FASHION

รวบทุกประเด็นเทศกาลคริสต์มาสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลมาถึงวันคริสต์มาสจนตอนนี้

เมื่อสงครามส่งผลต่อวันสำคัญอย่างคริสต์มาสอย่างมากมายจนถึงทุกวันนี้

     คริสต์มาสปี 2020 คงเป็นอีกปีที่เงียบเหงาเพราะโลกเต็มไปด้วยเรื่องราวปั่นป่วนมากมาย โดยเฉพาะกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การระหกระเหินกลับบ้านพร้อมกักตัวช่วงปีปลายปีแบบนี้คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอหรือคาดว่าจะพบเจอกับโลกยุคใหม่ที่โรคระบาดไม่เป็นปัญหาใหญ่ขนาดนี้มานับร้อยปี แต่มีเหตุการณ์อีกประเภทที่ทำให้คริสต์มาสเงียบเหงาและต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ก็คือสงคราม วันนี้โว้กจะชวนทุกคนย้อนรำลึกถึงเทศกาลคริสต์มาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าวันแห่งความสุขวันนี้จะมีเหตุการณ์อะไรให้เราประหลาดใจบ้าง

 

WAR SAVINGS

โปสการ์ดเกี่ยวกับเรื่อง War Savings ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 / ภาพ: Wiki Commons

     สำหรับวันคริสต์มาสไม่ใช่วันแห่งการเฉลิมฉลองธรรมดา เพราะสำหรับชาวตะวันตกผู้นับถือศาสนาคริสต์นี่คือวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของพวกเขาเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคริสต์มาสถูกนำมาโปรโมตเป็นแคมเปญต้านสงคราม ด้วยความสำคัญของวันนี้ประเด็นเรื่องการต่อต้านสงครามจึงเกิดขึ้น รัฐผลาญเงินในการทำสงครามไปมหาศาลแถมยังสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชน มุมมองหนึ่งเลยคือการแสดงเจตจำนงค์ไม่เอาสงครามด้วยการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ของวันคริสต์มาส ตั้งแต่ซานต้าคลอส ต้นคริสต์มาส บรรยากาศความสุข ของตกแต่ง และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อมาแสดงจุดยืนว่าไม่เอาสงครามและเปิดเผยข้อมูลเรื่องการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟื่อยของรัฐเพื่อทำสงครามจนงานคริสต์มาสไม่สามารถเฉลิมฉลองได้อย่างที่ควรจะเป็นในทุกๆ ปี

 

FEARFUL CELEBRATIONS

A Shelter in Camden Town โดย Olga Lehmann / ภาพ: IWM

     ยิ่งกว่าการกักตัวและไม่ได้เฉลิมฉลองช่วงโควิด-19 นั้นคือการต้องเฉลิมฉลองบรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสอย่างหวาดกลัว ความสยดสยองของสงครามในภาคพื้นยุโรปทำให้คริสต์มาสกลายเป็นคริสต์มาสสีเลือด ทุกคนต้องหลบภัยอยู่ในบ้านและหลุมหลบภัยต่างๆ มีภาพวาดชื่อ “A Shelter in Camden Town” ของ Olga Lehmann ที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวในหลุมหลบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะอังกฤษปี 1940 ที่ถูกเยอรมันบุกทิ้งระเบิดติดต่อกันนานหลายเดือน ปีนั้นประชาชนคนอังกฤษต้องหวาดระแวงและใช้ชีวิตวันก่อนคริสต์มาสในหลุมหลบภัยแบบไร้ซึ่งความสุขในการเฉลิมฉลองใดๆ

 

HOMEMADE ORNAMENTS & TOYS



WATCH




การตกแต่งต้นคริสต์มาสสุดเรียบง่ายในยามสงคราม / ภาพ: The Digital Collections of the National WWII Museum

