FASHION

โชว์กูตูร์คืนรังของ Balenciaga โดย Demna Gvasalia ตอกย้ำอะไรกับอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก

ครั้งหนึ่งผู้ก่อตั้ง Cristóbal Balenciaga เคยยิ่งใหญ่เป็นสุดยอดฝีมือที่ได้ฉายาว่า “The master of us all”

การรอคอยสิ้นสุดลงพร้อมกับใจที่เต้นไม่เป็นส่ำ เมื่อแฟชั่นโชว์ที่คนแฟชั่นทั่วโลกตั้งตารอคอยมานานนับเดือนเริ่มถ่ายทอดบนจอคอมพิวเตอร์ในโลกยุคโควิด (ยัง) ครองเมือง (ในหลายจุดรอบโลก) ก่อนหน้านี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูในแวดวงแห่งสไตล์ หลังจากแบรนด์ระดับตำนานที่หวนกลับมาครองแชมป์บนชาร์ตทำเงินในปี 2021 ประกาศว่าจะนำไลน์กูตูร์กลับมา...ซึ่งครั้งหนึ่งผู้ก่อตั้ง Cristóbal Balenciaga เคยยิ่งใหญ่เป็นสุดยอดฝีมือที่ได้ฉายาว่า “The master of us all”

 

เสียงวิจารณ์มาจากหลายกลุ่ม ถ้าเป็นสาวกแบรนด์รุ่นใหม่กับผู้บริโภคกระเป๋าหนักสายลักชัวรีจะทำนายว่าพลังสตรีตจากท้องถนนน่าจะมีบทบาทสำคัญในคอลเล็กชั่นเที่ยวนี้ ส่วนกลุ่มนักออกแบบร่วมวงการทายกันว่าน่าจะได้เห็น “Couture at its best” อีกครั้ง แม้ว่าดีไซเนอร์ชาวจอร์เจียผู้เติบโตท่ามกลางการล่มสลายทางการเมืองของชาติตนจะได้ชื่อว่า “แข็งแรง” ในแนวทางงานร่วมสมัย แต่ฝีเข็มและฝีมือในงานเก่าที่ผ่านๆ มาหลายต่อหลายคอลเล็กชั่นนั้นแสดงวิสัยทัศน์แนวกูตูร์อย่างต่อเนื่อง

แพทเทิร์นงานเก่าขึ้นหิ้งของผู้ก่อตั้งได้รับการดัดแปลงให้ร่วมสมัย

 

ผลปรากฏว่าถูกทั้งคู่ ดีไซเนอร์ตอบโจทย์ในทิศทางที่เขาถนัดด้วยดีกรีกลมกล่อมพอเหมาะพอดี ไม่ว่าจะเป็นสายสตรีตหรือสายกูตูร์...สื่อหรือลูกค้า ต่างขนลุกซู่กับเอฟเฟกต์ที่คิดคำนวณมาเป็นอย่างดี ในส่วนของการจัดโชว์แบรนด์ก็สามารถตรึงอารมณ์ผู้ชมได้อยู่หมัด ด้านผลงานออกแบบนั้นก็ช่างล้ำสมัยก้าวไกลไปจากนิยาม “อาภรณ์หรูของเหล่าอภิสิทธิ์ชน” รูปแบบเดิมๆ ที่ฝังลึกติดหนึบในโลกโอตกูตูร์มานับศตวรรษ น่าแปลกที่คอลเล็กชั่นของเดมน่าในครั้งนี้สามารถทำให้ผู้ชม “กลั้นหายใจจนรู้สึกอึดอัด” และ “ถอนหายใจอย่างโล่งอก” ได้ในเวลาเดียวกัน ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกหนึ่งความเป็นเลิศนั่นก็คือ “การเคารพประวัติศาสตร์” ของห้องเสื้อ ซึ่งสมัยนี้เป็นเรื่องที่พบได้ค่อนข้างยากในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลกใหม่

แคมเปญกูตูร์คืนรังหนนี้ไม่เพียงโดดเด่นเรื่องอาภรณ์แต่ยังน่าจับตามองในด้านการตกแต่งภายใน เพราะยืมแรงบันดาลใจมาจากซาลงดั้งเดิมของห้องเสื้อ

 

ชั้นเชิงในงานดีไซน์ที่สามารถหยิบงานดั้งเดิมมาวางเทียบกับลุคใหม่ได้แบบชอตต่อชอต (แต่ห่างไกลจากคำว่า “ลอก”) พาเรากลับไปเป็นเด็กนักเรียนแฟชั่นผู้หิวกระหายใคร่รู้ เพียงกดเข้าเว็บไซต์ของแบรนด์ก็ข้ามมิติไปยังซาลงดั้งเดิมของห้องเสื้อเลขที่ 10 บนถนน George V ในปารีส...กลายเป็นเด็กตาแป๋วท่ามกลางมวลหมู่คนแฟชั่นระดับพระกาฬ...ตื่นเต้นชะมัด แบรนด์เฉลียวฉลาดในการทำเรื่องใต้จมูกให้เกิดผลลัพธ์เกินคาด...ครั้งนี้เพียงกดปุ่มกล้องถ่ายทอดสดสั้นราวๆ 10 นาทีแบบดิบๆ ก่อนโชว์จริงจะเริ่ม จากคลิปแฟชั่นโชว์แสนเนี้ยบตัดต่ออย่างงามที่คนกรุงเทพฯเข้าไม่ถึงใจกลางเมืองหลวงแฟชั่น ก็พลันกลายเป็นประสบการณ์นั่งเคียงข้างมิส Wintour และเมอซีเยอ Pinault แบบส่วนตัวซะงั้น



