FASHION

ย้อนรอยประวัติศาสตร์เสื้อมัดย้อม...อาวุธเพียงหนึ่งเดียวของเหล่าบุปผาชน ที่ใช้หยุดสงคราม!

     จากสุภาพสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกแฟชั่นอย่าง แอนนา วินทัวร์ ในชุดกระโปรงผ้ามัดย้อมสีฟ้าสลับขาว ที่ถูกจับภาพได้บนท้องถนนในช่วงสัปดาห์แฟชั่นปี 2017 กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้ส่งไม้ต่อให้กับนางแบบสาวดาวรุ่ง ทายาทของซูเปอร์โมเดลระดับโลกอย่าง คาย่า เกอร์เบอร์ กับเสื้อมัดย้อมบนรันเวย์โชว์นิวยอร์กแฟชั่นวีก ฤดูกาลใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ประจำปี 2019 นับเป็นการประกาศศักดาของความคงกระพันแห่งเทรนด์แฟชั่น Tie-Dye หรือที่คนไทยอย่างเรารู้จักกันในนามของ เสื้อมัดย้อม ว่ามันไม่เคยหายไปจากวงการอุตสาหกรรมโลกเลยแม้แต่วินาทีเดียว หากความน่าสนใจของเสื้อมัดย้อมที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ไม่เพียงเป็นแฟชั่นที่มีความแตกต่างอย่างโดดเด่น หากทุกลวดลายมัดย้อมที่ปรากฏนั้น ยังบันทึกเอาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าอเมริกันชน และโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน

John Sebastian สวมใส่ชุดลายมัดย้อม ขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรี Woodstock ปี 1969 / ภาพ : Jerry de Wild

 

     ดังที่หลายคนทราบกันว่าแฟชั่นมัดย้อมนั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างเหนียวแน่นกับการเคลื่อนไหวฮิปปี้ (Hippie) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เหล่าบุปผาชน หากก่อนหน้าที่ศิลปะมัดย้อมจะถูกจับคู่ เป็นตัวตายตัวแทนของเหล่าบุปผาชนนั้น ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ ศิลปะมัดย้อมบนเสื้อผ้าถูกนำเข้าสู่ดินแดนแห่งเทพีเสรีภาพโดย Charles University Pellow ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นครั้งแรกในปี 1909 ทว่าในขณะนั้นมันไม่ได้กลายเป็นแฟชั่นที่เฟื่องฟู หรือเข้าใกล้กระแสนิยมหลักแม้แต่น้อย จนเมื่อโลกหมุนไปสู่ทศวรรษที่ 1960s (ในช่วงเวลาใกล้กันกับ Hippies Movement) เจนิส จอปลิน และจอห์น เซบาสเตียน สองซูเปอร์สตาร์ดาวรุ่งชาวร็อคได้เลือกสวมใส่เสื้อลายมัดย้อม (ที่ตอนนั้นนับเป็นแฟชั่นที่ใกล้ตายเต็มที) จนทำให้ความนิยมของเสื้อลายมัดย้อมที่มีสีสันนั้น ได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจช่วงข้ามคืน และหลังจากนั้นศิลปินนิวยอร์กทั้งสองคน ยังได้สร้างสรรค์เสื้อยืดมัดย้อมหลายร้อยชุดเพื่อเทศกาลดนตรีในตำนานอย่าง เทศกาลดนตรี Woodstock ณ มหานครนิวยอร์ก ก่อนที่จะกลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของ Woodstock และกลายเป็นกระแสนิยมระดับชาติได้ในที่สุดในเวลาต่อมา

     อย่างไรก็ตาม ก็มิอาจเปลี่ยนบทบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ได้ เพราะจุดสูงสุดของศิลปะมัดย้อมบนเสื้อผ้านั้นชัดเจนที่สุด เมื่อท้ายที่สุดแล้วนักเคลื่อนไหวแห่งกลุ่มบุปผาชนได้เลือกหยิบเสื้อมัดย้อมมาสวมใส่ ด้วยไลฟ์สไตล์แบบฮิปปี้ ที่หมายถึงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการมีอิสรภาพ ดังนั้นการสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ใช่กระแสหลัก จึงทำให้พวกฮิปปี้มีความโดดเด่น และยังเป็นการส่งข้อความสำคัญว่า พวกเขาต้องการปลดแอกชีวิตแบบอนุรักษ์นิยมอีกด้วย

ภาพแฟชั่นศิลปะการมัดย้อมบนผืนผ้าในช่วงปี 1970s / ภาพ : Groovy History

 

