FASHION

Roaring ‘20s ยุคแห่งปาร์ตี้และความขบถที่เป็นต้นแบบของสังคมหลังภาวะโรคระบาดร้ายแรง

'เหล้ายา เซ็กส์ ปาร์ตี้' การพลิกโฉมช็อคโลกหลังโรคระบาดเมื่อ 100 ปีก่อนที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งหลังยุคโควิด

เนื้อหาสำคัญ

  • การเปลี่ยนแปลงโลกจากช่วง 1920s ที่สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ สัตว์อิสระได้อย่างตรงไปตรงมา
  • เหล้ายา เซ็กส์ และปาร์ตี้ กลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นจุดกำเนิดรากฐานสังคมจนถึงทุกวันนี้
  • ตัวอย่างสำคัญหลังการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนที่อาจเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคหลังโควิด

_______________________________________

 

     ย้อนกลับไปช่วงประมาณ 100 ปีก่อนแล้วเหตุการณ์สำคัญสั่นคลอนโลกเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1, การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและแสงประกายความเท่าเทียมของมนุษย์, การแบนห้ามขายแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน ทั้งหมดคือหมุดทางประวัติศาสตร์จารึกการเกิดขึ้นของโลกยุคนั้นอันส่งผลมาถึงปัจจุบัน และเรื่องราวสำคัญที่พลิกการคาดคะเนของของนักวิเคราะห์เชิงสังคมในยุคนั้นก็คือ “รูปแบบสังคมหลังการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน” เรื่องนี้ถูกคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันแทบทั้งฟากตะวันตก ทว่าสิ่งนั้นกลับตาลปัตรจนน่าคิดว่าหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2020-2021 นี้จะเหมือนหรือแตกต่างยุคนั้นมากน้อยเพียงใด

ความโกลาหลวุ่นวายที่สร้างความปั่นป่วนของไข้หวัดสเปนในยุคนั้น / ภาพ: The Gazette

     หากใช้หลักคิดวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลดิบและไม่ใส่ใจความเป็นปัจเจกของมนุษย์จะเห็นว่าความร้ายแรงจากยุค ‘10s อาจทำให้ประชากรโลกหวาดกลัวและมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตสาเหตุจากทรัพยากรอันจำกัดจำเขี่ย รวมถึงความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตจากทุกแง่มุม ความเจ็บแสบของเหตุการณ์ระดับโลกน่าจะจะสร้างแผลใจไว้ไม่ต่างจากการสร้างแผลเป็นบนเรือนร่างเลยทีเดียว แต่ความพิเศษของแผลใจนั้นยากจะคาดเดาว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไปนั้นมันจะแปรเปลี่ยนเป็นแนวคิดเช่นใดได้บ้าง ตรงข้ามกับแผลเป็นบนร่างกายซึ่งจะอยู่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต จุดนี้เองที่ทำให้ยุค “Roaring  ‘20s” หรือ “การคำรามแห่งยุค ‘20s” คือหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่ทั้งโลกต้องจารึกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยและเปลี่ยนโลก

การปาร์ตี้สุดเหวี่ยงและความครึกครื้นของมวลชนอันเป็นสัญลักษณ์ของโลกยุคใหม่เมื่อ 100 ปีก่อน / ภาพ: SF Chronicle Datebook

     เดิมทีมีการวิเคราะห์ว่าโรคระบาดรวมถึงสงครามจะส่งผลให้คนประหยัดต่อไปอีกนับทศวรรษ แต่ก็มีแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งที่ย้อนแย้งกันอยู่เสมอว่า “มนุษย์เป็นสัตว์รักอิสระ” ความหมายในมุมนี้หมายถึงถ้าหากมนุษย์ต้องถูกจำกัดการใช้ชีวิตมากเกินไป พอถึงเวลาหนึ่งจะปลดปล่อยความอัดอั้นนั้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และดูเหมือนว่าหลังยุคไข้หวัดสเปนแพร่ระบาดมันจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะความหลากหลายด้านวัฒนธรรมด้านความบันเทิงมันสนุกสุดเหวี่ยงกว่าที่เคย และกลายเป็นยุคแห่งการเริ่มต้นงานปาร์ตี้แบบทุกหัวระแหงไม่จำกัดเฉพาะชนชั้นนำเหมือนโลกยุคเก่าอีกต่อไป