WATCH




รายละเอียดของงานออกแบบตั้งแต่การจับคู่สีจนถึงโครงทรงหรือแม้แต่หมวก ล้วนข้ามยุคมาเร้าอารมณ์ผู้ชมรุ่นใหม่โดยยังคงดีเอ็นเอของแบรนด์ไว้อย่างครบถ้วน

 

ตลกร้ายคือของโปรดของเดมน่า! ข้อนี้คนแฟชั่นทราบกันนานแล้ว มุกแรกมาพร้อมตัวเลือกเพลงกล่อมโรง ดีไซเนอร์เก่งนักเรื่องแดกดันลูกค้าตัวเองเกี่ยวกับชนชั้น ด้วยเหตุนี้ Repertoire เพลงแจ๊ซที่ฟังกุ๊งกิ๊งทะแม่งๆ จึงถูกเลือกมาเพื่อให้ตรงจริตผู้ชมช่วงก่อนโชว์ ราวกับบทเห่กล่อมที่ล็อบบี้ในโรงแรมหรู...จากนั้นก็เงียบลง เปลี่ยนเป็นเอฟเฟกต์เพื่อพาเราย้อนกลับไปสู่โลกกูตูร์เก่าปี 1937 (หมายเหตุ: บาเลนเซียก้าห่างหายจากการจัดโชว์กูตูร์มาตั้งแต่ปี 1968 หรือราว 53 ปีมาแล้ว!)

 Cristóbal Balenciaga ฟิตติ้งงานออกแบบของเขาในอาเตลิเยร์ดีไซน์

 

โชว์กูตูร์ในอดีตไม่มีเพลง จะมีก็เพียงเสียงกระซิบกระซาบชี้ชวนกันดูในหมู่ผู้ชม ประสานไปกับเสียงพัดผึบผับเพราะร้อนเหลือใจ รวมถึงเสียงสวบสาบจากชุดกระโปรงและเสื้อโค้ตยามขบวนนางแบบหมุนตัว...ซึ่งโชว์นี้ก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ร่นเวลาจัดแสดงคอลเล็กชั่นจากชั่วโมงเป็นนาทีเดมน่า กวาซาเลียยังคงรักษาจุดยืนเรื่องคัตติ้งซึ่งเป็นหัวใจของแบรนด์ได้อย่างไร้ข้อกังขา และไม่ว่าคุณจะอนุมัติสไตล์กูตูร์ งานเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือเหล่าแอ็กเซสเซอรี่ของแบรนด์ยุคปัจจุบันว่า “โก้พอ” สมความรุ่งเรืองในอดีตกาลหรือไม่ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนปัจจุบันก็วัดรอยเท้าผู้ก่อตั้งแบรนด์สำเร็จในเชิงอัตลักษณ์ของห้องเสื้อ...แถมไม่วัดเปล่า ยังช่วยขยายให้กว้างขึ้น โคร่งขึ้น และตรงใจผู้บริโภคยิ่งขึ้น ดังที่เห็นกันมาแล้วในส่วนของคอลเล็กชั่นเรดี้ทูแวร์ จนชื่อกลับมาอยู่บนตารางแบรนด์แฟชั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดลำดับต้นๆ ของโลกนับแต่ปี 2016 หากใครยังไม่เข้าใจแนวคิดและทิศทางของแบรนด์ 

ผู้เขียนขออนุญาตเทียบเคียงให้กระจ่างเห็นภาพ ถ้าลูกค้าของ Dior ในยุคของเมอซีเยอ Christian Dior คือดอกไม้ ลูกค้าของห้องเสื้อนี้ก็เป็นอาคาร กล่าวคือ กอปรสร้างขึ้นเป็นโครงราวสถาปัตยกรรม...แต่ขึ้นทรงจากผ้า ด้าย และเข็ม และทั้งหมดทั้งมวลนั้นแสนจะสัมพันธ์กับการถ่ายทอดออนไลน์ที่เข้ากับโชว์นี้ได้อย่างลงตัว เพราะผู้ชมไม่ต้องมัวเพ่งพินิจงานปักประดับ (แม้จะมีอยู่บ้าง) เนื่องจากมันไม่ใช่หัวใจของห้องเสื้อมาตั้งแต่ต้น กล้องจึงจับไปที่ซิลูเอตของทุกลุค...เพื่อให้คุณสัมผัสกับเส้นสายคมกริบที่ไม่ต้องเป็นช่างก็มองออกว่า “ชั้นเซียน” ถามว่าการตัดชุดให้ “พอดี” กับคนใส่นั้นยากไหม แล้วถ้าต้องตัดให้ “โคร่งพอดี” ล่ะ...ความโคร่ง โค้ง แอ่น คอดของเดมน่า กวาซาเลียที่สร้างสรรค์ให้ Balenciaga Couture นั้นบรรจงจับวางสร้างรากฐานมาอย่างตั้งใจ มิใช่โคร่งไปแบบไร้โครงสร้าง...โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าแนวนี้ยากสุด  

WATCH