FASHION

รู้จักผู้หญิงไทยเพียงหนึ่งเดียวในทีมออกแบบรองเท้าของ adidas ล่าสุดก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการประกวดออกแบบรองเท้าระดับโลก

"เหมือนขวัญ" คือดีไซเนอร์หญิงไทยเพียงคนเดียวในทีมออกแบบรองเท้าของแบรนด์ adidas ซึ่งล่าสุดเธอผันตัวมาเป็นผู้จัดการประกวดออกแบบรองเท้า Global Footwear Awards และเปิดรับผลงานดีไซน์จากทั่วโลก

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาเราได้เห็นความสามารถของคนไทยบนเวทีโลกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถที่ไม่เป็นรองใคร รวมถึงในวงการแฟชั่นที่กำเนิดนักออกแบบหน้าใหม่อยู่เสมอ ซึ่งมักจะเน้นหนักไปทางสาขาออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่อีกหนึ่งแขนงของงานออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นซึ่งไม่ค่อยมีการกล่าวถึงเท่าไรนักในบ้านเราเห็นจะเป็นการให้ความสำคัญกับ Footwear Designers หรือนักออกแบบรองเท้า ซึ่งแท้จริงแล้วมีคนไทยที่มีศักยภาพทางด้านนี้มากกว่าที่คุณคิด เราขอเชิญชวนให้คุณมาฟังและทำความรู้จักกับเธอคนนี้ "เหมือนขวัญ-สิรามล อ่อนศรี" เธอคือนักออกแบบรองเท้าชาวไทยที่โชกโชนไปด้วยประสบการณ์การทำงานกับแบรนด์รองเท้าระดับโลก

ผลงานรองเท้ารุ่น Pureboost x TR จาก adidas ซึ่งออกแบบโดยเหมือนขวัญ และได้ Karlie Kloss มาเป็นนางแบบ 

 

หากจะย้อนความถึงความรักในงานออกแบบรองเท้าคงต้องย้อนไปตั้งแต่เมื่อครั้งที่เหมือนขวัญเรียนอยู่ไฮสกูลที่ประเทศนิวซีแลนด์ เธอเป็นเด็กผู้หญิงที่ชื่นชอบการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นฮิปฮอป-แจ๊ส และการเต้นนั้นเองที่ทำให้เธอหันมาเห็นความสำคัญของรองเท้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เธอเชื่อว่ารองเท้าเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ จึงเริ่มคลั่งไคล้และเริ่มสะสมรองเท้านับแต่นั้นเป็นต้นมา จุดนั้นเองที่ทำให้เธอจุดประกายความฝันในการเป็นนักออกแบบรองเท้า และตั้งใจไว้ว่าเมื่อเรียนจบไฮสกูลแล้วเธอจะมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาออกแบบโดยตรงเพื่อสานฝันให้เป็นจริง

บรรยากาศการทำงานของเหมือนขวัญกับทีมออกแบบรองเท้า Ultraboost 21 ที่ adidas

 

หลังจากไขว่คว้าหาโอกาสตั้งแต่เรียนไฮสกูล เธอก็ได้รับทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนต่างประเทศเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนออกแบบชั้นนำของโลกอย่าง Parsons School of Design ในสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ตอนเรียนจบเธอได้รับรางวัล Capstone Prize for Best Overall Thesis ของ Parsons Product Design Program ด้วยแรงปรารถนาที่อยากจะเป็นนักออกแบบรองเท้าซึ่งเธอมุ่งมั่นและปักธงอย่างชัดเจน ทำให้เหมือนขวัญเริ่มร่อนจดหมายฝึกงานตั้งแต่เรียนอยู่ปี 1 นั่นทำให้เธอมีประสบการณ์การทำงานกับแบรนด์ดังในนิวยอร์กมากมาย ไม่ว่าจะเป็น John Varvatos ซึ่งเป็นที่ที่เธอเรียนรู้งานออกแบบรองเท้าผู้ชาย ไปจนถึงการศึกษาการออกแบบรองเท้าผู้หญิงที่ Michael Kors รวมถึงแบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Alexander Wang ซึ่งเธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฐานะนักเรียนฝึกงานในทุกๆ ปีการศึกษา นอกจากนั้นในช่วงซัมเมอร์เธอยังลงทุนบินลัดฟ้าไปซัมเมอร์ที่ London College of Fashion เพื่อศึกษาอุตสาหกรรมรองเท้าในฝั่งยุโรปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากการขวนขวายของเธอเองทั้งสิ้น



