FASHION

INCLUSIVE คืออะไร ในโลกแห่งความหลากหลาย…ทำไมเราควรเรียนรู้คำนี้อย่างจริงจัง

ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งกระแสน้ำแห่งความงอกงามทางจิตใจ ความเปิดกว้าง และความเอื้ออารีดังเช่นหน้าที่ของคำว่า 'Inclusiveness' ได้แก้ปมปัญหามาตรฐานความงามที่เคยสร้างรอยแผลให้ผู้คนมาแล้วนับศตวรรษ

     หน้าปกนิตยสาร Sport Illustrated ฉบับเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมาได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้งด้วยการเลือก “Leyna Bloom” นางแบบสาวผิวสีทรานส์เจนเดอร์มาขึ้นปกในฉบับ ‘celebrated swimsuit’ (และต้องยอมรับว่าเธอดูสวยและน่าหลงไหลจริงๆ) ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ครั้งแรกของสาวผิวสี สาวพลัสไซส์ หรือทรานส์เจนเดอร์ที่ได้แสงสปอตไลท์ฉายมาให้เห็นตัวตนของพวกเธอ แต่นี่ก็เป็นหมุดหมายสำคัญที่ตอกย้ำว่า โลกได้อ้าแขนรับความหลากหลายและพร้อมแล้วที่จะฉีกตำรามาตรฐานความงามแบบเดิมๆ ไว้กับโลกที่ล้าหลัง

     Inclusive หรือการรวมความหลากหลายของกลุ่มคน กลายมาเป็นสิ่งที่วงการแฟชั่นและความสวยความงามถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อทรรศนะของคนในสังคมเปลี่ยนไปจากการถูกกดขี่ผ่านมาตรฐานความงามแบบเดิม ซึ่งการรวมความหลากหลายทำให้ทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น และเรียนรู้แล้วว่าทุกๆ คนสามารถสวยในแบบของตัวเองได้ไม่ว่าจะมีรูปร่าง ชาติพันธุ์ สีผิว หรือเพศอะไร ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์อันท้าทายที่ทำให้ทุกภาคส่วนของวงการจะต้องนำเสนอโดยไม่ให้พวกเขารู้สึกว่ากำลัง “ถูกทิ้งขว้าง” และนี่คือตัวอย่างที่โว้กขอรวบรวมมาให้เห็นว่าสำหรับวงการแฟชั่นและบิวตี้ “INCLUSIVE IS MATTER” จริงๆ

(จากซ้ายไปขวา) ภาพของ Beverly Johnson นางแบบผิวสีคนแรกบนปก Vogue US / นักเคลื่อนไหว Malala บนหน้าปก British Vogue เดือนกรกฎาคม ปี 2021 / แม้แต่เรื่องการเมืองก็เกี่ยวกับแฟชั่นได้ ผ่านปก Vogue US กุมภาพันธ์ ปี 2021 ที่ได้รองประธานาธิบดีหญิงคนแรก Kamala Harris มาขึ้นปก

 

INCLUSIVE ON THE COVER

     หน้าปกนิตยสารถูกเปรียบเป็น ‘The Face of Beauty Standard’ เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษที่ความงามในรูปแบบพิมพ์นิยมยึดครองหน้าปกนิตยสารมาโดยตลอด แต่มาตรฐานนั้นก็ได้ถูกทำลายลงเป็นครั้งแรกเมื่อโว้กอเมริกาได้เลือก Beverly Johnson นางแบบผิวสีลูกครึ่งแอฟริกัน-อเมริกันมาขึ้นปกในฉบับสิงหาคม 1975 และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงผิวสีได้รับการโอบอุ้มและลงความเห็นว่า “สวย” ในบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่บิดเบี้ยวมานาน และเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า “มาตรฐานความงาม” นั้นจำเป็นต้องเป็นมีแบบเดียวเสมอไปจริงหรือ จนกระทั่งเธอได้รับสมญานามว่า The Face of Change 

