FASHION

ขุดลึกเรื่องเพศกับ 'เบส-ชัญญภัชร' ผู้ประกวด Miss Tiffany ที่เป็นลีดฯ ธรรมศาสตร์ข้ามเพศคนแรก!

จากการเป็นนักศึกษาทั่วไปสู่การเป็นดาวเด่นและกระบอกเสียงที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้เข้าใจการเปิดกว้างเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

     การประกวดมิสทิฟฟานียูนิเวิร์ส 2020 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีผู้ประกวดหลายคนที่โดดเด่นจนโว้กต้องจับตามอง 1 ในนั้นคือ “เบส-ชัญญภัชร ปล่องทอง” ผู้ก้าวข้ามขีดจำกัดของการเป็นเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัย ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์เป็นเชียร์ลีดเดอร์สาวข้ามเพศคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ความโดดเด่นของเธอไม่ได้มาเพียงเรื่องรูปร่างหน้าตาภายนอก แต่หมายถึงแง่คิดที่สะท้อนให้เห็นว่าคุณค่าในตัวเองและการมองโลกก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน วันนี้โว้กจะพาไปทำความรู้จักกับเธออย่างจริงจัง

     เบสจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความสำเร็จนี้เป็นปลายทางความสำเร็จของช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยซึ่งระหว่างนั้นเธอก็ผลักดันตัวเองจนมีหน้าตาอันโดดเด่นและกลายเป็นเสาหลักสำคัญแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของมนุษย์คนหนึ่งโดยที่ไม่มีเรื่องเพศมาขีดกั้นทำได้อย่างน่าภาคภูมิใจ แต่ชีวิตกว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเป็น “Happy Story” ขนาดนั้น เพราะเธอถูกล้อเลียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยทัศนคติที่มองย้อนกลับไปเธอกลับไม่ได้มองมันเป็นปัญหาหนัก(แม้กระทั่งตอนนั้นก็ไม่) ทำให้เธอมองลึกถึงรากฐานของชุดความคิดต่างๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น “พ่อแม่และคนรอบข้างรู้ตั้งแต่เด็กเขาไม่เคยกีดกัน ไม่แม้แต่จะพูดให้รู้สึกแย่ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากจริงๆ” เบสกล่าวถึงรากฐานครอบครัวที่เข้าใจบริบทเรื่องเพศอย่างเปิดกว้าง

     ทว่าเรื่องการโดนล้อถึงจะไม่ได้มองเป็นปัญหาใหญ่แต่เธอก็ยอมรับว่าเด็กๆ เองก็รู้สึก “การถูกเพื่อนในชั้นเรียนล้อตั้งแต่อนุบาล มันอาจจะดูปกติแต่เราไม่ได้รู้สึกเฉยกับมัน พอมองย้อนกลับไปว่าทำไมปัญหาเหล่านี้มันถึงเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นเด็กเลย เพราะอะไรเด็กที่เรียนอยู่ชั้นอนุบาลกลับรู้จักวัฒนธรรมการล้อเลียนเพศของคนอื่นได้ เด็กไปเรียนรู้มาจากไหน ใครเป็นคนปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เด็ก เบสว่านี่คือประสบการณ์ที่ไม่ดีนักและกลายเป็นต้นตอปัญหาสังคมที่บีบรัดเรื่องเพศ”



WATCH




     “ทำไมเราต้องมีชื่อเรียกเฉพาะ ในเมื่อทุกคนเป็นคนเหมือนกันหมด” เบสสะท้อนถึงการใช้คำว่า LGBTQ+ ที่ยังสะท้อนการแบ่งแยกอยู่อย่างเจือจาง ซึ่งบัณฑิตใหม่วัย 23 ปีคนนี้ก็เปิดมุมมองเรื่องความคาดหวังเรื่องเพศทางเลือกนี้ว่า “วันนี้ส่วนใหญ่ปัญหาของพวกเราคือการไม่ถูกยอมรับในสังคม บางทีเราอยากให้ทุกคนยอมรับว่าพวกเราเป็นคนปกติทั่วไป อยากให้มองข้ามเรื่องเพศ” พร้อมทั้งเสริมด้วยว่า “ทุกวันนี้พวกเรากลายเป็นตัวตลกหรือสิ่งแปลกปลอมที่บางทีอยากจะมีสิทธิในการทำบางสิ่งบางอย่างแต่เราไม่สามารถทำได้ อาชีพบางอาชีพซึ่งเป็นอาชีพปกติทั่วไปในสังคมยังกีดกันเราออกด้วยข้อจำกัดเรื่องเพศ”

