LIFESTYLE

ล้วงแนวคิด 2 อินฟลูเอนเซอร์สาวที่มองว่าการเมืองจะไม่ใช่เรื่องที่พูดไ่ม่ได้อีกต่อไป!

เมื่อการเมืองคืบคลานเข้ามาทุกอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้น การนิ่งเฉยจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของสถานการณ์อีกต่อไป

     ความร้อนแรงด้านการเมืองในประเทศนั้นทำให้เกิดประเด็นต่างๆ ให้เราถกเถียงพูดคุยกันได้มากมาย ทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป ประเด็นละเอียดอ่อนบางอย่างถูกห้ามพูดถึงหรือจำกัดการพูดถึงด้วยภาระหน้าที่ต่างๆ หนึ่งในอาชีพที่ทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและการเป็นกระบอกเสียงในแนวคิดของตัวเองได้ก็คือ “อินฟลูเอนเซอร์” วันนี้เราจะพาไปคุยกับอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้และไลฟ์สไตล์ที่กล้ายืนหยัดในแนวคิดของตัวเองและตระหนักถึงปัญหาของสภาพสังคมในปัจจุบันโดยยอมแลกกับราคาความเสี่ยงที่อาจจะต้องจ่ายมหาศาล...

มารีญา พูนเลิศลาภ ผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนักแน่น

     ก่อนหน้านี้เราเห็นมารีญา พูนเลิศลาภได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนและยอมจ่ายราคาทางสังคมด้วยคิวงานต่างๆ เพื่อก้าวมาเป็นกระบอกเสียงสำคัญในกลุ่มความเห็นทางการเมือง ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากที่อดีตนางงามจักรวาลของประเทศไทยสลัดภาพความสวยหรูคู่มงบนเวที สู่การประกาศตัวและจุดยืนเป็นผู้ยืนหยัดในแนวคิดและอุดมการณ์ในขั้วของคนยุคใหม่ การกล้าเข้ามาเผชิญและพูดในสิ่งที่เน้นย้ำถึงสิทธิเสรีภาพที่ทำให้เธอเสียอิสระในการรับงานทำให้เรายิ่งอยากทราบถึงหัวอกของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ว่าการที่เขาต้องทำงานรูปแบบนี้ไปพร้อมกับการใช้แพลตฟอร์มเดียวกันในการพูดถึงเรื่องการเมือง พวกเธอกำลังใช้พลังเสียงที่ตัวเองมีอยู่จากแสงสปอตไลต์ในโซเชียลมีเดียให้ได้มากที่สุด

จูเนียร์-กมลชนก รัตนสุนทร อินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ไฟแรงที่ไฟแรงยันเรืื่องการบ้านการเมือง

     วันนี้อินฟลูเอนเซอร์สาว 2 คนคือ จูเนียร์-กมลชนก รัตนสุนทร และ มายด์-ประสิตา จักษ์ตรีมงคล มาเปิดอกคุยกันกับโว้กอย่างลึกซึ้ง เราเริ่มด้วยนิยามของคำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” ในสายตาพวกเธอเอง ทั้งคู่มองเหมือนกันคือความซื่อสัตย์และจริงใจแก่ผู้เสพคอนเทนต์ ทุกอย่างตั้งบนรากฐานถึงความจริงใจ “แม้คนจะรู้ว่าเราถูกจ้างมารีวิวแต่ส่วนตัวไม่ได้มองเป็นแค่การรีวิวแต่มันยังรวมถึงการพูดถึงอย่างจริงใจ มุมมอง ทัศนคติ และชีวิตส่วนตัวอื่นๆ ด้วย” คุณจูเนียร์อธิบายเสริมถึงการนิยามอาชีพตัวเองและเสริมอีกว่า “เราคาดหวังว่าชื่อเสียงและงานอยู่แล้ว แต่ที่เราคาดหวังอีกมุมหนึ่งคือเราสามารถใช้เสียงที่เรามีอยู่อย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและสังคม” ซึ่งความจริงใจและพูดความจริงตรงนี้ยิ่งทำให้เห็นคาแรกเตอร์ว่าเธอไม่ได้สนใจแค่ตัวเองเท่านั้น แต่การสร้างพลังให้ตัวเองย่อมสามารถสร้างเสียงที่แข็งแกร่งเพื่อพูดแทนสังคมในเรื่องที่เราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย



WATCH




มายด์-ประสิตา จักษ์ตรีมงคล คุณหมอสาวสวยผู้รับบทอินฟลูเอนเซอร์

     “อาชีพอะไรก็ออกความเห็นทางการเมืองได้นะคะ” ทั้งคู่ตอบประเด็นนี้อย่างมั่นใจเหมือนกัน โดยคุณมายด์ย้ำว่า “ยิ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ยิ่งต้องเป็นกระบอกเสียงให้คนได้รับผลกระทบได้ค่ะ” ซึ่งจูเนียร์อธิบายเพิ่มเติม “ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์เติบโตมาพร้อมๆ กับยุค Gen Z ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น ถ้าเราได้เห็นปัญหาแบบนี้แล้วยังเพิกเฉย ลอยตัวเหนือปัญหาก็จะกลับไปสู่ปัญหาวังวนเดิมเป็นเวลานานต่อไป” ความหมายในอีกแง่หนึ่งคือเด็กรุ่นใหม่ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้นเริ่มเห็นปัญหามากขึ้น ทั้งเบื้องหน้าและความขัดแย้งเชิงระบบเบื้องหลัง การกดทับของสังคมทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถพูดในสิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่โอเค แนวคิดเดียวกันนี้ทำให้ทั้งมายด์และจูเนียร์กล้าพูดเพราะมันคือปัญหาเชิงระบบที่เกาะติดสังคมมาเป็นเวลานาน ถึงเวลาที่คนรุ่นพวกเธอและตัวเธอเองไม่สามารถปล่อยผ่านได้เพราะเหตุผลเรื่องข้อจำกัดของข้อมูลอีกต่อไป

     “สิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ไม่คิดว่าจะพ่วงเอาเรื่องงานและความมั่นคงมาเกี่ยวข้อง” คุณมายด์ตอบกลับคำถามเรื่องความมั่นคงของตัวเองหากแสดงความเห็นทางการเมือง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพนี้เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกมองว่าเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ต่างๆ มากที่สุดด้วยเหตุผลต่างๆ นานา โดยเฉพาะความมั่นคงทางรายได้ที่อาจหายไปในพริบตาหากไม่ได้รับงาน ทุกอย่างมีด้านดีด้านเสีย การรีวิวเป็นเหรียญสองด้านเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเสมอ “คนไม่ได้สนใจว่าคุณจะยิ่งใหญ่ เป็นใครมาจากไหนเท่าเมื่อก่อน แต่ชื่อเสียงความดังที่สร้างขึ้นเองในปัจจุบันมีอิทธิพลมากไม่แพ้กัน แต่จะให้คนยอมรับคุณแบบไหนถ้าแม้แต่ความกล้าหาญ(ที่จะพูดในเรื่องละเอียดอ่อนบางเรื่อง)ยังไม่มี” คุณจูเนียร์สะท้อนการเป็นกระบอกเสียงอย่างแน่วแน่

     พอเห็นความตั้งใจในการแสดงจุดยืนแล้วเราจึงถามถึงวิธีการแสดงออกบ้าง ซึ่งจุดนี้เราได้เห็นความแตกต่างของคุณจูเนียร์และคุณมายด์ โดยคุณมายด์จะเน้นไปเรื่องของการสร้างแรงตระหนักผ่านแพลตฟอร์มส่วนตัวเองของตัวเองและย้ำว่า “การที่เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์เราก็ต้องกรองข่าวนะคะ ต้องเลือกแหล่งที่มาที่มีความน่าเชื่อถือ  คิดว่าน่าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ติดตามเราได้ไม่มากก็น้อยค่ะ” ส่วนคุณจูเนียร์มีหลายครั้งถึงขั้นลงพื้นที่จริง “เป้าประสงค์ในการที่ทำ(ไปร่วมกิจกรรม) คืออยากให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นของทุกคนให้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น” ทั้งคู่กล้าออกมายืนในพื้นที่ที่ตัวเองมั่นใจและคิดว่าจะสร้างพลังเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้มายด์ยังฝากข้อคิดว่า “อย่าเพิ่งรีบตัดสินใครนะคะ เพราะคนเรามีข้อจำกัดในชีวิตต่างกัน บ้างก็แสดงออกชัดเจน บ้างก็ช่วยเบื้องหลัง บ้างก็ไม่ได้ให้ใครรับรู้ แต่ทุกคนต้องเคารพสิทธิการตัดสินใจของกันและกัน”

