CELEBRITY

แฟนคลับตั้งคำถาม...เมื่อชีวิตบริตนีย์ถูกทำเป็นสารคดีมากเกินไป หรือนี่คือภัยคุกคามอีกรูปแบบหนึ่ง

แล้วคุณล่ะคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

     หลังจากที่แพ้คดีจากการยื่นฟ้องศาลถอดถอนพ่อของเธอจากตำแหน่งผู้ดูแลชีวิต กระแสของแฮชแท็กสุดโด่งดังอย่าง #FreeBritney ก็ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง (พ่วงมาด้วยอีก 2 แฮชแท็กอย่าง #WeAreSorryBritney และ #ApologizeToBritney) และยิ่งร้อนระอุขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อสารคดีตีแผ่ชีวิตสุดอื้อฉาวของนักร้องสาวคนนี้อย่าง “Framing Britney Spears” ได้ออกฉายสู่สายตาของสาธารณชน สร้างความเดือดดาล ความหดหู่ และความน่าเห็นใจให้เกิดขึ้นในสังคม ต่อเนื้อหาสารคดีที่แสนเศร้าหมอง บอกเล่าชีวิตที่ถูกบังคับ และบงการโดยพ่อของเธออยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ในช่วงปี 2008 ที่บริตนีย์ต้องประสบกับสภาวะเครียดเรื้องรัง จากความกดดันที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรในชีวิตได้ด้วยตัวเอง กระทั่งที่คนอื่นๆ ยังได้วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ดังกล่าวไว้ว่า บริตนีย์ก็เป็นเพียงแค่สินค้าชิ้นหนึ่งที่ใช้แสวงหากำไร แม้แต่ภาพลักษณ์ที่ทุกคนได้เห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอตัดสินใจที่จะนำเสนอให้โลกใบนี้ได้เห็นด้วยซ้ำ ซึ่งสารคดีเรื่องดังกล่าวสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม จนส่งผลให้เหล่าคนบันเทิงที่เป็นเพื่อนร่วมวงการกับเธอ หรือที่เคยร่วมประสบการณ์เช่นเดียวกับเธอยังต้องออกมาช่วยกันสนับสนุน และเรียกร้องให้ผู้ที่เคยละเมิดสิทธิ หรือทำไม่ดีกับบริตนีย์ออกมาขอโทษเธอผ่านสื่อ และสิ่งนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาพยนตร์ ละคร สารคดี และสื่อบันเทิง ถูกใช้เป็นอาวุธในการต่อกรกับความอยุติธรรมเสมอมา อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างกว้างขวางและน่าพอใจด้วย

     กระนั้น Framing Britney Spears ก็ไม่ใช่บทสรุปอย่างที่ใครคาดคิดเอาไว้ สารคดีเรื่องนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้อีกหลายค่ายออกมาทวงความยุติธรรมคืนให้กับป็อปไอคอนคนนี้ผ่านการสร้างสารคดีชีวิตของเธอกันเสียยกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจากค่าย BBC ที่จ่อคิวออนแอร์วันที่ 1 พฤษภาคม 2021 ที่จะถึงนี้, สารคดีจากเน็ตฟลิกซ์ที่กำลังรอคอนเฟิร์ม หรือกระทั่งการร่วมทุนกันของหลายค่ายเพื่อสร้างสารคดีแนวเดียวกันนี้ในชื่อ Britney: Fighting for Freedom และอีกมากมายที่กำลังคิดจะผุดโปรเจกต์เกี่ยวกับบริตนีย์ราวกับดอกเห็ด มองในทางหนึ่งก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองที่พวกตัวร้ายในอดีตที่เคยทำลายชีวิตของบริตนีย์ทุกคนจะถูกประจาน และเช็กบิลกันเสียที หากในอีกมุมหนึ่งก็น่าเศร้า และน่าขบคิดไม่ใช่น้อย เมื่อเหล่าแฟนคลับของบริตนีย์ในโลกทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ เริ่มมีการเคลื่อนไหวออกความเห็นว่า “นี่มันมากเกินไป การฉายซ้ำเรื่องเดิมๆ ก็เหมือนการทำให้ชีวิตของบริตนีย์ต้องกลับไปเจอกับเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ เหมือนเป็นการขุดปมของเธอขึ้นมาเล่าแล้วเล่าอีกไม่จบสิ้น แล้วเช่นนี้บริตนีย์จะสามารถเป็นอิสระอย่างที่พวกเราติดแฮชแท็กได้อย่างไร" หรือ "แล้วมันจะต่างอะไรกับเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อน ที่นักร้องสาวคนหนึ่งต้องทนทุกข์กับสถานการณ์ที่มีทั้งสื่อหิวข่าวไร้จรรยาบรรณ และเหล่าปาปารัซซี่เห็นแก่ตัวมาคอยจับจ้องการใช้ชีวิตของเธอล่ะจริงไหม”

     เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามไม่น้อย ที่หลายค่ายพยายามเค้นความคิดเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับบริตนีย์ ก็เพียงเพื่อต้องการกระแส เนื่องจากเรื่องราวชีวิตของเธอที่ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในโลกทุนนิยม นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายๆ ค่ายต่างต้องการจะพูดถึงบริตนีย์เพื่อทำกำไร และรายได้เท่านั้น ส่วนเรื่องที่ต้องการสะท้อนสังคมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นกับคนดังนั้นๆ ก็ถูกตีตกกลายเป็นประเด็นรองลงไปในที่สุด ยิ่งสารคดีทั้งหลายไม่เคยได้ถูกเล่าโดยตัวของเหยื่อเองแล้ว ก็ดูเหมือนกับว่ามันไม่เข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่า “ความช่วยเหลือ” เลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังถูกมองว่าเหมือนเป็นการ “คุกคาม” รูปแบบหนึ่งเสียมากกว่าอีกด้วย

     ความคิดเห็นดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานในการออกมาเผยความรู้สึกของ บริตนีย์ สเปียร์ส โดยตรง หลังจากที่ได้รับชมสารคดีเรื่อง Framing Britney Spears อีกว่า “เธอรู้สึกอับอายในบางช่วงบางตอนของสารคดีเรื่องนี้ และร้องไห้มาหลายสัปดาห์” นั่นยิ่งทำให้กระแสตีกลับเรื่องการหาผลประโยชน์จากตัวของบริตนีย์กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกโซเชียลมีเดียจนถึงตอนนี้ว่า เหมือนเป็นการซ้ำเติมเหยื่อไม่จบสิ้น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง และตั้งคำถามกันต่อไปเพื่อให้ได้จุดสมดุลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวของบริตนีย์มากที่สุด

     แล้วคุณล่ะ...คิดว่ามันมากเกินไปไหม



WATCH




WATCH