FASHION

นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้...แบรนด์ Louis Vuitton ผ่านอะไรมาบ้าง ทบทวนในสกู๊ป #ฉบับรวบรัด ที่นี่

ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going

ท่ามกลางความคุกรุ่นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โหมดดิจิทัลแบบเต็มอัตราของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก หัวข้อ “ประวัติศาสตร์แฟชั่น” กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ คนแฟชั่นสายอนุรักษนิยมพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์และรากเหง้าเก่าแก่ในคอลเล็กชั่นล่าสุดของแบรนด์ดังต่างๆ (ซึ่งมักจะบอกว่าต่อยอดความสำเร็จในวันนี้มาจากความยิ่งใหญ่ของห้องเสื้อในอดีต แต่บ่อยครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับสิ่งที่พูดเท่าไรนัก) ส่วนอีกฟากหนึ่ง คนแฟชั่นรุ่นใหม่สายหัวก้าวหน้าก็ให้ความสำคัญกับการประกอบร่างสร้างบทบัญญัติใหม่ๆ...เพื่อยุคสมัยใหม่ๆ...เพื่อผู้บริโภคใหม่ๆ...แม้มันจะหมายถึงการต้องขีดฆ่าอดีตในบางบรรทัดก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการกลับมาของ Balenciaga Couture โดย Demna Gvasalia คือชนวนก่อให้เกิดกระแสที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งยังต่อยอดงานวิเคราะห์เจาะลึกไปอีกมากมายหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ ธุรกิจ หรือแม้แต่สังคม สาระสำคัญถึงคนแฟชั่นยุค 2020 คือการตอกย้ำว่างานดีไซน์ใหม่ไม่จำเป็นต้องใช้คัตติ้งเดิมที่เห็นได้ชัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวเสมอไป การซ้อนทับของจิตวิญญาณแห่งแบรนด์ระหว่างผู้ก่อตั้งกับเจ้าลัทธิใหม่นั้นมีกลวิธีที่แยบยลกว่านัก เหนือสิ่งอื่นใด การเริ่มต้นใหม่ (ครั้งแล้วครั้งเล่า) คือสัจธรรมของวงการแห่งสไตล์ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง วรรณวนัช สิริ และ สธน ตันตราภรณ์ นึกสนุกในฉบับ “New Beginnings” ชวนกันไปสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น บุกถางทางเก่าที่ถูกลืมเพื่อสำรวจภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนเปิดแผนที่ภูมิศาสตร์ใหม่ของแม่น้ำสายหลัก 7 สายที่หล่อเลี้ยงโลกแฟชั่นมานานหลายทศวรรษ งานนี้คนแฟชั่นจะได้ทบทวนความทรงจำว่า How it started ในวันที่แบรนด์เก่าแก่กำลังกำหนดทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า How it’s going วันนี้ถึงคิวของแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ Louis Vuitton

HOW IT STARTED 

ปี 1835 เด็กชาย Louis Vuitton ในวัยเพียง 14 ปี ออกเดินเท้าจากบ้านเกิดไปเริ่มชีวิตใหม่ที่กรุงปารีส เขาใช้เวลาเดินทาง 2 ปีรับจ้างทำงานระหว่างทาง หลุยส์เดินทางไปถึงปารีสเมื่อปี 1837 และได้เริ่มฝึกหัดทำกระเป๋าเดินทางกับ Monsieur Marechal ช่างทำกล่องและหีบขนของที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์กระเป๋าเดินทางในชื่อของตัวเอง หลุยส์ วิตตองเป็นคนมีวิสัยทัศน์ เขามองออกว่ารูปแบบการเดินทางของคนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังเช่นในยุคของเขาที่การเดินทางทางน้ำซึ่งเป็นเส้นทางหลักกำลังเปลี่ยนไปเป็นยานยนต์ แม้เขาจะยังไม่ทราบว่าในอนาคตโลกจะพัฒนารูปแบบการเดินทางเป็นทางอากาศได้ แต่แบรนด์หลุยส์ วิตตองก็ตั้งเข็มไว้ในทิศทางที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่ม โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ขายได้เสมออย่างที่ผู้ก่อตั้งคิดไว้จริงๆ  

เครื่องหมายการค้าลายโมโนแกรมของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ซึ่งจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1905

 