     เลิกจ้าง! คำนี้อาจจะไม่ใช่คำใหม่ในสายอินฟลูเอนเซอร์เพราะปกติอาชีพสายนี้จะรับเป็นงานๆ อยู่แล้ว ทว่าสำหรับการเลือกจ้างด้วยเหตุผลทางการเมืองถือเป็นเรื่องใหม่มาก ทั้งมายด์และจูเนียร์ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้กับตัวเองโดยตรง แต่เมื่อถามถึงความเห็นทั้งคู่ตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า “ไม่ควรเกิดขึ้น” โดยมายด์เน้นว่า “เราอยากให้คนอื่นเคารพในความเห็นทางการเมืองของเราอย่างไรเราก็ควรเคารพคนอื่นเช่นนั้น เป็นที่น่าชื่นชมมากกว่าที่เขาสามารถแยกเรื่องการเมืองกับเรื่องงานออกจากกันค่ะ” และจูเนียร์ก็เสริมอีกว่า “อยากให้สังคมเปิดมุมมองใหม่ ไม่เอาการเมืองมาผูกติดกับผลงาน” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรากฐานของหลักประชาธิปไตยที่พวกเธอสนับสนุนมาโดยตลอด โลกที่อคติบางเรื่องจะไม่ถูกนำมาข้องเกี่ยวกับการทำงานอย่างมืออาชีพ

     ถึงแม้ว่าจะได้ประโยชน์จากการเป็นกลุ่มคนที่มีช่องทางสร้างโอกาสได้มากกว่าผู้อื่นแต่สาวสวยทั้ง 2 คนก็ไม่เคยเพิกเฉยต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมที่หนักข้อขึ้นทุกที “ประเทศนี้ควรให้สิทธิ์ประโยชน์เท่าเทียมกันมากกว่ามองเรื่องผลประโยชน์ที่มันกระจายอยู่แต่กลุ่มเล็กๆ มันมีตัวแปรหลายอย่างที่ทำให้สิทธิประโยชน์นั้นโดนกดทับ” สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไม่ใช่การลากขาคนด้านบนให้ต่ำลงแต่พัฒนาด้านล่างให้ได้ตามสิทธิ์ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยก็ตามความเป็นมนุษย์และสถานะประชาชนของรัฐให้ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมายด์เองก็เห็นไปในทางเดียวกันพร้อมกล่าวว่า “มายด์คิดว่าการที่ช่องว่างทางสังคมลดลง เศรษฐกิจดีขึ้น คนมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นน่าจะยิ่งเป็นผลดีกับอาชีพอินฟลูเอนเซอร์นะคะ” แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายทุกคนเห็นถึงรากฐานที่มาของรายได้และคุณภาพชีวิตซึ่งเกิดจากคนในสังคมผลักดันให้ ไม่ได้สร้างมาได้ด้วยปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว ปัจจัยรอบข้างสำคัญ ไม่ว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุง หรือพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน ถ้าโครงสร้างระบบยังไม่เอื้อ ก็พัฒนาไม่ได้เต็มที่

