FASHION

ย้อนเบื้องหลังชุดชาเนลเปื้อนเลือด...ของ 'แจ็กกี้ เคนเนดี้' ในวันที่สามีถูกฆาตกรรม!

ใช่...นั่นไม่ใช่ชุดชาเนลจริงๆ แบบที่ส่งตรงมาจากเมซง ในปารีส ถึงแม้ว่าจะมีใครก็ตามเสิร์ชกูเกิ้ลแล้วหาภาพของชุดสูทนั้นจากคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ ประจำฤดูกาลใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 1961 มาปาใส่หน้าคุณดูว่ามันเหมือนกันขนาดไหนก็ตาม

     “เหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้น และจบลงอย่างรวดเร็ว”...วันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1963 บนขบวนรถหาเสียงของประธานาธิบดี John Fitzgerald Kennedy ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คาคั่งไปด้วยผู้คนที่โห่ร้องตะโกนสนับสนุน โดยไม่มีแม้แต่คนเดียวที่รู้ว่า เหตุการณ์ในอีกไม่กี่นาทีต่อมาจะกลายเป็นฉากสุดท้ายของชีวิตของประธานาธิบดีที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีมา...หลังจากที่ขบวนรถตีโค้งเข้าสู่ถนนเอล์ม ผู้คนจำนวนมากในละแวกนั้น รวมถึงบนขบวนรถดังกล่าวก็ต้องตื่นตระหนกกับเสียงปืนนัดแรก กระสุนปืนนัดนั้นแล่นตรงเจาะคอประธานาธิบดีอย่างฉับพลัน ก่อนที่ผู้ว่าจอห์นที่อยู่บนขบวนรถเดียวกันนั้นจะถูกลูกหลงไปด้วยที่บริเวณหลังของเขา ในขณะนั้น Jacqueline Kennedy สตรีหมายเลขหนึ่งผู้น่าสงสารนึกไปเองว่า เสียงปืนดังกล่าวเป็นเพียงปะทัดหรือพลุที่ประชาชนทั้งสองข้างทางจุดต้อนรับขบวนรถของเธอ และสามี ก่อนที่เพียงเสี้ยววินาทีต่อมา เสียงปืนที่เป็นดั่งฝันร้ายก็ดังขึ้นอีก 1 นัด กระชากสติให้แจ็กกี้ระลึกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับขบวนรถของเธอ กระนั้นก็ไม่ทันเสียแล้ว เธอรู้ตัวช้าเกินไป กระสุนนัดนั้นเจาะกะโหลกศีรษะของสามีผู้ยิ่งใหญ่ของเธออย่างจัง เศษกะโหลกศีรษะชิ้นหนึ่งของสามีกระเด็นไปค้างอยู่ที่ท้ายกระโปรงรถแล้วในเวลานี้ แจ็กกี้ผู้น่าสงสารจึงทำได้เพียงเสี่ยงตาย ปีนป่ายตะกายไปที่หลังรถเพื่อที่จะเก็บชิ้นส่วนของสามีที่เพิ่งหลุดออกจากร่าง เพื่อที่เมื่อภายหลังที่เธอเดินทางมาถึงที่โรงพยาบาลแล้วนั้น เธอจะได้นำเศษชิ้นส่วนกะโหลกของสามีเธอไปให้กับแพทย์แล้วบอกเขาว่า  "ช่วยนำเศษกะโหลกนี้ไปต่อให้สามีฟื้นขึ้นมาที"

ภาพถ่ายขบวนรถหาเสียงของประธานาธิบดี John Fitzgerald Kennedy ขณะแล่นไปในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1963 ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรม

 

     เหตุการณ์ฆาตกรรมอย่างอุกอาจในครั้งนั้นขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ สร้างความตื่นตะลึงให้กับประชาชนชาวอเมริกัน และประชาชนทั่วโลกได้ไม่น้อย เนื่องจากในเวลานั้นประธานาธิบดี จอห์น.เอฟ.เคนเนดี้ และแจ็กกี้ เคนเนดี้ นับเป็นบุคคลชื่อดังของโลกก็ว่าได้ กระนั้นอีกหนึ่งภาพถ่ายที่ยังคงติดตาผู้คนมาจนถึงตอนนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้น สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอมเริกาอย่าง แจ็กกี้ เคนเนดี้ กำลังก้าวเดินลงจากเครื่องบิน Air Force One ที่ได้นำศพสามีของเธอมาด้วย ในชุดสูทกระโปรงสีชมพู ชุดเดียวกับที่เธอได้สวมใส่ในช่วงเช้าตอนที่นั่งอยู่ในขบวนรถนั้น ที่ยังเห็นร่องรอยเปื้อนเลือดสามีของเธออยู่อย่างเห็นได้ชัด เปลี่ยนนิยามความหวานของสีชมพูที่เราคุ้นเคยกันไปอย่างสิ้นเชิง

     เป็นที่ทราบกันดีว่านอกจากแจ็กกี้จะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นแล้ว เธอยังก้องชื่อในเรื่องของการเป็นไอคอนด้านแฟชั่นแห่งยุคอีกด้วย ที่ไม่ว่าเธอจะปรากฏตัวในงานเลี้ยงใดก็ตาม ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นในประเทศ หรือต่างประเทศ มีอันจะต้องถูกจับจ้องจากสื่อ ที่พร้อมรัวแสงแฟลชใส่เธออยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกันกับครั้งนี้ ชุดสูทกระโปรงสีชมพูดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นชุดไอคอนิกอีกหนึ่งชุดของโลกแฟชั่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าชุดดังกล่าวนั้นเป็นชุดที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของแบรนด์ในตำนานอย่าง CHANEL หากนั่นก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงร้อยเปอร์เซ็นต์..

