MAKE UP
อะไรคือ 'เสียง' ของวงการความงามที่ช่วยขับเคลื่อนความหลากหลายในสังคมตัวแทนของวงการความงามที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความหลากหลายอยู่เรื่อยมา |
ทุกๆ ปีในวงการบิวตี้จะมีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นเสมอ อย่างเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นของแบรนด์บิวตี้มากมาย เทรนด์เมกอัพสีสันแบบ Y2K ที่กลับมาอีกครั้งหรือเทรนด์ทรงผมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ไม่เป็นเพียงสีสันที่ช่วยให้ทุกคนได้สนุกไปกับเรื่องความงาม การดูแลตัวเองและการแต่งหน้าทำผมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองด้านความหลากหลายของสังคมอีกด้วย
วงการบิวตี้ขับเคลื่อนความหลากหลายอย่างไร
แม้วงการบิวตี้อาจไม่ได้เกิดการประท้วงหรือเรียกร้องทางกฎหมายอย่างชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความหลากหลายในสังคมที่เกิดขึ้นกับวงการนี้อยู่เรื่อยมา นั่นคือแคมเปญต่างๆ จากแบรนด์เล็ก-ใหญ่ทั่วโลก ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการขาย แต่ในหลายๆ แคมเปญก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงมุมมองด้านความงามและเปิดโลกความหลากหลายให้สังคม
ย้อนรอยแคมเปญขับเคลื่อนความหลากหลาย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แคมเปญบิวตี้มากมายต่างหันมาใส่ใจความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะทั้งทางร่างกาย สีผิวและเพศ เพื่อทลายกรอบความคิดและมาตรฐานความงามแบบเดิมๆ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สนุกไปกับเรื่องความงามมากขึ้น
1.หลากหลายทางกายภาพ
WATCH
เริ่มต้นกับความหลากหลายทางกายภาพหรือร่างกาย ด้วยแคมเปญเปิดตัวมาสคาร่า L’Obscur จาก Gucci Beauty ในปี 2020 ที่ได้นางแบบดาวน์ซินโดรมอย่าง Ellie Goldstein มาร่วมถ่ายโปรโมตร่วมกับ Vogue Italia ซึ่งแคมเปญนี้สร้างกระแสฮือฮาทั่วโลก เพราะถือเป็นครั้งแรกๆ กับการเปิดโอกาสให้นางแบบที่ต้องเผชิญกับอาการดาวน์ซินโดรมมาเป็นเหมือนพรีเซนเตอร์แบรนด์บิวตี้ชั้นนำ และหลังจากนั้นมาเราจะเห็นนางแบบผู้พิการมากมาย ได้รับโอกาสในการถ่ายโปรโมตแบรนด์บิวตี้ ในเล่มนิตยสารรวมถึงบนรันเวย์อยู่เรื่อยๆ
อีกหนึ่งแบรนด์ที่อาจไม่ได้ออกเป็นแคมเปญยิ่งใหญ่ แต่ทำผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อผู้พิการที่ไม่สามารถใช้มือจับได้ นั่นคือแบรนด์ kohlkreatives กับเซ็ตแปรงแต่งหน้าที่ออกแบบให้ง่ายต่อการใช้ ซึ่งแม้จะเป็นแบรนด์เล็กๆ แต่ความตั้งใจในการขับเคลื่อนวงการบิวตี้ถือว่าแน่วแน่และมีเป้าหมายที่ชัดเจน
2.หลากหลายทางสีผิว
เรื่องความหลากหลายทางสีผิวเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงชัดเจนในวงการบิวตี้เมื่อแบรนด์ Fenty Beauty ของสาว Rihanna ออกผลิตภัณฑ์รองพื้นที่มีกว่า 40 เฉดสี ซึ่งในช่วงแรกที่แบรนด์วางขายรองพื้นตัวนี้ เฉดสีที่หมดเกลี้ยงในเวลาอันสั้นกลับกลายเป็นเฉดสีกลางถึงเข้ม นั่นทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาวงการบิวตี้ไม่ได้เปิดให้สาวผิวสีได้มีโอกาสเพลิดเพลินกับไอเท็มต่างๆ แต่กลับต้องรู้สึกเหมือนถูกแบ่งแยกเพราะสีผิวที่เข้มกว่ารองพื้นที่มีอยู่โดยตลอด
หรืออย่างรองพื้น Fit Me จากแบรนด์ Maybelline ที่มีเฉดสีกว่า 40 เฉดให้เลือกใช้ แถมมีเป้าหมายที่ต้องการสื่อกับสังคมว่าสิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการที่แบรนด์มีเฉดสีรองพื้นที่ ‘Fit’ กับเรา ไม่ใช่ว่าเราต้องไปพยายามทำสีผิวให้ ‘Fit’ กับสีของรองพื้นที่วางขาย
3.หลากหลายทางเพศ
พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศในวงการบิวตี้ หนึ่งแคมเปญที่เรียกว่าเกือบทุกแบรนด์ต่างออกมาขับเคลื่อนกันอย่างชัดเจนนั่นคือแคมเปญในเดือน Pride Month นั่นเอง อย่างการทำแพ็กเกจจิ้งลิมิเต็ดที่ใส่สีสันของธง Pride ไว้ ซึ่งแม้แคมเปญนี้อาจดูเหมือนไม่ช่วยอะไร แต่แท้จริงนั้นแคมเปญนี้ช่วยสร้างความรับรู้และความตระหนักเรื่องเพศที่มีหลากหลายในสังคม
นอกจากนี้ในปัจจุบันเหล่าเซเลบฯ และอินฟลูเอนเซอร์ต่างเริ่มมาทำแบรนด์บิวตี้ตัวเองมากขึ้น ซึ่งเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างทำแบรนด์บิวตี้ที่ไม่เพียงเพื่อทำธุรกิจ แต่ยังช่วยรณรงค์ความเท่าเทียมและการยอมรับในความหลากหลายอีกด้วย ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ต่างเป็นพลังที่คอยสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในสังคมอยู่ตลอด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสมัยก่อนแล้ว ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากเรื่อยๆ
สุดท้ายแล้วการยอมรับความหลากหลายจะเกิดขึ้นได้ในสังคมโลก ย่อมต้องการพลังจากทุกกลุ่มคน ไม่ใช่เพียงแค่วงการใดวงการหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญอย่าลืมเชื่อมั่นพลังของเสียงจากตัวเรา เพราะแม้หนึ่งเสียงอาจไม่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง แต่หากไม่มีหนึ่งเสียงที่เริ่มต้นก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในสังคม
WATCH