FASHION

ชุดเกราะแห่งยุค 2019 เมื่อเครื่องแต่งกายสะท้อนคาแรกเตอร์ความแข็งแกร่งของผู้หญิง

Armour คำจัดความของชุดที่มีนิยามเป็นความแข็งแกร่ง วันนี้มันกลายเป็นสไตล์ที่จะกลับมาเขย่าเทรนด์อีกครั้งในปี 2019

สธน ตันตราภรณ์ พาสืบค้นจุดเชื่อมโยงของภาวะผู้นำในยุค 2019 กับชุดเกราะโบราณในตำนาน

 

     เมื่อดาราหนุ่มดาวรุ่ง Timothée Chalamet โพสต์ภาพโปสเตอร์ซีรี่ส์เรื่องล่าสุดอย่าง The King ทาง Netflix ลงในโซเชียลมีเดียของเขา ใช่ว่าเราจะตื่นเต้นไปกับผลงานใหม่ที่เขาร่วมกันสร้างสรรค์กับดารามากฝีมือ Joel Edgerton เท่านั้น หากคอสทูมของหนุ่มน้อยในทรงผมใหม่ยังสอดร้อยไปกับกระแสของโลกแฟชั่น ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอหยิบยกประเด็นเรื่องชุดเกราะโซ่เหล็กโบราณมาถกกันเสียหน่อย เพราะในโลกของเสื้อผ้าสตรี ลุคเสื้อเกราะนี้มีความเป็นมายาวนาน ตลอดจนมีความหมายแฝงพอตัว

     เราขอเริ่มต้นด้วยคำถามหลักที่ว่า...ผู้หญิงยุคใหม่ในกาลสมัยที่สังคมคาดหวังให้พวกเธอแข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลาทั้งกายและใจควรแต่งตัวเช่นไร...เหล่าดีไซเนอร์พร้อมใจกันตอบว่า “ชุดเกราะ” มาสักพักใหญ่แล้ว

Ruth Bell ในลุคเปิดโชว์ Dior ยุค Maria Grazia Chiuri ที่ยืมแนวคิดมาจากชุดฟันดาบ

     ว่าแต่จุดเริ่มต้นของความสอดคล้องนี้เกิดจากสิ่งใด การพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์อาจจำต้องอาศัยการย้อนรอยไปไกลพอตัว เราขอปักหมุดเปิดศักราชแฟชั่นยุค “ความหลากหลาย” ด้วยการมาถึงของนักออกแบบผมยาว ไว้เครา หน้าไม่คุ้นนาม Alessandro Michele ณ บ้าน Gucci ในคอลเล็กชั่นเสื้อสำหรับสุภาพบุรุษประจำฤดูใบไม้ร่วง 2015 ซึ่งนิยามความเป็นชายได้รับการเขย่าใหม่ผ่านเสื้อสไตล์เบลาซ์เนื้อบางผูกโบช่วงคอ การสลับบทบาททางเพศอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นเปิดโอกาสให้ Maria Grazia Chiuri ดีไซเนอร์หญิงรายแรกของห้องเสื้อ Dior เคลื่อนทัพในแง่มุมที่เลียนล้อกันไปด้วยการปรับเปลี่ยน “ความเฟมินีน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นแก่นสารหลักของแบรนด์นับแต่ยุคเมอซีเยอผู้ก่อตั้งในปี 1947 มาสู่ “พลังเฟมินิสม์” ในคอลเล็กชั่นฤดูร้อนปี 2017 ลุคแรกบนรันเวย์ดังกล่าวโดยนางแบบสาว Ruth Bell เจ้าของทรงผมไถข้างประดุจทอมบอยคือก้าวสำคัญของสตรีในชุดเกราะของวันนี้ เนื่องจากมันยกแรงบันดาลใจมาตรงๆ จากชุดกีฬาฟันดาบ ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่นุ่มกว่าหน่อยเท่านั้น

Harvey Weinstein และโปสเตอร์โปรโมตแคมเปญ #MeToo / ภาพ: Steven Hirsch - GirlTalkHQ

     ในชั่วระยะเวลาเพียงฤดูกาลเดียวนับจากสินค้าล็อตแรกของดิออร์บุกบูติก สังคมโลกเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาวะเครียดขึ้งหนักหน่วงเมื่อหนังสือพิมพ์ New York Times ประเดิมก้าวแรกของคดีความโดมิโนผ่านบทความลงวันที่ 5 ตุลาคม 2017 ซึ่งตีพิมพ์เปิดโปงข่าวฉาวกรณีผู้ต้องหา Harvey Weinstein ล่วงละเมิดทางเพศเหล่านักแสดงหญิงในแวดวงฮอลลีวู้ด ก่อนตามติดมาด้วยคดีในทำนองเดียวกันอีกนับไม่ถ้วน ต่อด้วยการผลักดันแคมเปญ Time’s Up และ #MeToo อย่างหนักหน่วงขององค์กรพิทักษ์สิทธิ์ และการพร้อมใจกันลุกขึ้นสวมชุดสีดำเพื่อประกาศจุดยืนทางสังคมบนเวทีรางวัลลูกโลกทองคำ เรื่อยไปจนถึง “เกมล่าพ่อมด” ที่ลามมาถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและสื่อสารมวลชนในท้ายที่สุด