WATCH




ความสนุกใน Le Monocle ณ กรุงปารีสสะท้อนชีวิตของคนยุคนั้นที่ถวิลหาความสนุกสนานในชีวิตหลังจากทุกข์ระทมกับโรคระบาดและสถานการณ์โลกช่วงก่อนหน้ามาอย่าวยาวนาน / ภาพ: Paul Thompson/FPG

     หากจะทำความเข้าใจอย่างง่ายว่าโลกกลับตาลปัตรภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะอธิบายถึงจุดที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือเรื่องการยึดมั่นศาสนา ผู้คนหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมากขึ้น เมื่อความสิ้นหวังปรากฏสิ่งเดียวที่สามารถทำให้ผู้คนผ่อนคลายได้คือศาสนา ณ ตอนนั้นศาสนากลายเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตผู้คนอย่างมากจนนักวิเคราะห์สังคมเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์จะมีผู้นับถือมากขึ้นและเติบโตอย่างก้าวกระโดด มากไปกว่านั้นผู้คนจะยึดโยงตัวเองเข้ากับศาสนามากขึ้น ทว่าหลังการแพร่ระบาดการคาดการณ์เหล่านี้สวนทางกับการวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังโลกกลับหมุนกลับด้านอย่างสิ้นเชิง เพราะศาสนาเสื่อมความนิยมลงไปมากเลยทีเดียว

ผู้คนยุคโรคระบาดใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง มุ่งมั่นทำงานเป็นหลัก และไม่มีสัญญาณแห่งการฉีกกรอบของสังคมเท่าไรนัก / ภาพ: BBC

     นอกจากศาสนายังมีเรื่องของรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและสงคราม สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องการเก็บออมเงิน ผู้คนถือเงินสดไว้กับตัว แทบไม่ใช้จ่ายอะไรเลยเพราะคาดการณ์อนาคตไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก และสิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้ความตายคือความอดอยาก อีกมุมหนึ่งถึงแม้จะเก็บเงินจนมีเยอะมากมายก็ไม่สามารถนำไปใช้อะไรได้นอกเสียจากจับจ่ายซื้ออาหารเท่านั้น สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ อยู่ในช่วงขาลง เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นความอัดอั้นจนถึงขีดสุดและมันก็ระเบิดออกในยุค ‘20s

ยุค 20s คือยุคแห่งการออกจากกรอบข้อจำกัดและกำเนิดความบันเทิงแบบไร้ขีดจำกัด (ภาพ ณ คลับแห่งหนึ่งในอาร์เล็ม นิวยอร์ก) / ภาพ: Bettman

     ทั้ง 2 ประเด็นผสมกันจนเกิดเป็นระเบิดลูกใหญ่ ยุค ‘20s จึงพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกอย่างที่ยากจะหาตัวอย่างไหนมาเปรียบเทียบ เสียงคำรามของยุคนี้คือเสียงแห่งการปลดปล่อยของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ได้สิทธิ์ในการโหวตเลือกตั้ง(อเมริกา) และการปาร์ตี้ก็เกิดขึ้นโดยผู้หญิงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วัฒนธรรม “Flapper” ถือกำเนิดขึ้น ความเก็บกดทั้งเรื่องความไม่เท่าเทียมถูกคลายออกตั้งแต่พวกเธอเริ่มแสดงให้เห็นว่าทดแทนผู้ชายได้ในยุคสงคราม พอเข้ายุค ‘20s สถานการณ์โลกด้านต่างๆ เริ่มดีขึ้น พวกเธอก็ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมทางศิลปะความบันเทิงไม่แพ้ผู้ชายเลยทีเดียว ปาร์ตี้ยุคนี้จึงสนุกสุดเหวี่ยง ผู้หญิงเริ่มจีบผู้ชายได้ก่อนเป็นครั้งแรกๆ ความกระหายในความบันเทิงของผู้คนยุคนั้นจึงกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญให้ยุคเสียงคำรามมาพร้อมกับดนตรี ความสนุก และปาร์ตี้แบบที่ใครหลายคนเห็นภาพไม่ต่างกันจากยุคโควิดระบาดรอบแรกในประเทศไทย ที่เมื่อผ่อนปรนกฎเกณฑ์ผู้คนตามทองหล่อ-เอกมัยก็เนืองแน่นมากกว่าก่อนโควิดระบาดเสียอีก

