FASHION

จากแฟชั่นสู่งานศิลป์...เมื่อกระเป๋ารุ่นไอคอนิก Lady Dior กลายเป็นงานศิลปะสวยสะกด

อีกครั้งของโปรเจกต์ Dior Lady Art ผลงานออกแบบกระเป๋าที่เป็นมากกว่าเรื่องของแฟชั่น กับความหมายแฝงเล็กๆ มากเรื่องราวและทรงคุณค่า

 

     นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่โปรเจกต์สร้างสรรค์ในนาม Dior Lady Art ได้ถือกำเนิดขึ้น ในปีนี้อิดิชั่นที่ 4 ของDior Lady Art กลับมาสะกดใจคนแฟชั่นและคอศิลปะอีกครั้ง โว้กประเทศไทยจะพาไปทบทวนความเป็นมา รวมถึงรายละเอียดยิบย่อยและข้อมูลเชิงลึกว่าทำไมโปรเจกต์นี้จึงถูกจับตามองเสมอ

Rina Banerjee ศิลปินส่งสารเกี่ยวกับอัตลักษณ์หลากมิติของเธอ ผ่านงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัยเยาว์

 

     เริ่มต้นที่ที่มาของกระเป๋า หลายคนอาจไม่ทราบว่าก่อนที่กระเป๋ารุ่นนี้จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อโก้หรูดูเป็นผู้ดีว่า Lady Dior เช่นที่เราคุ้นหูกันทุกวันนี้ แบรนด์เคยเกือบตั้งชื่อให้ว่า Chou Chou (ชู ชู) แปลว่า “ของรักของหวง” หรือ “ชิ้นโปรด” ในภาษาฝรั่งเศส หากเรื่องราวเกิดพลิกพันเมื่อเจ้าหญิง Diana สตรีระดับไอคอนผู้ทรงอิทธิพลด้านสไตล์ได้รับเชิญไปเปิดงานกาล่า ณ พิพิธภัณฑ์ Cézanne ในกรุงปารีสเมื่อปี 1995 อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศส Bernadette Chirac ได้มอบกระเป๋า Chou Chou แด่เจ้าหญิงเพื่อเป็นตัวแทนมิตรภาพของทั้งคู่ หลังจากนั้นไม่นานกระเป๋ารุ่นนี้ก็วางจำหน่ายตามบูติกและขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว

     จะด้วยดีไซน์เนี้ยบโก้หรือเจ้าหญิงไดอาน่าทรงถือเป็นประจำตามที่เห็นในข่าวอยู่เนืองๆ ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ มันฮอตฮิตติดลมยาวนานจนทั้งคนทั้งของกลายเป็นของคู่บุญกันไปโดยปริยาย ทำให้ดิออร์เลือกปรับชื่อรุ่นกระเป๋าใบนี้ใหม่อย่างเป็นทางการว่า Lady Dior (มาจาก Lady Diana) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหญิงไดอาน่า ว่ากันว่าเหตุกระเป๋าครองเมืองครั้งนี้สร้างปรากฏการณ์ยอดขายถล่มทลายสูงกว่าเดิมถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับเครื่องหนังรุ่นอื่นๆ จากแบรนด์เดียวกัน กล่าวคือ ทำยอดขายได้ถึง 200,000 ใบในเวลาแค่ 2 ปี

1 / 4

Mickalene Thomas ศิลปินหญิงชาวแอฟริกา-อเมริกัน เลือกหยิบสิ่งที่ Christian Dior ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อโปรดปรานคือ ดอกไม้ และงานศิลปะมาตีความ


2 / 4

Jia Lee ธรรมชาติ และอารมณ์ บันดาลให้ศิลปินชาวเกาหลีรายนี้เลือกเดินตามเส้นทางเดียวกับมาสเตอร์สายอิมเพรสชันนิสม์ชั้นครู


3 / 4

A Thi-Patra Ruga ใบหน้าที่ไม่ระบุเพศบนพื้นสีดำสนิท คือสารสำคัญของผลงานชิ้นนี้


4 / 4

Maria Nepomuceno สารสำคัญประจำยุตอย่างสตรีนิยม และความหลากหลาย ไหลเลื่อนอยู่ในกระเป๋าสีแดงสดใบนี้




WATCH




     จากความสำเร็จครั้งมโหฬาร Lady Dior จึงก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกระเป๋ารุ่นไอคอนิกประดับวงการ แต่ถึงแม้กระเป๋ารุ่นนี้จะได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่สร้างยอดขายให้แบรนด์ได้คงเส้นคงวา แบรนด์ก็ไม่อยู่เฉย เลือกขยับขยายความแปลกใหม่ออกไปจากขอบเขตเดิมๆ โดยใช้จุดเด่นระดับสัญลักษณ์ อาทิ ซิลูเอตเกือบจัตุรัสของทรงกระเป๋า ลวดลาย Cannage ซึ่งเป็นเส้นสายลายปักของเก้าอี้ในสมัยจักรพรรดิ Napoleon ที่ 3 จนเกิดเป็นโปรเจกต์ประจำปีในนาม Dior Lady Art