WATCH




3 สตรีแกร่งที่สะท้อนคาแรกเตอร์ผ่านชุดเดรส Chainmail ทั้ง Michelle Obama อดีตสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ในชุดราตรีผ้าลูกโซ่จาก Versace, เดรส Chainmail จากคอลเล็กชั่น Fall/Winter 1994 โดย Gianni Versace และ Kim Kardashian ในลุคเดรส Chainmail ซึ่งออกแบบโดย Donnatella Versace ที่งาน Met Gala 2018

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลุกขึ้นงัดข้อกับความอยุติธรรมของสตรีนางหนึ่งได้กลายเป็นบรรทัดฐานวัดความพ่ายแพ้ของสตรีอีกนาง บัดนี้ผู้เลือกนิ่งเฉยอาจถูกเหมารวมว่าอ่อนแอ ขี้แพ้ และไม่ร่วมด้วยช่วยกัน บรรยากาศโดยรวมของสังคมจึงเน้นหนักไปยังการนำเสนอภาพของ “ฮีโร่” “ผู้ชนะ” หรือ “คนเข้มแข็ง” ที่โลกต้องการตัวในวาระวิกฤตเช่นนี้ และเมื่อแนวคิดเริ่มเด่นชัดขึ้น มันจึงเปรียบได้กับภาคบังคับบางๆ ที่วาดกรอบให้สตรีมากมายต้องตามรอยเพื่อความอยู่รอด

ชุดเกราะจากแบรนด์ Balmain, Givenchy และ Louis Vuitton คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2019

     ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ของเหล่านักรบคนกล้าจึงทยอยอวดโฉมโดยพร้อมเพรียงกันบนแคตวอล์กร้อนนี้  แม้เราจะจินตนาการได้ยากว่าจะเห็นใครสวมใส่ข้าวของเหล่านี้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ชุดกระโปรงตาข่ายขึ้นโครงสีเมทัลลิกของ Louis Vuitton ฝีมือ Nicolas Ghesquière ก็ยังถือเป็นเครื่องพิสูจน์บทบาทของแฟชั่นในการบอกเล่าความคาดหวังในสังคมได้อย่างแยบยล เพราะผลงานซึ่งช่างฝีมือต้องใช้เวลาตัดเย็บและสอยปักเลื่อมระยับ (ไม่นับรวมงานกระดุมหนังแกะกับการสอดกรอบแขนเพื่อสร้างห่วง) ยาวนาน 3 วันเต็มชุดนี้คือภาพสะท้อนอันเยี่ยมยอดของสตรียุคปัจจุบันควบอดีตบวกอนาคต มันร่วมสมัยในสไตล์ก้าวล้ำแต่ก็ยังพาเราถอยกลับไปสู่สงครามยุโรปโบราณ เช่นเดียวกับที่โครงเสื้อแวววาวของ Balmain โดย Olivier Rousteing พาเรากลับไปพลิกดูภาพวาดเก่าของ Joan of Arc สตรีชาวนาวัย 16 ปีจากฝรั่งเศสยุคกลางผู้ลุกขึ้นสวมเกราะออกรบเยี่ยงบุรุษในสงครามต่อกรกับอังกฤษ ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับงานบนเวทีโอตกูตูร์ประจำฤดูหนาวก่อนหน้านี้ของ Givenchy โดยดีไซเนอร์มาแรงแห่งปีนาม Clare Waight Keller