ปาร์ตี้เฟื่องฟูแบบหยุดไม่อยู่กับยุคที่หลายคนอัดอั้นมาจากการใช้ชีวิตโดยมีข้อจำกัด / ภาพ: The Guardian

     “ศาสนาไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ความสนุกสุดเหวี่ยงคือคำตอบที่ใช่มากกว่า” หลังจากแทบทุกคนปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดด้วยเหตุผลเรื่องการยึดเหนี่ยวจิตใจในยุคก่อนหน้า พอข้ามมายุค ‘20s มันกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง หลายคนคงสัมผัสได้ว่าศาสนาอาจไม่ใช่ทางของพวกเขา และนั่นก็เป็นความจริงเพราะหลังจากสถานการณ์ผ่อนคลายหลักศาสนาที่มีการกรอบกำหนดแบบโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมึนเมา ข้อจำกัดเรื่องเพศ และพิธีกรรมทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนมองหาอีกต่อไป หลังจากใช้ชีวิตอย่างอึดอัดมานานหลายปี มันก็ถึงเวลาจะต้องปลดปล่อยออกไปเต็มที่เหมือนกัน อะไรที่ถูกจำกัดไว้นานเกินไปจะยิ่งระเบิดออกอย่างมีพลัง หลายกลุ่มใช้โอกาสนี้ในการสร้างตัวตนขึ้น รวมถึงกลุ่มรักร่วมเพศที่เริ่มสร้างสังคมของตัวเองขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย

บรรยากาศ ณ กรุงเบอร์ลินที่หลายคนเชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดกว้างกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ / ภาพ: WUNC

     “เบอร์ลินและลอนดอนกลายเป็นโลกของความหลากหลาย” ทั้งเมืองหลวงของเยอรมันและอังกฤษกลายเป็นแหล่งเปิดกว้างสำหรับความหลากหลายทางเพศ แม้จะเจ็บอ่วมจากสงครามแต่ธุรกิจประเภทสถานบันเทิงโดยเฉพาะกลุ่มรักร่วมเพศเติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคนี้เอง ในขณะเดียวกันประเทศที่ข้อจำกัดผ่อนปรนกว่าเพราะชนะสงคราม(แต่ยังได้รับผลกระทบจากโรคระบาด) ก็มีกลุ่มสังคมแบบนี้เกิดขึ้นแต่ยังเป็นเพียงสังคมลับๆ ที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มที่ดีในการพัฒนาด้านความหลากหลายหลังอดกลั้นมาก่อนจะเกิดโรคระบาดเสียอีก ช่วงเวลาหลังไข้หวัดสเปนอาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองของพวกเขาให้ได้มีตัวตนในสังคมมาจนถึงทุกวันนี้

การปาร์ตี้ยุคนั้นที่ถึงแม้จะสนุกสุดเหวี่ยง แต่ก็มีเป้าหมายซ่อนเร้นบางอย่างโดยเฉพาะเรื่องเซ็กส์ / ภาพ: History.com