ปี 1896 Georges Vuitton ออกแบบลวดลายโมโนแกรม ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ เนื่องจากหีบยุคแรกนั้นไม่มีลวดลายทำให้ถูกลอกเลียนแบบจนเกลื่อนตลาด แม้จะมีลาย Damier ที่เริ่มผลิตในปี 1888 แต่ก็ช่วยป้องกันของเลียนแบบได้ไม่มากนัก แต่ลายโมโนแกรมที่จอร์จคิดขึ้นมาใหม่ประกอบด้วยตัวอักษรย่อ LV รูปดอกไม้ 4 กลีบ และสัญลักษณ์คล้ายมงกุฎซึ่งตอบโจทย์ Marc Jacobs ถูกจ้างมาในปี 1997 เพื่อทำเสื้อผ้าเรดี้ทูแวร์เพิ่มเข้ามาในแบรนด์และดูแลเครื่องหนังด้วยพร้อมกัน  มาร์กสร้างแบรนด์ตามที่ตัวเองถนัด เสื้อผ้าในยุคเริ่มต้นเต็มไปด้วยกลิ่นอายสปอร์ตและเส้นสายที่ดูคลีนสะอาดตา รวมทั้งการมองโลกในแง่บวก คือไม่ว่าคอลเล็กชั่นนั้นจะมีสีสันมืดหม่นแค่ไหน ก็จะยังเห็นความเบิกบานและทันสมัยอยู่ด้วยเสมอ 



WATCH




Louis Vuitton คอลเล็กชั่น Spring 2012

 

ภายหลังได้แยกแบรนด์มาร์กเจคอบส์ออกมาเพื่อเน้นของที่ใช้งานง่าย ส่วน LV จะเป็นซูเปอร์ลักชัวรี เน้นสเกลแฟชั่นโชว์ ที่เปรี้ยงปร้างและเป็นที่จดจำก็ได้แก่โชว์ที่ยกม้าหมุนมาตั้งบนรันเวย์ Spring 2012 กับโชว์ Fall/Winter 2012 ที่มีหัวรถจักรไอน้ำเป็นตัวแทน Golden age of traveling ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากซีรี่ส์ Downton Abbey ช่วงเวลาหลังเรือไททานิกล่ม และการเปลี่ยนแปลงของสังคมอังกฤษยุค 1910 จึงหยิบเซตติ้งการเดินทางนี้มาใส่ในโชว์ มาร์กยังเป็นผู้ริเริ่มนำหลุยส์ วิตตองไปคอลแลบอเรตกับดีไซเนอร์ ศิลปิน เช่น Yayoi Kusama, Takashi Murakami, Stephen Sprouse, Vivienne Westwood, Rei Kawakubo, Azzedine Alaïa ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือชิ้นงานที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ

HOW IT’S GOING

Nicolas Ghesquière เป็นดีไซเนอร์ยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง เคยมีผลงานการพลิกฟื้นแบรนด์ต่างๆมาแล้วหลายแบรนด์ เมื่อเข้ามาแอลวี เขาก็สร้างรหัสใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาร์ก เจคอบส์ ซึ่งค่อนข้างต่างจากดีไซเนอร์คนอื่นๆ ที่มักจะย้อนไปหารหัสเดิมของแบรนด์ เขาไม่เคยพูดชัดเจนว่างานออกแบบของเขาเป็นฟิวเจอริสติก แต่หลายคนมองว่าเป็นแบบนั้น แต่การไปอนาคตของนิโคลาส์เป็นการเดินทางไปอวกาศของคนยุค 1960 ด้วยซิลูเอตกึ่งเรโทร มีความเป็นดิจิทัลแบบเกมกด สร้างชิ้นงานที่ดูแล้วรู้สึกว่าถ้าเจ้าตัวไม่เล่นเกมเสียเอง ก็น่าจะเป็นคนที่มองขาดว่าการขายของลักชัวรีให้กลุ่มคนเล่นเกมนั้นสามารถทำได้ เราจึงได้เห็นคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าจาก Final Fantasy มาขายจริง หรือการใช้ตัวละครในเกมมาเป็นนางแบบโฆษณาของหลุยส์ วิตตอง

 

ติดตามซีรีส์บทความสืบค้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในอุตสาหกรรมแฟชั่น #ฉบับรวบรัด ได้ตลอดเดือนตุลาคมนี้...

 

 

WATCH