้แต่ละชิ้นแยกเป็นเอกเทศได้” เขาขยายแขนเสื้อออกให้เห็นแขนคนสวม เพิ่มวอลูมให้กระโปรง “แรงบันดาลใจคืองานออกแบบร็อกโกโกจากศตวรรษที่ 18” ด้วยการเสริมระบายระหว่างชั้น และยังจำลอง “งานออกแบบรื้อสร้างใหม่” ของเมซง มาร์เจียล่าด้วยการนำสุ่มกระโปรงเจ้าสาวมาปรับเพื่อการใช้สอยแบบใหม่



WATCH




TOMO KOIZUMI

 

การแปลงโฉมยังดำเนินต่อเนื่อง ทำให้นึกถึงการทดลองนำเสื้อผ้าวินเทจมาปรับใหม่เพื่อใส่ไปเที่ยวคลับอย่างที่โทโมะเคยทำสมัยเป็นวัยรุ่นโดยได้แรงบันดาลใจจากจอห์น ไปถึงตัวเสื้อที่แต่งด้วยริบบิ้นค้างสต๊อกสีสะท้อนแสง และหมวกประดับพู่พองฟูทำจากระบายผ้าโปร่ง แปลงโฉมชุดเป็นอาภรณ์โลกวิสัยได้อย่างน่าขัน “เหมือนงานออกแบบดอกไม้ เพิ่มความปังเข้าไป” หลังการแปลงโฉมซึ่งใช้เวลา 3 สัปดาห์ คน 50 คน และความร่วมมือจากอาเตลิเยร์ชุดวิวาห์ Treat Maison ชุดของรีอานน่าก็มีจิตวิญญาณ คาวาอิ ของโทโมะแทรกซึมอยู่ทั้งชุด “ผมชอบชุดกระโปรงบึ้มๆ และชุดสีสดใส” โทโมะบอกถึงที่มาของผลลัพธ์ที่สดใสซาบซ่า “แล้วก็อยากใส่ความรู้สึกเป็นงานฝีมือเข้าไปให้มากขึ้น” “ความแปลกใจคือปฏิกิริยาตอบรับที่ดีที่สุด” ดีไซเนอร์หนุ่มกล่าวเสริม “ผมอยากกระตุ้นอารมณ์ด้านบวก เพื่อให้คนได้สนุกกัน” 

Tsugumi Nakamura สวมชุดกระโปรง ผ้าทูลล์ เสื้อโค้ตผ้าทูลล์สั่งตัด หมวกทรงสูง ทั้งหมดจาก MAISON MARGIELA ARTISANAL ดัดแปลงใหม่โดย TOMO KOIZUMI 

 

PHOTOGRAPHS BY TAKASHI HOMMA

แต่งหน้า/ทำผม: Haruka

สไตลิสต์: Shotaro Yamaguchi 

บรรณาธิการแฟชั่น: Tonne Goodman

ขอบคุณ: Treat Maison 

 

ในช่วงเวลาเดียวกันชุดวิวาห์ฝีมือโทโมะก็ได้ไปอวดโฉมเป็นครั้งแรกที่อาเตลิเยร์ของเมซง มาร์เจียล่าในปารีส จอห์นเล่าว่าวันนั้น “เป็นวันที่มหัศจรรย์มาก แสงสว่างของพระผู้เป็นเจ้าส่องลงมา แล้วชุดวิวาห์แสนสวยก็ได้เผยโฉมต่อหน้าผมกับ Gypsy และ Coco” เขาหมายถึงสุนัขพันธุ์บรัสเซลส์กริฟฟอนที่เลี้ยงไว้ “ยิปซีจะหัวโบราณ” จอห์นบอก “ออกไปทางกูตูร์ เธอชอบงานของโทโมะมาก เพราะมีระบายฟูฟ่องเต็มไปหมด พอเห็นเธอตะลึงผมก็รู้สึกถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่” จอห์นครุ่นคิดถึงวิธีสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งที่สื่อถึง “วันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดวันหนึ่งในชีวิต การเลาะรื้อ” ถึงตรงนี้เขาเล่าย้อนถึงสมัยเป็นนักศึกษาเบี้ยน้อยหอยน้อย ต้องเอาเสื้อผ้าที่ได้จากตลาดของวินเทจมาทำใหม่ “เป็นครูที่ดีที่สุดที่เราจะหาได้ ผมมีความสุขทีเดียวนะที่ได้พาตัวเองกลับไปสมัยนั้น และไปให้ไกลกว่านั้นอีก 

