FASHION

ไขข้อสงสัยทำไมเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ยังคงใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิต

หารู้ไม่ว่า มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ยังคงผลิตด้วยวัสดุที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะช่วยกันแก้ไขและหาหนทางเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรได้บ้าง

เรื่อง: Emily Chan

 

     ในขณะที่คนส่วนใหญ่พยายามลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนหนึ่งในชีวิตของเราที่ยังคงใช้พลาสติกในขั้นตอนการผลิตเป็นจำนวนมากก็คือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ แท้จริงแล้ว เส้นใยสังเคราะห์จำพวกโพลีเอสเตอร์มีปริมาณมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของเส้นใยที่ได้รับการผลิตออกมาทั่วโลก และถึงแม้ว่าบางแบรนด์เริ่มจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้และมองหาสิ่งที่ทดแทนการใช้เส้นใยสังเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต แต่ผลวิจัยล่าสุดพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของฟาสต์แฟชั่นในปัจจุบัน ได้รับการผลิตมาจากพลาสติกใหม่ (virgin plastic) นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นยังคงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลาสติกใหม่เป็นจำนวนมากในขั้นตอนการผลิต

     สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องจดจำก็คือ พลาสติกเกิดจากพลังงานจากถ่านหิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักต่อการผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (climate change) “เส้นใยสังเคราะห์คือส่วนที่สำคัญมากต่อโมเดลธุรกิจของบริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซ” Josie Warden ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยเรื่อง Fast Fashion’s Plastic Problem และหัวหน้าแผนกการออกแบบเพื่อการปฏิรูปใหม่ (regenerative design) ที่ London’s Royal Society for Arts (RSA) เล่าให้โว้กฟัง

     ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนคาดการณ์ว่าวัสดุสังเคราะห์จะมีปริมาณเกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งทอทั้งหมดภายในปี 2030 เห็นได้ชัดเจนว่าเรายังคงมุ่งตรงไปในเส้นทางที่ไม่ถูกต้องนัก “[วัสดุเหล่านี้] แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางผลิตผลของบริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะเรารู้กันดีว่าควรจะต้องลดการสกัดเชื้อเพลิงจากถ่านหิน” Warden เสริม

     ไม่เพียงเท่านั้น เส้นใยสังเคราะห์ยังปล่อยเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก (microplastics) เป็นล้านๆ เม็ดลงสู่ท้องทะเลและทางน้ำเมื่อเราซักเสื้อผ้า ซึ่งถือเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัสดุสังเคราะห์ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ไปถึง 200 ปี และสามารถปล่อยเส้นใยขนาดเล็กที่มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดังที่ Global Fashion Agenda รายงานสิ่งที่น่าตกใจเมื่อปี 2017 ว่าสิ่งทอที่ถูกผลิตขึ้นในทุกๆ ปีได้กลายมาเป็นขยะซึ่งถูกถมทับหรือถูกเผาเป็นจำนวนกว่า 92 ล้านตัน ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สมควรต้องได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุด

     “[พลาสติก] อยู่ในทุกๆ ที่และเราต้องทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน” Liesl Truscott ผู้อำนวยการด้านการจัดการวัสดุจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Textile Exchange กล่าว “เราต้องตื่นตัวกับ [ปัญหาของ] ขยะและพลาสติกขนาดเล็ก ผลกระทบที่สิ่งเหล่านี้มีต่อธรรมชาติ, ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity), และห่วงโซ่อาหารของพวกเรา มันคือปัญหาใหญ่ที่จะไม่ห่างหายไปไหนง่ายๆ”

ภาพ: Anne Sofie Madsen / WWD

การพึ่งพาวัสดุสังเคราะห์ของวงการแฟชั่น

     ถ้าจะกล่าวถึงการพึ่งพาวัสดุสังเคราะห์ของวงการแฟชั่น เราคงต้องย้อนไปตั้งแต่ยุค 1940s และ 1950s ในช่วงที่ไนลอนและโพลีเอสเตอร์เริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งของผ้าฝ้าย, ผ้าขนสัตว์, และผ้าไหม จนถึงปัจจุบันนี้ เส้นใยสังเคราะห์ยิ่งมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว “เส้นใยจำพวกนี้มีความยืดหยุ่น ราคาไม่แพง และใช้งานได้สะดวก” Truscott อธิบาย “ในขณะที่ผ้าฝ้ายและเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ อาจเปราะบางต่อการใช้งานหรือในสภาพอากาศที่แปรปรวน”

     ในหลายๆ ครา โพลีเอสเตอร์กับผ้าฝ้ายและเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ ได้รับการผสมผสานเพื่อพัฒนาความคงทนและความยืดหยุ่น แต่สิ่งนี้ได้สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเมื่อถึงเวลาหมดอายุการใช้งาน “ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด เพราะมันคือการผสมรวมของวัสดุธรรมชาติกับวัสดุสังเคราะห์” Truscott กล่าว “ในส่วนของการรีไซเคิลโดยการคัดแยกวัสดุทั้งสองออกจากกัน ยังคงเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้”

