FASHION

Alexander McQueen ผุดโปรเจกต์บริจาคผ้าในคลังทั้งหมดเพื่อสนับสนุนนักเรียนแฟชั่น

     แต่ละปีห้องเสื้อแต่ละแห่งใช้ผ้าจำนวนมหาศาลเพื่อผลิตเสื้อผ้าเพื่อโชว์และขายในคอลเล็กชั่นต่างๆ จุดนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้เกิดการจุดประกายสู่ความเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ Alexander McQueen พวกเขาพร้อมส่งต่อวัสดุสำคัญในการทำคอลเล็กชั่นอย่างผ้าชนิดต่างๆ ให้กับเหล่าเด็กนักเรียนแฟชั่น โดยแบรนด์สัญชาติอังกฤษมอบม้วนผ้าหลากหลายรูปแบบให้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ในคราบนักศึกษาที่ University of Westminster และ Central Saint Martins รวมถึงสถาบันสอนแฟชั่นอีกหลายแห่งด้วย ดีไซเนอร์ประจำแบรนด์ Sarah Burton กล่าวว่า “ฉันรู้สึกโชคดีมาก เพราะเมื่อฉันทำงานให้กับแบรนด์ครั้งแรก อเล็กซานเดอร์ช่วยฉันหาวัสดุสำหรับรังสรรค์คอลเล็กชั่นสุดท้ายในชีวิตนักเรียนแฟชั่น” ซาร่าห์ยังเสริมด้วยว่า “สมัยนี้มันยากขึ้นไปอีกขั้น ยิ่งในช่วงเวลาที่เราทุกคนรู้สึกว่าทรัพยากรอันมีค่าต้องถูกใช้อย่างถูกต้อง”

Sarah Burton ดีไซเนอร์ประจำแบรนด์ Alexander McQueen คนปัจจุบัน / ภาพ: BoF

     ต้องบอกก่อนว่าแบรนด์อเล็กซานเดอร์ แม็กควีนเก็บของไว้ในคลังเยอะมาก ตั้งแต่ผ้าชีฟองไล่จนถึงผ้าทวีด และผ้าไหมหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งเรื่องสี ความหนา และน้ำหนัก แบรนด์เก็บผ้าพวกนี้ไว้เป็นร้อยๆ พันๆ เมตร หลังจากซาร่าห์เริ่มเข้ามาทำงานที่นี่พวกเขาเก็บทุกสิ่งไม่ทิ้งอะไรแม้แต่ชิ้นเดียว ทำให้คลังเก็บของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของเหล่าผู้หลงใหลในวัสดุสำหรับสร้างสรรค์งานแฟชั่น เมื่อดูจากผลงานบนรันเวย์ทุกคอลเล็กชั่นจะรู้ได้เลยว่าเนื้อผ้าแต่ละแบบของที่นี่ไม่ธรรมดา

เสื้อโค้ตผลงานออกแบบของ Steven Stokey-Daley ที่ใช้ผ้าในคลังเก่าของ Alexander McQueen / ภาพ:  Liam Leslie

     เรื่องนี้เป็นโอกาสอันดีของนักเรียนแฟชั่นจาก 14 สถาบันทั่วทั้งอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ที่จะมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรชั้นยอดจากแบรนด์ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลกแบบนี้ และที่สำคัญคือฟรี! ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้แต่ถ้าสถาบันการสอนยังไม่สามารถจัดหาให้ได้อย่างครบถ้วนด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ตั้งแต่เรื่องงบประมาณไปจนถึงความพิเศษซับซ้อนที่ผ่านไอเดียของดีไซเนอร์ชั้นนำ Steven Stoke-Daley นักเรียนแฟชั่นที่เวสต์มินสเตอร์เผยเบื้องหลังของการเรียนแฟชั่นว่า “เมื่อเข้ามาเรียนแฟชั่นเด็กทุกคนฝันหวานถึงคอลเล็กชั่นจบการศึกษา แต่คุณแทบไม่รู้เลยว่าต้องลงทุนไปกับมันมากแค่ไหน” สตีเฟ่นเป็นเหมือนตัวแทนของนักเรียนแฟชั่นที่ประสบปัญหาด้านการเงิน เขายังย้ำอีกว่า “ยิ่งคุณอยู่ในสังคมนี้คุณก็จะเห็นว่าหลายคนใช้เงินไปกว่า 10,000-15,000 ปอนด์ (ประมาณ 407,000-610,000 บาท) เพื่อทำโชว์ และฉันจะมีปัญญาหาเงินมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร” ความเจ็บปวดภายในใจลึกๆ ของผู้หลงใหลในการสร้างผลงานแต่ขาดทุนทรัพย์



WATCH




เสื้อโค้ตตัวนี้ใช้ชื่อว่า 'The Marlowe' ผลงานการออกแบบของ Steven Stokey-Daley ที่นำมาผ้าม้วนเก่าของ Alexander McQueen มาสร้างสรรค์ผลงาน / ภาพ: Liam Leslie

