FASHION

ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ชื่อดังกับภารกิจกู้ลมหายใจผ้าไทยให้ไปไกลระดับโลก

ความฝันอันสูงสุดของเขาในตอนนี้ก็คือการช่วยส่งเสริมให้กลุ่มชาวบ้านทอผ้าในจังหวัดต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผ้าไทยทอมือให้ดูร่วมสมัย

True Blue - (จากซ้าย) ผ้าไหมเพนต์ลาย (ใช้พันตัว) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดปัตตานี ผ้าไหมทอลาย (ใช้โพกศีรษะ) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ผ้าไหมทอลาย (ใช้พันตัว) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น ผ้าไหมเพนต์ลาย (ใช้โพกศีรษะ) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดปัตตานี  / ภาพ: โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมกราคม 2561

 

นอกเหนือจากการทำงานเพื่อตัวเอง หนึ่งในหน้าที่ของการเป็นดีไซเนอร์สำหรับ “ธีระ ฉันทสวัสดิ์” ที่เป็นความฝันอันสูงสุดของเขาในตอนนี้ก็คือการช่วยส่งเสริมให้กลุ่มชาวบ้านทอผ้าในจังหวัดต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ผ้าไทยทอมือให้ดูร่วมสมัย และมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โว้กพาไปเกาะติดภารกิจเพื่อชาติครั้งนี้

 

“หลักๆ ตอนนี้ก็คืองานสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องการคิดงาน สร้างงานจากแรงบันดาลใจ รวมไปถึงเทคนิคการทำแพตเทิร์นจนออกมาเป็นผลงานจริง” ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ชื่อดังที่ในตอนนี้มักถูกเรียกว่าอาจารย์ “ต่าย” เล่าถึงงานหลักของเขา หากย้อนหลังไป 10 กว่าปีที่แล้ว ชื่อของ T-ra คือแบรนด์แฟชั่นไทยที่มีคนพูดถึงและจับตามองมากที่สุดแบรนด์หนึ่ง ด้วยความโดดเด่นของการออกแบบลายผ้าโดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่เกิดจากการทำมือ ซึ่งบ่อยครั้งผสมผสานการทอลายด้วยการใช้เทคนิคใหม่ๆ ทั้งแบบดั้งเดิมจนถึงแบบใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาด้วยตัวของธีระเอง

 

Orient Express - ชุดกระโปรงยาวสายเดี่ยวผ้าพิมพ์ลาย จาก Salvatore Ferragamo ผ้าไหมทอลายและผ้าทอลายจับจีบย่น (ใช้โพกศีรษะ) ทั้งสองจาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์  / ภาพ: โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมกราคม 2561

 

“เราเคยทำแบรนด์แฟชั่นมา เคยทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่มีหน้าที่ต่างๆ กันไป เรารู้ระบบการทำงานแฟชั่นหมดทุกอย่าง มันอาจจะเคยประสบความสำเร็จมากๆ มาแล้ว เราผ่านจุดนั้นมาจนตอนนี้เรามานั่งนึกว่าอะไรที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข ไม่เคยที่จะได้รับคำตำหนิจากใครเลย ซึ่งก็คืองานสอนหนังสือ งานสอนชาวบ้านเรามองว่ามันคือการ ได้ทำอะไรคืนกลับให้กับบ้านเมืองกับสังคมของเรา มันคือหน้าที่ของทุกคนนะในความคิดของเรา” ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจใช้เวลาว่างทุ่มเทให้กับภารกิจ ใหม่ นั่นก็คือการให้ความรู้และช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มทอผ้าในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

 

“จริงๆ เป็นโปรเจกต์ที่เรามีส่วนร่วมมานานแล้วตามงบประมาณของทางการที่ยังไม่สามารถต่อยอดได้อย่างเต็มรูปแบบนัก แต่เราคิดอยากทำให้มันเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ จนเมื่อปีที่แล้วมีช่วงเวลาว่างตอนมหาวิทยาลัยปิดเทอมใหญ่นานกว่า 3 เดือน เลยโทร.ไปปรึกษากับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่าเราอยากไปช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มทอผ้า ไปให้คำปรึกษาในเรื่องที่เราพอจะมีความรู้และสามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้ พอได้รับการตอบกลับมาว่าให้เราไปช่วยได้ ก็ขึ้นรถไปเลย” ดีไซเนอร์ ชื่อดังผู้ผ่านการเรียนรู้ด้านแฟชั่นทั้งจากไทยและเทศเล่าถึงจุดเริ่มต้นของภารกิจนี้ ซึ่งเริ่มต้นทันทีที่เขาได้รับการตอบรับจากชาวบ้าน