JOHN GALLIANO

 

ตอนที่ผมมาร่วมงานกับมาร์เจียล่า ผมต้องใช้เวลา 2-3 ซีซั่นกว่าจะเลิกเป็นคนเนี้ยบจัดและเปิดใจรับสัมผัสแห่งเสรีภาพ” จอห์นเริ่มลงมือด้วยการเลาะระบายผ้าตาข่ายทุกชิ้นบนชุดของโทโมะออกอย่างบรรจง ซึ่งต้องให้ 2 คนช่วยกันเลาะถึง 5 วัน จากนั้นนำผ้ามาม้วนเป็นก้อนเหมือนไจไหมพรมโดยแบ่งตามสี แล้วนำวัสดุสร้างใหม่นี้มาถักเป็นสเวตเตอร์ตัวโคร่ง เพื่อให้ “ความทรงจำของรุ่นเป็นสิ่งที่สวมใส่ได้ ผมจินตนาการถึงคู่รักใต้แสงจันทร์ที่แบ่งปันเรื่องราวของช่วงเวลาดีๆ ที่มีร่วมกัน และความทรงจำเหล่านั้นก็ช่วยปลอบประโลมวิญญาณที่เป็นทุกข์ของเขา การถักนิตติ้งก็ช่วยได้เหมือนกัน เพราะเป็นงานที่เกือบจะเหมือนการทำสมาธิ” 

การเลาะรื้อชุดของโทโมะ โคอิซูมิ ณ อาเตลิเยร์มาร์เจียล่า

 

บังเอิญว่าคู่ที่จอห์นนึกถึงคือ Valentine Charasse กับ Thomas Riguelle ซึ่งเป็นทั้งนางแบบ-นายแบบและมิวส์ของห้องเสื้อ เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่จอห์นออกแบบต้องผ่านการลองสวมโดยคู่นี้ และถ้าชิ้นนั้นเวิร์กกับทั้ง 2 คน “ผมก็คิดว่าเป็นชิ้นคูลที่ต้องมีในคอลเล็กชั่น” จอห์นบอก “แล้วก็จะนำออกโชว์และจำหน่ายโดยไม่ยึดติดเพศสภาพ” สตูดิโอมาร์เจียล่าต้องผลิตตัวอย่างผ้านิตออกมาจำนวนหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าผ้ามีแรงตึงและความทิ้งตัวพอเหมาะ “เพื่อให้มีอารมณ์ความรู้สึกดูไม่ใหม่เอี่ยมเกินไป และมีจิตวิญญาณ” จอห์นอธิบาย พร้อมกับพูดถึงสเวตเตอร์ที่ใช้เวลาถัก 11 วันหรือ 90 ชั่วโมงว่า “ดูไม่สะทกสะท้านเอามากๆ แต่ค่อนข้างชิกทีเดียวนะผมว่า”

 

แม้แต่ผ้าซับในก็ไม่หลุดรอดจากสายตาเขา “ผมจะไม่ทำอะไรกับมันเลยก็ไม่ได้ เลยเอามาทำเสื้อยืดแล้วแปลงเป็นหมวกเล็กๆ ผมชอบมากเวลาจับคู่กับบู๊ตยางและกระเป๋าสีเหลือง...พร้อมจะออกไปเดินเล่นรื่นรมย์ที่สวนสาธารณะ” ชุดนี้ปัจจุบันติดป้ายยี่ห้อ Maison Margiela Recicla “คำบรรยาย: ลุคที่ 4 โทโมะ โคอิซูมิ แหล่งที่มา ประเทศญี่ปุ่น ฤดูใบไม้ผลิ 2021” 


WATCH