FASHION

คว้านแก่นโลกศิลปะเมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV/AIDS เมื่อ 40 ปีก่อนทำให้ศิลปะเปลี่ยนไปตลอดกาล

โรคเอดส์ทำให้ศิลปะกลายเป็นเรื่องสำคัญของสังคม พลังอำนาจ ความสวยงาม ทุกอย่างถูกหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อเป้าประสงค์ในแบบคนหัวก้าวหน้ายุคใหม่

     ศิลปะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยวัฏจักรที่ทุกคนคุ้นชินอยู่แล้ว เราจะหางานจิตรกรรมสไตล์แบบ Vincent van Gogh หรือ Jean Monet ก็นับว่าหาได้ยากในยุคนี้ นั่นไม่ใช่เพราะความนิยมและข้อจำกัดเรื่องเทคนิควิธีการเท่านั้น แต่วิถีชีวิต วิธีการมองโลก รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องศิลปะเปลี่ยนไป แน่นอนว่าคำว่าศิลปะย่อมไม่มีกรอบใดมาขีดกั้น แต่หลายเหตุการณ์ก็เกิดการพลิกผันในโลกของศิลปะไม่มากก็น้อย ในยุคที่ผู้คนเชื่อในศาสนาอย่างมากก็จะมีชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาออกมานับไม่ถ้วน ในยุคที่ผู้คนเริ่มมองวิถีชีวิตเป็นศิลปะ ความร่ำรวยของราชวงศ์ถูกถ่ายทอดลงบนผ้าใบ หรือไม่ในช่วงเวลาแสนยากลำบากเราได้เห็นอารมณ์ความหม่นหมองออกมาทางงานศิลปะเช่นเดียวกัน เราจะได้เห็นว่าโลกความจริงกับโลกแห่งศิลป์เชื่อมโยงกันเสมอ

เสน่ห์ของการสรรสร้างศิลปะยุคก่อนคือบันทึกเหตุการณ์ความจริงในกล้องถ่ายรูปยังไม่ใช่ของปกติทั่วไป / ภาพ: AFP/©Costa/Leemage

     วันนี้ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เราจะเห็นว่าผู้คนต่างมีทัศนคติแนวคิดเปลี่ยนไปพร้อมกับวิถีชีวิต แต่เราย้อนกลับไปถึงช่วงโรคเอดส์ระบาดทั่วโลก ยุคนั้นปรากฏการณ์แห่งความทุกข์ทนทรมานจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ศิลปะแห่งความหมองหม่นกลับไม่เปลี่ยนตามไป มันไม่ใช่เรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่ศิลปะยุคใหม่กลับต้องเป็นกระบอกเสียงสำคัญ เท่ากับโลกทั้ง 2 ใบไม่ได้เชื่อมกันแค่นั้น แต่หมายถึงต้องส่งผลซึ่งกันและกันด้วย วันนี้เราจะย้อนดูว่าโรคระบาดกับศิลปะมันสร้างปรากฏการณ์ให้แก่กันอย่างไร

การรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ / ภาพ: mashable.com

     ในยุคที่ทุกคนเรียกร้องสิทธิตัวเองด้วยสัญลักษณ์รูปแบบต่างๆ ศิลปะจึงถูกรวมเป็นหนึ่งในนั้น สมัย ‘70s และ ‘80s ผู้คนเรียกร้องความเป็นมนุษย์ ความอิสระ และแง่มุมด้านอารมณ์ออกมามากกว่าเดิมมาก แต่น้อยมากที่ศิลปะจะถูกนำมาผูกโยงกับเรื่องโรคระบาด ถึงแม้จะมีบันทึกภาพด้วยการวาดมือของช่วงการระบาดของวัณโรค อหิวาตกโรค หรือแม้กระทั่งไข้หวัดสเปน แต่งานส่วนใหญ่มักเป็นการบันทึกสิ่งที่เห็นอย่างตรงไปตรงมา หรือเสียดสีสอดแง่คิดไว้เพียงเล็กน้อย ไม่ใช่เครื่องมือหลักในการป่าวประกาศหรือมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของสังคมแบบศิลปะยุคใหม่เท่าไรนัก



WATCH




Freddie Mercury ขณะกำลังแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักร้องนำวง Queen งาน Live Aids ปี 1985 และต่อมาเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในเวลาต่อมา / ภาพ: Imgur

     ถึงเวลาที่ใช้ศิลปะเป็นอาวุธ! ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ทำให้คนตื่นตระหนกอยู่ไม่น้อย ดาราศิลปิน ดีไซเนอร์ และผู้มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย กลายเป็นเหยื่อของโรคนี้และสิ้นอายุขัยก่อนวัยอันควร ยกตัวอย่างเช่น Freddie Mercury นักร้องนำวง Queen, Roy Halston Frowick ดีไซเนอร์ระดับตำนานชาวอเมริกัน, และอีกหลายต่อหลายคน ช่องทางอันจำกัด ไม่มีอินเทอร์เน็ต สิ่งเดียวที่คนจะร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและวิธีการรณรงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพคงจะเป็นการออกแบบงานศิลปะ และแล้วมันก็กลายเป็นอาวุธของเหล่านักกิจกรรมผู้เรียกร้องให้สังคมเปลี่ยนแปลงทันที

