WATCHES & JEWELLERY

ย้อนดูการเดินทางของอัญมณีชั้นยอด Van Cleef & Arpels ที่โลดแล่นผ่านราชวงศ์ระดับโลก

เพชรอยู่ที่ไหนก็เป็นเพชร

ปี 1900s

การตกหลุมรักมักเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ดีอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์หน้าแรกของแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ ที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการแต่งงานของ Estelle Arpels กุลธิดาจากตระกูลผู้ค้าอัญมณี และ Alfred Van Cleef กุลบุตรของตระกูลช่างเจียระไน ความหลงใหลในรัตนชาติชักพาให้หนุ่มสาวเกิดความรักและสมรสกันในปี 1895 นำไปสู่การก่อตั้งเมซงขึ้น ณ 22 Place Vend.me ในปี 1906 เป็นธุรกิจที่อัลเฟรดก่อตั้งร่วมกับพี่ชายทั้ง 3 คนของภรรยา คือ Charles, Julien และ Louis ซึ่งล้วนมีความชำนาญทั้งเรื่องการค้าอัญมณีและการตลาด ความเชี่ยวชาญและมองการณ์ไกลของพวกเขา เห็นได้จากการเลือกทำเลบูติกแห่งแรกที่ตั้งใจให้อยู่ตรงข้ามกับ H.tel Ritz โรงแรมหรูใจกลางกรุงปารีสที่ชนชั้นสูงจากฝั่งยุโรปและนักธุรกิจชั้นนำจากฝั่งอเมริกาพากันสวนสนามเข้ามาพักไม่ขาดสายจึงแน่นอนว่าไม่นานหลังจากเปิดตัวชื่อของแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ก็ฟุ้งไปทั่วทวีป ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับชั้นเลิศ

ปี 1920s

ผลงานชิ้นเด่นในช่วงแรกของเมซงคือสร้อยข้อมือและเข็มกลัดที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างอ่อนช้อยเลียนแบบรูปดอกกุหลาบ เทคนิคการฝังทับทิมและเพชรเป็นช่อกุหลาบของแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ขณะนั้นทำให้ชิ้นงานออกมาดูสมจริงและโดดเด่นจนได้รับรางวัล Grand Prize จาก The International Exposition of Modern Industrial and Decorative Arts ในปี 1925 ซึ่งเป็นงานเอกซ์โประดับโลกจัดโดยรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อส่งเสริมงานออกแบบหลากหลายแขนง และเป็นเวทีแจ้งเกิดนวัตกรรมอันล้ำสมัยมากมายรวมถึงเทคนิคการทำเครื่องประดับด้วยเทคนิคการประดับเรือนอัญมณีของแบรนด์นั้นมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งที่โดดเด่นที่สุดในช่วงทศวรรษ 1930 คือ Serti My stérieux หรือ Mystery SetTM ซึ่งได้จดลิขสิทธิ์ในปี 1933 เป็นเทคนิคการฝังอัญมณีแบบซ่อนหนามเตยเพื่อให้รัตนชาติเลอค่าที่เลือกเฟ้นมานั้นอวดโฉมสู่สายตาได้โดยไม่มีอะไรบดบัง ทว่าเทคนิคอาจทำให้เวลาในการทำเพิ่มขึ้นถึงกว่า 300 ชั่วโมงต่อเครื่องประดับหนึ่งชิ้น ส่งผลให้ในแต่ละปีแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ ผลิตเครื่องประดับในคอลเล็กชั่น Mystery SetTM ได้เพียงไม่กี่ชิ้น

ปี 1930s

แม้ครั้งยังเป็นสามัญชน Nazli Sabri ก็จัดว่าเป็นสาวสังคมโพรไฟล์หรู เธอเป็นหลานของพลอากาศตรี Muhammad Sharif Pasha นายกรัฐมนตรีอียิปต์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่มีเชื้อสายตุรกี ส่วนบิดาคือ Abdur Rahim Sabri Pasha เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและผู้ว่าราชการกรุงไคโรนาซลีเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยม Lycée de la Mère-de-Dieu ในไคโร และวิทยาลัย Collège Notre-Dame de Sion ในเมืองอะเล็กซานเดรีย แต่หลังจากมารดาเสียชีวิตเธอและน้องสาวก็ถูกส่งไปโรงเรียนประจำที่ฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลให้เธอโปรดปรานทุกอย่างที่เป็นฝรั่งเศสเช่นเดียวกับชนชั้นสูงในกรุงไคโรขณะนั้น เมื่อกลับมายังบ้านเกิดเธอถูกบังคับให้แต่งงานแต่ก็หย่าร้างทุกครั้งไป หากเส้นทางสู่ราชบัลลังก์ของเธอเริ่มขึ้นเมื่อสุลต่านแห่งอียิปต์ได้พบนาซลี ขณะที่เธอไปชมการแสดงอุปรากรในคืนหนึ่ง หลังจากนั้นพิธีอภิเษกสมรสก็จัดขึ้นและไม่นานจึงมีประสูติกาลเจ้าชาย Farouk (พระนามเต็มคือ His Sultanic Highness Farouk bin Fuad, Hereditary Prince of Egypt and Sudan) พระชายานาซลีจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีนาซลีแห่งอียิปต์