     โกดังเก็บผ้าของแม็กควีนจึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่า แบรนด์เก็บวัสดุ ม้วนผ้า และของชิ้นสำคัญต่างๆ มานานกว่า 10-15 ปี ตอนนี้ของเหล่านั้นถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งหลังจากโดนทิ้งร้างในโกดังมาตลอด เนื่องจากการทำคอลเล็กชั่นแต่ละครั้งแบรนด์จะต้องสั่งผ้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อจัดสรรให้พอดี วลี “เหลือดีกว่าขาด” จึงเกิดขึ้น พอมองย้อนกลับไปในโกดังก็จะเห็นได้ว่าผลพวงของวลีนั้นทำให้เหลือผ้าจำนวนมหาศาลพอจะเปลี่ยนเป็นโอกาสดีๆ ให้กับเหล่าดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการในอนาคต

เสื้อคลุม 'The Flyte' ฝีมือ Steven Stokey-Daley ที่ใช้ผ้าเก่าทำชิ้นงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ / ภาพ: Liam Leslie

     แนวทางการทำงานของซาร่าห์เด่นชัดมากว่าจะต้องเก็บรักษาทุกสิ่งไว้...เธอไม่เคยทิ้ง เธอจะเก็บทั้งตัวอย่างแพตเทิร์น วัสดุเนื้อผ้าสำหรับทำงานชิ้นตัวอย่าง และเก็บรักษาทุกอย่างเท่าที่จะเก็บได้ นี่คือแนวทางตั้งแต่ดีไซเนอร์หญิงคนนี้เข้าร่วมชายคาอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน การทำงานดั้งเดิมของดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งเองก็มักรังสรรค์ชิ้นงานผ่านการผสมผสานไอเดียและการทดลองอยู่เสมอ ต้องยอมรับว่าเป็นวิธีนี้ค่อนข้างสิ้นเปลืองอยู่บ้างแต่อย่างน้อยพวกเขาก็เก็บรักษาส่วนที่เหลือไว้อย่างดี และไม่น่าเชื่อว่าเก็บรักษาดีถึงขนาดนำกลับมาใช้ได้แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 1 ทศวรรษ

การจัดนิทรรศการในแสดงให้เห็นชุด Roses เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาและความสวยงาม / ภาพ: Tim Beddow

     นอกจากโปรเจกต์นำอดีตมาสร้างอนาคตด้วยผ้าม้วนเก่าแล้ว ซาร่าห์และทีมงานของแบรนด์ยังพร้อมนำเสนออินสตอลเลชั่นพิเศษภายในร้านเพื่อให้คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับไอเดียการออกแบบและทีมเวิร์กสำหรับการผลิตผลงานพิเศษแต่ละชิ้น นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังสานต่อความสัมพันธ์กับนักเรียนแฟชั่นอย่างต่อเนื่องจากแนวคิดนี้ เพราะเมื่อเด็กสนใจเข้ามาดูก็สามารถจัดอบรมย่อมๆ เพื่อเติมความรู้และประสบการณ์ให้กับเหล่าว่าที่ดีไซเนอร์หน้าใหม่ต่อไป ซึ่งสิ่งที่เหล่านักเรียนจะได้เรียนรู้ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค เพราะซาร่าห์จะพาย้อนประวัติศาสตร์ถึงรากฐานที่มากว่าจะมาเป็น “Roses” เช่นนี้ต้องย้อนกลับไปถึงการบรรจงสร้างผลงานด้วยมือของอเล็กซานเดอร์ในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 1999 ของแบรนด์เลยทีเดียว

ความพิเศษของผ้า Alexander McQueen ที่ถูกนำมาใช้ทอเสื้อโค้ต 'Ryder' ตัวนี้ / ภาพ: Liam Leslie

     โดยสรุปแล้วอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนเริ่มเล็งเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังขึ้น โดยเริ่มตระหนักจากปัญหาในการผลิตดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่มีฝีมือแต่ขาดโอกาส ก่อนที่จะริเริ่มหาวิธีในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในเมื่อแบรนด์ไม่ได้ใช้ผ้าจึงให้ผ้าม้วนพิเศษนี้แก่นักเรียนผู้ใฝ่รู้ นี่คือตัวอย่างความใส่ใจในปัญหาหลายด้านที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แทนที่จะกวาดทิ้งแปรสถานะผ้าในคลังเป็นของไร้ประโยชน์ สู้นำมาแจกจ่ายใหม่วนของเหล่านี้เข้าวัฏจักรแฟชั่นอีกครั้งไม่ดีกว่าหรือ เหมือนโปรเจกต์นี้จะไปได้สวยสุดๆ เพราะตอบโจทย์ได้หลายภาคส่วนอย่างแท้จริง ต่อไปหวังว่าอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนจะไม่ใช่แบรนด์เดียวที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเพื่อสังคมแบบนี้ และต่อไปจะไม่ใช่แค่สังคมสหราชอาณาจักร แต่หมายถึงการส่งต่อสิ่งดีๆ สู่โลกอันกว้างใหญ่ ขอย้ำอีกทีว่าพวกเขาไม่ได้แค่รักษ์โลกและทำโดยไม่มีการพัฒนาส่วนอื่น แต่แบรนด์สามารถเรียกความมั่นใจ รวมถึงดึงศักยภาพของนักเรียนแฟชั่นออกมาได้เต็มที่โดยไม่มีอุปสรรคใดมาขัดขวาง และนี่คือโปรเจกต์แห่งปี 2020 ที่ควรยึดเป็นแบบอย่างของวงการแฟชั่นต่อไป

WATCH

คีย์เวิร์ด: #AlexanderMcQueen