     การเป็นลีดฯ ธรรมศาสตร์สร้างชีวิตของสาวคนนี้ให้กลมกล่อมครบรสน่าสนใจ...เธอให้คำนิยามมันว่า “การเปิดโลก” เพราะการเป็นลีดฯ ของมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนการเดินเข้าประตูที่เปิดอ้ารับเธอจริงๆ “การที่มีคนเข้ามารู้จักเรามากขึ้น ชื่นชมหรือยินดีกับเราเบสมองว่านั่นเป็นการมอบการยอมรับให้เรามากกว่า มันทำให้เบสมีกำลังใจในการเดินหน้าต่อและเชื่อตอนนี้ประตูแต่ละบานในเส้นทางของแต่ละคนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนสามารถคว้าประตูและเปิดประตูให้กับความฝันตัวเองได้ เหมือนกับการที่เบสเปิดประตูโอกาสของการเป็นเชียร์ลีดเดอร์” จุดนี้สะท้อนให้เห็นการกดทับทางสังคมสร้างกฎระเบียบทางความคิดมาตลอดว่าการเป็นผู้นำเชียร์ระดับมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้หญิง-ผู้ชายเท่านั้น ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงเพราะคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่ได้มีเรื่องเพศมาจำกัด “มันไม่ใช่ว่าไม่เคยมีจะไม่สามารถมีได้” เบสย้ำอีกครั้งว่าสังคมกำลังมีพลวัติในทิศทางด้านบวก

     “มีคนมายินดี ชื่นชมเรามากขึ้น แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกพิเศษกว่าใคร” คำพูดที่ดูเหมือนจะเย่อหยิ่งแต่แท้จริงแฝงด้วยนัยยะความเข้าใจโลก สถานะพิเศษถูกตีตราเป็นนามสกุลของเธอ แต่แท้จริงแล้วตัวตนของเธอต่างหากที่สำคัญ มีคนอยากทำ อยากเป็น และเธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นได้ มันคือคุณค่าของความพยายาม เพราะฉะนั้นการก้าวจากจุดธรรมดาสู่แสงสปอตไลต์จึงไม่สามารถทำให้คนๆ นี้กลายเป็นผู้หลงเหลิงในความสำเร็จเสียจนลืมไปว่าจุดยืนและมุมมองของตัวเองเป็นอย่างไร และที่สำคัญปัญหาต่างๆ ที่เธออาจจะเพิกเฉยไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเข้าใจบริบทเรื่องเพศของสังคมเพราะเธอได้รับการยอมรับจากการเป็นคนพิเศษในสายตาคนอื่นแล้ว แต่เธอกลับไม่ได้เพิกเฉยและมองเห็นมันเสมอไม่เปลี่ยนแปลง

     อีกประเด็นหนึ่งที่เราอยากมองผ่านมุมมองของเบสคือเรื่องภาพจำและคาแรกเตอร์เฉพาะที่สังคมตีกรอบให้เหล่าเพศทางเลือกเป็น...เธอรู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้และเผยความจริงลึกๆ ในใจว่า “ไม่เห็นด้วยมากๆกับการที่เพศทางเลือกจะต้องมีคาแรกเตอร์เฉพาะ (เฟียส, ปากจัด, ตัวตลก และอีกมากมาย) เพียงเพราะเราเป็นเพศทางเลือกเหรอ ทำไมทุกคนถึงขีดเส้นใต้เราแค่นี้ เบสรู้สึกว่าเราคือคนทั่วไปที่สามารถถูกยอมรับได้ด้วยทุกรูปแบบ” พอมองเข้ามาแวดวงในบันเทิงเราเห็นคาแรกเตอร์แบบนั้นถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ เราจึงให้เบสออกเน้นจุดยืนและมุมมองของตัวเองจนได้คำตอบว่า “เบสยอมรับว่าเส้นทางการก้าวหน้าในวงการคนจะมองว่าเรามีคาแรกเตอร์แบบนั้น หลายๆ คนจึงมีการแสดงออกมาแบบนั้น มีคาแรกเตอร์อื่นๆ ในยุคใหม่แต่ก็ยังไม่เยอะ เบสรู้สึกไม่ค่อยดีที่คนทั่วไปมองพวกเราว่าเป็นตัวตลก เพราะหลายคนก็มีการวางตัวในแบบที่เหมือนเพศอื่นๆ บางทีก็สงสัยว่าคนที่วางตัวดีๆ พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเหมือนเพศทั่วไป ทำไมต้องถูกมองว่าตลก เราอาจจะเป็นคนเฮฮา ขำขัน แต่เราไม่ใช่ตัวตลกนะคะ มันไม่เหมือนกัน”

