FASHION

รู้หรือไม่! กว่าภาพถ่ายแฟชั่นเอาต์ดอร์จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายต้องรอถึงยุค 1950s

ก่อนหน้านั้นช่างภาพแฟชั่นทั้งหลายต่างเคยชินกับการทำในเมซง ห้องสวีทโรงแรม และสตูดิโอ

     เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นเคยกับภาพแฟชั่นที่นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องเสื้อผ้าและเครื่องประดับแล้ว ยังโดดเด่นในเรื่องโลเคชั่นการถ่ายภาพอีกด้วย ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเราได้เห็นการใช้ฉากหลังเป็นฉากธรรมชาติหรือแม้แต่อาคารบ้านเรือนในชีวิตประจำ แต่เชื่อไหมว่าภาพถ่ายแฟชั่นไม่ได้ถ่ายกันในฉากหลังแบบนี้ในสมัยก่อน วันนี้เราจะทุกคนย้อนเวลาไปในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงโลกแฟชั่นไปตลอดกาล

ปกโว้กอเมริกาเล่มแรก (ฉบับเดือนธันวาคม 1892) ที่โดดเด่นด้วยภาพวาด ซึ่งเป็นยุคก่อนหน้าที่ภาพถ่ายจะเข้ามาครองความยิ่งใหญ่ในภายหลัง / ภาพ: Vogue US

     หากย้อนกลับไปเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้วจะพบว่านิตยสารแฟชั่นเต็มไปด้วยงานอิลลัสเตรชั่นที่สะท้อนความสวยงามของแฟชั่นออกมาได้อย่างวิจิตรงดงาม ทว่าด้วยข้อจำกัดที่เป็นเพียงงานศิลปะบนผืนกระดาษ จึงไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความสมจริงได้เท่ากับภาพถ่าย ดังนั้นการพัฒนากล้องถ่ายภาพจนนักสร้างสรรค์งานนิตยสารเล็งเห็นว่านี่เป็นอุปกรณ์แห่งโลกอนาคตที่จะเข้ามาแทนที่การวาดภาพ พร้อมนำเสนอความสดใหม่ให้กับทุกคน และตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าการถ่ายภาพแฟชั่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ

ภาพแฟชั่นในนิตยสารโว้กฝรั่งเศสในปี 1955 / ภาพ: Sabine Weiss

     ความยุ่งยากในการจัดเซตและขนย้ายชุดตามยุคสมัยอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ส่วนมากถ้าจะถ่ายภาพแฟชั่นจริงจัง ช่างภาพส่วนใหญ่มักเลือกโลเคชั่นปิด ไม่ว่าจะเป็นในห้องเสื้อ สตูดิโอ หรือแม้แต่ห้องพักในโรงแรมหรู ทว่าในช่วงยุค ‘50s การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่างภาพแฟชั่นหลายต่อหลายคนต้องการนำเสนอมุมมองแฟชั่นรูปแบบใหม่ พวกเขาจึงเลือกพื้นที่เอาต์ดอร์เป็นฉากสำหรับถ่ายภาพแฟชั่น บรรยากาศของมหานครนิวยอร์ก ลอนดอน มิลาน และปารีสกลายเป็นฉากหลังอันโด่งดังที่สร้างภาพให้คนจดจำเมืองเหล่านี้เป็นเมืองแฟชั่นไปพร้อมกับผลงานการรังสรรค์ของดีไซเนอร์ระดับเพชรยอดมงกุฎ



WATCH




ภาพแฟชั่นในสื่อสิ่งพิมพ์ Daily Express ในปี 1955 ฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของ John French / ภาพ: Victoria and Albert Museum, London

