FASHION

เจาะลึกทุกแง่มุมกับภาพยนตร์สั้นที่ Gucci บอกว่าการปลดปล่อยนี้คือตัวตนอีกด้านของแบรนด์!

โว้กพาร่วมเจาะลึกแง่มุมของภาพยนตร์เรื่อง 'Black to Techno' มุมมองต้นกำเนิดด้านแนวเพลงเทคโนที่ Gucci ระบุว่านี่เป็นอีกตัวตนอีกด้านหนึ่งของแบรนด์

เนื้อหาสำคัญ

  • ตอบคำถามทำไมแบรนด์อย่าง Gucci ถึงเลือกนำเสนออีกด้านของแบรนด์ด้วยภาพยนตร์สั้น
  • เผยจุดเชื่อมว่าวัฒนธรรมด้านดนตรีเทคโนกับซูเปอร์แบรนด์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
  • วิเคราะห์ศิลปะกับวิธีคิดเพื่อตอบโจทย์ผู้สร้างสรรค์และผู้เสพย์นั้นมีแนวทางเป็นมาอย่างไร

_______________________________________________

 

     ทุกวันนี้คนทุกคนเป็นปัจเจกมากขึ้นและแสวงหาการแสดงออกซึ่งตัวตนของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาอยู่เสมอ หากเปรียบ Gucci ภายใต้การนำทัพของ Alessandro Michele เป็นบุคคลคนหนึ่ง คน ๆ นี้ย่อมมีแนวคิดที่จะนำเสนอในให้ผู้อื่นรู้จักในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับตัวเขา และการส่งผ่านดีเอ็นเอของแบรนด์สู่แฟน ๆ ด้วยภาพฉายของภาพยนตร์สั้นซีรีส์หนึ่ง จนออกมาเป็นชุดงานศิลปะที่ทำให้แบรนด์ดังจากอิตาลีได้ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไปกับแง่มุมของภาพยนตร์ เพราะยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกพิเศษ...


     Black to Techno คือภาพยนตร์สั้นเรื่องเยี่ยมที่เรากำลังพูดถึง 1 ใน 4 ภาพยนตร์สั้นในชื่อซีรีส์ “The Second Summer of Love” ที่ทางกุชชี่ได้ร่วมมือกับ Frieze ประกอบขึ้นมาเป็นชุดงานภาพฉายที่สื่อถึงรากเง้าบางอย่างที่สอดคล้องกับผลงานแฟชั่นสุดสร้างสรรค์ของแบรนด์โดยที่ไม่จำเป็นต้องเอาแบรนด์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของแต่ละเรื่องเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าภาพยนตร์สั้นแต่ละเรื่องนำเสนอเรื่องราวทางศิลปะที่เฉพาะเจาะจงโดยมีกลิ่นอายที่ทำให้เราสามารถผูกโยงกับกุชชี่ได้เป็นอย่างดี นื่คือความฉลาดของความร่วมมือกันทั้งผู้สร้างทั้ง 4 เรื่องและกุชชี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องแบลก ทู เทคโนของ Jenn Nkiru ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าชมภาพยนตร์และฟังสัมภาษณ์จากปากของเธอสด ๆ จนเกิดหลักสะท้อนที่เกิดขึ้นภายในบทความนี้



WATCH




Jenn Nkiru ผู้กำกับภาพยนตร์ Black to Techno ในโททัลลุคจาก Gucci / ภาพ: Courtesy of Brand

     เริ่มแรกเราต้องทำความรู้จักกับภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เสียก่อนว่ามีเนื้อหาอย่างไร...แบลก ทู เทคโนเป็นเรื่องราวต้นกำเนิดเพลงแนวเทคโนที่กำเนิดขึ้นในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ย่านสำคัญด้านอุตสาหกรรมของโลก ต้นตอของเสียงดนตรีที่มันยังคงแข็งแกร่ง มันเกิดมาจากอะไร มีแนวคิดอย่างไร หรือแม้แต่การเดินทางของแนวดนตรีเป็นอย่างไร ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้พาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกับสอดแทรกกลิ่นอายความเป็นสารคดีจากฟุตเทจจริงของผู้เกี่ยวข้อง หลายคนอาจจะสงสัยเมื่ออ่านถึงจุดนี้ว่าแล้วมันจะเกี่ยวข้องกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกได้อย่างไร เรากำลังจะพาไปหาคำตอบกันในส่วนต่อไป

ฉากโปรโมตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่ร่วมมือกับ Gucci / ภาพ: Courtesy of Black to Techno

     เล่าเรื่องราวของเพลงเทคโนคร่าว ๆ ก่อน แนวดนตรีถูกประกอบสร้างผ่านความไม่สมบูรณ์ของสังคม เพลงที่คนผิวสีสร้างสรรค์ขึ้นจากประสบการณ์ที่แวดล้อมไปด้วยวิถีชีวิตการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ความเหนื่อยล้า ใช่เพลงมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ปุบปับทุกอย่างย่อมมีเหตุการณ์พาให้ไปสู่เหตุการณ์หนึ่งเหมือนกับหลัก ‘Social Facts’ ทำให้เกิดอีก ‘Social Facts’ หนึ่งของ Emile Durkheim นักสังคมวิทยาชื่อดัง นั่นทำให้เจนน์ผู้สร้างยิ่งผูกโยงกับเรื่องราวนี้ได้ดีขึ้นเพราะเธอเติบโตมากับสังคมวัฒนธรรมใต้ดินจากลอนดอน เป็นคนผิวสี เป็นประชากรชนชั้นรอง นั่นทำให้เธอเข้าใจลำดับเหตุการณ์ผลพวงของการเกิดเพลงเทคโนได้เป็นอย่างดี

เหตุการณ์จำลองการสร้างสรรค์ดนตรีเทคโนพร้อมฉากประกอบเป็นโรงงานอุตสาหกรรมตามรากฐาน / ภาพ: Courtesy of Black to Techno

     เสียงเคาะอันแปลกประหลาดที่เกิดจากการมิกซ์และไม่ใช่เครื่องดนตรีที่เป็นกิจจะอย่างกีตาร์ เบสหรือแม้แต่เครื่องดนตรีคลาสสิกต่าง ๆ แต่แรงบันดาลใจมันได้มาจากวิถีชีวิตในโรงงาน เด็กน้อยด้อยโอกาสโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวสีในช่วงยุค ‘80s เด็ก ๆ ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปโรงงาน ได้ยินเสียงเครื่องจักรและนั่นล่ะต้นกำเนิดที่แสนเรียบง่ายแต่ทรงพลังของดนตรีเทคโน เสียงกังวาลของเครื่องจักร ความหนักเบาของเสียงเครื่องมือแต่ละอย่างสร้างให้มันเป็นกระแสจิตในหัวของเด็ก ๆ และมันก็เกิดเป็นการรวมตัวกันของโน้ตจากวัตถุในโรงงานจนกลายเป็นแนวเพลงอมตะที่ ณ วันนี้ก็ยังติดอยู่ในใจใครหลาย ๆ คน

ใครจะคิดว่าวันหนึ่งผู้หญิงจะสามารถแต่งตัวด้วยชุดสูทที่ไร้กรอบบรรทัดฐานขนาดนี้ ตอนนี้ Gucci ทำแล้ว / ภาพ: Vogue Runway

     เสียงเพลงกับแฟชั่นมันสอดคล้องกันตรงนี้นี่เอง เพลงเป็นตัวแทนของการมองหาความอิสระ กุชชี่ที่พยายามมองหาสิ่งที่แตกต่างภายใต้กรอบสังคมอันจำกัดในทุกยุคก็เช่นกัน นี่คือความเหมือนของต้นตอความคิดที่มันช่างมีรากฐานล้อซึ่งกันและกันได้อย่างน่าประทับใจ เสื้อผ้าของกุชชี่มันช่างเป็นความสวยงามที่ไร้กฎไร้เกณฑ์หลุดแปลกจากขนบ เพื่อป่าวประกาศว่า “ฉันคือความอิสระแห่งแฟชั่น” ในอดีตกรอบมันเต็มไปด้วยคำว่า “ชายใส่เช่นนั้น หญิงใส่เช่นนี้” หรือจะเป็น “แฟชั่นตอนนี้ต้องเป็น...” ไหนคือความอิสระกันแน่? กุชชี่ของมิเคเล่ตอบโจทย์นี้ด้วยวิถีการทำเสื้อผ้า ฉะนั้นมันคือความปลดแอกความรู้สึกและแสดงตัวตนออกมา ชุดสูท เสื้อผ้าลูกไม้ กางเกง กระโปรง ซิลูเอตต่าง ๆ หน้ากากและอื่น ๆ อีกมากมายแสดงทุกคนเห็นว่าฉันมาจากการปิดกั้น แต่ตอนนี้เรารังสรรค์ชิ้นงานออกมาแล้ว มันช่างพอดิบพอดีกับเพลงเทคโน พลังแห่งคนผิวสีที่สามารถปลดแอกความอิสระของชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดคอยกดขี่ชีวิตได้อย่างสอดคล้องกันเสียจริง