WATCH




การทำงานของเหมือนขวัญในสตูดิโอ Maker Lab ของ adidas

 

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่ เหมือนขวัญเริ่มลงสู่สนามแข่งขันในวงการออกแบบรองเท้าอย่างเต็มตัวผ่านการประกวดการออกแบบรองเท้ารายการหนึ่งของอเมริกาที่ก่อตั้งโดย D’Wayne Edwards อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Design Director) ของ Nike Jordan คัดเลือกนักเรียนนักศึกษาที่ชื่นชอบในการรองเท้าจำนวน 24 คนจากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามาเวิร์กช็อปเรียนรู้การทำรองเท้าจาก professionalsในอุสาหกรรมรองเท้าเป็นเวลากว่า 5 สัปดาห์ "เราเข้าไปสมัครรายการนี้เพื่อที่จะหาประสบการณ์ใหม่ๆและต่อยอดสิ่งที่เราเรียนรู้มาแล้ว พอเข้าไปมีแต่คนเก่งๆทั้งนั้น ในระหว่างที่เวิร์กช็อปเขาก็มีการแข่งขันกัน โดยให้ออกแบบรองเท้าในแต่ละประเภท ซึ่งเหมือน(เหมือนขวัญ) ได้ถูกเลือกให้ออกแบบรองเท้าที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ซึ่งผลงานของเราก็ชนะในสาขานี้ และมีรางวัลจากสปอนเซอร์คือการบินไปจัดแสดงผลงานที่ลาสเวกัส ซึ่งนั่นเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ทำให้เราได้มีคอนเนคชั่นในวงการรองเท้า และได้รู้จักผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง"

ภาพสเก็ตช์และผลงานรองเท้าฟุตบอล Predator21 ของ adidas ที่ออกแบบโดยเหมือนขวัญ และ Marc Illan

 

แต่ก้าวต่อไปของเหมือนขวัญนั้นจะเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดในฐานะของนักออกแบบรองเท้ากีฬา เมื่อเธอทราบข่าวว่า adidas กำลังเปิดรับเทรนนีมาร่วมทำงานเป็นเวลาถึง 2 ปีเลยทีเดียว "ตอนที่สมัครเข้าไปไม่มั่นใจเลยว่าจะได้ไหมเพราะคนสมัครเยอะมาก จำได้ว่าประมาณ 1,200 กว่าคน ซึ่งเขารับแค่ 3 คน กว่าจะเข้าไปถึงตรงนั้นได้ต้องผ่านหลายด่านมากๆ เริ่มจากส่งเรซูเม่ พอร์ตโฟลิโอ เข้าไปก่อน หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกให้ออกแบบรองเท้าตามโจทย์ที่ได้รับในเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อผ่านเข้าสู่รอบ 9 คนสุดท้าย และต้องบินไปสัมภาษณ์ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งในบรรดาผู้เข้ารอบทั้งหมดเราอายุน้อยที่สุดและเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว บางคนก็จบปริญญาโทมาแล้ว บางคนทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้วก็มี แต่สิ่งที่ทำให้เราเข้ารอบมาได้น่าจะเป็นเพราะกระบวนการออกแบบที่แตกต่างไม่เหมือนคนอื่น และเน้นการเสนอผลงานเป็น handmade prototype ซึ่งเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา" และแน่นอนว่ากระบวนการฝึกงานตลอด 2 ปีที่ adidas ก็หล่อหลอมเธอมากเช่นเดียวกัน "การฝึกงานที่นั่นมันคุ้มค่ามาก เมื่อเข้าไปแล้วเราจะมีโอกาสได้ร่วมทำงานถึง 6 แผนก มีการหมุนเวียนแต่ละทีมทุกๆ 3-6 เดือน และยังได้รับการสนับสนุนให้ไปทำงานใน Design office ของ adidas ในประเทศต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายและเข้าใจ business model ของแต่ละทีม ทำให้เราเห็นภาพรวมของการทำงานใน adidas ซึ่งไม่ใช่ว่า ดีไซเนอร์ทุกคนจะได้โอกาสตรงนี้ เหมือน(เหมือนขวัญ) จึงอยากเก็บเกี่ยวโอกาสตรงนี้ให้มากที่สุด.”