     โปรเจกต์ที่ว่านี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2016 ภายใต้การดูแลควบคุมของ Maria Grazia Chiuri นายหญิงคนปัจจุบัน ของแบรนด์ผู้เล็งเห็นความสำคัญของการหลอมรวมวิถีสร้างงานออกแบบและโลกศิลปะเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ มุมมองอันเป็นปัจเจกของศิลปินแต่ละชีวิตที่ผ่านการเฟ้นหามาจากทั่วทุกมุมโลกจึงถ่ายทอดออกมาเป็น “สารสำคัญในโฉมแฟชั่น” จำนวนจำกัด ซึ่งกินเวลาสร้างสรรค์นานกว่า 8 ชั่วโมงต่อใบ

(ซ้าย) Eduardo Terrazas รูปทรงเรขาคณิตที่ผ่านการคำนวณอย่างละเอียดโดยสถาปนิกเจ้าของผลงานชาวเม็กซิโก/ (ขวา) Rabiq Shaw นิมิตภาพสวรรคืในจินตนาการปักประดับอยู่บนกระเป๋าด้วยเม็ดอัญมณี และงานลงยา

 

     แล้วครั้งล่าสุดนี้มันน่าสนใจกว่า 3 ครั้งที่ผ่านมาตรงไหน คำตอบแฝงอยู่ในรายชื่อศิลปินที่เหมาะเจาะลงล็อกเสียเหลือเกินกับโลกยุคความหลากหลายผลิบาน นั่นคือการเปิดรับความแตกต่างทางเพศและเชื้อชาติของตัวศิลปิน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเปิดรับจินตนาการเสรีโดยไม่มีกรอบหรือบรรทัดฐานทางสังคมมาเป็นตัวชี้วัด ในขณะที่แง่มุมอื่นๆ อย่างเทคนิคการสร้างงาน แรงบันดาลใจ อัตลักษณ์ หรือแม้แต่การตีความของศิลปินแต่ละคนก็ยังคงความโดดเด่นไม่น้อยกว่าไปกว่าอิดิชั่นที่ผ่านมา

     งานปักวัสดุยังคงปรากฏให้เห็น แถมยังโดดเด่นในแง่วัสดุและกรรมวิธีสร้างงาน เช่นเดียวกับสไตล์คัลเลอร์บล็อกและงานลงสีที่ยังคงเป็นเทคนิคที่สร้างความตื่นเต้นได้ แพตช์เวิร์กทำหน้าที่ช่วยเพิ่มเลเยอร์และมิติให้ตัวกระเป๋าได้ดี หรืออย่างการที่ศิลปินบางรายหันไปเล่นกับเรื่องทฤษฎีสมมาตรและเรขาคณิตก็ล้วนสร้างผลลัพธ์ได้น่าฉงนและชวนมอง

Marguerite Humeau ศาสตร์ด้านสถาปัตย์ และบรรพชีวินวิทยาก่อเกิดเป็ฯผลงานร่วมสมัย ที่ดูคล้ายกับเกลียวคลื่นกำลังเคลื่อนตัว

 

     อย่างไรก็ตาม โว้กขอยกให้ผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส Marguerite Humeau เป็นชิ้นเด็ดที่ต้องจับตามอง ด้วยเทคนิคลึกล้ำเสมือนกระบวนการแยกชิ้นส่วน ดัดแปลง ก่อนประกอบขึ้นใหม่ ซึ่งฉีกกรอบแนวคิดดั้งเดิมของ Lady Dior นั่นคือ ศิลปินเลือกดัดแปลงโครงสร้างกระเป๋าด้วยงานพิมพ์แม่แบบ 3 มิติ เพื่อให้เกิดจังหวะบิดโค้งเหมือนคลื่น ทั้งยังนำทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมมาใช้เพื่อรองรับการตั้งของกระเป๋า

     คงไม่ต้องพิสูจน์หรือโฆษณาอะไรกันให้มากความอีกแล้วเกี่ยวกับความพิเศษของโปรเจกต์ Dior Lady Art เพราะผลงานรูปธรรมและแนวความคิดแสนลึกล้ำจากศิลปินแต่ละคนในอิดิชั่นนี้ได้ตอกย้ำความพิเศษและคลายข้อสงสัยไว้แล้วว่าเหตุใดโปรเจกต์นี้ถึงครองใจสาวกและพื้นที่สื่อในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างเหนียวแน่น หากจะมีข้อสงสัยใดในเรื่องนี้ เห็นทีจะเป็นคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะได้ครอบครองผลงานศิลปะเหล่านี้กับเขาบ้าง”

WATCH

คีย์เวิร์ด: #LadyDiorArt