     แน่นอนว่าการประดับตกแต่งต้นคริสต์และการมอบของขวัญเป็นสิ่งสำคัญในวันแห่งความสุขนี้ คนส่วนใหญ่มักหาซื้อหรือรังสรรค์ของคุณภาพสูงเพื่อให้กับคนรอบตัว ทว่าช่วงสงครามชีวิตไม่ได้สวยหรูเช่นนั้นแน่นอน เหล่าเด็กน้อยหลายคนต้องทำของเล่นและของตกแต่งต้นคริสต์มาสขึ้นมาเอง โดยวัสดุที่ใช้ก็เป็นของเหลือใช้จำพวกกระดาษ เศษไม้ ตะปูตัวจิ๋ว หรืออะไรก็ตามแต่ที่หาได้รอบตัว ของขวัญเองก็ทำจากโปสเตอร์หรือหนังสือพิมพ์เก่า ไม่มีใครใช้เงินในการซื้อของเหล่านี้ในช่วงสงคราม ร้านค้าเองก็มีตัวเลือกให้ซื้อไม่เยอะนัก ในแง่หนึ่งมันคืออดอยากทางความรื่นเริง แต่มองอีกแง่นี่ก็ถือเป็นจุดกำเนิดรากฐานการหยิบวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ใหม่ และพัฒนาบุคลากรรวมถึงแนวคิดความยั่งยืนได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

 

NEW NORMAL ROUTINE

ภาพโปรโมตการ Rationing ในช่วงสงคราม / ภาพ: IWM

     ปกติแล้วคริสต์มาสคือเทศกาลที่ทุกคนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว เปรียบดั่งเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา แต่ช่วงสงครามมีข้อจำกัดหลายอย่างในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่ของทหารประจำการ เส้นทางที่ถูกตัดขาด ทรัพยากรอันจำกัด เหตุผลทั้งหมดทำให้การใช้ชีวิตช่วงคริสต์มาสกลายเป็นเรื่องในวงแคบลงมาก อาหารถูกกักตุนไว้เพื่อเฉลิมฉลอง มีการแบ่งสรรปันส่วนอย่างพอดีให้เพียงพอต่อความต้องการใช้เวลาแห่งความสุขแม้เกิดสงคราม

 

THE BIRTH OF …

ภาพซานต้าคลอสหญิงวินเทจ / ภาพ: The Graphics Fairy

     การเกิดใหม่ของหลายอย่างมีขึ้นในช่วงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนนิยมต้นคริสต์มาสขนาดเล็กลงจากราคาถูกกว่า จนภายหลังการประดับต้นคริสต์ขนาดเล็กกลายเป็นเทรนด์สำคัญที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน อีกหนึ่งสิ่งที่เกี่ยวกับตัวต้นคือ ณ ตอนนั้นมีความยากลำบากในการตัดต้นไม้และขนย้ายเนื่องจากสงคราม ชาวอเมริกันจึงหันมาใช้ต้นคริสต์มาสจำลอง ซึ่งต่อมาการเป็นกระแสหลักของสังคม เพราะมันไม่ต้องห่วงตายหรือโต พับเก็บดูแลให้ดีก็สามารถใช้ได้อย่างยาวนาน ต้นกำเนิดของซานต้าคลอสหญิงก็เริ่มเป็นที่นิยมในยุคนี้เช่นกัน มีการระบุว่าผู้ชายนับล้านไปรบในสงคราม ตามบ้านต่างๆ จึงเหลือแต่หญิงสาว เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงหันมาแต่งเป็นซานต้าคลอสเพื่อมอบความสุขให้แก่เด็กๆ นั่นเอง และของประดับอีกอย่างคือดวงไฟกลม สิ่งนี้เกิดขึ้นในปี 1940 และยังคงเป็นของประดับตกแต่งยอดนิยมเรื่อยมา

 

CONTRAST MOOD

เหล่าทหารหารเฉลิมฉลองคริสต์มาสกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 / ภาพ: History with Mark Bielski

     ผู้คนเริ่มรู้จักความขัดแย้งระหว่างห้วงอารมณ์ ในช่วงคริสต์มาสที่สะท้อนถึงความสุขเกิดขึ้นพร้อมกับสงครามซึ่งมาพร้อมความโหดร้าย สิ่งนี้ล้อเกี่ยวกันไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ในตอนนั้น การเฉลิมฉลองของทหารจึงเต็มไปด้วยความรื่นเริงท่ามกลางซากปรักหักพัง มีการแบ่งปันอาหารกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นเดียวกัน วันคริสต์มาสช่วงสงครามจึงเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไป และเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้ความพิเศษนี้เกิดขึ้นอีกครั้งนับจากนี้

 

V-CHRISTMAS CARD

V สัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏในการ์ดอวยพรช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 / ภาพ: ebay

