BODY

ชวนสังเกต! เล็บบุ๋ม...สัญญาณว่าร่างกายกำลังขาดสารอาหารบางอย่าง

อาการเล็บบุ๋มอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกําลังขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด

     เป็นปกติที่เล็บยาวก็ตัดทิ้ง หรือบางคนอาจไว้ความยาวเพื่อจะได้ตัดแต่งหรือเพนต์ลายให้สวยงาม แต่เมื่อไหร่ที่สังเกตว่า “เล็บบุ๋ม” ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะเล็บบุ๋มเป็นอาการที่อาจสันนิษฐานได้ว่าร่างกายกำลังขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางอย่างอยู่ ฉะนั้นสำหรับใครที่พบว่าตัวเองมีเล็บบุ๋ม หรือบางครั้งก็เป็นคลื่นร่วมด้วย ร่างกายกำลังจะบอกเราว่าขาดสารอาหารใด มารู้ไปพร้อมกันได้ในบทความนี้

 

ภาพ: ภาพถ่ายโดย Photo By: Kaboompics.com: https://www.pexels.com/th-th/photo/8093222/ 

เล็บบุ๋มมีลักษณะเป็นอย่างไร?

     “เล็บบุ๋ม” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Spoon Nails” หรือ เล็บรูปช้อน โดยทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า “Koilonychia” สังเกตได้จากเล็บที่จะมีรอยบุ๋ม รูปร่างดูเหมือนช้อน แทนที่จะยาวตรง เล็บจะโค้งเข้าด้านใน รอยบุ๋มที่โค้งอาจเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนบนเล็บ รอยบุ๋มจะค่อยๆ เห็นชัดเมื่อเล็บยาวขึ้น และนอกจากรอยบุ๋มแล้ว เล็บอาจยังมีอาการเปราะบางและแตกหักได้ง่ายด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเล็บบุ๋มมักเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพหรือภาวะขาดสารอาหาร

 

เล็บบุ๋มเพราะขาดธาตุเหล็ก

     สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของเล็บบุ๋มคือ “โรคโลหิตจาง” อันเนื่องมาจากการขาด “ธาตุเหล็ก”  ซึ่งเมื่อร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็ก หรือไม่ได้รับธาตุเหล็กเพียงพอต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ระดับธาตุเหล็กที่ต่ำก็จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปที่นิ้วมือและนิ้วเท้าได้ไม่ดี เล็บจะอ่อนแอ และมีอาการบุ๋มได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากธาตุเหล็กแล้ว การขาดวิตามินซี ซิงก์ ทองแดง ซีลีเนียม และกรดอะมิโนอื่นๆ ก็อาจทำให้มีอาการเล็บบุ๋มได้เช่นกัน 

 

ภาพ: ภาพถ่ายโดย jovan barretto: https://www.pexels.com/th-th/photo/9916960/ 

เล็บบุ๋มจากสาเหตุอื่นๆ

     การขาดธาตุเหล็กหรือสารอาหารบางชนิดไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เล็บบุ๋มได้ แต่เล็บบุ๋มยังเกิดขึ้นได้จากภาวะทางสุขภาพอย่างอื่น อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลูปัส โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ รวมถึงภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย โดยทุกเพศทุกวัยสามารถพบอาการเล็บบุ๋มได้ บางคนเกิดมาพร้อมกับเล็บบุ๋มเลยด้วยซ้ำ แต่ในทารกแรกเกิดร้อยละ 33 อาการจะหายไปเอง

 

หากเล็บบุ๋มควรทานอะไรเพิ่ม?

     หากเล็บบุ๋มเพราะเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก สามารถทานธาตุเหล็กเพิ่มในรูปแบบอาหารเสริม หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือบริโภคอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก อาทิ เนื้อแดง ถั่วเลนทิล ดาร์กช็อกโกแลต ผักใบเขียว ตับ และเต้าหู้ เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องรู้ไว้ว่าร่างกายของคนเราจะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ได้ดีกว่าแหล่งอื่น เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ทานมังสวิรัติจะต้องกินผักและผลไม้ที่มีธาตุเหล็กมากขึ้น โดยผลไม้ที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ อินทผลัม มะกอก ลูกพรุน และลูกเกด เป็นต้น 

 

วิธีดูแลเล็บระหว่างรอหาย

     ระหว่างที่กำลังเติมธาตุเหล็กให้ร่างกาย ยังแนะนำให้ดูแลเล็บที่อยู่ในช่วงเปราะบางนี้ด้วยการตัดเล็บให้สั้น และดูแลให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจแทรกแซงได้ นอกจากนี้ยังควรทาครีมหรือทาน้ำมันสำหรับบำรุงเล็บเป็นประจำหลังอาบน้ำ และจำไว้ว่าไม่ควรกัดเล็บหรือแคะเล็บ ควรสวมถุงมือทุกครั้งที่ล้างจานหรือสัมผัสกับสารเคมี ที่สำคัญยังไม่แนะนำให้ทาเล็บจนกว่าเล็บจะกลับมาเป็นปกติ 

 

     “เล็บบุ๋ม” เป็นอาการที่พบได้บ่อย และส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหากใครมีความกังวลใจ หรือมีอาการเล็บบุ๋มเป็นเวลานานที่เสริมธาตุเหล็กเพิ่มแล้วก็ยังไม่หายเสียที ก็แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

 



WATCH



ข้อมูล : health.com, healthline, my.clevelandclinic.org

WATCH