FASHION

ถอดรหัส 'สีดำ' ของชาเนล...เมื่อสีแห่งความตายกลายเป็นสีที่สง่างามที่สุดในโลกแฟชั่น!

     "สีดำ" ไม่ใช่สีที่ได้รับความนิยมในทางแฟชั่น และศิลปะมาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 ทั่วทั้งทวีปยุโรป และอเมริกา เกิดกระแสตื่นกลัวแม่มดหมอผี (วัฒนธรรมการล่าแม่มด) ที่มีความเกี่ยวข้องกับความมืดดำ ไปจนถึง แมวดำ กาดำ หรือแม้แต่สุนัขที่มีสีดำ ที่ถูกแทนว่าเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจที่จำแลงกายมาใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์ในยุคนั้น ซึ่งกระแสหวาดกลัวสีดำนี้ได้แพร่ระบาดไปทั่วยุโรป สุภาพสตรี หรือสุภาพบุรุษที่เลือกสวมใส่ชุดสีดำ หรือกระทั่งข้องแวะกับสัตว์ที่มีสีดำ จึงอาจถูกตราหน้าได้ว่าเป็นพวกที่ฝักใฝ่ด้านไสยศาสตร์ หรือเป็นพ่อมด แม่มดได้ ทว่าเมื่อหน้าปัดนาฬิกาหมุนเวลามาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วนั้น ทุกอย่างกลับตาลปัตรราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อสีดำได้กลายเป็นสีหลักของชนชั้นแรงงานในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เนื่องจากเหตุผลที่ฟังแล้วสมเหตุสมผลว่า "เป็นสีที่เปื้อน และเลอะได้ยากกว่าสีอ่อนทั่วไป" เนื่องจากพลเมืองเหล่านี้ต้องทำงานคลุกคลีอยู่กับเชื้อเพลิง และถ่านหินเป็นหลัก และบนจุดเปลี่ยนนั้นเองที่ทำให้สีดำค่อยๆ เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของผู้คนมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพสเก็ตช์ของชุด Cahnel's Ford จุดเรืิ่มต้นของวัฒนธรรม A Little Black Dress ในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่น

 

     ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นที่ทราบกันดีว่า โคโค่ ชาเนล คือดีไซเนอร์หญิงคนแรกๆ ที่หาญกล้าหยิบยกเอา “สีดำ” ซึ่งในเวลานั้นมีค่าเท่ากับ ความตาย ความเศร้า และการไว้ทุกข์ มาใช้บนเสื้อผ้าของเธอจนเกิดเป็นภาพจำ และกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของแบรนด์ไปในที่สุด โดยในช่วงเดือนตุลาคม ปี 1926 โคโค่ ชาเนล ยังได้ตีพิมพ์ภาพชุดกระโปรงสั้นสีดำที่มีความเรียบง่ายลงบนนิตยสารโว้กอเมริกา พร้อมการให้สมญานามชุดนั้นว่า "Chanel's Ford" ที่ไม่เพียงจะนับเป็นชุดกระโปรงสีดำ LBD ที่ชัดเจนที่สุดชุดแรก ทว่ายังถูกคาดการณ์ครั้งใหญ่โดยบรรณาธิการไบเบิ้ลแห่งโลกแฟชั่นอย่างโว้กต่อไปอีกว่า "Little Black Dress ของชาเนลจะต้องกลายเป็นชุดเครื่องแบบสำหรับผู้หญิงทุกคน ที่มีรสนิยมจนทุกคนต้องอยากจับจองเป็นเจ้าของอย่างแน่นอน" และก็ดูเหมือนว่าการเคลมของโว้กอเมริกาในครั้งนั้นจะเป็นจริงเสียยิ่งกว่าจริง เมื่อชุด LBD ได้กลายเป็นสิ่งที่หญิงสาวทุกคนในโลกต้องลงทุน และมีติดตู้ไว้เสมอ ไม่ว่าจะยากดีมีจนสักเท่าไหร่ก็ตามในปัจจุบัน นับเป็นอีกความสำเร็จของมาดามโคโค่ที่สามารถเปลี่ยนย้ายโลกของเฉดสีดำ จากวัฒนธรรมการไว้ทุกข์ ไปสู่โลกแฟชั่นชั้นสูง ที่มีความเก๋ไก๋ สลัดภาพทุกข์โศกของสีดำออกไปได้สำเร็จ ดังประโยคในตำนานของเธอที่ว่า "I imposed black; it's still going strong today, for black wipes out everything else around." 

     แม้ว่าแบรนด์ชาเนลที่มาดามโคโค่ปลุกปั้นขึ้นมาด้วยตัวเองนั้น ตามจริงแล้วจะมีสีประจำแบรนด์อยู่ถึง 5 สีหลักอย่าง สีดำ, สีขาว, สีเบจ, สีทอง และสีแดง (ปัจจุบันยังรวมไปถึงสีชมพูอีกด้วย) แต่ใครๆ ก็รู้ดีว่าเมื่อพูดถึงชาเนล ก็ต้องนึกถึง "สีดำ" เป็นอย่างแรก ซึ่งแน่นอนว่ามีที่มาจากวัฒนธรรมชุด LTBD ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่แท้จริงแล้วเมื่อสืบความกลับไป เราก็ต่างได้พบว่าอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานน่าสนใจที่ทำให้ “สีดำ” กลายเป็นอีกหนึ่งสีประจำแบรนด์ชาเนล ก็คงจะหนีไม่พ้นชีวิตวัยเด็กของเธอ

     โคโค่ กาเบรียล ชาเนล คือเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่ในสำนักชี มาตั้งแต่ยังเยาว์ (ที่ล่าสุดเวอร์ฌินี วิอารด์ หัวเรื่อใหญ่คนล่าสุดที่รับไม้ต่อจากคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ผู้ล่วงลับ เพิ่งจะใช้เป็นแรงบันดาลใจในการจัดเป็นฉากหลังให้กับโชว์คอลเล็กชั่นโอต กูตูร์ ประจำปี 2020) ที่โคโค่ได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างจากสถานที่แห่งนี้ หนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นทักษะการเย็บปักถักร้อย ซึ่งมาพร้อมกับแรงบันดาลใจจากชุดแม่ชีแสนเรียบ สีดำ และขาว ที่เธอเห็นซ้ำๆ ได้รับการถ่ายทอดลงบนคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าของเธอ จนกลายเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์สำคัญของแบรนด์มาถึงปัจจุบัน ที่สุภาพสตรีบันลือโลกคนนี้ได้เปลี่ยนให้สีดำกลายเป็นสีแห่งความสง่างาม เพื่อเทิดทูนความงามของเหล่าสุภาพสตรีได้อย่างน่าสนใจ ที่เธอยังเคยให้สัมภาษณ์ไว้อีกว่า “สีดำนี่แหละ เป็นสีที่จะขับเน้นให้เราได้เห็นความกระจ่างใสของหญิงสาวอย่างแท้จริง”...



WATCH




WATCH

คีย์เวิร์ด: #BlackOfChanel