FASHION

โว้กปอก Kim Jones หมดเปลือกว่าทำไมคอลเล็กชั่น Pre-Fall 2020 ของ Dior ถึงเต็มไปด้วยความแปลกใหม่

Kim Jones นำเสนอคอลเลกชั่น Pre-Fall 2020 ในค่ำคืนของงานอาร์ต บาเซิล ไมอามี โว้กจับเข่าคุยกับผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์สำหรับเครื่องแต่งกายชายผู้นี้ เพื่อพูดคุยถึงงานคอแลบอเรชั่นล่าสุดของเขาร่วมกับ Shawn Stussy และ Jordan

     คุณไม่จำเป็นต้องมีญาณทิพย์ใด ๆ ก็สามารถเดาได้ว่าเมื่อคิม โจนส์ประกาศว่าเขาจะนำเสนอคอลเลกชันเครื่องแต่งกายชายประจำฤดูPre-Fall 2020 ของเขาในค่ำคืนก่อนหน้างานอาร์ต บาเซิล ไมอามีนั้น มันจะถูกจัดขึ้นภายในสถาบันศิลปะ แต่สำหรับโจนส์ซึ่งเป็นผู้ชื่นชอบศิลปะตัวยง เขาไม่ได้เลือกสถาบันศิลปะทั่วๆ ไป แต่กลับเสาะหานักสะสมศิลปะยักษ์ใหญ่ผู้มีรสนิยมเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในชายฝั่งตะวันออก การตัดสินใจในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสดุดีอาชีพแรกของมิสเตอร์ดิออร์ในฐานะเจ้าของแกลอรีแล้ว ยังถือเป็นการเปิดตัวบ้านใหม่สำหรับคอลเลกชั่นรูเบลล์ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์รูเบลล์ (The Rubell Museum) วันที่เรานัดพบกัน โจนส์ปลีกตัวจากการนัดฟิตติ้งในระหว่างที่เขารอเหล่านายแบบเดินทางเดินทางมาถึง  เพื่อชมพิพิธภัณฑ์กับเมรา รูเบลล์ (Mera Rubell) ผู้ร่วมก่อตั้ง “ผมไปดูพื้นที่ก่อนที่ทุกอย่างจะเสร็จลง และเมราบอกผมว่าพวกเขาจะแขวนงานที่ผนังด้านหนึ่งซึ่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะสามารถมีส่วนร่วมกับมันได้” เขากล่าว “ผมรู้ทันทีเลยว่ามันต้องเป็นงานของคีธ แฮริง (Keith Haring) สำหรับผม การได้ยืนต่อหน้ารูปภาพหัวใจของเขาในวันเอดส์โลกถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

     เป็นเวลามากกว่าห้าทศวรรษที่เมราและ ดอน รูเบลล์ (Don Rubell) สามีของเธอสะสมคอลเลกชั่นงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินต่าง ๆ อาทิ ชอง-มิเชล แบสกิเยต์ (Jean-Michel Basquiat) ซินดี เชอร์แมน (Cindy Sherman) ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) และคารา วอล์กเกอร์ (Kara Walker) จนมีจำนวนมากกว่า 7,200 ชิ้น เคล็ดลับในการสะสมงานวิจิตรศิลป์ของเขาคืออะไร... มันคือความสามารถในการมองหาดาวเด่นซึ่งกำลังเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก พวกเขาเริ่มลงทุนกับงานชิ้นแรกๆ ของเจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) และริชาร์ด พรินซ์ (Richard Prince) ตั้งแต่ปี 1979 ก่อนที่ศิลปินทั้งสองขึ้นทำเนียบติดอันดับศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ค่าตัวแพงที่สุดในโลก ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ทักษะที่แตกต่างจากโจนส์ หรือคริสเตียน ดิออร์ที่มาก่อนหน้าเขานัก ตลอดจนทักษะของดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ ในการล่วงรู้ว่าพวกเราต้องการอะไรก่อนที่พวกเราจะรู้เสียอีก และในกรณีของโจนส์ก็คือ สิงที่พวกเราจะต้องการในเดือนเมษายนของปีหน้าเมื่อคอลเลกชั่น Pre-Fall ออกวางจำหน่าย



WATCH




เราคาดหวังอะไรได้จากคอลเลกชั่น Pre-Fall?