     ในศตวรรษที่ 21 วงการแฟชั่นก็ได้ขับเคลื่อนรุดหน้ากับมาตรฐานความงามที่เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นสเตทเมนต์อีกครั้งเมื่โว้กอเมริกานำเสนอปกที่รวมเอานางแบบหลากหลายสีผิว รูปร่าง และชาติพันธุ์ ในฉบับมีนาคม 2017  ถือเป็นการปักหมุดหมายสำคัญว่า INCLUSIVENESS เป็นเรื่องที่ “ต้องทำ” ในอุตสาหกรรมแฟชั่นจริงๆ

     ซึ่งต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นทำให้คนแฟชั่นรุดหน้าไปอีกขั้นด้วยการไม่ยึดโยงกับแค่บุคคลในวงการหรือเซเลบริตี้อีกต่อไป อันจะเห็นได้จากการที่นิตยสารหลายอิดิชั่นนำเสนอปกผู้หญิงมากความสามารถที่ไม่จำกัดแค่ในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นโว้กอเมริกาฉบับกุมภาพันธ์ 2021 หน้าปก Kamala Harris รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา หรือโว้กอังกฤษฉบับกรกฎาคม 2021 ที่ได้นักสิทธิสตรี Malala Yousafzai มาขึ้นปก ซึ่งปกนิตยสารนั้นกลายเป็นสเตทเมนต์อันทรงพลังที่มีผลต่อมาตรฐานความงามในสังคม จนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างมาก

รวมลุคที่น่าสนใจจากโชว์คอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ จากแบรนด์ Balenciaga ในรอบ 53 ปี ที่เลือกจะสื่อสารความหลากหลายผ่านตัวผู้แสดงแบบ 

 

INCLUSIVE ON RUNWAY

     นางแบบพลัสไซส์ นางแบบผิวสี นางแบบเอเชีย สะท้อนความงามที่หลากหลายบนเวทีแฟชั่นโชว์ ถ้าเอาประเด็นเหล่านี้มาพูดกันในปี 2021 นอกจากจะไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่แล้ว อาจจะกลายเป็นประเด็นที่เชยเสียด้วยซ้ำ หากแต่ประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาปรับวิธีคิดให้จริงขึ้นไปอีกขึ้นดังเช่นที่แบรนด์หัวขบถอย่าง Balenciaga นำเสนอเพื่อสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการคัดเลือกนางแบบและนายแบบที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่โมเดลที่มีชื่อเสียง หรือไม่ใช่แม้แต่นางแบบมืออาชีพเสียด้วยซ้ำ รวมไปถึงอายุที่ไม่ใช่ปัจจัยของกลุ่มคนเสพแฟชั่นอีกต่อไป เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่…เวทีแฟชั่นก็มีพื้นที่ให้เสมอ



WATCH




รูปจากคอลเล็กชั่น Savage x Pride ที่เลือกผู้แสดงแบบที่มีความหลากหลายมารวมในแคมเปญเดียว

 

INCLUSIVENESS in BUSINESS WORLD

     จากนักร้องสู่แฟชั่นไอคอน ต่อยอดสู่อาณาจักรธุรกิจกว่าพันล้านดอลล่าร์ (และโว้กก็ไม่มีคำตอบให้คุณว่าเธอจะกลับไปเป็นนักร้องเมื่อไหร่) Rihanna และอาณาจักร Fenty ของเธอนั้นเดินทางมาสู่จุดประสบความสำเร็จได้จากข้อความที่ Rihanna ต้องการสื่อสารผ่านแบรนด์ของเธอนั่นก็คือ “การรวมไว้ซึ่งความหลากหลาย” และไม่มีข้อจำกัดทั้งเพศ รูปร่าง เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา เธอคือตัวอย่างของนักเรียนดีเด่นในคลาส INCLUSIVITY

     เริ่มตั้งต้นจาก Savage x Fenty ที่สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนวงการชุดชั้นในกับการเปิดตัวชุดชั้นในโดยใช้นางแบบที่หลากหลายทั้งรูปร่าง สีผิว และที่สำคัญคือไม่ได้สนด้วยว่านางแบบจะต้องเป็นท็อปโมเดล เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นภาพอย่างเป็นจริงว่า หากคุณสวมใส่มันด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าจะรูปร่างแบบใดคุณก็สวยได้ จนมาถึงคอลเล็กชั่นล่าสุด Savage x Pride เฉลิมฉลองความหลากหลายด้วยการคัดเลือกผู้คนทุกเพศ ทุกสีผิว จากหลากหลายอาชีพมาเป็นนางแบบ