     “ภาพถ่ายที่เป็นมากกว่าภาพถ่าย แต่เป็นกระจกสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรม” การเปิดโลกสมัยใหม่ของการถ่ายภาพแฟชั่นบนท้องถนนและโลเคชั่นเอาต์ดอร์หลายแห่งคือกุญแจไขประตูด้านวัฒนธรรม เสื้อผ้ายังคงเป็นแกนหลักในการนำเสนอ แต่รูปแบบท่าทางการโพสต์ การเล่าเรื่องราวโดยใช้องค์ประกอบของฉากหลังดูล้ำลึก จากแบ็กดรอปในสตูดิโอที่ถูกประดับประดาไปด้วยพร็อปมากมาย ในยุคนี้มันเปลี่ยนไปเพราะช่างภาพเลือกท้องฟ้าและอาคารเป็นฉากหลัง ท่าโพสต์นำเสนอเสื้อผ้าเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นแสดงถึงเทคนิคการตัดเย็บ ก็เปลี่ยนสู่ความเป็นธรรมชาติที่แฟชั่นสามารถลื่นไหลไปได้ในโลกแห่งความจริง

ภาพหญิงสาวถือร่มกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 1934 การบันทึกภาพอันเป็นรากฐานของการถ่ายภาพแฟชั่นเอาต์ดอร์โดย Martin Munkácsi / ภาพ: Deny Fear

     ถ้าจะพูดถึงผู้นำของวงการในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนมุมมองในการรังสรรค์ภาพแฟชั่นนอกสตูดิโอก็ต้องกล่าวถึง Martin Munkácsi ผู้เคยกล่าวไว้ในบทความ Think While You Shoot ปี 1935 ว่า “จงอย่าจัดแจงท่าโพสต์ของแบบให้มาก ปล่อยให้พวกเขาได้ขยับเขยื้อนอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพถ่ายที่ดีในตอนนี้คือภาพถ่ายสแนปช็อต” นอกจากนี้เขายังเป็นช่างภาพคนแรกๆ ที่ริเริ่มการถ่ายภาพโดยใช้ฉากหลังเป็นบรรยากาศในเมืองแทนที่สตูดิโอ และยังมีภาพถ่ายในตำนานเป็นภาพผู้หญิงถือร่มกระโดดเท้า 2 ข้างลอยเหนือพื้น ปัจจุบันในวันที่เราเห็นภาพถ่ายไอเดียกระฉูดกันตามหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย ภาพของมาร์ตินอาจไม่ได้หวือหวามาก แต่สำหรับโลกแฟชั่นยุคก่อน นี่คือการปฏิวัติรูปแบบการถ่ายภาพแฟชั่นไปตลอดกาล

ภาพถ่ายแฟชั่นเอาต์ดอร์ ณ เมืองลิม่า ประเทศเปรู ฝีมือการรังสรรค์ของ Irving Penn ในนิตยสารโว้กปี 1948 ภายใต้กำกับดูแลของ Alexander Liberman / ภาพ: Irving Penn Foundation

     หากช่างภาพริเริ่มการถ่ายภาพแนวใหม่แต่ไร้การสนับสนุนอย่างจริงจัง รูปแบบการถ่ายภาพก็ไม่มีทางพัฒนาได้อย่างแน่นอน เครดิตสำคัญก็ต้องยกให้กับ Alexander Liberman และ Alexey Brodovitch ผู้อำนวจการฝ่ายศิลป์ของโว้กอเมริกาและฮาร์เปอร์ส บาซาร์ตามลำดับ ทั้ง 2 ตำนานคือผู้ผลักดันแนวทางการนำเสนอภาพแฟชั่นในนิตยสารให้ก้าวหลุดออกจากกรอบเดิมๆ พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ความสวยงามของแฟชั่นในห้องเสื้อ แต่พวกเขาต้องการเล่าเรื่องราวแฟชั่นไปพร้อมกับการถ่ายทอดวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมนี้ผ่านนิตยสารชั้นนำ

The Art of Travel แฟชั่นเซตในตำนานของ Norman Parkinson ที่รังสรรค์ให้กับโว้กอังกฤษฉบับเดือนพฤษภาคม 1951 / ภาพ: Modern Rocks Gallery

