FASHION

นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันนี้...เกิดอะไรขึ้นบ้างที่แบรนด์ Saint Laurent ทบทวนได้ในสกู๊ป #ฉบับรวบรัด ที่นี่

ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going

ท่ามกลางความคุกรุ่นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โหมดดิจิทัลแบบเต็มอัตราของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก หัวข้อ “ประวัติศาสตร์แฟชั่น” กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ คนแฟชั่นสายอนุรักษนิยมพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์และรากเหง้าเก่าแก่ในคอลเล็กชั่นล่าสุดของแบรนด์ดังต่างๆ (ซึ่งมักจะบอกว่าต่อยอดความสำเร็จในวันนี้มาจากความยิ่งใหญ่ของห้องเสื้อในอดีต แต่บ่อยครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับสิ่งที่พูดเท่าไรนัก) ส่วนอีกฟากหนึ่ง คนแฟชั่นรุ่นใหม่สายหัวก้าวหน้าก็ให้ความสำคัญกับการประกอบร่างสร้างบทบัญญัติใหม่ๆ...เพื่อยุคสมัยใหม่ๆ...เพื่อผู้บริโภคใหม่ๆ...แม้มันจะหมายถึงการต้องขีดฆ่าอดีตในบางบรรทัดก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการกลับมาของ Balenciaga Couture โดย Demna Gvasalia คือชนวนก่อให้เกิดกระแสที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งยังต่อยอดงานวิเคราะห์เจาะลึกไปอีกมากมายหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ ธุรกิจ หรือแม้แต่สังคม สาระสำคัญถึงคนแฟชั่นยุค 2020 คือการตอกย้ำว่างานดีไซน์ใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้คัตติ้งเดิมที่เห็นได้ชัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวเสมอไป การซ้อนทับของจิตวิญญาณแห่งแบรนด์ระหว่างผู้ก่อตั้งกับเจ้าลัทธิใหม่นั้นมีกลวิธีที่แยบยลกว่านัก เหนือสิ่งอื่นใด การเริ่มต้นใหม่ (ครั้งแล้วครั้งเล่า) คือสัจธรรมของวงการแห่งสไตล์ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง วรรณวนัช สิริ และ สธน ตันตราภรณ์ นึกสนุกในฉบับ “New Beginnings” ชวนกันไปสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น บุกถางทางเก่าที่ถูกลืมเพื่อสำรวจภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนเปิดแผนที่ภูมิศาสตร์ใหม่ของแม่น้ำสายหลัก 7 สายที่หล่อเลี้ยงโลกแฟชั่นมานานหลายทศวรรษ งานนี้คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going วันนี้มาถึงเรื่องราวของแบรนด์ Saint Laurent ที่ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมามากมาย

HOW IT STARTED 

อีฟว์ แซ็ง โลร็องเป็นดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาจากงานประกวด พร้อมๆ กับเพื่อนรักคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (ซึ่งภายหลังเกลียดกันแบบไม่เผาผี) หลังจากอีฟว์ถูกไล่ออกจากคริสเตียน ดิออร์กะทันหันเนื่องจากความโด่งดังเกินกว่าแบรนด์จะรับไหว Pierre Bergé คู่ชีวิตซึ่งเป็นนักธุรกิจจึงออกไอเดียให้อีฟว์เปิดห้องเสื้อของตัวเองเพราะมองเห็นความสามารถและกลุ่มลูกค้าที่อีฟว์มีอยู่แล้ว ปิแอร์และอีฟว์เป็นนักธุรกิจที่เข้าใจยุคสมัย พวกเขาไม่ยึดติดอยู่กับการทำเสื้อผ้าชั้นสูงเพียงอย่างเดียว แต่ขยายความคิดสร้างสรรค์ออกไปเรื่อยๆ เปิดแบรนด์ข้างเคียงคือ Saint Laurent Rive Gauche ซึ่งเป็นเรดี้ทูแวร์ นับได้ว่า YSL เป็นแบรนด์โอตกูตูร์แบรนด์แรกที่ปรับผังโครงสร้างธุรกิจห้องเสื้อใหม่  

