CELEBRITY
วิเคราะห์คำพูด “ฉันแค่เป็นทรานส์ที่มีชื่อเสียง” ของ Hunter Schafer สะท้อนเชิงสังคมวิทยาการที่เธอปฏิเสธว่าไม่ใช่นักเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQIA+ ไม่ใช่เรื่องผิดและนี่คือการสะท้อนตัวตนของ Hunter Schafer รวมถึงเส้นทางชีวิตและการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง |
ปัจจุบันการทำลายกรอบกฎเกณฑ์หรือชุดความคิดแบบเก่าเปรียบดั่งการพัฒนาสู่โลกใบใหม่ที่อ้าแขนเปิดรับความหลากหลายในแทบทุกมิติ เรื่องเพศถือเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมเปิดกว้างและพัฒนามุมมองจนเป็นโลกใบใหม่ที่มาพร้อมมิติแห่งความหลากหลายอันชัดเจนมากขึ้น สำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ การที่มีผู้นำทางความคิดและยืนหยัดเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงสังคมอาจต้องมีบุคคลผู้นำในการเรียกร้องหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นคนในสังคมจำนวนไม่น้อยจึงมองว่าเหล่าคนดังในหลายแวดวงจากกลุ่ม LGBTQIA+ คือผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นนักเคลื่อนไหวที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทว่าสำหรับบางคนอาจไม่ได้ยอมรับในจุดนั้นของตัวเอง
ภาพ: Vogue Italia
Hunter Schafer นักแสดงวัย 25 ปี กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ได้รับโอกาสในการทำงานทั้งในแวดวงบันเทิงและแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอเปิดโลกของกลุ่ม LGBTQIA+ กับแรงกระเพื่อมที่ส่งต่อถึงสังคมยุคใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าเธอสามารถก้าวขึ้นมายืนหยัดบนเส้นทางความฝัน พร้อมยอมรับกับตัวตนความเป็นผู้หญิงในสิ่งที่เธอต้องการ ทว่าการติดฉลากว่าเธอเป็น ‘นักเคลื่อนไหว’ อาจไม่ได้ตรงตามมุมมองของตัวเธอเองเท่าไหร่นัก เพราะเธอมองว่าเธอเป็นเพียงนักแสดงที่มีชื่อเสียง ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวที่เป็นหัวใจสำคัญในการแปรเปลี่ยนระบบความคิดทางสังคม
“ฉันเป็นเพียงคนข้ามเพศที่มีชื่อเสียง” เส้นทางของฮันเตอร์เริ่มต้นตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองตามเบื้องลึกในจิตใจตั้งแต่อายุ 14 ปี เธอต้องการดำเนินชีวิตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง โดยเธอมองว่านิยามจำกัดเพศไม่ใช่สิ่งที่เธออยากถูกพูดถึง เธอเพียงเดินหน้าในฐานะนักแสดง และตอนนี้เธอมีชื่อเสียงและทุกคนมองว่าเธอเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการเปิดกรอบทางสังคม ทว่าความจริงไม่ใช่แบบนั้น การดำเนินชีวิตของฮันเตอร์คือความพยายามของปัจเจกบุคคล และความต้องการของเธอคือการเป็นผู้หญิงและถูกยอมรับอย่างเต็มรูปแบบ
ตลอดระยะเวลาของชีวิตฮันเตอร์เต็มไปด้วยประเด็นมิติเรื่องเพศ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งฮันเตอร์อาจแบกรับเรื่องราวที่ผูกโยงกับเพศของเธอมากกว่าฝีมือการแสดงหรือตัวตนที่แท้จริงเลยด้วยซ้ำ มันหมายถึงความเท่าเทียมที่ยังไม่เท่าเทียม หรือการทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ปกติในสังคม เพราะถ้าปกติจริงการที่นักแสดงคนหนึ่งจะก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงผ่านผลงานชิ้นสำคัญ เรื่องเพศไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องแปลกใหม่และทุกคนให้ความสนใจราวกับเป็นเรื่องไม่ปกติ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเด็นเรื่องเพศของฮันเตอร์นำมาเป็นเรื่องราวหากิน และเธออาจกำลังรู้สึกว่าไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะผู้หญิงเท่าที่ควรหากทุกคนยังจะตีตราหรือนิยามเกี่ยวกับเพศของเธออยู่วันยังค่ำ
ภาพ: @hunterschafer
‘บทบาทที่ไม่ได้เป็น’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อฮันเตอร์มีชื่อเสียงโด่งดัง หลายคนยกเธอขึ้นหิ้งพร้อมติดตราว่าเธอเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่ม LGBTQIA+ ทั้งที่แท้จริงแล้วเธอไม่ได้เป็น และเธอก็ยอมรับพร้อมรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้มากกว่านี้ เธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอบังเอิญเป็นคนกลุ่มน้อยในสายตาสาธารณะ เธอยืนยันคำเดิมเสมอว่าเธอเป็นเพียงทรานส์ที่มีชื่อเสียงเท่านั้น การยกบทบาทนักเคลื่อนไหวคือการยกยอเกินและบิดเบือนความจริง ณ จุดนี้มันก็ชวนตั้งคำถามว่าตกลงแล้วเราสนใจฮันเตอร์ในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการการยอมรับ หรือสนใจย้ำไปที่เรื่องประเด็นเรื่องทรานส์และยกยอบทบาทในสิ่งที่เธอไม่ได้เป็น