เหมือนขวัญและเพื่อนร่วมงานในทีมออกแบบรองเท้าฟุตบอลซึ่งใน 7คน มีเธอเป็นคนเอเชียและผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียว

 

ถ้าจะขนานนามเธอคนนี้ว่าเป็น "นักขวนขวาย" หรือ "นักแสวงโอกาส" ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะในขณะที่ทำงานเป็นเทรนนีอยู่ที่ adidas ตลอด 2 ปี เธอไม่เคยหยุดหาโอกาสใหม่ๆ เลยแม้แต่นาทีเดียว "ช่วงที่ฝึกงานอยู่ 2 ปีก็พยายามหาอะไรใหม่ๆ ทำอยู่ตลอด ขอไปฝึกงานที่ประเทศนู้นประเทศนี้ วิ่งไปขออนุญาต HR รวมถึงเจ้านายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่องขอย้ายไปประจำที่โรงงานในประเทศจีน3เดือน เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตขนาดใหญ่ ทุ่มเทเวลาส่วนตัวทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อสมัครเข้าร่วมทีมออกแบบรองเท้าบาสเก็ตบอลซึ่งมีแต่ดีไซเนอร์ผู้ชายในแคมปัสที่อเมริกาโดยที่ไม่เคยมีพื้นฐานด้านนี้มาก่อนเลย แม้แต่งานด้านmarketing เหมือนก็ไปสมัครขอเข้าร่วมทีม เพื่อศึกษาเรื่องการวางแผนและโปรโมตสินค้า แทนที่จะออกแบบอย่างเดียว ซึ่งเราได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างมาก และอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ประทับใจคือเราได้ไปลองทำที่ Y-3 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาไปจัดโชว์ที่ปารีสแฟชั่นวีก ตอนนั้นเรายังเป็นเทรนนีอยู่แต่เขาก็ให้โอกาสลองออกแบบรองเท้าของ Y-3 ซึ่งรองเท้าคู่นั้นได้ถูกเลือกให้ไปอยู่บนรันเวย์ที่ปารีสด้วยค่ะ"

รองเท้าบาสเก็ตบอลผลงานการออกแบบของเหมือนขวัญ เธอสร้างสรรค์ขึ้นในขณะที่เวียนไปทำงานอยู่ในทีมบาสเก็ตบอลซึ่งเธอไม่เคยมีพื้นฐานเลย รองเท้าคู่นี้ทำยอดขายในตลาดมากกว่า 3แสนคู่ ซึ่งถือเป็นผลงานพิสูจน์ฝีมือ และ ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับของคนในทีมเป็นอย่างมาก

 

ความกระตือรือร้นและไม่หยุดเรียนรู้ของเธอทำให้ adidas รับเธอเข้าเป็นพนักงานประจำทันทีหลังจากฝึกงานมาแล้ว 2 ปี เธอเข้าทำงานในฐานะ Footwear Designer อย่างเป็นทางการในทีมรองเท้าเทรนนิ่ง ก่อนจะถูกเรียกตัวกลับทีมรองเท้าวิ่งอีกครั้ง ซึ่งพริบตาเดียวเธอก็ค้นพบว่าตัวเองทำงานออกแบบรองเท้าให้กับ adidas มาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกเพื่อเรียนต่อปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจ เธอยังคงไม่หยุดการเรียนรู้ในฐานะนักออกแบบรองเท้ากีฬา เหมือนขวัญขอเวียนไปทำงานในแผนกรองเท้าฟุตบอลเป็นการส่งท้าย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้ครบทุกด้าน ซึ่งเธอเชื่อว่าดีไซเนอร์ที่ดีต้องสามารถออกแบบได้ทุกประเภท ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่ตัวเองถนัดเท่านั้น รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และรู้จักปรับตัวในการทำงานกับคนหลากหลายรูปแบบ

อุปกรณ์การทำงานของเหมือนขวัญในสตูดิโอ Y-3 ซึ่งเธอชอบทำงานโดยสร้างชิ้นงาน Prototype ขึ้นจริง มากกว่าการวาดในคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว

 

