LIFESTYLE

วัฒนธรรม: ปัจจัยตัดสินความร้ายแรงเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในทุกประเทศทั่วโลก

     ตอนนี้ทั่วโลกกำลังวุ่นวายอยู่กับเจ้าเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกหน่วยงานต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงหายนะที่กำลังจะมาเยือนมนุษยชาติ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่เร่งมือสู้กับเชื้อไวรัสนี้อย่างสุดความสามารถ ทั้งโลกต้องรวมใจเป็นหนึ่งเพื่อต่อสู้กับภัยร้ายรูปแบบโรคระบาด องค์กรอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศแล้วว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้อยู่ในขั้นระบาดรุนแรงทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งเท่ากับว่าเชื้อนี้แพร่กระจายอยู่ทั้งโลกทั่วทุกทวีป แต่นอกเหนือจากเรื่องวิทยาศาสตร์ยังมีเรื่องสังคมวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเอยหรือแม้กระทั่งอัตราความเร่งในการแพร่ระบาดเอย 2 สิ่งนี้มันกลับเชื่อมโยงกับเรื่องวัฒนธรรม วันนี้เราจะวิเคราะห์กันว่าทำไมบางประเทศถึงเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างรวดเร็วในขณะที่บางประเทศมีต้นตอการระบาดแต่ตัวเลขหยุดนิ่งอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างการทักทายด้วยการสัมผัสและจูบแบบชาวอิตาเลียน / ภาพ: AP

     เราเริ่มมองตัวเลขของประเทศอิตาลีจะเห็นได้ชัดเจนว่าอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและพ่วงมาด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตที่คิดเป็นอัตราส่วนแล้วเยอะจนน่าตกใจ การแพร่ระบาดที่รวดเร็วนี้ไม่ใช่แค่มองผ่านมุมมองทางการแพทย์เท่านั้น แต่หมายถึงการมองถึงรากฐานทางวัฒนธรรมของคนอิตาลีด้วย ผู้คนชาวอิตาเลียนมักชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทำกันเป็นกลุ่ม จัตุรัสกลางเมือง สนามฟุตบอล และสถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆ คือที่ยึดเหนี่ยวชีวิตของคนที่นี่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วผ่านการรวมตัวขึ้นของกลุ่มคนจำนวนมาก ถึงแม้จะไม่มีใครแสดงอาการแต่โรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้แม้จะยังไม่มีอาการปรากฏขึ้นก็ตาม นอกจากนี้รูปแบบการทักทายหรือสังคมฉันมิตรแบบระยะประชิด (Closed Contact) ทั้งการสวมกอด จับมือ และจูบกันยิ่งทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตัวเลขอิตาลีจึงพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อวิเคราะห์กันตามหลักวัฒนธรรม

รากฐานการเหยียดคนชาติพันธุ์เอเชียว่าเป็นตัวเชื้อโรคโดยเฉพาะเมื่อสวมหน้ากากคือชุดความคิดที่นำหลายประเทศเข้าสู่หายนะ / ภาพ: AFP

     ยังไม่พ้นจากอิตาลีแต่เรื่องนี้จะรวมชาติตะวันตกหลายเชื้อชาติเข้าด้วยกันคือวัฒนธรรม “ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น” แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนมาก ทั่วโลกเคยชื่นชมความมีวินัยของเหล่าชาติยุโรปเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกคนเคยชื่นชมว่าประชาชนในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และอีกมากมาย มีความรับผิดชอบสูง “ป่วยถึงใส่หน้ากาก” ชุดความคิดนี้กลับกลายเป็นดาบทิ่มแทงชาติตะวันตกเสียเอง ณ เวลานี้ เพราะกลายเป็นว่าคน(คิดว่า)ไม่ป่วยจึงไม่ต้องใส่หน้ากากป้องกัน ใครใส่ก็ถูกมองว่าเป็นคนป่วยไม่ถูกยอมรับ ประสบการณ์จากนักเรียนแฟชั่นคนไทยในมิลานคนหนึ่งที่เราได้มีโอกาสพูดคุย เธอบอกกับเราว่า “เรากลัวโรคนี้จึงใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน แต่คนที่นั่นกลับเหยียดหยามเรา หาว่าเราเป็นตัวเชื้อโรค และคนท้องถิ่นเองกลับไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยเพราะคิดว่าไม่มีใครมีอาการคงไม่เป็นไร เราอึดอัดมากกับสถานการณ์นี้จึงตัดสินใจกลับประเทศไทย” ตอนนี้ความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องเปลี่ยนแนวคิดไปอย่างสิ้นเชิง ทุกคนอาจเป็นผู้แพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้ทั้งนั้น ชาติตะวันตกจึงต้องเก็บเป็นบทเรียนว่าวัฒนธรรมที่ถูกชื่นชมมาเป็นเวลานานมิได้แปลว่าจะเหมาะสมในทุกสถานการณ์ หันมาดูตัวเลขตอนนี้ก็คงต้องกุมขมับกันไปตามๆ กัน