     ปิดท้ายกับทั้ง 2 สาวด้วยคำถามอมตะเรื่องความเห็นเกี่ยวกับคำว่า “อุดมการณ์กินไม่ได้” โดยมายด์ตอบอย่างชัดเจนโดยใช้หลักการยอมรับผลในการตัดสินใจว่า “คิดว่าต่างคนต่างความคิดนะคะ ความแตกต่างกันทางความคิดเป็นสิ่งที่ปกติมากๆ ทุกคนมีสิทธ์คิดต่างกัน มีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นต่างกันค่ะ คิดว่าเราต้องกลับมามองตัวเองมากกว่าว่าอุดมการณ์ของเรามันจริงไหม ทำไมเราถึงเชื่อแบบนั้น ถ้าคิดดีแล้วมันไม่ผิดเลยที่จะยึดมั่นในอุดมการณ์นั้นค่ะ และเราก็จะไม่เสียใจในผลลัพธ์ที่ตามมาเช่นกัน” การคิดไตร่ตรองถึง “การเลือกเชื่อ” ทำให้แนวคิดของเธอแข็งแกร่ง ไม่ใช่แค่การลื่นไหลไปตามเทรนด์ แต่คือการตรวจสอบตัวเองทุกครั้งว่าเชื่อและยึดมั่นสิ่งนี้จริงไหม จะกินได้หรือไม่นั้นไม่รู้แต่มายด์ตัดสินใจยอมรับผลทั้งหมดจากการเลือกเชื่อในแนวความคิดๆ หนึ่งแล้ว เธอไม่เสียใจที่เลือกมันจริงๆ

     ส่วนจูเนียร์เป็นมุมมองที่ทำให้เราเห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่าไม่ได้มองอุดมการณ์เป็นการต้องสู้เพื่อเกิดสถานะผู้แพ้-ผู้ชนะและเธอจะเสียผลประโยชน์อย่างไรกับการลงสนามครั้งนี้ “ไม่อยากโฟกัสว่าอินฟลูเอนเซอร์จะเสียรายได้อย่างไร อยากให้มองว่าเราอยู่ในสายอาชีพนี้เปรียบเสมือนสื่อๆ หนึ่ง ในเมื่อวันหนึ่งมีกลุ่มคนที่ถูกสังคมกดทับออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หนึ่งในนั้นอาจเป็นผู้ติดตามของเราเองทำไมเราจะสนับสนุนไม่ได้” ซึ่งสาวหน้าใสวัย 26 ปีก็ปิดท้ายได้อย่างหนักแน่นว่า “ทำไมคนกินอยู่สุขสบายดีและรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่พร้อมกันถึงเพิกเฉยกับเรื่องราวที่ทั่วโลกต่างก็รับรู้ ถ้าคนเหล่านั้นเห็นด้วยกับความผิดปกติจริงๆ นั่นล่ะที่เรียกว่าความล้มเหลวตลอดไป” เพราะฉะนั้นอุดมการณ์ของจูเนียร์มันไม่ได้สะท้อนว่ากินได้หรือไม่ได้แต่อุดมการณ์หรือแนวคิดต่างๆ เป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีมุมมองต่อสังคมอย่างไรและจะพัฒนาให้มันก้าวต่อไปอย่างไร ในเมื่อเธอมั่นใจว่าเชื่อในสิ่งที่ถูกอุดมการณ์นั้นจะไม่ได้ทำให้เธอสุขสบายเท่านั้น แต่จะทำให้คนทุกคนในสังคมกินได้จริงๆ

 

     สุดท้ายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเผยความรู้สึกถึงความเข้มข้มภายในความคิดไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังหรือหักห้ามอีกต่อไป มันคือการส่งพลังเสียงให้ก้องกังวาลเพื่อป่าวประกาศว่าสังคมกำลังมีอะไรเกิดขึ้น และเรามีความคิดเห็นอย่างไร สังคมกำลังผิดเพี้ยนหรือไม่ เราอยากจะแก้มันอย่างไร คำว่า “ไม่ยุ่งการเมือง” อาจจะเป็นแค่มายาคติหลอกลวง เพราะแท้จริงแล้ว “การเมืองยุ่งกับเราตลอดเวลา” ต่างหากที่เป็นความจริงเสมอมา...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Politics