หลังจากผ่านเส้นทางในฐานะนักออกแบบรองเท้ามืออาชีพอย่างที่ใฝ่ฝันแล้ว เหมือนขวัญมีเป้าหมายต่อไปที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะเสต็ปต่อไปของเธอไม่ได้เป็นเพียงการแสวงโอกาสเพื่อตัวเธอเท่านั้น แต่ยังเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้อื่นด้วย "สิ่งที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะมีคนให้โอกาสค่ะ ตั้งแต่ตอนที่ได้เข้าไปเวิร์กช็อปหรือแม้กระทั่งตอนที่ได้ลองไปฝึกงานในประเทศต่างๆ ล้วนเป็นโอกาสที่มีคนหยิบยื่นให้ ดังนั้นเหมือนจึงอยากสร้างสะพานแห่งโอกาสให้กับคนที่อยากเป็นนักออกแบบรองเท้าได้เป็นที่รู้จักทั่วโลก" และนั่นจึงเป็นที่มาของการจัดการประกวด Global Footwear Awards ซึ่งเป็นเวทีการประกวดออกแบบรองเท้าระดับโลกที่เหมือนขวัญเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

รองเท้า Y-3 ที่ออกแบบโดยเหมือนขวัญ บนรันเวย์ปารีสแฟชั่นวีก

 

“Global Footwear Awards เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการออกแบบรองเท้าได้มาแสดงผลงานและความสามารถ โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนสูงๆ และไม่จำเป็นต้องทำรองเท้าต้นแบบขึ้นมาจริงๆ ขอแค่คุณนำเสนอคอนเซปต์และแนวคิดในการออกแบบด้วยวิธีการใดก็ได้ที่ทำให้เราเข้าใจได้ เช่น เสนองานด้วยการวาดขึ้นมา หรือใช้โปรแกรมออกแบบต่างๆ โดยเราแบ่งรางวัลออกเป็นหลายสาขามากๆ เพื่อรองรับนักออกแบบทุกแขนงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขา Sports Performance และยังมีสาขา Sustainability, Fashion Sneakers, Men's Fashion, Women’s Fashion, Unisex, Kids ไปจนถึง Special Awards อย่างเช่น Up and Coming Female Footwear Designer เพื่อยกระดับความสามารถของดีไซเนอร์ผู้หญิงโดยเฉพาะ” อีกหนึ่งความน่าสนใจของการประกวดในครั้งนี้คือการได้นำเสนอผลงานต่อกรรมการซึ่งเป็นบุคคลชั้นนำของวงการออกแบบรองเท้าระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์และผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ เช่น adidas, Dolce & Gabbana, Vera Wang, Hugo Boss, Prada, Puma, Roberto Cavalli ไปจนถึง Marc Jacobs ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง โดยผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.globalfootwearawards.com จนถึงสิ้นปีนี้

ลิสต์รายชื่อกรรมการการแข่งขัน Global Footwear Awards

 

เหมือนขวัญทิ้งท้ายด้วยความในใจของเธอที่มีต่อนักออกแบบไทยด้วยน้ำเสียงและใบหน้าที่มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า "เหมือนเชื่อว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพที่สูงมาก เพียงแต่ขาดความเชื่อมั่น ไม่ใช่ไม่เก่ง คนไทยเก่ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเปิดโอกาสให้ตัวเองแสดงความสามารถให้คนอื่นเห็นหรือเปล่า สำหรับคนที่สนใจการแข่งขัน Global Footwear Awards อุปสรรคเดียวคือตัวเราว่าอยากเปิดประตูโอกาสของตัวเองไหม แต่ถ้าเรามัวแต่ไม่มั่นใจ คิดว่าผลงานของตัวเองยังไม่ดีพอ และตัดสินใจไม่เข้าประกวด ประตูสู่โอกาสนั้นก็จะไม่มีวันเปิดออก" นั่นเป็นคำแนะนำจากนักออกแบบรองเท้าหญิงไทยที่แสวงหาโอกาสอย่างไม่หยุดยั้งและวันนี้เธอเลือกที่จะหยิบยื่นให้คนอื่นๆ ที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน 

หลังจากบทสนทนาราว 40 กว่านาทีกับเหมือนขวัญ พลังงานหนึ่งที่แผ่ออกมาจากตัวเธอคือความมุ่งมั่นอย่างสุดตัว และความหลงใหลอย่างสุดใจ รวมถึงลงมือทำอย่างทุ่มเท ที่สำคัญคือการไม่หยุดเรียนรู้ และไม่ยอมจำนนต่อคำปฏิเสธ ซึ่งนั่นคือจุดแข็งที่เรามองว่าเป็นพลังมหัศจรรย์ที่ผลักดันให้เธอประสบความสำเร็จ เหนือสิ่งอื่นใดเธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหากคุณพยายามมากพอและลงมือทำเสียตั้งแต่ตอนนี้...ความฝันก็ไม่ไกลเกินไป

WATCH