FASHION

ผู้หญิงไทยคนนี้ทำแบรนด์เทียนหอมที่สวีเดน จนโด่งดังแบบไม่ได้ตั้งใจ

     "กลิ่น เป็นสิ่งที่น่าประหลาด เพราะมันสามารถเชื่อมโยงตัวเราให้กับความทรงจำได้อย่างดี” นี่คือประโยคแรกที่หลุดออกมาจากปากของ ไอซ์-จุฑาธร ประวัติยากูร หลังจากที่โว้กโยนคำถามถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แบรนด์ Amoln แบรนด์เทียนหอมสัญชาติสวีเดน โดยคนไทย ไอซ์เล่าให้เราฟังถึงประวัติคร่าวๆ ก่อนที่เธอจะหันมาหยิบจับเทียนหอมอย่างจริงจังว่า เธอปักหลักอยู่ที่ประเทศสวีเดนแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บินลัดฟ้ามาเรียนปริญญาโท ต่อด้วยปริญญาเอกอีกหนึ่งใบ ก่อนที่เธอจะตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่กับสามีชาวสวีเดน Jonas Bergholm ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Amoln จนตอนนี้โว้กเองก็เดาได้ว่า เธอน่าจะกลายเป็นอาจารย์สาวชาวสแกนดิเนเวียนเต็มตัว ที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาลุยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Gender Studies พร้อมกันนั้นยังควบตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับองค์กรสหประชาชาติ (UN) ในเรื่องของปัญหาความไม่เท่าเทียม และปัญหาการถูกกีดกันจากสังคมของกลุ่ม LGBTQ  ไปจนถึงช่วยร่างข้อปฏิบัติสำหรับนักโทษกะเทยในคุก

(ซ้าย) ไอซ์-จุฑาธร ประวัติยากูร และ(ขวา) Jonas Bergholm ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Amoln

 

     “ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของคนข้ามเพศมาประมาณ 6-7 ปีแล้ว แบรนด์ Amoln นี้ก็เกิดขึ้นได้จากตอนที่กำลังเรียน ตอนนั้นเครียดจากเรื่องอาการป่วยของคุณพ่อ แล้วก็เนื้อหาของสาขาที่เรียนอยู่ ก็เลยหางานอดิเรกทำคลายเครียด แล้วหนึ่งในนั้นก็คือการทำเทียนซึ่งนับว่าเป็นที่สิ่งชอบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม บวกกับเหตุผลหนึ่งที่อยากจะทำแบรนด์เทียนเองก็เพราะว่า อยากทำจากวัสดุที่มีความปลอดภัยกับอากาศในบ้าน แล้วก็ส่งกลิ่นหอมในแบบที่เราต้องการ แล้วจากงานอดิเรกก็กลายเป็นเรื่องจริงจังจนได้” ไอซ์ยังเล่าต่อไปด้วยว่า หลังจากที่เธอลองทำเทียนเป็นของตัวเองอย่างที่บอกไปแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากเพื่อนๆ รอบข้างของเธอ ที่บ้างก็ขอซื้อต่อ บ้างก็ขอให้ทำเทียนหอมให้

     ไอซ์บอกว่า เธอคือคน “เนิร์ด” ในเรื่องของกลิ่น เพราะเธอลงทุนลงแรงไปศึกษาด้วยตัวเองว่ากลิ่นไหนเหมาะกับกลิ่นไหน ใช้เวลากว่า 5-6 ชั่วโมงต่อวันในการนั่งผสมกลิ่นต่างๆ ด้วยมือของตัวเอง ใช้เวลาพัฒนากลิ่นแต่ละกลิ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 ปีกว่าจะได้ในแบบที่ต้องการ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับสุคนธกร หรือนักปรุงน้ำหอมชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ให้คอยดูแล และปรับแต่งกลิ่นให้เหมาะสม ลากยาวไปจนถึงการดูแลสารเคมี การกระจายตัวของกลิ่น ความปลอดภัย ให้มีคุณภาพดีที่สุด กระทั่งในวันนี้ความสำเร็จของแบรนด์ Amoln ที่เธอตั้งใจก่อร่างสร้างตัวตนถูกวัดได้จากพื้นที่วางขายตามแฟชั่น และดีไซน์สโตร์ทั่วยุโรป ณ วันนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 12 สาขา และกำลังขยายสาขาต่อไปเรื่อยๆ ภายในเวลาเริ่มต้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น

