FASHION

ฉากมนุษย์จริง 200 คน! Louis Vuitton รังสรรค์โชว์พิเศษรวบแฟชั่นกว่า 600 ปีอยู่ในโชว์เดียว

     เมื่อโชว์ Louis Vuitton ประจำคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2020 จบลงเป็นสัญญาณว่าสัปดาห์แฟชั่น ณ กรุงปารีสครั้งนี้ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ การปิดท้ายครั้งนี้ไม่ใช่แค่การรวบยอดขมวดปมปิดเทศกาลเท่านั้น แต่หลุยส์ วิตตองกำลังรวบรวมประวัติศาสตร์ความงามนับร้อยๆ ปี และขึ้นชื่อว่าประวัติศาสตร์ย่อมต้องมีการหวนกลับมาทั้งเกิดขึ้นหรือแม้แต่เล่าใหม่เสมอตามหลักคิดทฤษฎีการศึกษาทางประวัติศาสตร์แบบขดสปริงที่มีการย้อนกลับมาแต่ไม่ได้วิ่งวนในรูปแบบเดิมๆ ตามแพตเทิร์นวงกลม วันนี้ Nicolas Ghesquière เปิดจารึกประวัติศาสตร์ด้านแฟชั่นให้ออกมาวิ่งเล่นในโลกยุค 2020 อย่างมีนัยยะสำคัญ

ความงดงามของเสื้อผ้า Louis Vuitton ทั้ง 47 ลุค / ภาพ: Andrea Adriani - Vogue Runway

     พ่วงไอเดียของนิโกลาส์เข้ากับอีเวนต์สำคัญช่วงต้นเดือนพฤษภาคมอย่าง Met Gala ที่กับธีม “About Time: Fashion and Duration” การย้อนรำลึกถึงความาสวยในยุคสมัยก่อนคือเรื่องราวหลักที่ร้อยเรียงโชว์ให้เป็นเส้นเรื่องที่ชัดเจน แต่การรำลึกครั้งนี้ไม่ใช่การแต่งคอสเพลย์ตามงานแฟร์เท่านั้น แต่นิโกลาส์หลอมรวมเอาความงดงามทุกสมัยมาผูกโยงกันจนเป็นเกิดเป็น 47 ลุคสุดล้ำ คงไม่มีใครคาดคิดว่านิยามความงามของเสื้อผ้าในอดีตจากแต่ละยุคจะกลับมาเป็นส่วนผสมสำคัญเพื่อรังสรรค์เสื้อผ้ายุคโมเดิร์น ยุคแห่งการรื้อสร้างแบบนี้ได้...

บรรยากาศฉากหลังมนุษย์จริงกว่า 200 คน / ภาพ: Gio Staiano for NOWFASHION

     “ฉากหลังมนุษย์” เมื่อพูดถึงเซตติ้งรันเวย์ปิดปารีสแฟชั่นวีก เหล่าสาวกแฟชั่นย่อมคาดหวังไว้แน่นอนว่าต้องปิดท้ายช่วงเย็นวันที่ 3 มีนาคมอย่างน่าตื่นเต้น และหลุยส์ วิตตองก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง ทีมงานรังสรรค์แสตนด์สำหรับคนกว่า 200 คน และความพิเศษก็ปรากฏขึ้นเมื่อไฟสาดส่องไปทางพวกเขาเราจะเห็นรายละเอียดของชุดที่สะท้อนถึงความงามแต่ละยุคจนได้ชื่อว่า “Time Clash” เพราะการย่อโลกตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 มาจนถึงปัจจุบันให้อยู่ในโชว์เดียวเป็นเหมือนการปะทะกันของประวัติศาสตร์ และเมื่อนำมาตีความทางสังคมวิทยาจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการปะทะกันของวัฒนธรรมจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ นั่นก็คือเสื้อผ้าที่ผู้อำนวยการสร้างสรรค์เนรมิตคอลเล็กชั่นลูกผสม “Vintage-Modern” ครั้งนี้ขึ้นมา



WATCH




อีกหนึ่งภาพมุมกว้างของแสตนด์สำหรับนักร้องคอรัสกว่า 200 คนในชุดสุดแฟนตาซี / ภาพ: Gio Staiano for NOWFASHION