ฉากจากภาพยนตร์เรื่อง 9 to 5 / ภาพ: BFI

     ปรากฏการณ์ “หญิงแกร่งผ่านลุคแฟชั่น” หนนี้มิใช่ของใหม่ แต่ถือเป็นการเวียนซ้ำกลับมาแจ้งเกิดในจังหวะที่เฟมินิสม์คลื่นลูกใหม่เบ่งบานอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่ลัทธิสตรีนิยมหวนกลับมามีบทบาทในสังคมโลก เราจะได้เห็นการกลับมาอย่างแนบเนียนของลุคนักรบในการตีความที่แตกต่างกันไป รอบที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือปี 1982 เมื่อเดรส Oroton ฝีมือ Gianni Versace เปิดตัวเป็นครั้งแรกในช่วงโค้งท้ายของการผลักดันเพื่อผ่านร่างกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศในสหรัฐอเมริกา เพียง 2 ปีหลังความสำเร็จครั้งมโหฬารของภาพยนตร์ขวัญใจเฟมินิสต์เรื่อง 9 to 5 ที่นำแสดงโดย Dolly Parton, Jane Fonda และ Lily Tomlin หรือ 3 ปีก่อนโลกได้มีโอกาสจารึกชื่อ Sally Ride ในฐานะนักอวกาศหญิงรายแรกที่ได้เยือนอวกาศบนยาน The Challenger ที่เหลือระหว่างนั้นคือการปลุกระดมไม่เว้นวันจากองค์กรเฟมินิสม์ในประเทศมหาอำนาจทั่วโลก

การปรากฏตัวขึ้นของเหล่านางแบบทั้ง 5 คนด้วยลุคเดรส Oroton ในโชว์ของ Versace ปี 2017 / ภาพ: VENTURELLI

     เดรส Oroton หรือที่รู้จักกันในชื่อ Chain mail (เพี้ยนมาจากคำว่า Maille ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า “ตะเข็บ” หรือ “ห่วง” บ้างว่ามีรากศัพท์มาจาก Maillier ที่แปลว่า “ตอก”) คือชุดกระโปรงเลียนเอฟเฟกต์เทคนิคลูกโซ่ ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุตาข่ายแวววาวสีทองและเงิน และแม้ว่าจานนี เวอร์ซาเช่จะไม่ใช่ผู้คิดค้นสไตล์ดังกล่าว (เทคนิคงานลูกโซ่ในแวดวงแฟชั่นโดดเด่นมานับแต่ทศวรรษที่ 1920 ก่อนจะจืดจางหายไปในทศวรรษถัดมา) แต่แนวคิดหลักที่เล่นกับ “ความแข็งของชุดเกราะ ที่ลื่นไหลไปกับรูปร่างดั่งสายน้ำ” ก็เหมาะเจาะลงตัวกับการพยายามเสกสร้างนิยาม “ซูเปอร์วูแมน” ของดีไซเนอร์ในทศวรรษแห่งการเรียกร้องสิทธิ์ ทั้งนี้จึงไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใดเมื่อเดรส Oroton เดินทางข้ามกาลเวลากลับมาปรากฏตัวในช่วงฟินาเล่บนเรือนร่างของ 5 ซูเปอรโมเดลตลอดกาลอย่าง Naomi Campbell, Carla Bruni, Helena Christensen, Claudia Schiffer และ Cindy Crawford บนรันเวย์แบรนด์ Versace โดยทายาทหญิงใหญ่ Donatella ช่วงร้อนที่แล้ว ซึ่งนอกจากจะตรงกับวาระครบรอบ 20 ปีแห่งการจากไปของพี่ชายของเธอแล้ว ยังตรงกับจุดพีคของกระแสโพสต์เฟมินิสต์ลูกล่าสุดอีกด้วย

Zendaya ในงาน Met Gala 2018 กับลุคชุดเกราะห์ต้นแบบจาก Joan of Arc, ภาพ Joan of Arc หญิงสาวอันแข็งแกร่งผู้สวมชุดเกราะเหล็กออกรบในศตวรรษที่ 15 ย้อนกลับมาสร้างแรงบันดาลใจให้การแต่งกายในยุคนี้ และ Mila Jovanovich ใน The Messenger: The Story of Joan of Arc ซึ่งทั้งหมดคือกลิ่นอายของชุดเกราะโบราณที่กลายเป็นเรื่องราวที่เรานำมาพูดถึงในบทความนี้

     อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงที่สุดแห่งปริศนาลึกลับซับซ้อนของชุดเกราะยุคใหม่ในทำเนียบการเมืองเรื่องเพศ กลับยังไม่มีเจ้าใดลบล้างความขลังของเดรสเมทัลลิกฝีมือคู่หูนักออกแบบ Domenico Dolce และ Stefano Gabbana จากคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนปี 2007 ออกไปได้ คนแฟชั่นในฤดูกาลนั้นพากันแซ้ซ้องให้กับความ “ฟิวเจอริสติก” ของลุคเมเจอร์ที่นางแบบสาว Jessica Stam สวมเดินออกมาบนรันเวย์ (ก่อนนำไปผูกโยงสารพัดกับหลากลุคหุ่นยนต์กูตูร์ฝีมือ Thierry Mugler) โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วมันคือเหรียญ 2 ด้านที่ 2 ดีไซเนอร์ดอดลักลอบไปสนทนากับ “อดีต” หาใช่ “อนาคต” เพียงฝ่ายเดียว