โปสเตอร์ Silence = Death ศิลปะที่เปล่งเสียงได้จาก Gran Fury / ภาพ: Avram Finkelstein

     เราเริ่มมองกันที่ภาพสุดโด่งดังอย่าง “SILENCE = DEATH” ของ Gran Fury ที่สะท้อนปัญหาว่าการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์กระจายไปนักต่อนัก แต่ประชาชนกลับไม่มีความรู้อะไรเพิ่มเติม รัฐบาลของ Ronald Reagan ประธานาธิบดีในยุคนั้นกลับนิ่งเฉยเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาจึงเลือกจะทำอาวุธศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อเสียดสีว่า “ความเงียบของท่านและทุกคนคือความตาย จงปลดปล่อยพลังความโกรธแค้น ความกลัว และความทุกข์ร้อนเพื่อเปลี่ยนเป็นการกระทำเพื่อหยุดการแพร่ระบาดครั้งนี้” ศิลปะชิ้นนี้ไม่ได้ถูกวาดอย่างประณีตหรือลงสีอย่างอ่อนช้อยบรรจง แต่เป็นการจัดวางคำและเล่นกับขนาดรวมถึงสัญลักษณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ อักษรบ่งบอกถึงเหตุการณ์อย่างชัดเจน ซึ่งมาพร้อมสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพูนีออน สิ่งนี้กลุ่มแกรนหยิบไอเดียมาจากสัญลักษณ์ของเชลยศึกเกย์ในสมัยยุคนาซีที่โดนลงโทษ เขาจึงนำมาเปรียบเทียบกับปัญหาโรคเอดส์ซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ คือกลุ่มที่โดนตราหน้ามากที่สุด โรคเอดส์ครั้งนี้กลุ่มแกรนจึงอุปมาอุปมัยเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากภาพๆ เดียวสามารถย้อนประวัติศาสตร์และสร้างพลังอันยิ่งใหญ่มากกว่าแค่ความสวยงามและการจดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พลังแห่งศิลปะยุคใหม่กำเนิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

Ignorance = Fear อีกหนึ่งผลงานชิ้นโดดเด่นของ Keith Haring / ภาพ: Collection Noirmontartproduction, Paris

     “Voice = Survival” คืออีกวลีเด็ดในการสร้างจุดยืนในการรังสรรค์งานศิลปะช่วงการแพร่ระบาดของโรคร้าย ทุกคนต้องมีปากมีเสียงเรียกร้องสิทธิ์ในการรับรู้ อย่างน้อยที่สุดคืออาการของโรค ความรุนแรงและที่สำคัญคือวิธีป้องกัน ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ Keith Haring ศิลปินอีกคนนำมาต่อยอด เพราะเขาบอกมองว่า “Ignorance = Fear” การเมินเฉยเท่ากับสร้างความกลัว มันสุดแสนจะจริง การไม่ให้ข้อมูลใดๆ จากผู้มีอำนาจทำให้คนหวาดระแวงและปัญหามันทวีคูณขึ้นยิ่งกว่าเรื่องผู้ติดเชื้อคือตอนนี้คนเริ่มเหยียดกันเอง เริ่มไม่ไว้วางใจกัน เริ่มใช้ชีวิตลำบากหวาดระแวงกลัวติดโรคผ่านการไอ จาม ดื่มน้ำหรือแม้กระทั่งนั่งชักโครก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเอดส์โดยเฉพาะในยุคนั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก คีธจึงนิ่งนอนใจไม่ได้ เขาใช้ไอเดียความสร้างสรรค์มาเสริมพลังการต่อสู้กับโรคเอดส์ให้กับมวลมนุษยชาติผ่านงานศิลปะ (ตั้งแต่เรื่อง Safe Sex ไปจนถึงศิลปะลวดลายซับซ้อน)