     ความต้องการที่เราต่างมีต่อเสื้อผ้าในทุกวันนี้ ยังหมายรวมถึงความยุ่งยากในการขจัดพลาสติกออกจากตู้เสื้อผ้าด้วยเช่นกัน “สิ่งที่น่าขันก็คือ พวกเราต่างชอบสวมเสื้อผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์เหล่านี้สำหรับออกไปเผชิญกับธรรมชาติ” Truscott กล่าว “เส้นใยสังเคราะห์ [ถูกใช้] สำหรับเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบา, ทนทานต่อการยืดหยุ่น, และซับน้ำได้ดี” เสื้อผ้าสำหรับออกกำลังกายและชุดชั้นในคือส่วนที่ยังไม่สามารถลดการใช้พลาสติกได้ เพราะสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญคือความหยืดหยุ่นของเนื้อผ้า

ภาพ: Marine Serre / Dezeen

ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร

     ด้วยจำนวนอันมหาศาลของพลาสติกที่มีอยู่ในโลก การรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์—ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากขวดพลาสติกหรือแหจับปลาที่ไม่ใช้แล้ว—ถือเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการใช้พลาสติกใหม่ (virgin plastic) แต่ไม่ควรใช้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว “พลาสติกในเสื้อผ้าที่ได้รับการรีไซเคิลยังคงลงเอยที่การถูกเผาหรือถมทับหลังจากนั้นอยู่ดี จึงถือเป็นการแก้ปัญหาแค่ในระยะสั้นเท่านั้น” Warden อธิบาย

     ขณะนี้ การรีไซเคิลสิ่งทอให้กลายเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ยังคงเป็นขั้นตอนที่ยากมากๆ—มีเสื้อผ้าน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับการรีไซเคิลในลักษณะนี้ “โครงสร้างพื้นฐานของการรีไซเคิลเส้นใยสังเคราะห์ยังคงมีเพียงน้อยนิด” Warden เล่าต่อ ในการรีไซเคิลเชิงกล (mechanical recycling) ถึงแม้สิ่งทอจะถูกทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่วิธีการนี้มักจะลดทอนคุณภาพของเส้นใย ส่วนการรีไซเคิลเชิงเคมี (chemical recycling) ซึ่งใช้กระบวนการสลายวัสดุให้กลายเป็นรูปแบบของสารเคมี ถือเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานอย่างมหาศาลและยังเป็นต้นตอของการแพร่กระจายสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

     นั่นคือเหตุผลที่แบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Pangaia กำลังหาทางผลิตเสื้อผ้าโดยไม่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ โดยเสื้อผ้าจากคอลเลกชั่น Gym ใช้พลาสติกที่ทำมาจากพืชอย่างยูคาลิปตัส, สาหร่าย, และไนลอนที่ผลิตจากน้ำมันระหุ่ง (castor oil) ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ “คอลเลกชั่น Gym จากแบรนด์ Pangaia ควบรวมวัสดุที่ดีที่สุดในการรังสรรเสื้อผ้าสำหรับการออกกำลังกายที่สามารถย่อยสลายได้ และยังคงประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสูงสุดสำหรับผู้สวมใส่” Dr. Amanda Parkes ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมจาก Pangaia กล่าว และยังเสริมว่าทางบริษัทกำลังคิดค้น “เส้นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากพืชและสามารถย่อยสลายได้ (bio-based biodegradable synthetic)” เพื่อทดแทนการใช้ไนลอนในปี 2022 ด้วยเป้าหมายในการใช้เส้นใยสังเคราะห์ชนิดนี้แทนการใช้เส้นด้ายอีลาสเทนหรือสแปนเด็กซ์ที่ใช้กันในชุดออกกำลังกาย

     แม้ว่านวัตกรรมที่ว่านี้จะน่าสนใจเพียงใด การรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใช้สิ่งทอในรูปแบบใหม่ๆ มักจะต้องใช้เวลา และยังมีประเด็นให้ขบคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าวัสดุเส้นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากพืช (bio-based) หมดอายุขัย “เมื่อคุณผลิตมันออกมาแล้ว คุณสามารถนำมันมารีไซเคิลได้หรือไม่? หรือสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะต้องกลายมาเป็นขยะเพื่อรอการถมทับในลักษณะเดียวกันกับวัสดุประเภทอื่นๆ?” Truscott ตั้งคำถาม

     ในระหว่างนี้ วงการแฟชั่นต้องให้ข้อมูลกับผู้คนในเรื่องของการใช้พลาสติก พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้เสื้อผ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ ติดป้ายเพื่อบ่งบอกว่าเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆ ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มรณรงค์อย่าง Changing Markets Foundation ยังกล่าวว่า ควรมีมาตรการการเก็บภาษีพลาสติก เพื่อเป็นการบังคับให้บริษัทต่างๆ เลิกพึ่งพาการใช้พลาสติกที่มากจนเกินควร “เราต้องช่วยกันหาทางออกจากความสะดวกสบายของการใช้พลาสติกที่ผลิตจากถ่านหิน และเราต้องตั้งเป้าหมายอันแรงกล้าที่สามารถจับต้องได้ด้วยเช่นกัน” Truscott สรุป

 

ผู้เขียน: Emily Chan

แปล: Janisara (ชนิสรา)

ข้อมูล: vogue.in



WATCH




WATCH

คีย์เวิร์ด: #Plastic