     นอกจากคำว่า “Merry Christmas” แล้ว อีกหนึ่งคำหรือตัวอักษรที่ผู้คนส่ง สคส. หากันมากที่สุดคงจะเป็น “Victory” หรือตัว “V” นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็เลยก็ว่าได้ที่คำในบันทึกข้อความช่วงคริสต์มาสผันเปลี่ยนจากการอวยพรเป็นคำให้กำลังใจและสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในชัยชนะ หากเราย้อนกลับไปช่วงสงครามจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคำนี้มีอิทธิพลไปถึงการอวยพร และบ่งบอกความยิ่งใหญ่ว่า Winston Churchill ไม่ได้เอ่ยคำให้กำลังใจ แต่ผลิตวัฒนธรรมชั่วคราวให้เป็นที่นิยมไปทั่วทุกพื้นที่อย่างปฏิเสธไม่ได้จริงๆ  

 

LOVE-HATE CHRISTMAS

โฆษณาช่วงคริสต์มาสของกองทัพนาซีเยอรมัน / ภาพ: History.com

     ความรักในเทศกาลและความสวยงามคือหนึ่งในรากฐานของเทศกาลคริสต์มาส แต่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามทำให้ความสวยงามถูกทำลายจนกลายเป็นความเกลียดชัง ประเทศคู่สงครามต่างทำลายข้าวของที่แสดงถึงตัวตนศัตรูไม่ว่าจะเป็นของตกแต่ง ถ้วยชามรามไห รวมถึงของเล็กๆ น้อยๆ คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองแต่ถูกสอดแทรกด้วยวันปลดปล่อยความเกลียดชัง ช่วงนั้นจึงเป็น LOVE-HATE CHRISTMAS เพราะทุกคนยังรักเทศกาลแต่เกลียดองค์ประกอบบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนจิตใจของแต่ละคน

 

EARLY SHOPPING

เด็กน้อยคนหนึ่งตื่นเต้นกับข้าวของมากมายที่ต้องใช้การวางแผนการซื้อล่วงหน้าถึงจะได้ครบถ้วนขนาดนี้ / ภาพ: The National WWII Museum

     สุดท้ายคงหลายคนอาจคิดว่าการช็อปปิ้งล่วงหน้าช่วงคริสต์มาสเป็นสิ่งที่ทำกันมานมนาน ทว่าความจริงไม่ได้ปรากฏเช่นนั้น เพราะก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 การช็อปปิ้งส่วนมากมักเกิดขึ้นในวันคริสต์มาสหรือก่อนวันคริสต์มาสเพียง 1-2 วัน แต่ด้วยภาวะสงครามที่ทุกคนต้องวางแผนและจัดสรรทรัพยากรอย่างถึงที่สุด การวางแผนดังกล่าวส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมเพื่อนำมาจัดสรรปันส่วนให้พอดีกับเม็ดเงินในมือ นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อจำกัดเรื่องการจัดส่งของยิ่งทำให้หลายคนตั้งใจสั่งซื้อสินค้าเพื่อเผื่อเวลาจัดส่งอีกด้วย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อของช่วงปลายปีอันเป็นต้นแบบของการช็อปปิ้งปลายปีทั่วโลกเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นเหตุผลนี้แสดงให้เห็นว่าสงครามไม่ได้เบรกชะลอทุกอย่างให้ช้าลงแต่กลับเร่งบางอย่างให้เร็วขึ้นอย่างไม่คาดคิด

 

     ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้คริสต์มาสเปลี่ยนรูปแบบไปตลอดกาล รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และด้วยเวลารวมถึงความเข้มข้นของสถานการณ์ ณ ตอนนั้นผลิตวัฒนธรรมข้นคลักซึ่งแม้เวลาจะผันเปลี่ยนไปเพียงใดความข้นของวัฒนธรรมคริสต์มาสตั้งแต่ตอนนั้นก็แค่จางลงแต่ไม่เคยเลือนหายไป วันนี้คริสต์มาสกับโควิดคงจะเป็นเหตุการณ์ที่คอยตีกรอบวิถีทางวัฒนธรรมให้เปลี่ยนไปอีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นปลายปี 2020 จะมีผลส่งทอดไปนานนับทศวรรษเป็นอย่างน้อยแน่นอน Merry Christmas & Happy New Year

 

ข้อมูล: milspousefest, BBC, Raritan, IWM, National WWII Museum, และ Historic-UK

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Christmas