ศิลปะสุดกวนอีกหนึ่งชิ้นของ Keith Haring / ภาพ: Artsy

     ต้องบอกว่าโรคเอดส์ไม่ได้เปลี่ยนแค่วิถีชีวิตในโลกความเป็นจริงและมุมมองความตั้งใจในโลกศิลปะ แต่การแพร่ระบาดใหญ่ทำให้ทั้ง 2 โลกผูกโยงกันและยิ่งจับมือกันแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนเราจะติดภาพศิลปินต้องสร้างสรรค์งานศิลปะคนเดียว ความงามหยดย้อยในแบบที่ยากจะมีใครเปรียบต้องใช้อารมณ์ศิลป์อยู่กับตัวเอง แต่ศิลปะกระแสหลักยุคนี้กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนกระแสหลักคือนักกิจกรรมผู้สร้างสรรค์งานเพื่อพูดอะไรบางอย่างกับสังคม เพราะฉะนั้นศิลปะจึงเป็นการแชร์ไอเดียเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ทุกอย่างถูกจดบันทึกออกมาเป็นความตั้งใจร่วมและนำเสนอที่มีกลิ่นอายส่วนรวมแต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้เสมอ ชื่อศิลปินในยุคการแพร่ระบาดของโรคเอดส์มักจะมีชื่อเสียงจากการร่วมแสดงพลังมากกว่าแค่การเก็บตัวดั่งสมัยโบราณ ศิลปินสไตล์อนุรักษ์นิยมจึงแทบไม่มีชื่อในสารบบศิลปินโด่งดังของยุคนั้นเลย

จะเห็นว่าเสื้อผ้าของเหล่านักกิจกรรมสกรีนลวดลายชิ้นงานศิลปะหลายชิ้นเพื่อแสดงพลัง / ภาพ: PBS

     และแน่นอนว่าเมื่อก่อนโรคระบาดถูกพูดถึงแค่เรื่องโรคในแง่ระบาดวิทยาแต่เพียงอย่างเดียว แต่นี่เรียกได้ว่าเป็นการแพร่ระบาดแรกๆ ของโลกที่บีบเรื่องของการเมืองและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องแบบเต็มตัว ไม่ว่าจะประเด็นเรื่องเพศ ชนชั้นทางสังคม และการจัดการของรัฐ ซึ่งในสมัยก่อนมีเพียงอย่างหลังที่พอจะถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ไว้บ้าง แต่ศิลปะยุคการแพร่ระบาดของโรคเอดส์บอกได้อย่างมั่นใจว่าปัญหาต่างๆ มีผลพวงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน พอหันมามองการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เห็นได้ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องระบาดวิทยาอีกต่อไป มันคือประกายชั้นดีที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหารายล้อมรอบตัวในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนหรือเมื่อก่อนถูกละเลยไป ศิลปะจึงกลายเป็นเครื่องมือที่เรียกร้องสิ่งเหล่านี้ผ่านสารกลางอย่างเรื่องโรคระบาดนั่นเอง การบริหารงานของรัฐ เพศทางเลือก การเปิดเผยข้อมูลและอีกมากมาย ทั้งหมดถูกตั้งคำถามและเดินหน้าบี้ไม่ยั้งด้วยอาวุธที่ชื่อ “ศิลปะ”

AIDS Memorial Quilt ณ มหานครวอชิงตัน ดี.ซี. / ภาพ: WTTW

     หลังจากการแพร่ระบาดที่พรากชีวิตคนไปกว่าหลายล้านคนในช่วงยุค ‘80s และยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์คอยชี้ให้เห็นและรักษาโรคร้ายทางสังคม(การเมืองและปัญหาสังคมที่มีอยู่แต่ไม่ออกอาการเมื่อไม่มีโรคระบาดเข้ามา) ที่มาควบคู่กับโรคภัยเชิงวิทยาศาสตร์ ศิลปะแขนงนี้อาจจะไม่ใช่รูปแบบผลงานที่ประณีตบรรจงที่สุด ละเอียดอ่อนที่สุด หรือแม้แต่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ศิลปะยุคใหม่อันสอดแทรกไปด้วยข้อความจากโลกความจริงก็ยิ่งทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโลกแห่งศิลป์คือโลกคู่ขนานที่ม้วนเกลียดมาสอดประสานกับโลกความจริงเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่างได้เสมอ สมัยก่อนเราส่งโลกของเราให้เข้าไปอยู่ในโลกศิลปะ(ภาพวาด) วันนี้เราส่งโลกของเราเข้าสู่งานศิลปะและมันก็สะท้อนพลังกลับมาสู่โลกความจริงอีกทีหนึ่งในรูปแบบพลังทางสังคม นี่คือวิถีศิลปะของเหล่าพวกเสรีนิยมโลกยุคใหม่ แท้จริงแล้วศิลปะทุกแขนงล้วนน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นเชิงอนุรักษ์นิยม คลาสสิกมีประวัติศาสตร์ หรือศิลปะร่วมสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเมื่อเราไม่สามารถหยิบปืนสู้รบกับสิ่งนามธรรมจับต้องไม่ได้ ก็ต้องหยิบพู่กัน ดินสอ หรือในยุคปัจจุบันก็คอมพิวเตอร์มาสรรสร้างพลังศิลปะเพื่อต่อสู้ คำว่า “ศิลปะเปลี่ยนโลก” อาจจะใช้ได้จริงเสมอมา แต่อย่าลืมว่าตั้งแต่วิกฤติโรคเอดส์คำว่า “โลก(โรค)เปลี่ยนศิลปะ” ก็เป็นความจริงเช่นกัน

 

ข้อมูล: The Economist 1843, Artspace, WTTW, Avert, VICE และ amfAR

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19