โดยคอลเล็กชั่นของสมเด็จพระราชินีนาซลีนั้นมีชิ้นที่โดดเด่นก็คือ เทียร่าและสร้อยพระศอที่ทรงสั่งทำจากแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์สำหรับสวมในพิธีอภิเษกสมรสของพระราชธิดาคือเจ้าหญิง Fa wzia Fuad แห่งอียิปต์ กับเจ้าชาย Mo hammad Reza Pahlavi มกุฎราชกุมารแห่งอิหร่าน และเครื่องประดับอีกชุดอันเป็นของขวัญสำหรับพระราชธิดา ประกอบด้วยมงกุฎองค์น้อย สร้อยพระศอ และพระกุณฑล 2 คู่ ก็ทรงสั่งทำจากแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์เช่นกัน โดยสร้อยพระศอใช้เพชรล้วนทั้งหมด 673 เม็ด น้ำหนักรวม 204.03 กะรัต หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าฟูอาดที่ 1 ทรงมีอิสระจากราชสำนักอียิปต์ แต่เพื่อคงไว้ซึ่งพระเกียรติแห่งอดีตสมเด็จพระราชินี จึงทรงจำเป็นต้องขายเครื่องประดับบางส่วนไปรวมถึงสร้อยพระศอบันลือโลกเส้นนั้น จนมาปรากฏอีกครั้งเมื่อปี 2015 ในงานประมูลของ So theby’s ในมหานครนิวยอร์ก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นจิวเวลรีของแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์



WATCH




WALLIS SIMPSON, DUCHESS OF WINDSOR (1896-1986 )

หลังจากที่พระเจ้า Edwardที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงประกาศสละราชบัลลังก์และ “สตรีที่ข้าพเจ้ารัก” จนถึงขั้นทำให้ตัดสินพระทัยสละฐานันดรสูงสุดนั้นก็ไม่ใช่สาวงามล่มเมือง แต่เป็น Wallis Simpson ม่ายสาวชาวอเมริกันที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง บันทึกที่กล่าวถึงเธอล้วนพูดถึงเสน่ห์ยามเข้าสมาคม ความเฉลียวฉลาด และการเป็นคู่สนทนาที่ดี ซึ่งดุ๊กแห่งวินด์เซอร์ยังทรงโปรดปรานการให้เครื่องประดับเป็นของแทนใจ สัญลักษณ์แห่งความรักที่พระองค์ทรงมอบให้วอลลิสนอกจากเข็มกลัดตัวย่อ W.E. (ที่โด่งดังเพราะ Madonna นำมาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ซึ่งเธอนั่งแท่นเป็นทั้งผู้กำกับและโปรดิวเซอร์) แล้ว วันคริสต์มาสเมื่อปี 1936 ยังมีของขวัญเป็นชุดเครื่องประดับทับทิมและเข็มกลัดเพชร Feuille de Houx ซึ่งแปลได้ว่า Holly Leaf หรือไม้ใบตระกูลฮอลลี่ ออกแบบโดยแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์

เมื่อทรงเข้าพิธีสมรสกับวอลลิสหลังจากย้ายไปอยู่กรุงปารีสดุ๊กแห่งวินด์เซอร์ก็ทรงออกแบบสร้อยข้อพระหัตถ์แซปไฟร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่า Bracelet-Jarretière หรือ Garter Bracelet (สร้อยแถบข้อมือ) สลักด้านใน ว่า “For Our Contract 18-V-37” เป็นของขวัญแต่งงาน ซึ่งวอลลิส ซิมป์สัน เองก็เคยยอมรับว่า “ฉันไม่ใช่ผู้หญิงสวยไม่มีอะไรน่ามองนัก ดังนั้นสิ่งที่ฉันทำได้คือแต่งตัวให้ดีกว่าคนอื่นๆ เวลาฉันเดินเข้าไปที่ไหนก็ตามแล้วผู้คนมองมาสามีของฉันจะภูมิใจได้ นั่นคือความรับผิดชอบหลักของฉัน” ถึงแม้จะไม่ได้ตำแหน่งควีน แต่ตำแหน่ง World’s Best Dressed List ฝ่ายหญิงก็ตกเป็นของดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ยาวนาน 10 ปีซ้อน ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ยังเป็นผู้ให้กำเนิดไอเดียสร้อยคอรูปทรงซิปในปี 1938 (ที่ต่อมากลายเป็นซิกเนเจอร์สำคัญชิ้นหนึ่งของแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์)