     และความสุดยอดไม่ได้อยู่เพียงแท่นยืนและจำนวนคนกว่า 200 ซึ่งรับบทเป็นฉากหลังสำคัญของโชว์หลุยส์ วิตตองเท่านั้น เมื่อลองมองอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะเห็นว่าการไล่เรียงความสวยงามตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นทรงพลังเพียงใด วิกม้วนเกลียวแบบฉบับตะวันตก หมวกปีกกว้าง ชุดเดรสซิลเอตสุ่ม ชุดจีน ชุดสูท 3 ชิ้นพร้อมโซ่นาฬิกา ชุดเดรสวิกตอเรียน และอื่นๆ อีกมากมายรวมกันอยู่ในที่เดียว! เหล่าโฉมงามจากแต่ละยุคทำหน้าที่ขับร้องเพลงประกอบโชว์ซึ่งแต่งและเรียบเรียงโดย Woodkid และ Bryce Dessner สะท้อนการเคลื่อนไหวผ่านยุคสมัยและชุบชีวิต Nicolas de Grigny อัจฉริยะแห่งวงการดนตรีผู้ถูกลืม ผู้ไม่เคยแม้แต่จะมีโอกาสทำการแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แต่วันนี้เราได้ยินจากทัพนักร้องประสานเสียงกว่า 200 คนในชุดสุดอลังการที่ลูฟวร์ ชุดเหล่านี้นั้นงดงามราวกับอยู่ในพิพิธภัณฑ์อาภรณ์ ผลงานการออกแบบนี้เป็นของ Milena Canonero ยอดฝีมือด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับภาพยนตร์ โด่งดังจากเรื่อง A Clockwork Orange, Barry Lyndon และ The Shining การันตีได้ว่าความสวยสดงดงามบนแสตนด์นั้นเกิดจากความละเอียดประณีตไม่แพ้เสื้อผ้าของนิโกลาส์เลย

ตัวอย่างของการนำลายปักแบบโบราณเข้ามามิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้ายุคใหม่ / ภาพ: Isidore Montag for Vogue Runway

     เมื่อเรามองต่ำลงจากแสตนด์จะเห็นนางแบบเดินขบวนออกมาพร้อมกับเสื้อผ้าแปลกตาเพราะอย่างที่กล่าวไปว่านี่คือการผสมผสานกันระหว่างยุคสมัย ลวดลายปักสไตล์ยุโรปยุคโบราณกลับมาอยู่บนเสื้อผ้ายุคนี้ได้อย่างน่าสนใจ หรือจะเป็นเสื้อโค้ตย้อนยุคจากศตวรรษที่ 18 ก็สามารถนำมาแมตช์กับรองเท้ารูปทรงร่วมสมัย หรือแม้แต่ดีเทลเลเยอร์ระบายของกระโปรงกว่า 200-300 ปีที่แล้วก็ยังปรากฏให้เห็นผสมอยู่กับกลิ่นอายเสื้อผ้าแบบฟิวเจอริสติก ทั้งหมดคลุกเคล้ากันจนออกมาเป็นคอลเล็กชั่นฤดูหนาวนี้ หากเปรียบเป็นโชว์ของหลุยส์ วิตตองคงเปรียบเหมือนอาหารฟิวชั่นที่เราจะได้ลิ้มรสชาติของการผสมผสานไอเดียความอร่อยจากศาสตร์ต่างๆ ในแต่ละยุคไปพร้อมกันจากการรังสรรค์ของฝีมือเชฟระดับมิชลิน

ตัวอย่างการสไตลิ่งลุคที่สอดแทรกเรื่องความไร้กรอบต่างๆ ไว้กับคอนเซปต์การรวมกันของยุคสมัยในโชว์ Louis Vuitton / ภาพ: Isidore Montag for Vogue Runway

     อีกนัยยะสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้จริงๆ คือเรื่องการสไตลิ่ง เมื่อเห็นฉากหลังเราจะเห็นความดั้งเดิมของความงามแต่ละรูปแบบ เพราะฉะนั้นเมื่อมองการสไตลิ่งของนิโกลาส์จะเห็นความงามที่ถูกพลิกแพลงจนออกมาเป็นสไตล์สุดจัดจ้าน ไม่ว่าจะเรื่องความขัดแย้งกันของยุคสมัย การผสมสี การแมตช์ลวดลาย การวางเลเยอร์ทุกอย่างดูเหมือนมากันคนละทิศคนละทางแต่ดีไซเนอร์คนนี้กลับหยิบจับมาใส่ในลุคเดียวกันได้อย่างน่าประหลาดใจ นั่นเหมาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้ยินคำว่า “Anti-Total Look” จะตระหนักได้ทันทีว่าการมิกซ์แอนด์แมตช์แบบนี้คือการเปิดกว้างทางความคิด เรานิยามความสวยงามใหม่ได้ด้วยตัวเราโดยไม่ต้องกรอบว่าต้องใส่แบบใด สวมกับอะไร หรือแม้แต่จะต้องเป็นเพศอะไร แฟชั่นโชว์ของนิโกลาส์ต่อยอดมาจาก “Androgynous” เรื่องการไม่แบ่งเพศในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2020 แสดงให้เห็นว่าบนรันเวย์ไม่ได้มีแค่การอวดโฉมความงดงามของเสื้อผ้าแต่ยังหมายถึงการส่งสารสำคัญทุกเรื่องมากเท่าที่แบรนด์อยากและพร้อมลงมือทำ เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าแฟชั่นโชว์ในยุคหลังมีการใส่รายละเอียดกะเทาะตัวตนของแบรนด์และเปิดหน้ากากสังคมออกมาไม่น้อย การเรียกแฟชั่นว่าเป็นอีกหนึ่งวิชาแขนงใหญ่คงไม่ผิดนัก ในเมื่อวิชานี้สามารถบันดาลใจให้เรามุ่งศึกษาเรื่องราวเพิ่มเติมจากสารที่ถูกนำเสนอในแต่ละโชว์ได้อย่างเพลิดเพลิน

ช่วงฟินาเล่กับฉากหลังมนุษย์จริงสุดงดงาม / ภาพ: Andrea Adriani for Vogue Runway

     สุดท้ายโชว์หลุยส์ วิตตองคอลเล็กชั่นนี้กำลังเดินหน้าพัฒนาให้เราเห็นว่าการเสพแฟชั่นเป็นเรื่องหลายมุมมอง หากเรามุ่งเน้นไปเรื่องความสวยงามจะได้เห็นความวิจิตรบรรจงของฉากยันเสื้อผ้าและแอ็กเซสเซอรี่ หากสนใจแต่ประวัติศาสตร์ก็จะเส้นทางการวิ่งของแฟชั่นในอดีตจนถึงปัจจุบันเท่านั้น แต่ถ้าสนใจแบบใดแบบหนึ่งและทำความเข้าใจกับอีกด้านหนึ่งเพิ่มเติมจะเหมือนกับการทานอาหารครบรส ไฟน์ไดนิ่งจานหรูจากหลุยส์ วิตตองแยกองค์ประกอบมาหลายอย่างในจานเดียว ผู้ชมค่อยๆ ชิมไปทีละอย่างเพื่อลิ้มรสความเฉพาะตัวของวัตถุดิบแม้เราจะไม่รู้จักแต่ละอย่างทั้งหมดก็ตาม แต่เมื่อลองเปิดใจคลุกเคล้าและทานไปพร้อมกันอาหารรสเลิศจากแบรนด์ระดับตำนานของฝรั่งเศสจะกลายเป็นเมนูชั้นยอดที่พร้อมทำให้เราโหยหาถึงทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึงหลุยส์ วิตตอง ศาสตร์การทำคอลเล็กชั่นใช้การดึงห้วงเวลามาถึง 600 ปีเพื่อแสดงความงดงามอันแตกต่าง เราสามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือการเล่นกับคำว่า “อมตะเหนือกาลเวลา” อย่างแท้จริง

WATCH

คีย์เวิร์ด: #FW20 #FW2020