FASHION

เปิดเรื่องราวอาชีพที่หายสาบสูญของตัวละคร Jack ในภาพยนตร์เรื่อง Mary Poppins Returns

     “โลกเปลี่ยนไป กลไกบางอย่างย่อมเลือนหายและเปลี่ยนรูปแบบไป” วลีแห่งความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นใหม่มักจะต้องมีบางสิ่งหายไป เพราะถ้าเปรียบโลกนี้รับน้ำหนักได้ 100 หน่วยสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จำเป็นที่จะต้องทดแทนสิ่งเก่าเพื่อจะควบคุมน้ำหนักการรองรับไว้ เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่สิ่งของและหน้าที่บางอย่าง ความโบราณที่รุ่นพ่อแม่หรือแม้แต่ตายายคุ้นเคย เราอาจจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสสิ่งเหล่านั้นในชีวิตจริงอีกแล้ว นอกเสียจากสื่อช่องทางต่าง ๆ ทั้ง ภาพยนตร์ สารคดี และการเก็บบันทึกหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงเรื่องราวเล่าขานของบรรพบุรุษซึ่งจะส่งต่อประสบการณ์ที่น่าจดจำในอดีตจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อไป

Lin-Manuel Miranda ในบทบาท Jack เจ้าหน้าที่จุดตะเกียงในภาพยนตร์เรื่อง Mary Poppins Returns (2018) / ภาพ: The Telegraph

     ตัวละคร Jack ในภาพยนตร์เรื่อง Mary Poppins Returns เป็นหนึ่งในนั้น Lin-Manuel Miranda รับบทคนจุดตะเกียงสาธารณะบนทางเท้ากลางกรุงลอนดอน อาชีพที่เป็นตัวอย่างของการเลือนหายไปในปัจจุบันได้อย่างดี อาชีพนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาเช่นเดียวกัน แต่เป็นช่วงที่มนุษย์อยู่ในขั้นเติมเต็มไม่ใช่ทดแทนแบบในปัจจุบัน ช่วงศตวรรษที่ 19 เจ้าหน้าที่จุดตะเกียงถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดที่ผู้คนต้องการแสงสว่างกลางหมอกอันมืดมิดในกรุงลอนดอน จึงเกิดเป็นตะเกียงไฟให้แสงสว่างตามท้องถนน

ภาพวาดของ Mrs.Ann Eaton ผู้หญิงที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่จุดตะเกียงของเมืองนิวเจอร์ซีย์ / ภาพ: CORBIS

     บันได ไม้ตะขอ เทียน ไฟ น้ำมัน และแก๊สถูกขนไปตามถนนโดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้เพื่อจุด เติม ซ่อมแซม และดับในทุก ๆ วัน เป็นฟันเฟืองสำคัญที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากตะเกียงไฟที่ส่องสว่างไสวไปทั้งเมือง ผู้ให้ความสว่างเหล่านี้ยังมีหน้าที่เพิ่มเติมคือการสอดส่องดูแลความปลอดภัยเหมือนเป็นหูเป็นตาให้กับบ้านเมืองด้วย ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ณ ขณะนั้น มีการสืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น แม้แต่ในยุคที่ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงน้อยแต่ถ้าหากปฏิบัติหน้าที่นี้เธอก็ถูกยกย่องอย่างสมเกียรติเช่นกัน



WATCH




เจ้าหน้าที่จุดตะเกียงคนสุดท้ายในออสเซตต์ย่านเวสต์ยอร์กเชอร์ในประเทศอังกฤษ / ภาพ: ossett.net

     อาชีพที่ดูเหมือนมีความอันตรายสูงมีทั้งไฟ แก๊ส การปีนที่สูงแต่ในความเป็นจริงค่อนข้างปลอดภัย เพราะสิ่งที่แย่ที่สุดคือการโดนไฟลวกและตกบันไดเท่านั้น ความเสี่ยงไม่มากและยังมีเกียรติ นอกจากนี้เหล่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ยังมีรายได้พิเศษจากการจับแมลงพิเศษสีสันสวยงามอีกด้วย ผู้คนจึงอยากจะเข้ามารับหน้าที่นี้กันมากมาย

หลอดไฟยุคใหม่เข้าแทนที่ทำให้เจ้าหน้าที่จุดตะเกียงเริ่มมีหน้าที่แค่เปลี่ยนหลอดไฟ ก่อนจะหายไปช่วงระบบอัตโนมัติ / ภาพ: EATON

     แต่จุดพลิกผันคือโลกรับน้ำหนักเต็มแล้ว ในตอนนั้นช่วงกลางค่อนปลายศตวรรษที่ 19 หลอดไฟกลายมาเป็นสิ่งส่องสว่างตามท้องถนนแทนเทียนและตะเกียงแก๊สแล้ว ต่อมามีระบบเปิดเป็นแบบอัตโนมัติด้วย ฉะนั้นคำว่า “ทดแทน” ถูกใช้กับสายอาชีพนี้ทันที เทคโนโลยีพุ่งเข้ามาแทนทีชนิดฉับพลันทำให้เจ้าหน้าที่ประเภทนี้เริ่มเลือนหายไปจากสารบบ ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ Mary Poppins Returns แล้วคงเหมือนกับ Jack ที่เข้ามาแทนที่ Bert ซึ่งในต้นฉบับคือตัวละครบทบาทนักกวาดปล่องไฟ ซึ่งเลือนหายไปก่อนหน้าอาชีพของ Jack เสียอีก

พนักงานจุดตะเกียงในเมืองแบรสต์ยุคปัจจุบัน / ภาพ: Belarus.by

     ในปัจจุบันยังคงหลงเหลือหน้าที่นี้ให้เราได้เห็นกันบ้างประปรายอย่างในเมืองแบรสต์ของฝรั่งเศสที่รักษารูปแบบเสาไฟตะเกียงไว้ พนักงานจุดตะเกียงทีมเล็ก ๆ ในกรุงลอนดอนที่ถูกอนุรักษ์ไว้โดยองค์การอนุรักษ์แห่งอังกฤษที่ไม่อยากให้หายไปอย่างสิ้นเชิง หรือจะเป็นลักษณะคล้ายคลึงอย่างนักจุดคบเพลิงชายหาดแถบหมู่เกาะฮาวาย และยังมีสถานที่เก่าแก่ที่ถูกอนุรักษ์ไว้บางส่วนในอเมริกา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หลงเหลือ และถือเป็นชิ้นส่วนน้ำหนักเบาที่สอดตัวเข้าไปอยู่ในข้อจำกัดการรับน้ำหนักของโลกนี้ได้อย่างพอดิบพอดี

เจ้าหน้าที่ที่ยังหลงเหลือของย่านเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในปัจจุบัน / ภาพ: GUIDE LONDON

     สิ่งที่หลงเหลือนอกจากเรื่องการปฏิบัติคงเป็นเรื่องเล่าขานถึงความคลาสสิกของการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้จากรุ่นอายุเก่าแก่ และภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคมวัฒนธรรมสมัยก่อนอย่างเช่น Mary Poppins Returns นี้เอง การเล่าต่อย่อมมาจากประสบการณ์แต่ถ้าจะอยู่ยืนยาวคงต้องเรียกว่า “ประสบการณ์อันตราตรึงใจ” เหล่าชาย-หญิงแห่งตะเกียงโบราณจะคงอยู่ตลอดไป อย่างน้อยก็ในรูปแบบของเรื่องราวเล่าขานสุดอมตะจากยุคศตวรรษที่ 19

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Mary Poppins #Lin-Manuel Miranda