     มาถึงโค้งสุดท้ายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในมุมมองของเบส ซึ่งผู้ประกวดมิสทิฟฟานีคนนี้กล่าวว่า “ความเท่าเทียมเกิดขึ้นที่ตัวทุกคนก่อนเลยค่ะ ถ้าทุกคนเข้าใจการยอมรับเป็นอันดับแรก สิ่งนี้จะทำให้ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด เรามองว่าทุกๆ คนไม่มีใครเหนือไปกว่าคนอื่นในทุกๆ เรื่อง เรามีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ดังนั้นเราต้องเริ่มยอมรับที่ตัวเองก่อนอันดับแรกเราจึงสามารถยอมรับคนอื่นได้เช่นกัน”  ซึ่งจุดนี้มันสะท้อนถึงเธอไม่ได้รู้สึกว่าการมองความหลากหลายเรื่องเพศในประเทศไทยไม่ได้สวยงามเท่าเทียมกันจริงเพียงแต่มีบริบทจำเพาะที่สามารถปิดบังประเด็นปัญหาบางอย่างไว้ได้ “เราเคยรู้สึกไม่ชอบคำบางคำ แต่พอโตมาด้วยความที่เราอาจจะถูกยอมรับมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ได้ถูกเรียกแบบนั้น วันนี้สังคมอาจจะยังไม่ได้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การใช้สรรพนามเรียกเราอย่างสุภาพเหมือนเป็นการให้เกียรติเราไม่แพ้คนอื่น” กับเธอปัญหาอาจจะหมดไปในเชิงปัจเจก แต่เธอก็ไม่เคยละทิ้งและเข้าใจโลกดีว่ายังมีการแสดงออกทั้งทางกายและวาจาที่ยังกระทบจิตใจในบริบทเรื่องเพศอยู่เสมอในสังคมไทย

     สุดท้ายเธออยากจะฝากกับแฟนๆ โว้กว่า “ใครกำลังประสบปัญหาเดียวกันกับเบสนะคะ เบสอยากให้เรายึดมั่นในสิ่งที่เรายังคงมุ่งมั่นต่อไป ในเมื่อเรามีเส้นทางของเรา มีความคิดความฝันเหมือนคนทั่วไป ทำไมเราจะไม่มีสิทธิ์ในการเดินตามฝันเหมือนกับคนอื่น เรารอแค่สังคมไม่ได้ เราต้องเดินหน้าเพื่อพิสูจน์ตัวเองด้วย เรามีสิทธิเท่าคนอื่นดังนั้นเราก็อย่าปิดกั้นตัวเองใน การพิสูจน์ตัวเองนั้นก็เพื่อได้รับการยอมรับจากสังคมในอีกแง่มุมหนึ่งค่ะ” หลังจากนี้เราหวังว่าจะเห็นการพัฒนาชุดความคิดของคนในสังคมโดยรวมที่เปิดกว้างและเข้าใจความหลากหลายมากขึ้น คำว่า “ยอมรับ” อาจไม่จำเป็น เพราะถ้าทุกคนเท่าเทียมกันไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้ถูกยอมรับ” หรือ “ผู้ให้การยอมรับ” อีกต่อไป...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #TUCL