เดรสเมทัลลิกสื่อความหมายทางสัญญะจากปี 2007 ของ Dolce & Gabbana

     มองผิวเผินเราอาจเห็นโครงหุ่นยนต์สีเงินแห่งโลกอนาคต ซึ่งประกอบขึ้นจากแผ่นโลหะโค้งมนเป็นทรวดทรงสตรี น้อยคนจะทราบว่าเดรสชุดดังกล่าวตัดเย็บขึ้นจาก “ผืนหนังย้อมสี” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่อ่อนนุ่มพอตัว ช่างฝีมือหยิบยืมเทคนิคการขึ้นโครงและงานตัดเย็บชั้นสูงจากงานช่างในอดีตมาสร้างเอฟเฟกต์ให้กับลุคที่ผสมผสานงานเกราะเข้ากับเครื่องรัดทรงสไตล์โบราณ เชือกริบบิ้นสีดำทางด้านหลังของชิ้นงานสานไขว้จากล่างขึ้นบนในเส้นทางตรงกันข้ามกับธรรมเนียมการรั้งคอร์เซตของสตรีฉบับดั้งเดิม ในขณะที่ซิลูเอตของชุดขยิบตาอย่างรู้กันกับนักประวัติศาสตร์ผ่านเรเฟอเรนซ์ช่วงสะโพกที่สืบสาวย้อนความโป่งพองไปถึงเครื่องแบบของชายหนุ่มในกาลสมัยของราชินี Elizabeth ที่ 1

     และถ้าทั้งหมดนี้ยังไม่สาแก่ใจผู้พิสมัยเกมแห่งสัญญะ เราขอเฉลยสุดยอดแห่งนัยยะที่เล่นกลกับประเด็นเรื่องเพศตรงๆ บนแคตวอล์กในครั้งนั้น ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่พลาดสายตาไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากมัวถูกทำให้ไขว้เขวจากความแวววาวของงานโลหะจำลองตรงหน้า ก็ในขณะที่ใครหลายคนกำลังเฉลิมฉลองให้กับความเฟมินีนของงานคอร์เซตจากอนาคต เงาสะท้อนรูปอวัยวะเพศชายใหญ่ยักษ์กลับโบกสะพัดอยู่ตรงกลางลำตัวอของนางแบบสาวเรื่อยไป เพื่อสื่อสารถึงจุดประสงค์เรื่องการถ่ายเทพลังทางเพศ ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของโลกทั้งปวง

Timothée Chalamet กับลุคสายคาดจาก Louis Vuitton โดย Virgil Abloh ในงานลูกโลกทองคำปี 2019

     ในทางหนึ่ง สไตล์ภาวะผู้นำที่หญิงสาวในทุกวันนี้ต้องน้อมรับมาอย่างไม่มีทางเลือกเริ่มคืบคลานเข้าสู่โลกแฟชั่นเมนสแวร์เช่นกัน เพียงแต่มันแปรรูปจากชุดเกราะที่บรรพบุรุษของเราเคยสวมไปสู่ชิ้นเด็ดบนรันเวย์ปฐมฤกษ์ของดีไซเนอร์สายสตรีต Virgil Abloh ที่บ้านแอลวี กล่าวคือ แผ่นหนังคล้องไหล่สไตล์สายคาดปืนของเหล่าบอดี้การ์ด เสื้อบุนวมที่ชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากแผ่นนวมกันกระสุน หรือแม้แต่เสื้อกั๊กพะซองกระเป๋าหน้าตาคล้ายเสื้อกั๊กจราจรสีเหลืองสะท้อนแสงของกองทัพ “ผู้คุ้มบ้านครองเมือง” ในภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจกรุงปารีสเมื่อไม่นานมานี้

รายละเอียดสุดประณีตของชุดเกราะยุค 2019 ที่นำเสนอความแข็งแกร่งจาก Balmain คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2019

     เมื่อความแกร่งลุยกรุยถางทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่แห่งสไตล์ ความเหนื่อยล้าย่อมมาเยือนนักรบ เมื่อนั้นเหล่าผู้กล้าจึงพร้อมใจกันถอดเกราะเหล็กของพวกเขาออก เพื่อให้ผิวกายได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สงบร่มเย็นและงดงามกว่าเกมสู้รบ คำถามสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า “เราจะตีความชุดเกราะอย่างไรกันดีในรอบหน้าเมื่อสังคมเรียกร้องอีกคำรบ” หากควรเริ่มจินตนาการถึง “การปลดเปลื้องพันธนาการ” หนักอึ้งทั้งปวง ซึ่งอาจจ่อประตูรออยู่ในฤดูกาลที่กำลังจะถึงในไม่ช้า ฤาความโปร่งบางและเปลือยโล้นจะถึงคราวกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นบ้าง...ก็เป็นได้

WATCH