     “มันเกี่ยวกับเอกลักษณ์สำคัญสามประการของดิออร์เสมอ นั่นคือ ความสง่างาม ความเป็นกูตูร์ และงานตัดเย็บอันเฉียบคม” โจนส์กล่าวถึงงานออกแบบสำหรับฤดูกาลใหม่ของเขา หลักการสามประการที่สืบทอดต่อกันมานับจากที่มิสเตอร์ดิออร์ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงขึ้นในช่วงหลังสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นการชุบให้วงการแฟชั่นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง “นั่นหมายความว่าจะมีชุดสูทและเทคนิคแบบกูตูร์เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งเหล่านี้ก็จะมาพร้อมกับวิธีการสปอร์ตแบบอเมริกันและชุดเซิร์ฟแวร์ เพราะว่าเราจัดโชว์ในไมอามี” นับตั้งแต่แรกเริ่มแบรนด์เก่าแก่จากฝรั่งเศสอย่างดิออร์ก็มีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกา หนึ่งในเกร็ดความรู้ด้านแฟชั่นที่โจนส์ชอบมากคือการที่มิสเตอร์ดิออร์จะมีนักประชาสัมพันธ์เป็นชาวอเมริกันอยู่เสมอ “การที่เขากลายมาเป็นแบรนด์ระดับโลกได้นั้นถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก” ในช่วงทศวรรษที่ 1950s และ 1960s มิสเตอร์ดิออร์ออกแบบเสื้อผ้าซึ่งสวมใส่โดยนางแบบในโฆษณารถคาดิแลกซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอเมริกา ต่อมามันได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของคอลเลกชั่นกระเป๋า Cardillac trailer ของจอห์น กัลป์ลิอาโนในปี 2001 ซึ่งได้รับการนำกับมานำเสนอในคอลเลกชั่น Pre-Fall อีกครั้ง และในระหว่างที่อีฟ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์หลังจากที่มิสเตอร์ดิออร์เสียชีวิตลง เขาเองก็ได้ตั้งชื่อคอลเลกชั่นฤดูร้อนในปี 1963 ของเขาว่า ‘Floride’ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการผสมผสานความสุนทรีของความเป็นดิออร์เข้ากับตัวตนของรัฐแห่งแสงแดดแห่งนี้ ทั้งหมวกบักเก็ตและเสื้อกั๊ก เป็นต้น โดยสตีเฟน โจนส์ (Stephen Jones) นักออกแบบหมวกได้นำหมวกเหล่านี้กลับมาตีความใหม่อีกครั้งในฤดูกาลนี้ ซึ่งรวมถึงหมวกเบเรต์สุดคลาสสิกในลายพิมพ์ดอกฮิบิสคัส และตกแต่งด้วยดอกไม้และงานปักอันประณีตบรรจง ซึ่งทั้งหมดใช้เวลากว่า 150 ชั่วโมงกว่าจะสำเร็จลงได้

     สำหรับโทนสีแบบ“tutti-frutti” อันโดดเด่นในคอลเล็กชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโคของไมอามี และชี้ให้เห็นว่าชุดสูทแคชเมียร์ในสีฟ้าน้ำเงินแปซิฟิกคือลุคที่โจนส์ชอบที่สุดจากคอลเลกชั่นนี้ เสื้อเชิิ้ตที่สวมซ้อนกันทำจากผ้าไหมมาร์เบิลของญี่ปุ่น เนกไทมาพร้อมลายพิมพ์ชื่อ Dior ที่ดูเหมือนเขียนขึ้นด้วยมือ และกางเกงหนังงูถูกนำมาใส่คู่คับคริกเก็ตแจ็กเก็ต เสื้อบอมเบอร์และแจ็กเก็ตผ้าไหมมาพร้อมงานกระดุมฝีมือมือที่ดูคล้ายกับ Bar suit

     “มีดีไซเนอร์ชาวอเมริกันสามคนที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลในชีวิตตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆ “ โจนส์อธิบาย “ราล์ฟ ลอเรน (เขาสร้างไลฟ์สไตล์ที่มากกว่าโลกแฟนตาซีที่ใคร ๆ ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่ง)” มาร์ค เจค็อบ (เขามีบทบาทสำคัญมากในการทำงานของผม เพราะเขาเป็นคนพาผมไปที่หลุยส์วิตตอง) และชอห์น สตุสซี ศิลปินผู้สร้างสไตล์กราฟิกที่มีเอกลักษณ์จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ชอห์นเคยทำแคมเปญโฆษณาสุดวิเศษ โดยเขาจะเอาภาพอย่าง the Venus de Milo มาวาดทับลงไป เขายังสร้างชุมชนขึ้นจากงานของเขา ผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อให้กับเขาคือกระดานโต้คลื่น แต่ในตอนนี้ 40 ปีให้หลัง เรากำลังใส่คริสเตียน ดิออร์”

อะไรคือหัวใจสำคัญให้เกิดงานคอแลบอเรชั่นคิม โจนส์ที่สมบูรณ์แบบ?  