     ฟาก Fenty Beauty ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการบิวตี้ด้วยการเลือกทำผลิตภัณฑ์ที่ยากที่สุดในกลุ่มความงามอย่าง “รองพื้น” ซึ่งมีให้เลือกถึง 50 เฉดสี และยังออก Glossbomb ลิปกลอสที่ทางแบรนด์เคลมว่าไม่ว่าจะผิวสีไหนก็ทาออกมาได้สวยไม่ค้านกับสีผิว และตามมาด้วย‘Mattemoiselle lipsticks ที่ฉีกกฎลิปสติกสีเดิม ไปสู่สีลิปที่หลากหลายตั้งแต่ส้มนู้ด ไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งตอบโจทย์กับอันเดอร์โทนของมนุษย์ที่หลากหลาย

(บนซ้าย) นางแบบสาวจีน ‘Liu Wen’ บนภาพถ่ายโปรโมทของทางแบรนด์ ซึ่งนางแบบสาวคนนี้ก็ได้รับเลือกให้ถ่ายภาพโปรโมทอยู่บ่อยครั้ง / (บนขวา) ‘Teddy Quinlivan’ นางแบบ transgender คนแรกที่ได้ปรากฏตัวในการโปรโมทผลิตภัณฑ์ของ Chanel Beauty

 

CHANEL BEAUTY: THE GAME CHANGER

     ชาเนลเป็นแบรนด์ที่มีประวัติยาวนานนับร้อยปีและมักมีภาพลักษณ์ “ผู้หญิงในอุดมคติ” ที่ยึดโยงกับความสวยงามตามมาตรฐาน ทำให้เมื่อโลกของความงามก้าวข้ามกฎเดิมๆ แบรนด์ก็ต้องปรับภาพลักษณ์ให้เปิดรับความงามอันหลากหลายมากขึ้น โดยชาเนล บิวตี้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการนำเสนอความงามอันหลากหลาย ดังเช่นในภาพแคมเปญที่ถ่ายทอดความงามของนางแบบหลากหลายสีผิว เพื่อสะท้อนว่าค่านิยมความงามที่ต้อง “ขาว” นั้นเป็นเรื่องตกยุค รวมถึงการเลือกนางแบบเอเชียมาถ่ายโฆษณา หรือการใช้นางแบบทรานส์เจนเดอร์ Teddy Quinlivan ไปจนถึงการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของเครื่องสำอาง Boy de Chanel ที่ตอกย้ำว่าเรื่องบิวตี้ไม่ได้จำกัดที่ผู้หญิงอีกต่อไป แต่ผู้ชายก็สามารถดูแลตัวเองได้อย่างไม่ขัดเขินเช่นเดียวกัน

     คำว่า Inclusive ในอุตสาหกรรมแฟชั่นทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ “จำเป็น” และทุกแบรนด์ปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเห็นได้จากการเป็นอยู่ของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนี้อย่าง Fenty, Balenciaga, Gucci และอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง และในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นการล้มหายตายจากของกลุ่มผู้ไม่ปรับตัวเช่นกัน ดังเช่นแบรนด์ชุดชั้นในนางฟ้าที่ปิดฉากแฟชั่นโชว์ในตำนานไปเรียบร้อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถหยุดยั้งกระแสน้ำแห่งความงอกงามทางจิตใจ ความเปิดกว้าง และความเอื้ออารีดังเช่นหน้าที่ของคำว่า Inclusiveness ได้แก้ปมปัญหามาตรฐานความงามที่เคยสร้างรอยแผลให้ผู้คนมาแล้วนับศตวรรษ

 

     เรื่อง: Kanthoop Hengmak

     Edited by ปภัสรา นัฏสถาพร

ข้อมูล : Vogue US, British Vogue, Savage x Fenty, Fenty Beauty, Chanel, Balenciaga

WATCH