The 1940S HER IMPERIAL HIGHNESS PRINCESS SORAYA (1932-2001)

เจ้าหญิงโซรยาแห่งอิหร่านมีพระนามเดิมว่า Soraya Esfandiary-Bakhtiari มีชื่อเล่นว่า รายา บิดาของรายาคือ Khalil Esfandiary Bakhtiary ชาวอิหร่านเชื้อสายเผ่าบักติยารี มารดาคือ Eva Karl สาวชาวรัสเซียที่เกิดในเยอรมนี ครอบครัวของรายามีบทบาทเกี่ยวกับการปกครองและการทูตของประเทศอิหร่านมายาวนาน เมื่อเธออายุได้ 18 ปี กำลังจะเรียนจบจากโรงเรียนการเรือนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระเจ้าชาห์ทโมฮัมหมัด เรซารงหมั้นสาวน้อยนัยน์ตาสีมรกตด้วยพระธำมรงค์เพชรขนาด 22.37 กะรัต โดยพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวีนั้นทรงคุ้นเคยกับ แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์มานานแล้ว เครื่องเพชรในพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกหลายเซตก็ทรงสั่งจากทางเมซง ดังนั้นหนึ่งในเครื่องเพชรหลายชิ้นที่ทรงมอบให้โซรยาก็รวมถึง “Lovebird” สัญลักษณ์แห่งความรักและความกลมเกลียว ตุ้มหูแพลทินัมฝังเพชรทรงกลมเหลี่ยมเกสรและทรงแบเกต ประกอบกันเป็นรูปทรงคล้ายพัดสอดริบบิ้น และ Mimosa Clips เข็มกลัดทองทรงช่อมิโมซาประดับด้วยเพชรทรงกลมเหลี่ยมเกสร

7 ปี ให้หลังก่อนจะทรงหย่าด้วยเหตุผลว่าสมเด็จพระราชินีไม่สามารถตั้งพระครรภ์รัชทายาทได้ จึงเสด็จไปประทับกับพระบิดาและพระมารดาที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ยังทรงได้รับพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงโซรยา อัสฟานดิยารี-บักติยารี และเสด็จไปประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร เจ้าหญิงโซรยาได้เริ่มอาชีพเป็นนักแสดง ต่อมาในปี 1950 ทรงรับบทในภาพยนตร์เรื่อง I tre volti (The Three Faces) และเรื่อง She ในปี 1965 อีกทั้งยังทรงนิพนธ์อัตชีวประวัติ Le Palais des Solitudes หรือ The Palace of Loneliness ขึ้นเมื่อปี 1991 ซึ่งแม้จะทรงหย่าและต้องมาใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ก็ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงโซรยาตราบจนสิ้นพระชนม์

The 1950S HER ROYAL HIGHNESS THE GRAND DUCHESS JOSÉPHINECHARLOTTE (1927-2005)

เจ้าหญิงโจเซฟิน-ชาร์ลอตต์แห่งเบลเยียมเป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้า Leopoldที่ 3 กับสมเด็จพระราชินี Astrid ขณะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับพักผ่อนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1935 พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 กับสมเด็จพระราชินีแอสตริดทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สมเด็จพระราชินีสวรรคต ทำให้เจ้าหญิงโจเซฟินและพระอนุชาอีก 2 พระองค์คือเจ้าชาย Baudouin และเจ้าชาย Albert ต้องทรงสูญเสียพระราชมารดาไปตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงโจเซฟิน-ชาร์ลอตต์ทรงหมั้นกับรัชทายาทในราชบัลลังก์ลักเซมเบิร์กคือเจ้าชาย Jean พระโอรสพระองค์ใหญ่ในแกรนด์ดัชเชส Charlotte แห่งลักเซมเบิร์ก โดยเครื่องหมั้นของเจ้าหญิงเป็นชุดเครื่องประดับทับทิมออกแบบโดยแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ ประกอบด้วยเข็มกลัด Anemone Clip และพระกุณฑลทรงกลมซึ่งพระองค์ทรงใช้ในวาระต่างๆ อยู่ตลอดพระชนม์ชีพ พิธีอภิเษกสมรสที่จัดขึ้นเจ้าหญิงโจเซฟินทรงเทียร่าเพชร และมรกตที่สามารถเปลี่ยนเป็นสร้อยพระศอได้จากแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์อีกเช่นกัน รวมทั้งสร้อยข้อพระหัตถ์แพลทินัมประดับเพชรและสร้อยพระศอเพชร 