เมื่อเธอออกมาสัมภาษณ์แบบนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถ้ามองเข้าไปให้ลึกถึงจิตใจฮันเตอร์จะเข้าใจในมิติที่หลากหลายมากขึ้น ช่วงเวลาชีวิตเวลาร่วมทศวรรษเธอต้องก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลายมานับไม่ถ้วน เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคมแต่เธอพยายามเพื่อการมีอยู่ของตัวตนเธอเอง มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตอนนั้นไม่ได้มีแรงสนับสนุนหรือต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม สำหรับเธอมันคือช่วงเวลาอันยากลำบาก เธอไม่อยากพูดถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว เธอต้องการใช้ชีวิตฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงได้รับการติดต่อให้เล่นบททรานส์หลายครั้งแต่เธอปฏิเสธ
แนวคิดแบบนี้สะท้อนกรอบความคิดว่าเธอไม่ได้ต้องการเคลมหรือแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในเมื่อเธอไม่ได้ลงมือทำมันอย่างจริงจัง การต่อสู้ของเธอเกิดขึ้นในรูปแบบของปัจเจกบุคคล การที่เธอได้รับการยอมรับเพราะตัวเธอเอง แน่นอนว่าทิศทางของสังคมที่เปลี่ยนแปลงมีผล ทว่านักแสดงคนนี้ไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนทิศทางสังคมดังกล่าวจนได้รับการยอมรับ เธอก้าวผ่านความลำบากจนและไม่อยากพูดถึงมันอีก การติดฉลากว่าเธอเป็นนักเคลื่อนไหวอาจเป็นการติดฉลากโดยไม่สอดคล้องกับมุมมองความคิดหรือเส้นทางชีวิตของฮันเตอร์เท่าไหร่นัก
WATCH
ภาพ: Prada
สังคมกลุ่มน้อยกับการแสวงหาผู้นำหรือนักเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ทางสังคม หากวิเคราะห์เชิงสังคมวิทยาจะพบว่าคนกลุ่มน้อยต้องการบุคคลหรือสิ่งที่สร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่นคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฝ่าฟันอุปสรรคจนกลายเป็นนักกีฬาระดับแถวหน้าเมื่อหลายทศวรรษก่อน พวกเขาไม่ได้นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม แต่พวกเขาฝ่าฟันในฐานะปัจเจกบุคคลและประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬา พวกเขากลายเป็นไอดอลและถูกยกไว้บนหิ้ง ทว่าในมุมหนึ่งพวกเขาไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงหรือตั้งคำถามกับกรอบสังคมแบบเดิม พวกเขาคือนักกีฬาผิวดำที่ประสบความสำเร็จเพียงเท่านั้น สอดคล้องกับเหตุการณ์ชีวิตของฮันเตอร์ที่เธอก็ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงเช่นเดียวกัน
การถูกจำแนกคือความเจ็บปวดสูงสุดและเป็นมายาคติแห่งการเปลี่ยนแปลงที่หลายคนมองข้าม อย่างที่กล่าวไปว่าหากเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ และความแตกต่างอื่นๆ ยังถูกนำมาเป็นประเด็นหลักในการกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เท่ากับว่าความเท่าเทียมหรือความปกติไม่เป็นจริง 100 เปอร์เซ็นต์เสมอไป ในเมื่อมนุษย์คนหนึ่งต้องการความสำเร็จและใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง การที่ถูกจำแนกแบ่งแยกว่าเป็น “คนผิวสี” หรือ “ทรานส์” หรือการจำแนกแบ่งแยกด้วยอะไรก็แล้วแต่ มีความหมายว่าสังคมยังไม่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นปกติและมองชนกลุ่มน้อยด้วยสถานะชุดความคิดเสมอภาคอันเป็นปกติ จุดสูงสุดในอุดมคติคือความเป็นมนุษย์อันไร้ซึ่งการแบ่งแยก “ผู้ประสบความสำเร็จ” คือนิยามที่มีคุณค่าและสะท้อนความเท่าเทียมได้มากเสียยิ่งกว่า “แชมป์ผิวสี” หรือ “นักแสดงทรานส์ที่...” ด้วยซ้ำ เพราะหมายถึงพวกเขาและเธอถูกมองเป็นปกติในสังคม เรื่องเพศ ชาติพันธุ์ และความแตกต่างไม่ใช่สาระสำคัญในการนำมาเป็นประเด็นให้พูดถึงเหนือผลงานหรือการกระทำอีกต่อไป
“Genderless” คำนี้จึงมีความหมายยิ่งใหญ่มากกว่าการสร้างนิยามเพศเสียอีก เพราะความไร้เพศคือการหลอมละลายกรอบนิยามทางสังคมไปเสียทั้งหมด ‘มนุษย์ = มนุษย์’ หากแต่มันยากสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยอดพีระมิดแบบนี้ ในอีกมุมหนึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้ชนกลุ่มน้อยได้รับความเท่าเทียมเสมอภาคก็เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้มีนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นความหลากหลายต่างๆ อยู่ทั่วโลก เพราะฉะนั้นการยืนหยัดและเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ทว่าการหยิบยกไอดอลหรือต้นแบบการใช้ชีวิตด้วยสถานะนักเคลื่อนไหวอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะคนเหล่านั้นใช้ชีวิตและเดินทางด้วยตัวเอง เขาอาจต้องการความเท่าเทียมหรือสนับสนุนสิ่งเหล่านี้เช่นกัน แต่พวกเขาและเธอไม่ใช่นักเคลื่อนไหวด้วยประเด็นอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโดยตรง การยกบทบาทสำคัญแบบนี้ติดตราให้พวกเขาและเธออาจมากเกินไปดั่งที่ฮันเตอร์ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เธอก้าวผ่านเส้นทางของตัวเองและต้องการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เธออยากเป็นมาตลอด
WATCH