ยุค 1960 แบรนด์สร้างคีย์พีซที่เป็นตำนานไว้มากมาย ทั้ง Le Smoking Suit ที่ปรับชุดสูทผู้ชายให้เป็นเสื้อผ้าผู้หญิง ซึ่งในยุคที่ร้านอาหารไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสวมกางเกงเข้าร้านนั้นถือเป็นการท้าทายเส้นแบ่งระหว่างเพศอย่างแรง อีฟว์คือผู้ออกแบบแจ็กเกตซาฟารีในปี 1967 เป็นคนแรกๆ ที่ใช้แรงบันดาลใจจาก “มิวส์” สาวสวยเก๋ เช่น Betty Catroux และ Louise de La Falaise ในการออกแบบ การทำเสื้อผ้าเรดี้ทูแวร์ที่ซื้อง่ายขายคล่องไปพร้อมกับโอตกูตูร์ทำให้แบรนด์เติบโตเร็วมากในยุค Youthquake เพราะมีกลุ่มลูกค้าหลากวัยที่เหนียวแน่น ในขณะเดียวกันอีฟว์ก็หยิบเอาวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ มาสร้างเป็นโอตกูตูร์ ทั้งยังครีเอตน้ำหอม Opium กลิ่นสไตล์โอเรียนทัลที่เป็นตำนานจนถึงวันนี้ 



WATCH




ผลงานของ Tom Ford ที่แบรนด์ Yves Saint Laurent

 

หลังจากย้ายมาซบไหล่ Gucci Group อีฟว์ แซ็ง โลร็องก็ได้ Tom Ford ที่กำลังขึ้นหม้อจากการฟื้นแบรนด์กุชชี่ให้กลับมายิ่งใหญ่มาดูแล หลังจากคอลเล็กชั่นแรกภายใต้การดูแลของทอม ฟอร์ดเปิดตัว อีฟว์ก็เขียนจดหมายที่มีเนื้อความว่า “40 ปีที่ฉันสร้างมาถูกทำลายภายใน 13 นาทีโดยเธอ” ส่งถึงดีไซเนอร์คนใหม่ อีฟว์มองว่างานออกแบบของทอม ฟอร์ดนั้นไม่ใช่วายเอสแอลสักนิด แต่ติดที่ว่าตลาดชอบมาก ขายดีและมีชิ้นเด่นที่เป็นตำนานหลายชิ้น รวมถึงน้ำหอม M7 ซึ่งใช้นายแบบเปลือยเป็นโปสเตอร์ อันเป็นการตีความต่อจากที่อีฟว์ถ่ายภาพเปลือยของตัวเองเพื่อโปรโมตแบรนด์ก่อนหน้านั้นผลงานการออกแบบที่ทอม ฟอร์ดทิ้งไว้นั้นโดดเด่นจนถึงขั้นตอนเขาลาออกมีการยืนสแตนดิ้งโอเวชั่นเป็นเรื่องเป็นราว 

 ผลงานของ Stefano Pilati ที่แบรนด์ Yves Saint Laurent

 

ยุคถัดมา Stefano Pilati ที่มีสไตล์ถนัดคือโครงสร้างเสื้อแบบโรแมนติก ก็ได้ก้าวเข้ามาพาแบรนด์กลับไปหาผู้หญิงยุคแรกของอีฟว์ สาวฝรั่งเศสแสนโรแมนติกสวมชุดของวายเอสแอลที่มาพร้อมรหัสใหม่ๆ ของแบรนด์เช่น กระเป๋า Muse รองเท้าส้นสูงโครงเหล็กที่ตีความมาจากหอไอเฟล สไตล์ของสเตฟาโน่คือ Romantic on structure ซึ่งเขานำไปปรับใช้กับไลน์เสื้อผ้าผู้ชายและสร้างความโดดเด่นอย่างมาก ดีไซน์ที่เคยเป็นแค่ชุดสูทพอดีตัวในยุคของทอม ฟอร์ดเปลี่ยนเป็นสูทที่ยังมีโครงแต่ดูเบาขึ้น เสื้อสูทคัตติ้งคมแมตช์กับกางเกงตีเกล็ดหรือกางเกงขาเต่อ ซึ่งจะว่าไปก็คือสไตล์ส่วนตัวของดีไซเนอร์เองนั่นแหละ