1 / 5

เทียนกลิ่น BERRYBOMB จากแบรนด์ Amoln


2 / 5

เทียนกลิ่น 1945 จากแบรนด์ Amoln


3 / 5

เทียนกลิ่น CHADO จากแบรนด์ Amoln


4 / 5

เทียนกลิ่น BARR จากแบรนด์ Amoln


5 / 5

เทียนกลิ่น Sisu Bouquet จากแบรนด์ Amoln




WATCH




     “ความพิเศษอีกอย่างของ Amoln คือ เราคิดว่าการผสมกลิ่นเป็นงานศิลปะ เวลาที่เราสร้างกลิ่นขึ้นมา เราก็จะใช้ความทรงจำในเรื่องพิเศษๆ อย่างเช่นกลิ่น 1945 ที่เป็นปีเกิดของคุณพ่อ ก็จะเป็นกลิ่นที่ทำให้นึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับคุณพ่อ ตั้งแต่ตอนเด็ก ก่อนที่ไอซ์จะไปโรงเรียนพ่อจะคั้นน้ำผลไม้สดไว้ให้บนโต๊ะทุกเช้าเทียน 1945 จึงจะมีกลิ่น Orange Blossom, มะม่วง, Blackcurrant และเบอร์รี่ ผสมผสานกับกลิ่น Sandalwood และ Cedarwood ที่ทำให้นึกถึงกลิ่นงานไม้เวลาที่คุณพ่อซ่อม ต่อเติมเฟอร์นิเจอร์ในโรงรถ ซึ่งเป็นงานอดิเรกของเขา เลเยอร์เข้ากับกลิ่นอาหารอร่อยๆ ที่พ่อเคยชอบทำ เช่นกลิ่นไอใบมะกรูดในแกงป่า กลิ่นแยมบนขนมปังปิ้ง รวมไปถึงกลิ่นดอกไม้จากสวนหย่อมที่บ้านอย่าง มะลิ และกุหลาบ ที่คุณพ่อเคยรดน้ำดูแลทุกวัน อะไรที่ทำให้เรานึกถึงเขา เราก็จะเอาวัตถุดิบนั้นๆ มาใส่เป็นส่วนผสม หรือแม้แต่เทียนกลิ่น Barr ก็เป็นกลิ่นที่ทำให้นึกถึงบรรยากาศป่าสน Trollskogen ในสวีเดน ที่โยนัสชอบไปเดินเล่นตอนเด็กๆ เหมือนกัน”

     ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เทียนหอม Amoln นิยามตัวตนของแบรนด์ต่อไปให้เราฟังด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจว่า Amoln คือ “Swedish Handmade Perfumery Brand” ที่เป็นการทำมือทุกขั้นตอน โดยไม่ใช้เครื่องกลในโรงงานอุตสาหกรรม มีความหมายว่า “เมฆ” ในภาษาสวีเดน ที่มีความเกี่ยวข้องตรงกับสีของแบรนด์ที่เป็นสีฟ้าโทนพิเศษ ที่ใช้เวลานานกว่าที่จะผสมสีจนได้เป็นสีฟ้าอย่างที่เห็นนี้ แถมยังเข้ากันได้ดีกับความเป็นสแกนดิเนเวียน ทว่านอกจากความพิเศษของโทนสีฟ้าของแก้ว และเนื้อเทียนที่มีสีเดียวกัน หรือดีไซน์ของผลิตภัณฑ์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็เห็นจะเป็นกระบวนการผลิตที่ไอซ์ย้ำกับทางโว้กประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” สอดรับกับคอนเซปต์ Sustainability ที่วงการแฟชั่นกำลังช่วยกันผลักดันไปข้างหน้าในทศวรรษใหม่