     Kaws เดเนียล อาร์แชม (Daniel Arshams) ฮาจิเมะ โซรายามะ (Hajime Sorayama) โจนส์เป็นผู้คิดค้นแฟชั่นดีไซเนอร์และงานคอแลบอเรชั่นร่วมกับศิลปินต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่าจดจำที่สุดในยุคนี้ สิ่งที่เชื่อมโยงพวกพวกเขาเข้าด้วยกันคืออะไร “พวกเขาล้วนแล้วแต่มีความมั่นใจในวิธีที่พวกเขาวาดภาพ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมเลือกที่จะทำงานร่วมกับพวกเขา” ดีไซเนอร์ผู้นี้ตอบ สำหรับฤดูกาล Pre-Fall สตุสซีได้สร้างสรรค์งานศิลปะพิเศษขึ้นเพื่อใช้เป็นลายพิมพ์สำหรับเสื้อผ้าและเครื่องประดับโดยเฉพาะ “การที่มีผู้คนมากมายรอบโลกที่รู้จักทุกสิ่งทุกอย่างและสะสมงานของผมเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก” สตุสซีกล่าว “คิมและทีมของเขาศึกษาวัฒนธรรมนี้ กระบวนการทั้งหมดถือเป็นการร่วมมือกันอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น งานกราฟิกที่ผมทำขึ้นจะอยู่ในเฉดสีขาวดำ และทางดิออร์จะเป็นฝ่ายที่ใส่สีและเลือกใช้เทคนิคกูตูร์อย่างงานปักเลื่อมต่างๆ”

     งานศิลปะนี้ยังถูกนำมาใช้ตกแต่งฉากของงานแฟชั่นโชว์อีกด้วย เพดานที่โค้งนั้นได้รับการออกแบบให้ดูคล้ายยอดของคลื่นที่ม้วนตัว ในขณะที่ซาวด์แทร็กของ Skunk Anansie ซึ่งค่อยๆ กลายมาสู่เมดเลย์ของเพลงประเภทต่างๆ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จากอิเล็กทรอนิกา ไปยังเฮาส์ และดิสโกสะท้อนถึงงานกราฟิกอันมีชีวิตชีวา “ชอห์นใช้ชีวิตที่ฮาวายและทางตอนใต้ของฝรั่งเศส” โจนส์กล่าว “เขาเป็นคนที่รักความเป็นอิสระ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมชื่นชมเขามาก ทุกคนที่เราได้เคยร่วมงานด้วย พวกเขานำบางสิ่งบางอย่างมาให้เรา และเราก็นำบางสิ่งบางอย่างให้พวกเขาเช่นกัน มันคือการแลกเปลี่ยนที่ทำให้คนคิดในวิธีที่แตกต่างออกไป”

     แต่สตุสซีไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่ทำงานคอแลบอเรชั่นกับโจนส์ในฤดูกาลนี้ โจนส์ซึ่งมีสัญญาระยะยาวกับไนกี้ ยังร่วมงานกับจอร์แดนในการสร้างสรรค์รองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษ Air Jordan 1 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันที่ใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีครึ่ง รองเท้าคู่นี้ทำขึ้นจากหนังอิตาเลียนหนาในเฉดสีเทาดิออร์อันเป็นเอกลักษณ์ ลวดลายได้รับการปรับให้ได้ลุคแบบสามมิติและเน้นไปที่ช่วงขอบที่ได้รับการทาสีอันเป็นเทคนิคที่ดิออร์นำมาจากกระเป๋า และยังมีการนำแคนวาส Oblique มาใช้บริเวณเครื่องหมายถูก แม้แต่ปลอกโลหะหุ้มที่ด้านปลายของเชือกผูกก็ได้รับการตอกนูนด้วยโลโก้ดิออร์และรูปคนกระโดด “ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะหัวสูงสักหน่อยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้” โจนส์สารภาพ “ผมไม่สนใจว่าคนจะมาจากไหนหรือมีภูมิหลังอย่างไร แต่ผมจะต้องทำงานกับคนที่เก่งที่สุดเท่านั้น มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผม”

 

เรื่อง: Liam Freeman

ภาพ: Julien Boudet

WATCH