ผลงานของ Hedi Slimane ที่แบรนด์ Yves Saint Laurent

 

Hedi Slimane ซึ่งเพิ่งได้ฉายานักคว่ำกระดานมาจากการรื้อแบรนด์สร้างโลโก้ใหม่ให้จนเกิดเป็น Dior Homme และสร้างสูทที่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ยอมลดน้ำหนักจากเดิมครึ่งหนึ่งเพื่อที่จะสวมสูทที่เอดิออกแบบให้ได้! ทำให้วงการแฟชั่นเซอร์ไพรส์หนักมากเมื่อเขาย้ายมาวายเอสแอล และแน่นอนว่าสิ่งแรกที่เขาทำก่อนจะเริ่มงานออกแบบเสียอีกก็คือการรีแบรนดิ้ง Yves Saint Laurent ให้เหลือแค่ Saint Laurent ลบทุกภาพในอินสตาแกรมออกเกลี้ยง เปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมดรวมถึงการจัดดิสเพลย์และหน้าร้าน เช่นเดียวกับทิศทางของแบรนด์ที่เปลี่ยนไป เอดิเอาสูทที่เคยทำไว้ที่ดิออร์ ออมกลับมาปรับใหม่ ทำให้กลุ่มลูกค้าเดิมที่อาจยังเด็กเกินไปที่จะซื้อสูทดิออร์ ออมในวันโน้นแต่วันนี้ประสบความสำเร็จแล้วในวัย 30 สามารถซื้อสูทที่ออกแบบโดยเอดิ สลีมานที่แซ็ง โลร็องได้ ในยุคของเอดินั้นมีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่างานออกแบบของเขาไม่ใช่วายเอสแอลเอาเสียเลย แต่เมื่อนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์แฟชั่นกลับไปค้นคว้าก็พบว่าในซิลูเอตที่เปลี่ยนไปนั้นมีรหัสของแบรนด์อยู่ครบในทุกคอลเล็กชั่น

HOW IT’S GOING

วายเอสแอลในยุคปัจจุบันภายใต้หลังคา Kering Group นำทีมโดย Anthony Vaccarello ความทุ่มเทแรกของเขาคือปิดแบรนด์ตัวเองที่ทำอยู่โดยให้เหตุผลว่าวายเอสแอลเป็นโอกาสทองของชีวิตที่เขาจะทำให้ดีที่สุดแอนโทนี่พยายามตีความว่าผู้หญิงแซ็ง โลร็องในปัจจุบันเป็นอย่างไร ซึ่งผลงานที่ออกมานำเสนอผู้หญิงที่มีกลิ่นอายปารีเซียง มีจุดเด่นที่เรียวขา ความสั้นของกระโปรงในระดับซูเปอร์ไมโครสเกิร์ต เพราะผู้หญิงของแอนโทนี่นั้นชอบการออกไปใช้ชีวิตนั่งไขว่ห้างจิบกาแฟที่คาเฟ่ เต้นรำบนโต๊ะ แต่หลังโควิด-19 ผู้หญิงของแซ็ง โลร็องจะมีความนุ่มนวลขึ้น ซ่าน้อยลงใช้ชีวิตที่ปกติมากขึ้น ถือเป็นการสานต่อลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เอดิ สลีมานสร้างเอาไว้แล้วค่อยๆ ปรับจนกระทั่งวันนี้มีสไตล์ชัดเจนจนลูกค้าสามารถบอกได้ว่าชิ้นไหนคือแซ็ง โลร็องโดยแอนโทนี่ แว็กคาเรลโล

 

ติดตามซีรีส์บทความสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น #ฉบับรวบรัด ได้ตลอดเดือนตุลาคมนี้...

WATCH