     “ทุกอย่างที่เรากำลังบริโภคกันอยู่ตอนนี้ มันก็ไม่ค่อยดีต่อสิ่งแวดดล้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า อุตสาหกรรมแฟชั่น ดังนั้นไอซ์จึงพยายามใส่ใจในเรื่องของ Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) โดยนำมาปรับใช้กับแบรนด์ให้มีความเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดขยะทิ้งขว้าง อย่างเนื้อเทียนของ Amoln ที่เราเลือกใช้ Rapeseeds ที่ถูกปลูก และเก็บเกี่ยวทางตอนใต้ของสวีเดน เพราะทางแบรนด์คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อต้องเกิดกระบวนการขนส่งขึ้น เราจึงหาทางออกด้วยการใช้ของ และวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่เราอยู่ ซึ่ง Rapeseeds ที่เอามาผสมทาเนื้อเทียนก็เป็นผลผลิตที่เหลือทิ้งจากการทำ Rapeseeds Oil ในสวีเดน ผลดีที่ได้เพิ่มตามมาก็คือ เวลาเผาไหม้ กลิ่นจะกระจายได้ดีกว่าปกติ รวมถึงสิ่งที่ผู้บริโภคสูดดมเข้าไปก็จะปลอดภัยกว่า ส่งผลดีทั้งต่อธรรมชาติ และต่อร่างกายเราด้วย”

     ไอซ์ย้ำกับโว้กประเทศไทยว่า เธอเป็นคนที่ห่วงใยคนที่เธอรัก รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ดังนั้นเธอจึงขอเลือกสิ่งที่ปลอดภัย และมีคุณภาพไว้ก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งในฐานะที่ไอซ์เกี่ยวข้องกับทั้งการช่วยเหลือ LGBTQ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Amoln ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ซึ่งถือเป็น 2 มิติที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อย่างจัง เธอยังตอบคำถามในมุมมองที่น่าสนใจ เมื่อโว้กได้ขอความคิดเห็นจากเธอในเรื่องของ Sustainability กับโลกแฟชั่น

     “อย่างที่บอกไปว่าของใช้ที่เราอุปโภค บริโภค และการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ ส่วนมากไม่ Sustainable และไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น แม้แต่สภาพอากาศ รวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่างการเดินทาง การกินเนื้อสัตว์ หรือการที่ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบที่มา (Traceability) ของสินค้าที่เราบริโภคได้ ในส่วนของ Amoln เราก็พยายามใช้ของที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ กล่อง สี แก้ว หรือวัตถุดิบ เพื่อไม่ก่อปัญหาเพิ่มจากกระบวนการขนส่ง และซัพพลายเออร์ของเราทุกคนต้องเช็คแล้วว่าเป็นธุรกิจที่มีจริยธรรม ไม่มีการทดลองกับคน หรือสัตว์ หรือเกี่ยวข้องกับการกดขี่แรงงาน อีกทั้งเราก็ยังใส่ใจเรื่องการรียูส และรีไซเคิลไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเวลาที่เทียนหมด เราก็มักจะสนับสนุนให้ผู้บริโภคนำไปใช้ต่อเป็นที่ใส่แปรงแต่งหน้า ที่ใส่เครื่องสำอาง หรือแจกันดอกไม้ก็ได้

     บทสนทนาครั้งนี้ระหว่างโว้กประเทศไทย และไอซ์-จุฑาธร ประวัติยากูร จบลงแบบง่ายๆ ด้วยประโยคบอกเล่าที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง กับพัฒนาการของแบรนด์ Amoln ในอนาคตว่าจะเดินไปในทิศทางใด โดยไอซ์ฝัน และตอบง่ายๆ แต่แน่วแน่ว่า ในระยะยาวเธอต้องการพัฒนาสินค้าไปในไลน์อื่นๆ อย่างเช่น น้ำหอมดับกลิ่น สบู่ ครีมทามือ หรือผลิตภัณฑ์จำพวกบิวตี้โปรดักต์ หรือสกินแคร์ แต่จะยังคงคอนเซปต์ “แบรนด์ทำมือสัญชาติสวีเดน ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติเสมอ”...

     ตอนนี้เทียนหอมของแบรนด์ Amoln ออกมาให้ได้พิสูจน์กลิ่นความหอมที่พร้อมพาทุกคนหวนกลับไปนึกถึงความทรงจำในอดีตทั้งสิ้น 5 กลิ่นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1945, Barr, Berrybomb, Chado และ Sisu Bouquet ซึ่งมีแผนที่กำลังจะออกอีก 2 กลิ่นเร็วๆ นี้ตามมา โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมต่อได้ที่ www.amoln.com  และ Instagram : amolnofficial

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Amoln