นี่คือตัวฉัน! นี่คือ Gucci / ภาพ: Vogue Runway

     เพลงและแฟชั่นทลายกำแพงที่ปิดกั้นซะไม่เหลือชิ้นดี ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ไม่ได้สอนเราถึงแค่เรื่องผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะลึก ๆ แล้วดนตรีคือกระบอกเสียงที่ประกอบมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมและสังคมของเมืองดีทรอยต์ ทุกคนรู้ดีเมื่อได้ฟังดนตรีแนวนี้ว่ามันมาจากเมืองที่เต็มไปด้วยโรงงาน แรงกดดัน ลีลาอันพลิ้วไหวของการประกอบจังหวะของคนผิวสีเพื่อสร้างศิลปะปลดปล่อยอารมณ์ภายใต้ชีวิตอันแสนอึดอัด หากเปรียบเทียบกับซูเปอร์แบรนด์จากอิตาลีคงเหมือนกับการส่งผ่านตัวตนออกมาผ่านเสื้อผ้า คนเราเสพย์ศิลปะในความสวยงามและสนุกสนาน เรานำเสนอตัวตนผ่านเสื้อผ้าหลากหลายรูปแบบ “นี่คือกุชชี่ นี่คือเทคโน นี่คือดีทรอยต์ นี่คือมนุษย์ นี่คือตัวฉัน” คำต่าง ๆ น่าจะเป็นคำตอบได้ดีที่สุด อึดอัดแค่ไหนก็ฟังเพลงและเต้นในแบบเทคโน หากกังวลในการแสดงอัตลักษณ์ รอช้าอยู่ใยกุชชี่รอเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนอยู่

คนเราจดจำเราจากได้คาแรกเตอร์ที่ส่งผ่านงานศิลปะอย่างเช่นความเป็น Gucci / ภาพ: Courtesy of Black to Techno

     คนซึมซับตัวเราจากสไตล์ มันก็ไม่ต่างกกับที่คนทั่วไปเสพย์เพลงเทคโนจนกลายเป็นแนวเพลงที่อยู่จนถึงปัจจุบัน หากเราจะซ่อนยาไว้ในไอศกรีมใครจะรู้... ความจริงเราไม่ได้อยากจะให้ผู้อื่นกินไอศกรีมแต่เราอยากให้คนอื่นกินไอศกรีมเพื่อรับรู้ในตัวตนแท้จริงของเราที่ซ่อนอยู่ เรามิกซ์มันไปกับสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายอย่างเพลง ดนตรี เสื้อผ้าหรือแม้แต่การอุปมาอย่างไอศกรีม ทั้งหมดเพื่อให้คนเข้าถึงและพร้อมเสพย์สิ่งที่เราต้องการให้รับรู้ที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว วันหนึ่งคนเหล่านั้นก็จำภาพเราจากสไตล์ที่เราใส่ เพลงที่เราฟัง มันง่ายกว่าการที่เราจะเที่ยวประกาศว่าเราคือใครและเป็นยังไงแบบตรงไปตรงมา หรือแม้แต่ลีลาที่พลิ้วไหวของการเต้นประกอบเพลงก็เปรียบได้กับการวาดลวดลายให้กับด้านศิลปะของสังคมด้วยชุดอันตราตรึงฝีมือการตวัดเส้นออกแบบของอเลสซานโดร มิเคเล่