     แต่ใช่ว่าการปลดแอกตัวเองของผู้คนสมัยนั้นจะเป็นแสงสว่างของฟ้าหลังฝนเสมอไป ความสุดเหวี่ยงมาพร้อมกับด้านมืดอันสุดขั้วเช่นเดียวกัน ในปาร์ตี้มากมายหลายประเภท แต่หนึ่งในที่ทำให้สังคมอเมริกันและยุโรปรับไม่ได้คือปาร์ตี้เซ็กส์และการคุกคามทางเพศ มันไม่ใช่การฟังเพลง เต้น หรือแค่ดื่มเหล้าทั่วไป แต่มันมาพร้อมความหิวโหยทางกามอารมณ์สะสม เป้าหมายหลักของนักปาร์ตี้ขาประจำคือเรื่องเพศ มีการเหยียดผู้ไม่ชอบงานปาร์ตี้ด้วยคำพูดและการกระทำต่างๆ นานา ผู้คนสนใจการปาร์ตี้และสนุกกับชีวิตแสนมอมเมา สังคมหลังโรคระบาดที่คนเสียชีวิตนับล้านด้านประชากรกลับเติบโตช้าจนน่าตกใจ อัตราหย่าร้างก็พุ่งสูงขึ้น เหตุเพราะหนุ่มสาวต้องการแค่ความสนุกชั่วข้ามคืน ไม่ได้มองถึงการลงหลักปักฐานใช้ชีวิตครอบครัวแต่อย่างใด ในมุมหนึ่งเหตุการณ์ในวัยเด็กและวัยรุ่นอาจหลอกหลอนจนพวกเขาไม่อยากให้ใครพบเจอสิ่งนั้นอีก

ศาสตราจารย์ Nicholas Christakis คือผู้ย้อนกลับไปศึกษาทำความเข้าใจสังคมยุคนั้นเพื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มสังคมปัจจุบันและอนาคตอย่างลึกซึ้ง / ภาพ: The Times

     ยุคแห่งความเงียบเหงาแบบไร้โซเชียลมีเดียยิ่งทำให้รูปแบบสังคมพลิกกระดานอย่างรวดเร็ว ผู้คนถูกจำกัดในชนิดที่ว่าจำกัดจริงๆ หากเปรียบเทียบในยุคนี้ที่ยังสื่อสารกันได้ผ่านทางออนไลน์สังคมอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรุนแรงขนาดนั้น แรงบีบอัดในยุคนั้นมากล้นกว่ายุคนี้อยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นอาจมองได้ว่าหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เบาลงการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเกิดขึ้นรุนแรงเท่ากับเมื่อ 100 ปีก่อน ศาตราจารย์ Nicholas Christakis นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครือข่ายสังคมและการดำรงชีวิตของมนุษย์จากมหาวิทยาลัยเยลและฮาร์วาร์ดมองว่ามนุษย์เราในปัจจุบันอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงพลิกโลกแบบเมื่อก่อน อาจจะต้องรอถึงปี 2024 ที่ทุกอย่างลงตัวมากขึ้นจึงจะเกิดแรงเคลื่อนทางสังคมขนาดใหญ่

ทุกวันนี้เราทุกคนทั่วโลกต่างเฝ้ารอเวลาให้กลับมารวมกลุ่มกันอย่างสนุกสนานอีกครั้ง / ภาพ: The Weekend Edition

     แน่นอนว่าความอัดอั้นอาจทำให้เราทุกคนอยากกลับไปมีไลฟ์สไตล์อิสระในรูปแบบของตัวเอง แต่มันอาจไม่ได้สร้างโลกใหม่ขนาดนั้น เพราะการคำรามแห่งยุค ‘20s เป็นตัวอย่างชั้นเลิศว่าการเปลี่ยนแปลงจากขั้วหนึ่งสู่อีกขั้วหนึ่งอย่างฉับพลันไม่ใช่ทางออกของการเดินหน้าสำหรับทุกด้านของสังคมเสมอไป เราหวังว่ายุค 2020s จะทำให้เราได้กลับมาคำรามได้เต็มเสียงกันอีกครั้งหลังโควิด และคำรามด้วยเสียงแห่งการปลดปล่อยพร้อมพัฒนาชีวิตสู่รูปแบบที่ดีขึ้น แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกัน

 

ข้อมูล: Metro, History, Microbiology Society, Investopedia, The Independent, และ The Washington

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19 #Roaring20s