FASHION

ย้อนรอยต้นกำเนิดเทศกาลหนังเมืองคานส์ งานภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่ที่ล่มตั้งแต่ครั้งแรก!

ย้อนรอยต้นกำเนิดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ งานภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่ที่แท้จริงแล้วมีเบื้องลึกเบื้องหลังในการจัดงานมากกว่านั้น มันซ่อนไปด้วยปัจจัยมากมาย

ภาพ: Mathilde Petit/FDC

    เทศกาลหนังเมืองคานส์...ความสวยงามของเหล่าเซเลบริตื้ที่ปรากฏโฉมสง่างามบนพรมแดงคือภาพที่ใครหลายคนเฝ้ารอช่วงเวลานี้ของปี ในอีกทางหนึ่งแฟนของภาพยนตร์ขั้นยอดว่ามีเรื่องใดบ้างที่มีโอกาสฉายที่เทศกาลระดับโลกนี้ แต่ประวัติที่มาของงานสุดยิ่งใหญ่ประจำของวงการภาพยนตร์กลับไม่ได้สวยหรูเช่นนั้น มันออกจะเต็มไปด้วยปัญหาความขมขื่น การเมืองและการแข่งขัน วันนี้เราจะพาแฟน ๆ โว้กย้อนเวลากลับไปชมช่วงเวลาตั้งต้นของเทศกาลหนังเมืองคานส์ เทศกาลแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ไม่ได้เริ่มต้นมาด้วยความสวยงาม

โปสเตอร์โปรโมตภาพยนตร์เรื่อง Olympia ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำเทศกาลหนังเมืองเวนิส (Mussolini Cup) / ภาพ: Courtesy of Film Producer

     ย้อนกลับไปปี 1938 สมัยนั้นเมื่อพูดถึงเทศกาลหนังผู้คนจะถึงนึกถึงเทศกาลหนังของเมืองเวนิสที่จัดมาเป็นปีที่ 6 แต่กลับกันมันกลายเป็นงานอีเวนต์สเกลใหญ่ที่ไม่โปร่งใส่ (ในเวลานั้น) แน่นอนว่าเทศกาลเกี่ยวกับกายฉายภาพยนตร์ย่อมต้องมีการประกวดและนี่คือต้นตอของเรื่องทั้งหมดรวมถึงคานส์ด้วย เรื่องมันมีอยู่ว่าการประกวดภาพยนตร์ของที่เวนิสในปีนั้น Olympia ภาพยนตร์จากเยอรมันได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มันอาจจะฟังดูไม่แปลกสักเท่าไหร่ แต่พิจารณาดูดี ๆ ในปีนั้นภาพยนตร์จากฝั่งอเมริกามีแนวโน้มจะได้เพราะเหล่าขณะทีมงานมีความเห็นไปในทางเดียวกัน แต่เรื่องนี้มันกลับตาลปัตรเพราะแรงกดดันจากฮิตเลอร์ ทำให้เรื่อง Luciano Serra เข้ามามีบทบาทด้วยอีกเรื่องหนึ่งในฐานะรางวัลภาพยนตร์อิตาเลียนยอดเยี่ยม กลายเป็นว่าภาพยนตร์จากอเมริกาเป็นหมันหายเข้ากลีบเมฆไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้ประเทศกลุ่มประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส ประกาศออกจากเทศกาลนี้และยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมอีก...

Philippe Erlanger ผู้ริเริ่มต้นคิดโครงการเทศกาลหนังเมืองคานส์ / ภาพ: La Libre.be

     ชื่อของ Philippe Erlanger  ปรากฏขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์ทันที ชื่อของนักประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับศิลปะภาพยนตร์ ณ ตอนนั้นช็อคกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอคติที่กลุ่มฟาสซิสต์สร้างบรรทัดฐานลำเอียงต่องานศิลปะได้ถึงเพียงนั้น เขาจึงต้องการเนรมิตงานเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นมาแทนที่ความยิ่งใหญ่อันมืดมนของเวนิสในยุคนั้นและประกาศจุดยืนว่าพวกเขาให้อิสระเสรีลาขาดจากความอคติ รวมถึงความกดดันจากด้านต่าง ๆ เมื่อฟิลิปป์ถึงฝรั่งเศสจุดเริ่มต้นของเทศกาล ณ เมืองคานส์ก็เริ่มต้นขึ้น เขารีบติดต่อผู้เกี่ยวข้องด้านนี้ทันทีเพื่องานที่คานส์จะได้มีโอกาสเริ่มตัดหน้าเวนิสในครั้งหน้า ถือเป็นการห้ำหั่นกันของ 2 มหาอำนาจทางศิลปะเพื่อประกาศจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันอย่างเข้มข้น



WATCH




Jean Zay รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผู้ให้การสนับสนุนโปรเจกต์นี้ / ภาพ: Paris Rue par Rue

     แต่คิดการใหญ่อุปสรรคย่อมใหญ่ตาม...Georges Bonnet รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ณ ขนาดนั้นเกรงว่าการจัดงานแข่งกันแบบตั้งใจซึ่งหน้าขนาดนี้จะเป็นผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ Jean Zay รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและ Albert Sarraut รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสเป็นตัวตั้งตัวตีสนับสนุนไอเดียนี้ทำให้ช่วงกลางปี 1939 คานส์จ่อจะถือกำเนิดด้วยเวลาอันรวดเร็วด้วยจุดยืนที่ว่า “เทศกาลภาพยนตร์ที่ไม่มีเรื่องของการเมืองมาเกี่ยวข้อง” ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากกลุ่มผู้สร้างหลากหลายประเทศนำโดยสหรัฐอเมริกาคู่กรณีขัดแย้งโดยตรงจากเหตุการณ์ที่เวนิส และวันจัดงานคือจุดพีคที่สุดเพราะแพลนไว้เป็น 1 กันยายนชนกับของเวนิสพอดิบพอดี!