การปลดปล่อยและศรัทธาของคนผิวสีผ่านเพลงเทคโน / ภาพ: Courtesy of Black to Techno

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงการเดินทางของดนตรีเทคโนที่ไม่หยุดนิ่งมันเริ่มจาก “การปลดปล่อยและความศรัทธาของคนผิวสี” ต่อมามันการเป็นแนวเพลงสำหรับอนาคตและมวลมนุษย์ เพราะมันคือเพลงของทุกคน มันคือสิ่งยึดโยงคนไว้ด้วยกัน ทุกคนสนุกในเพลงแบบเดียวกัน กุชชี่ก็มีแนวทางการนำเสนอในวิถีที่คล้ายผลงานของเจนน์ เกิดการยึดโยงคนชื่นชอบศิลปะให้สนุกไปกับกุชชี่ ถึงแม้จะไม่ใช่แฟนของแบรนด์ที่ตามดู ตามซื้อแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโชว์และเสื้อผ้าทุกคอลเล็กชั่นของกุชชี่มันทำให้เราตื่นเต้นและรอดูได้อยู่เสมอ หากไม่ได้ชื่นชอบเป็นดีเอ็นเอประจำตัวเหมือนคนผิวสีกับเพลงเทคโน ก็คงเหมือนคนทั่วไปที่สามารถสนุกกับแนวเพลงนี้ได้โดยไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดแต่อย่างใด

ตัวอย่างลุคคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2019 ที่เริ่มไล่เรียงระดับความเรียบง่าย (แต่เพิ่มลูกเล่น) ไปจนถึงชิ้นที่สลับซับซ็อน / ภาพ: Vogue Runway

     ยิ่งกลับมาเน้นในแง่มุมเรื่องกุชชี่ทางเจนน์ ผู้กำกับแบลค ทู เทคโนก็ได้บอกว่ากับเราว่า “ฉันสามารถพบเจอส่วนต่าง ๆ ในคาแรกเตอร์ของตัวเอง” เพราะความหลากหลายของแบรนด์กุชชี่ที่สามารถสะท้อนเบื้องลึกของคนผ่านการเลือกเสื้อผ้าหลากหลายตัวเลือก ตั้งแต่ความธรรมดาแต่ไปจนถึงมิติใหม่แห่งวงการแฟชั่นไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ชอบสไตล์แบบไหน สีสันแบบไหน กุชชี่ตอบโจทย์เราเสมอ เพราะด้วยสีสัน ลวดลายที่มีตั้งสีพื้นเรียบไปจนถึงสีสันจัดจ้าน ซิลูเอตที่มีตั้งแต่ความเบสิกเริ่มตั้งแต่เสื้อผ้าปกติ เสื้อโค้ต เสื้อเชิ้ต ชุดเดรส ถุงน่อง ลายลูกไม้ และเร่งระดับปรับความซับซ้อนให้เป็นตัวเลือกมากขึ้น มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเพลงเทคโนแม้แต่น้อยเริ่มจากสร้างจังหวะผ่านเสียงเครื่องจักรง่าย ๆ ไปจนถึงการมิกซ์จังหวะให้สลับซับซ้อน คนเสพย์ก็เลือกที่จะเสพย์มันได้ตามความถนัดเพราะสุดท้ายเราต้องเลือกตัวเลือกที่เป็นตัวเรามากที่สุดและคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ที่เราพยายามจะแสดงเราจะได้พบมันที่กุชชี่และภาพยนตร์เรื่องแบลค ทู เทคโนอย่างแน่นอน นี่คือเป็นเหตุผลที่ภาพยนตร์สั้นเนื้อหาเกี่ยวกับรากเหง้าของดนตรีเทคโนจะกลายเป็นสื่อที่กุชชี่นำเสนอว่าจะออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะบนหน้าจอที่สามารถสะท้อนดีเอ็นเอของแบรนด์ได้อย่างน่าประหลาดใจ

ฉากในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ที่พาเราเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมคนผิวสีอย่างเต็มตัว / ภาพ: Courtesy of Black to Techno

      การจัดงานฉายภาพยนตร์สั้นของกุชชี่เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดมุมการมองโลกภายใต้ชื่อกุชชี่ได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงแคมเปญหรือแฟชั่นอีกต่อไป เพราะโลกของศิลปะยึดโยงกันเสมอ ฉะนั้นเรื่องต้นกำเนิดของแนวเพลงก็สามารถนำมาข้องเกี่ยวกับแบรนด์เสื้อผ้าได้อย่างลงตัว ทั้งนี้เจนน์ ผู้กำกับทิ้งท้ายถึงแบรนด์ว่า “ฉันชอบทุกอย่างเกี่ยวกับกุชชี่” และกล่าวถึงกรุงเทพมหานครแห่งนี้ว่า “กรุงเทพฯ คือสถานที่ที่พิเศษมาก ๆ ในใจฉัน” 

 

ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์เพิ่มเติม: ArtNews, Gucci, AnOther และ DOCUMENT

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Gucci