 

Weave the Line  - ชุดกระโปรงยาวผ้าพิมพ์ลาย จาก Marimekko ผ้าไหมทอลาย (ใช้พันตัว) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ผ้าทอลาย (ใช้โพกศีรษะ) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดลำพูน / ภาพ: โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมกราคม 2561

 

“พอเข้าไปนั่งคุยกับชาวบ้านก็พบว่ามีปัญหาอะไรหลายอย่างที่เราต้องเอากลับมานั่งคิด นั่งปรับ แก้ปัญหาไป อย่างแรกเลยคือเรื่องการใช้สี เราพบว่าเรามองสีไม่ตรงกับที่พวกเขามอง ซึ่งมันอาจเป็นเพราะว่าสีที่เขาย้อมตั้งแต่แรกมันเป็นสีนั้น ไม่ได้ยึดสีปลายทาง ทำให้เราเกิดไอเดียอยากสร้างและแนะนำเทรนด์สีผ้าให้พวกเขา” จากจุดเริ่มต้นในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน การสร้างสรรค์ผ้าไทยในมุมมองใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังภายใต้การนำของตัวธีระเอง

 

“ส่วนตัวเป็นคนชอบเดินเล่นตามงานโอท็อป งานขายของพื้นเมือง พอไปเดินบ่อยๆ เราก็จะสามารถบอกได้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เราเห็นว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยุคนี้ ซึ่งคงจะดีถ้าเราเอาความนิยมออร์แกนิกของคนไทยมาผสมกับเทรนด์ของเมืองนอกในเรื่องของการใช้สี เราเลยตั้งใจรวบรวมสร้างเป็นไกด์บุ๊กว่าด้วยเรื่องของเทรนด์การใช้สีจนออกมาเป็นเทรนด์สีทั้งหมด 6 สีไว้ให้ชาวบ้านได้ศึกษา ซึ่งเราเอามาต่อยอดในการลงพื้นที่ต่อไปได้ด้วย”

 

Artsy Lady - เสื้อคอกลมแขนกุดผ้าเพนต์ลาย จาก Proenza Schouler ผ้าทอลายผสมเชือกฟาง (ใช้โพกศีรษะ) จาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ / ภาพ: โว้กประเทศไทยฉบับเดือนมกราคม 2561

 

ธีระเริ่มต้นให้คำแนะนำใหม่ๆ แก่ชาวบ้านที่เพชรบูรณ์เป็นที่แรกก่อนจะกระจายไปที่ภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เช่นเดียวกับภาคอีสานที่จังหวัดเลย ขอนแก่น บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ตามลำดับ ก่อนที่จะลงใต้ไปยังจังหวัดปัตตานี “แต่ละที่ที่เราไป เราติดต่อไปเอง ซึ่งบางครั้งก็จะถูกตั้งคำถามจากชาวบ้านเรื่องความตั้งใจของเรา หลายครั้งถูกสอบถามว่ามาทำอะไร มาทำไม ทั้งจากชาวบ้านไปจนถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางทีก็เกิดความเข้าใจผิด จนทำให้เราเรียนรู้ว่าต้องเริ่มต้นจากการไปติดต่อใคร อย่างไร เพื่อให้การลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านของเราสะดวกมากขึ้น”

 

