
WELLNESS
เปิด 5 วิธีฮีลใจในวันที่งานถาโถมแม้งานจะสำคัญ ... แต่ใจของเราสำคัญยิ่งกว่า |
คนวัยทำงานต่างใช้ชีวิตหนักหน่วง ไหนจะภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกไว้ การงานที่เต็มไปด้วยความเครียด ไลน์เด้งตอนตีหนึ่ง หรือประชุมตอนเช้าตรู่ สิ่งที่เหล่านี้ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่อยากเลี่ยงแต่ก็เลี่ยงไม่ได้ จนหลายคนเริ่มรู้สึกหมดไฟและเหนื่อยล้า ไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้น แต่เป็น “ใจ” ต่างหากที่เริ่มอ่อนแรง
นี่คือสัญญาณที่บอกว่า “สุขภาพจิต” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ควรเป็นเรื่องต้องรอจนมันพัง! ถึงจะหันมาสนใจดูแล การถนอมใจของตัวเองวันละนิด อาจเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาให้มองเห็นชีวิตมีคุณค่ามากกว่าแค่เกิดมาเพื่อทำงานเท่านั้น และนี่คือ 5 เทคนิคง่ายๆ ที่โว้กบิวตี้อยากแชร์ เพื่อให้คนทำงานหนักสามารถหยิบไปฮีลใจให้ตัวเอง

เริ่มต้นวันด้วยความเงียบ
ก่อนจะหยิบโทรศัพท์มาเช็กไลน์ หรือดิ่งเข้าตารางงาน ลองหยุดอยู่กับตัวเองสัก 5 นาที จะนั่งนิ่งๆ หลับตา หายใจลึกๆ หรือแค่จิบกาแฟเงียบๆ ก็ได้ เพราะช่วงเวลาสั้นๆ นี้จะช่วยจัดระบบความคิด ปรับโหมดจาก Reactive* สู่ Intentional** ให้เราเริ่มต้นวันอย่างมีสติ ไม่ใช่แค่ไหลตามสิ่งเร้า
* Reactive Mode คือ การตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวอัตโนมัติ เช่น ตื่นมาก็หยิบโทรศัพท์ - เช็กไลน์ - เห็นงาน – รีบเคลียร์ทันที ซึ่งในโหมดนี้มักจะทำให้รู้สึกวุ่นวาย หอบ เครียด และเหมือนวันๆ หมดไปโดยไม่ได้ทำอะไรเพื่อใจตัวเองบ้างเลย
** Intentional Mode คือ การหยุดและตั้งใจเลือกว่าจะใช้ชีวิตหรือเริ่มต้นวันอย่างไร รู้ว่าอะไรสำคัญ ยอมปล่อยสิ่งที่ไม่เร่งด่วน และโฟกัสทีละอย่าง ในโหมดนี้เรามีสติมากขึ้น ทำให้ใจนิ่งขึ้น แม้ภายนอกจะยังวุ่นวาย
ตั้งขอบเขตกับงานให้ชัดเจน
หลายคนสับสนระหว่าง “ความรับผิดชอบ” กับ “การแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว” จนเผลอเอาทั้งความเหนื่อย ความเครียด และความคาดหวังของคนรอบข้างมาทับถมไว้บนบ่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว การรับผิดชอบไม่จำเป็นต้องแลกกับการละเลยตัวเองเสมอไป
มาลองเริ่มต้นจากการตั้งเวลาเลิกงานให้ตัวเองอย่างจริงจัง แม้จะยังเหลืองานอยู่บ้าง และทำความเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การทิ้งงานกลางคัน แต่คือการ ขีดเส้นให้รู้ว่าเราควรหยุดเมื่อไร เพื่อจะกลับมาเริ่มใหม่ได้ดีขึ้น การยอมปล่อยบางอย่างไว้ก่อน แล้วบอกตัวเองว่า “ไว้พรุ่งนี้จัดการ” คือการฝึกใจให้รู้จักเว้นวรรค เพราะการพักไม่ได้เท่ากับขี้เกียจ แต่มันคือการรักษาจังหวะของตัวเองให้ใจได้วางงานลงแบบไม่รู้สึกผิด