     ช่างภาพชั้นนำของยุคนี้ต้องยกให้กับ Louise Dahl-Wolfe, Irving Penn, Richard Avedon รวมถึง Norman Parkinson พวกเขารังสรรค์แฟชั่นที่เต็มไปด้วยการบอกเล่าเรื่องราวทั้งกับตัวแบบ เสื้อผ้า และฉากหลังอันน่าสนใจ การใช้ผืนฟ้า ผืนน้ำ และบรรยากาศภายในเมืองกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ภาพถ่ายขาว-ดำจากยุค ‘50s เป็นภาพถ่ายอมตะเหนือกาลเวลาที่กลับมาย้อนชมทีไรก็ต้องชื่นชมในแนวทางการถ่ายภาพที่ยังดูสดใหม่เสมอมา ตลอดระยะเวลาร่วม 7 ทศวรรษที่ภาพถ่ายของพวกเขายังคงถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานของช่างภาพรุ่นใหม่ และแสดงให้เห็นว่าวิธีการนำเสนอผลงานสไตล์เอาต์ดอร์คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวงการแฟชั่นอีกต่อไป

ภาพถ่าย Dovima โดย Richard Avedon ในปี 1955 ที่ผสมผสานระหว่างความสมจริงของฉากและท่าทางเหนือจริงราวกับอยู่ในเทพนิยาย / ภาพ: Richard Avedon - Foto Tension

     “Realistic or Surrealistic” ช่างภาพหลายคน รวมถึงบุคคลผู้ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นเคยกล่าวไว้คล้ายกันว่าภาพถ่ายแฟชั่นเป็นเหมือนการปรุงแต่งความสวยงามเพื่อนำเสนอแก่ผู้ชม ดังนั้นความเหนือจริงจึงกลายเป็นความปกติ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการหาความสมดุลระหว่างความเหนือจริงของภาพถ่ายแฟชั่นกับการนำเสนอวิถีชีวิตจริง ความเก่งกาจของช่างภาพในตำนานเหล่านี้คือการสร้างภาพแฟชั่นที่ทั้งดูน่าดึงดูด สะดุดตา และเป็นเอกลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็รักษาสมดุลให้องค์ประกอบทั้งหลายกลมกลืนกันอย่างลงตัว ลองสังเกตดูว่าแม้นางแบบกับเสื้อผ้าจะดูโดดเด่น แต่มันก็ช่างเข้ากับทุกอย่างไม่ประดักประเดิดแต่อย่างใด

ภาพถ่าย Carmen Dell’Orefice กลางกรุงปารีสช่วงยุค 1950s โดย Richard Avedon / ภาพ: Richard Avedon

     แฟชั่นและภาพถ่ายไม่เคยมีผิดถูก...โลกยุคใหม่เต็มไปด้วยสื่อการสอนออนไลน์ที่แนะนำทุกเรื่องรอบตัวอย่างมีหลักมีการ ถ้าเป็นการถ่ายภาพก็มีตั้งแต่การวัดแสง ความพอดี สี และอื่นๆ อีกมากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือพื้นฐานที่ช่างภาพทุกคนควรรู้ แต่การทดลองหาความสวยงามด้วยมุมมองที่แตกต่างและมีลายเซ็นเฉพาะตัวคือการก้าวออกจากกรอบเหล่านั้น และกล้าจะสร้างสรรค์ชิ้นงานที่อาจกลายเป็นภาพไอคอนิกในอนาคต ในโลกยุค ‘50s การถ่ายภาพแฟชั่นเอาต์ดอร์อาจแปลกใหม่และไม่ถูกใจใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าของห้องเสื้อและผู้บริโภคที่อาจต้องการรายละเอียดและความสวยงามแบบเฉพาะเจาะจง ทว่าวันนี้ผลผลิตเหล่านี้ก็พิสูจน์แล้วว่านี่คือผลผลิตที่สร้างบรรทัดฐานความสวยงามแบบใหม่ และกลายเป็นพื้นฐานของโลกแฟชั่นที่ขาดไม่ได้อีกต่อไป ถ้าวันหนึ่งเราเปิดนิตยสารแฟชั่นชมและมีแต่ภาพถ่ายในสตูดิโอมันก็คงประหลาดไม่น้อย ความรู้สึกประหลาดนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกของเรามันเปลี่ยนด้วยมุมมองทางความคิดได้จริงๆ

 

ข้อมูล:

visual-arts-cork.com

vam.ac.uk

elliotthalls.com

irvingpenn.org

glamobserver.com

WATCH