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งธีระเตรียมตัวและศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดีเกี่ยวกับความถนัดของชาวบ้าน เอกลักษณ์ในการออกแบบของแต่ละจังหวัด ตลอดจนประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความสนใจที่แตกต่างกันไป ก่อนจะนำมาประมวลและคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปแนะนำและชี้ชวนให้พวกเขาลองลงมือทำ โดยให้คำปรึกษาทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนสำเร็จออกมาเป็นชิ้นงาน สิ่งนี้เองทำให้ชาวบ้านในแต่ละจังหวัดที่เขาไปลงพื้นที่มาให้ความเคารพ เชื่อมั่น และเชื่อใจเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แน่นอนว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ภารกิจใหม่ของเขาจะก้าวข้ามอุปสรรคจนได้รับความสำเร็จในเบื้องต้นและนำมาซึ่งเสียงชื่นชมในตอนนี้

 

Smiley Faces - (จากซ้าย) ชุดกระโปรงยาวแขนยาวผ้าพิมพ์ลาย จาก Marimekko ผ้าไหมทอลาย (ใช้พันตัวและโพกศีรษะ) ทั้งสองจาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดเลย ผ้าไหมทอลาย (ใช้พันตัวและโพกศีรษะ) ทั้งสองจาก กลุ่มชาวบ้านจังหวัดเชียงใหม่และเพชรบูรณ์

 

หลายคนถามว่าที่ทำอยู่นี่ทำไปทำไม เป็นภาระเปล่าๆ แต่เรากลับมองว่ามันคือหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกันออกไป เราอยากให้ทุกคนช่วยกันทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถของตัวเองเท่าที่ตัวเองจะทำได้” แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผ้าไทยได้รับความสนใจทั้งจากในและนอกประเทศอยู่โดยตลอด แต่จากที่ธีระลงไปทำงานอย่างจริงจัง เขามองเห็นว่ายังมีปัญหาที่ถูกมองข้ามไปอยู่ “บ่อยครั้งที่การส่งเสริมผ้าไทยมักไปเริ่มต้นที่ปลายทาง แทนที่จะให้ความสำคัญกับต้นทาง ซึ่งก็คือกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิต ไม่ใช่มองแค่ผลงานสุดท้ายที่ออกมาเท่านั้น

 

อย่างโครงการหนึ่งของรัฐบาลที่เราเห็นว่ามีประโยชน์มากๆ ก็คืองาน Tokyo Gift ที่นำดีไซเนอร์มาอยู่เรียนรู้กับชาวบ้านจริงๆ จังๆ ก่อนที่จะช่วยกันสร้างงานออกไปวางขายต่อไป ซึ่งมันมีประสิทธิผลมากๆ” อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายด้านรอให้พวกเราคนไทยทุกคนช่วยเหลือกันเพื่อให้ผ้าไทยยังคงอยู่และได้รับความสนใจต่อไปในอนาคต ซึ่งธีระมองว่าถ้าผ้าไทยได้รับการยอมรับในเวทีแฟชั่นระดับโลกต่อไปอีกนานๆ นั่นย่อมแสดงว่าความฝันของเขาในการผลักดันผ้าไทยให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

 

 

“หลายคนบอกว่าผ้าไทยก็ดีอยู่แล้ว สวยอยู่แล้ว จะปรับไปทำไม คิดใหม่ไปเพื่ออะไร อย่าลืมว่าทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ บ่อยครั้งที่ เราเห็นเด็กนักเรียนแฟชั่นของเราสนใจงานผ้าไทย พยายามลงไปศึกษาคลุกคลีกับชาวบ้านจริงๆ ในช่วงฝึกงาน เรารู้สึกดีใจมากที่คนรุ่นใหม่รักและชอบผ้าไทย แต่เราต้องไม่ลืมใส่ความทันสมัยและสิ่งใหม่ๆ เข้าไปตามความเป็น ไปของโลกด้วย เพราะถ้าเราสนับสนุนแต่นวัตกรรม วัฒนธรรมก็ตาย ในทางกลับกันถ้าเรามัวแต่หวงวัฒนธรรม ไม่มองหาสิ่งใหม่ๆ เลย มันก็จะจบแค่ตรงนั้น” - ธีระ ฉันทสวัสดิ์

 

สไตล์ไดเร็กเตอร์: จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล

ภาพ: เอกรัตน์ อุบลศรี

เรื่อง: มานิตย์ มณีพันธกุล

นางแบบ: กุ้ง, ราดูวา

แต่งหน้า: วันสุข บุญประเสริฐ

WATCH