ภาพถ่ายของ Jacqueline Kennedy ขณะเดินลงจากเครื่องบิน Air Force One ที่ได้บรรทุกศพของประธานาธิบดี John Fitzgerald Kennedy มาด้วย โดยเธอเลือกสวมชุดสูทกระโปรงสีชมพูเปื้อนเลือดตัวเดิม ในเย็นวันเดียวกันกับที่สามีของเธอถูกลอบยิง

 

     ใช่...นั่นไม่ใช่ชุดชาเนลจริงๆ แบบที่ส่งตรงมาจากเมซง ในปารีส ถึงแม้ว่าจะมีใครก็ตามเสิร์ชกูเกิ้ลแล้วหาภาพของชุดสูทนั้นจากคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ ประจำฤดูกาลใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 1961 มาปาใส่หน้าคุณดูว่ามันเหมือนกันขนาดไหนก็ตาม แต่ตามคำบอกบอกเล่าของ Justine Picardie นักเขียนผู้เขียนอัตชีวประวัติของดีไซเนอร์ชื่อก้องโลกอย่าง Coco Chanel แล้ว ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แจ็กกี้ เคนเนดี้ คือไอคอนด้านการแต่งตัว ที่มักจะถูกค่อนแคะอยู่เสมอว่า ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าฟุ่มเฟือยของแบรนด์ยุโรปที่ไม่ใช่ฝีมือของชาวอเมริกันอยู่เสมอ แต่คำติติงเหล่านั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนรสนิยมการแต่งตัวของเธอไปแต่อย่างใด แต่แจ็กกี้กลับเปลี่ยนช่างทำเสื้อแทน ตัดเย็บในอเมริกาโดยผู้ผลิตในมหานครนิวยอร์กชื่อ Chez Ninon แต่วัสดุที่ใช้ตัดเย็บทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นลิขสิทธิ์แท้จากห้องเสื้อของชาเนลทั้งสิ้น โดยชาเนลยังให้ลิขสิทธิ์ในการตัดเย็บแบบ “line-to-line” พูดอย่างง่ายคือการลอกเลียนการตัดเย็บให้เหมือนต้นฉบับแบบทุกระเบียดนิ้วนั่นเอง โดยลักษณะของชุดสูทดังกล่าวเป็นชุดสูทกระดุมสองแถว ผ้าวูลสีชมพูราสเบอร์รี่ ตัดแต่งปกด้วยผ้าสีกรมท่า (ซึ่งแตกต่างจากต้นแบบที่เป็นสีดำ) ที่ในครั้งนั้นเธอได้เลือกสวมใส่คู่กับหมวกทรงพิลล์บ็อกซ์ อีกหนึ่งไอเท็มชิ้นไอคอนิกที่สาวๆ รู้จักกันเป็นอย่างดีของเธอ



WATCH




(ซ้าย) ชุดสูทสีชมพูของ Jacqueline Kennedy ที่ได้รับการตัดเย็บในอเมริกา โดยผู้ผลิต Chez Ninon และ (ขวา) ชุดสูทสีชมพูของแบรนด์ CHANEL จากคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ ประจำฤดูกาลใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 1961 ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่ที่ปกเสื้อสีน้ำเงินกรมท่า และสีดำ

 

     จากภาพถ่ายแสนเศร้าที่ยังไม่เคยหายไปไหน แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ แต่เราต่างยังได้ยลความเศร้าจากภาพขาวดำของเธอในชุดโศกนาฏกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธออยู่ร่วมเหตุการณ์ที่รองประธานาธิบดีจอห์นสัน สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันลำนั้น หรือที่กล่าวไปข้างต้นแล้วเมื่อตอนที่เธอเดินลงจากเครื่องบินลำดังกล่าว ที่สร้างความฉงนให้กับหลายคนว่า “ทำไมเธอจึงไม่เปลี่ยนชุด” ก่อนที่ไม่นานเราจึงได้ฟังคำตอบจากปากของเธอเองว่า “ฉันต้องการสวมใส่มันไว้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราทั้งคู่บ้าง”...

     หลังจากหมอกควันแห่งเหตุการณ์เขย่าขวัญในครั้งนั้นเริ่มจางหาย ชุดสูทกระโปรงสีชมพูในตำนานชุดนั้นถูกส่งไปยังหอจดหมายเหตุแห่งอเมริกา พร้อมด้วยจดหมายเปิดผนึกที่เขียนด้วยลายมือของแม่ของแจ็กกี้ ระบุรายละเอียดต่างๆ รวมถึงวันที่แจ็กกี้ได้สวมใส่ชุดนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามชุดสูทที่เศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์แฟชั่นชุดนี้ก็จะยังไม่ถูกนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการใดๆ จนกว่าจะถึงปี 2103 ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งแน่นอนว่า ตลอดช่วงชีวิตนี้คุณอาจจะไม่ได้เห็นมันอีกก็เป็นได้...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #JackeyKennedy #Chanel