MAHARANI OF BARODA* (1917-1989)

Sita Devi ประสูติที่เมืองมาดราส ประเทศอินเดีย เป็นธิดาของมหาราชาแห่ง Pithapuram หลังจากอภิเษกกับ Pratap Singh Rao Gaekwar มหาราชาแห่งบาโรดาในปี 1943 ซึ่งเป็นการอภิเษกครั้งที่ 2 ของทั้ง 2 พระองค์ซึ่งขัดแย้งกับทั้งทางศาสนาและขนบสังคมในอินเดียอย่างหนักหน่วง สิตาเทวีนั้นได้รับฉายาว่า “วอลลิส ซิมป์สันแห่งอินเดีย” เพราะทักษะการเข้าสังคม โดยทั้ง 2 พระองค์เสด็จไปยังโมนาโก มหาราชาแห่งบาโรดาทรงซื้อแมนชั่นในมอนติคาร์โลประทานให้เป็นที่ประทับถาวรของมหารานี รวมถึงพรมปักไข่มุกอันลือชื่อของบาโรดา Star of the South หรือ Estrela do Sul เพชรทรงคุชชั่นน้ำหนักกว่า 120 กะรัต รวมถึง English Dresden เพชรน้ำหนักกว่า 100 กะรัตและอัญมณีล้ำค่าอีกมากมาย มหารานีแห่งบาโรดานับเป็นลูกค้าชั้นเลิศของแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นคอลเล็กชั่นสร้อยข้อพระหัตถ์ที่ยิ่งไล่ดูยิ่งทวีความหรูหรา และสะท้อนถึง “ไลฟ์สไตล์ระดับมหารานี” เช่น สร้อยประดับด้วยจี้รูปขวดมาร์ตินีเชกเกอร์ ก้อนน้ำแข็ง และอื่นๆ อีกมากมาย ท่ามกลางขุมสมบัติเหล่านี้ ชิ้นที่เด่นที่สุดคือ Hindou สร้อยพระศอเพชรประดับมรกตโคลอมเบียที่แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ได้ออกแบบถวายในปี 1950 พร้อมพระกุณฑลระย้าทรงกลมเข้าชุด

HER SERENE HIGHNESS PRINCESS GRACE OF MONACO (1929-1982)

Grace Kelly เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในฮอลลีวู้ดมาตั้งแต่รับเล่นภาพยนตร์เรื่อง Dial M for Murder ของ Alfred Hitchcock และได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงในปี 1955 จากภาพยนตร์เรื่อง The Country Girl เธอจึงเป็นตัวแทนฝั่งอเมริกาไปร่วมงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในเดือนเมษายน 1955 ในงานนั้นเธอได้รับเชิญให้ไปร่วมถ่ายภาพในพระราชวังโมนาโกกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 หากตอนนั้นเกรซกำลังคบหาอยู่กับนักแสดงหนุ่มชาวฝรั่งเศส จนกระทั่งในเดือนธันวาคมเจ้าชายเรนีเยร์เสด็จมาสหรัฐอเมริกาและหาโอกาสพบเกรซ เคลลี และไม่ถึง 3 วันเจ้าชายเรนีเยร์ก็ทรงขอเธอแต่งงาน หลังจากพิธีหมั้นหมายในปี 1955 เจ้าชายเรนีเยร์กำนัลว่าที่พระชายาด้วยสร้อยข้อพระหัตถ์ไข่มุก 3 สายประดับดอกไม้เพชร และแหวนมุกประดับเพชรเข้าชุดจากแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ตามคำแนะนำของหลุยส์ อารเปลส์ ซึ่งบอกว่าไข่มุกจะเข้ากับความงดงามอ่อนช้อยของเกรซและยังมีสร้อยไข่มุก 3 สายประดับเพชรและตุ้มหูเข้าชุดกันอีกคู่เป็นของขวัญในวันอภิเษกอีกด้วย สำหรับโอกาสที่ไม่เป็นทางการเจ้าหญิงโปรดสร้อย Alhambra ทรงกลีบโคลเวอร์ 4 แฉก ซึ่งทรงมีสะสมอยู่หลากหลายวัสดุ ทั้งชนิดลายกระดองเต่า ปะการัง ลาพิสลา ซูลี มาลาไคต์ และเปลือกมุกซึ่งโปรดสวมยามออกงานค่ำคืน คอลเล็กชั่น Al hambra ชิ้นแรกเป็นจี้และสร้อยคอยาวทำจากทองคำบนเอกสารของทางแวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: van cleef arpels diamond history royal