แบ่งเวลาสั้นๆ ให้กิจกรรมที่ไม่มีเป้าหมาย
เพราะในโลกของการทำงาน เราถูกค่านิยมเรื่อง Productivity ครอบงำ จนรู้สึกผิดถ้าต้องทำอะไรที่ “ไม่มีเป้าหมาย” หรือ “ไม่ได้ก่อให้เกิดผลงาน” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้อง Productive ตลอดเวลา ลองหาเวลาสัก 15 นาทีในแต่ละวันให้กับสิ่งที่ทำแล้วใจเบาขึ้น เช่น ดูคลิปแมวน่ารักๆ อ่านหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับงาน หรือแค่ขีดๆ เขียนๆ อะไรเล่นๆ ลงในสมุดภาพ ซึ่งการทำสิ่งนี้จะปล่อยให้สมองได้หลุดจากโหมดที่ต้องทำเพื่อเป้าหมาย และเป็นการอนุญาตให้ตัวเอง “ว่างได้” “เบาได้” โดยไม่รู้สึกผิด
เขียนความรู้สึกออกมาเป็นตัวหนังสือแบบดิบๆ
เวลามีอะไรหนักๆ อยู่ในหัว เช่น ความเครียด คำพูดของคนอื่น หรือความคิดที่วนไปเวียนมา เรามักพยายามจัดการมันด้วยเหตุผล เช่น คิดหาคำตอบ และแก้มันให้จบจนได้ แต่ในความเป็นจริง บางความรู้สึกไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่ ... “ต้องการที่ให้มันได้อยู่”
การเขียนความรู้สึกออกมาแบบดิบๆ ที่ไม่ต้องเรียบเรียงให้สวยงาม ไม่ต้องให้มันดูดี ไม่ต้องถูกหลักไวยากรณ์ด้วยซ้ำ แค่ปล่อยให้สิ่งที่อยู่ในหัวไหลออกมาเป็นคำ เป็นประโยค จะพร่ำเพ้อ จะสับสน หรือจะซ้ำไปซ้ำมา ก็ไม่เป็นไรเลย เพราะแค่การเขียนมันลงในกระดาษ หรือพิมพ์มันในโทรศัพท์ ก็เหมือนได้เคลียร์พื้นที่ในหัวทีละก้อนๆ เหมือนเวลาเราย้ายของจากห้องรกๆ ออกมาทีละชิ้น พอของออกจากหัว ใจก็หายแน่น
อย่ารอให้ใจพังแล้วค่อยขอความช่วยเหลือ
หลายคนมักปล่อยให้ตัวเองเหนื่อย เครียด จนบางทีก็รู้สึกไม่ไหวแล้ว และเมื่อไหร่ที่ปล่อยมันไปจนสายเกินแก้ จิตใจก็จะแสดงออกมาผ่านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น นอนไม่หลับ เหนื่อยล้าตลอดเวลา ไม่มีแรงทำอะไร หรือรู้สึกชาและหมดไฟกับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้สาเหตุ
เพราะฉะนั้นคงจะดีกว่า ... แทนที่จะรอให้ใจพังแล้วค่อยซ่อม เราควรช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่ยังมีแรงพอจะดูแลมันได้ ด้วยการขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักบำบัด นี่ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด ทว่ามันคือการรับผิดชอบต่อหัวใจของตัวเองอย่างกล้าหาญ และบางครั้งแค่มีใครสักคนที่รับฟังเราโดยไม่ตัดสิน ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาที่แท้จริงแล้วก็ได้
WATCH
ข้อมูล : Harvard Health Publishing: Mindfulness improves well-being, WHO และกรมสุขภาพจิต
WATCH