     โดยฮิปปี้ หรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุปผาชนนั้น นับเป็นวัฒนธรรมย่อย อันเป็นร่องรอยจากพวกฮิปสเตอร์ในยุค 1940s ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว ที่มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960s ก่อนที่จะได้เผยแพร่วัฒนธรรมนี้ไปทั่วโลกในเวลาต่อมา เกิดสังคมเฉพาะของพวกบุปผาชน ที่มีรสนิยมในการฟังเพลงจำพวกไซเคเดลิกร็อก และนิยมเสพยาอย่างเช่น กัญชา เป็นต้น อีกทั้งแฟชั่นในแบบฉบับของเหล่าฮิปปี้นั้น ยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมหลักอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นดนตรีป็อป โทรทัศน์ ภาพยนตร์ งานเขียน ศิลปะ เทศกาลดนตรี  ไปจนถึงชุดความคิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ยึดติดด้วยเช่นกัน 



WATCH




ภาพถ่ายจำลองวิถีชีวิตของเหล่าบุปผาชนในช่วงยุค 1960s -1970s / ภาพ : WPFA

 

     เหล่าบุปผาชนนี้ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงที่อเมริกาอยู่ในยุคเบบี้บูม นั่นคือช่วงหลังจากที่สังคมอเมริกาประกาศชัยชนะต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำแห่งโลกเสรี นำมาซึ่งความมั่งคั่ง ทั้งความสุข หน้าที่การงาน และเงินทองให้แก่ประชาชนในชาติ จนเกิดเป็นค่านิยมทางสังคมที่เรียกกันว่า American dream หากเมื่อหลังจากนั้น ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกฮวบ ส่งผลทำให้สถาบันของรัฐสั่นคลอนด้วยวิกฤตศรัทธาในคดีวอเตอร์เกด จนทำให้อเมริกาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในหลาย ๆ ด้าน และที่สำคัญทหารอเมริกันหลายพันคนในยุคนั้น (ที่เคยเฟื่องฟูในยุคเบบี้บูม) ถูกส่งไปยังเวียดนามเพื่อไปก่อความไม่สงบ และทำลายระบบคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือ แม้ว่าในตอนต้นของสงครามจะได้รับความนิยม และการสนับสนุนจากเหล่าอเมริกันชนอยู่บ้าง ทว่าในความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้ชาวอเมริกันเริ่มไม่พอใจต่อการสูญเสียอย่างมหาศาลในสงครามครั้งนี้ เป็นเหตุทำให้กลุ่มนักศึกษา และ เหล่านักเรียนทหารผ่านศึกลุกขึ้นประท้วงเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ความสงบสุข จนกระทั่งก่อให้เกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกว่า Hippie หรือ บุปผาชน ซึ่งนับเป็นวัฒนธรรมย่อยอย่างหนึ่งที่ได้ปลูกฝังค่านิยมที่เปลี่ยนไปในตัวของชาวอเมริกัน โดยใช้แนวคิดปรัชญาแห่งความรัก และ สันติภาพ หรือความสงบสุขนั่นเอง

ภาพวาดของเสื้อผ้าลาย Shibori ในประเทศญี่ปุ่น / ภาพ : Heddels

 

     แม้ว่าช่วงชีวิตของศิลปะมัดย้อมจะถูกแต่งแต้มด้วยชาติอเมริกามาเป็นเวลานานด้วยเหล่าบุปผาชน หรือเทศกาลดนตรี Woodstock ก็ตาม กระนั้นอเมริกาก็มิใช่ชาติแรกที่รู้จักศิลปะมัดย้อม เพราะก่อนหน้าที่มัดย้อมจะเดินทางสู่แผ่นดินทวีปที่ถูกค้นพบโดยโคลัมบัสในช่วง 1960s -1970s ก่อนหน้านั้นศิลปะมัดย้อมยังเป็นที่รู้จักกันในนาม Shibori คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งเทคนิกการย้อมสีหลากหลายรูปแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาติมานานกว่า 6,000 ปี กระทั่งได้ผลลัพธ์ที่เป็นลวดลายสีสันแบบการสุ่ม ที่มีทั้งรูปแบบเรขาคณิต ไปจนถึงไร้รูปแบบ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะมัดย้อมก็ว่าได้

ภาพของเทรนด์มัดย้อมบนรันเวย์โชว์คอลเล็กชั่นในยุคปัจจุบัน / ภาพ : Fashionista

 

     ในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงการมัด หรือพับเสื้อ ก่อนที่จะนำไปย้อมสีที่เราต่างคุ้นเคยกันดีเท่านั้น หากยังมีเทคนิกใหม่ เฉกเช่นการฉีดสีลงบนเสื้อแบบไร้รูปแบบ และไร้ทิศทาง เลียนแบบการสร้างสรรค์ศิลปะมัดย้อม ที่สามารกำหนดการออกแบบที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการสามารถคาดการณ์ และควบคุมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ทว่าอย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้กับศิลปะการมัดย้อมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ยังมีเสน่ห์ และทำให้ผู้คนนั้นประหลาดใจได้อยู่เสมอๆ กระทั่งยังเตะตาเข้ากับแบรนด์แฟชั่นมากมาย ที่ยอมอุทิศพื้นที่คอลเล็กชั่นบนรันเวย์ให้กับศิลปะแขนงนี้แบบไม่ขาดสาย

WATCH

คีย์เวิร์ด: #HistoryOfTieDye