Municipal Casino สถานที่ถูกวางแพลนไว้จัดงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรก / ภาพ: Nice-Matin

     หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นคานส์ ทั้ง ๆ ที่เมืองในประเทศฝรั่งเศสก็เป็นตัวเลือกให้เทศกาลครั้งนี้ได้ไม่น้อย ตัวเลือกกว่า 10 เมืองทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องคิดอย่างหนัก แต่บุคคลสำคัญอย่าง Georges Prade ผู้อำนวยการบริหารเครือโรงแรมในคานส์ต่อสู้และชนะจนได้สิทธิ์จัดงาน พอลองพิจารณาองค์รวมดูคานส์เหมาะอย่างยิ่งด้วยเหตุผลเชิงศิลปวัฒนธรรมและกายภาพของเมืองที่มีความสวยงาม องค์ประกอบต่าง ๆ สูสีกับเมืองแห่งสายน้ำอย่างเวนิสเลยทีเดียว

โปสเตอร์โปรโมตงานเทศกาลหนังเมืองคานส์วาดโดย Jean-Gabriel Domergue / ภาพ: Art.com

     เหมือนกำลังไปได้สวย... กำหนดการในตอนนั้นงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กันยายน ที่ Municipal Casino ใจกลางเมืองคานส์ โดยในเทศกาลครั้งนี้ทางผู้จัดได้เชิญกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์จากแทบทุกประเทศทั่วโลกและแต่ละประเทศเลือกภาพยนตร์ของตนเองเพื่อเป็นตัวแทนในการแข่งขัน แต่ทางคานส์ก็เล็งเห็นแง่มุมความเดือดพล่านของความขัดแย้งด้านการเมืองในครั้งก่อนจึงส่งจดหมายเชิญทั้งอิตาลีและเยอรมันเข้าร่วมเพื่อลดความตึงเครียด แน่นอนพวกเขาปฏิเสธ สรุปแล้วมีประเทศยืนยันเข้าร่วมทั้งหมดเพียง 9 ประเทศ โดยถือว่าเป็น 9 ประเทศมหาอำนาจด้านภาพยนตร์ในขณะนั้นเลยก็ว่าได้ ในเดือนสิงหาคม Jean-Gabriel Domergue วาดภาพโปสเตอร์สำหรับโปรโมตอันเป็นผลงานศิลปะชิ้นประวัติศาสตร์ และเรือของค่าย Metro Goldwyn Mayer หรือที่เรารู้จักกันในนาม MGM ค่ายเสือคำรามมาจอดเทียบท่า ณ เมืองคานส์พร้อมกับผู้โดยสารเป็นดาราระดับซูเปอร์สตาร์ไม่ว่าจะเป็น Tyrone Power, Gary Cooper Norma Shearer และอีกหลายคน ทุกอย่างมันดูเหมือนจะไปได้สวยจริง ๆ

ฉากจากภาพยนตร์ The Hunchback of Notre Dame / ภาพ: Britannica

     พายุลูกใหญ่ล้มงานเป็นหน้ากอง! เราไม่ได้พูดถึงภัยธรรมชาติแต่เรากำลังหมายถึงสงครามโลก! ใช่ปี 1939 คือปีเริ่มปะทุของสงครามโลก ช่วงเวลาของเมืองคานส์ในฝันอันสวยหรูต้องสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยฤทธิ์ความรุนแรง แพลนวันที่ 1 กันยายนถูกเลื่อนเนื่องจากเป็นวันเดียวกับที่ทัพนาซีเยอรมันบุกโปแลนด์เปิดหัวสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้งานมีกำหนดการเลื่อนไปถึง 10 วันและวันที่ 3 กันยายนเป็นการประกาศสงครามอย่างจริงจัง เหล่าภาพยนตร์ระดับไอคอนที่รอฉายในเทศกาลครั้งนี้ต้องพับโปรเจกต์เก็บทั้งหมดเหลือเพียงการฉายเรื่อง The Hunchback of Notre-Dame แบบส่วนตัวเรื่องเดียวเท่านั้น ปิดฉากความยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 การเตรียมการอย่างดิบดีของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรกจบลงด้วยต้นตอที่มันเกิดขึ้นมาอย่างคำว่า “การเมือง”

Tyrone Power, Gary Cooper, Douglas Fairbanks และ Norma Shearer ดาราระดับซูเปอร์สตาร์ของสังกัด MGM ทืี่มาคานส์แต่พลาดเทศกาลหนัง

George Raft, Paul Muni และ Mae West ดาราอีกชุดที่มาพร้อมเรือ MGM แต่ก็พลาดงานครั้งแรกไปอย่างน่าเสียดาย 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Cannes2019 #Cannes