WATCH




กรุงปารีสกลายเป็นเมืองสุดซบเซาในชั่วพริบตา / ภาพ: Forbes

      ถ้าพวกเขารู้ขนาดนี้ว่ารากฐานวัฒนธรรมของเขามันอันตรายถึงเพียงนี้ทำไมยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนกันจนถึงตอนนี้ คำตอบคือคำว่า “รากลึกทางวัฒนธรรม” มันไม่สามารถตัดตอนได้เหมือนกิ่งหรือใบหากเปรียบสังคมเป็นต้นไม้ การฝังรากลงไปในดินทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตัวเช่นนั้นโดยไม่เคยตระหนักถึงข้อเสียสักเท่าไร และยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวทำให้ผู้คนไม่ค่อยรักษาความสะอาดเท่าที่ควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนฝรั่งเศสและอิตาลีที่ไม่ได้มองว่าการชำระร่างกายเป็นธุระสำคัญมากนัก นอกจากนี้เรายังสามารถผูกโยงกับหลักเศรษฐศาสตร์ได้อีกว่าในภาวะอุปสงค์น้อยย่อมมีอุปทานมาตอบโจทย์น้อยเช่นกัน เรื่องหน้ากากเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดที่สุด เมื่อวันหนึ่งอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอุปทานไม่สามารถเพิ่มตามได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะวิกฤติที่สินค้าประเภทหนึ่งจะขาดแคลน เพราะฉะนั้นเราสามารถอนุมานได้ว่าด้วยรากลึกทางวัฒนธรรมของชนชาติยุโรปตะวันตกทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเข้าสู่สภาวะวิกฤติจริงๆ

ความตึงเครียดของชาวอิหร่านในยามประสบปัญหาเชื้อไวรัส / ภาพ: Nazanin Tabatabaee/WANA - Reuters

     ข้ามมาฝั่งอิหร่านกันบ้าง นี่คืออีกหนึ่งประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเร็วเป็นจรวดตอนนี้เกินเลข 5 หลักเป็นที่เรียบร้อย ถ้าถามชาวอิหร่านกำลังเผชิญปัญหาอะไร คำตอบคือวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับศาสนาและวิถีชีวิต การรวมตัวกันของศาสนิกชนอาจกลายเป็นดาบสองคมในบริบทที่กินความครอบคลุมไปกว่าประเด็นความเชื่อเรื่องศาสนา การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ การรวมตัวกันของญาติพี่น้องทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ถึงแม้เราจะเห็นการปกปิดมิดชิดสำหรับหญิงชาวมุสลิมแต่นั่นกลับเป็นที่สะสมเชื้อโรคได้อย่างดีเช่นกัน ผู้คนเองก็มักรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และจะเห็นได้อีกอย่างว่าการติดเชื้อพบมากในกรุงเตหะรานเมืองหลวงของประเทศ เพราะเมืองนี้มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น และผู้คนออกมารวมกลุ่มทำกิจกรรมรวมถึงเดินทางสัญจรเข้า-ออกประเทศหลักๆ ก็ต้องผ่านเมืองนี้ เพราะฉะนั้นรูปแบบของวัฒนธรรมของอิหร่านก็สร้างหายนะให้กับประเทศตนเองได้โดยไม่ตั้งใจ และรูปแบบของสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายเช่นนี้ยังสามารถใช้อธิบายการระบาดในประเทศสเปนที่มีลักษณะวัฒนธรรมคล้ายกันต่างเพียงศาสนาอีกด้วย

บรรยากาศความตึงเครียดกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในจีน / ภาพ: Foreign Policy

     วิ่งวนกลับมาหาต้นตออย่างจีนแผ่นดินใหญ่กันบ้าง หลังจากมียอดผู้ติดเชื้อกว่า 80,000 คนแต่ตอนนี้ประกาศว่ารับมือได้อย่างเด็ดขาดถึงขั้นส่งแพทย์ไปอิตาลีเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้ว หากเราย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่ยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จะเห็นรูปแบบวัฒนธรรมการทักทายมีการสัมผัสกันและยิ่งเป็นช่วงเวลาที่ข้อมูลของเชื้อตัวนี้ยังไม่เปิดเผยออกมามากนักทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าคนจีนมีหลายรูปแบบแต่วัฒนธรรมความเรียบง่าย(จนเกินไป) ของบางกลุ่มคนอาจสร้างหายนะได้ ทั้งการปล่อยสารคัดหลั่งต่างๆ เช่นการพูดไม่ปิดปาก จาม หรือแม้แต่ขากเสมหะในที่สาธารณะ นอกจากนี้คนจีนยังเป็นผู้รักการเดินทาง จะเห็นได้ว่าตัวเลขของผู้บินออกจากประเทศจีนนั้นสูงมาก ความชอบในการเดินทางกลายเป็นหายนะของมวลมนุษย์โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่โชคดีที่ตอนนี้ประเทศจีนมีมาตรการรับมืออย่างเป็นระบบจนควบคุมและประกาศชัยชนะต่อโรคร้ายนี้ได้แล้ว

แม้ในสถานการณ์ที่ไวรัสแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงคนญี่ปุ่นก็ยังไม่ละทิ้งหน้าที่การงานและยังคงสภาพความแออัดเช่นเคย / ภาพ: Kyodo

      สุดยอดระเบียบวินัยอย่างประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อในลำดับต้นๆ ของโลกในช่วงแรก เราคงคุ้นเคยกับสภาพความแออัดในรถไฟ ถนน หรือแลนด์มาร์กต่างๆ ของเมือง นี่เป็นคำตอบได้อย่างดีเยี่ยมเชิงวัฒนธรรมว่าแท้จริงแล้วชาวญี่ปุ่นไม่ใช่ไม่ระมัดระวัง แต่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้...พวกเขามักต้องสัญจรด้วยสภาพแออัดโดยเฉพาะในเมือง ผู้คนต่างขยันขันแข็งทำงาน ทุกคนคาดหวังจะเข้ามาสู่ใจกลางเมือง สุดยอดสถานที่ที่มีแต่สำนักงานชั้นยอด นั่นแปลว่ารูปแบบความขยันล้อมกรอบให้คนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน นั่นทำให้เชื้อโควิดมีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น แต่โชคดีที่ญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยสูง พอเริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อนี้ออกมาเยอะขึ้นจะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ป่วยชะลอลง เนื่องจากความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นของชาวญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงมาก เพราะฉะนั้นแม้พวกเขาจะต้องดำเนินชีวิตอย่างแออัดและเร่งรีบ แต่กลับไม่กระจายปัญหาโรคระบาดจนกลายเป็นหายนะ...

พฤติกรรมของ Rudy Gobert ที่เดินจับไมโครโฟนไปทั่วบริเวณสัมภาษณ์ก่อนจะตรวจพบเชื้อในวันถัดมา / ภาพ: Global News

     “ความเหลาะแหละและใช้ชีวิตแบบปัจเจกบุคคล” เหลาะแหละในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความเหลวไหลแต่หมายถึงการขาดซึ่งความตระหนักรู้ เราจะเห็นว่าชาวอเมริกันโดยเฉพาะวัยรุ่นให้ความสำคัญกับโควิด-19 ไม่มากเท่าที่ควร จากข่าว Ariana Grande เดือดถึงเหล่าคนหนุ่มสาวที่มองว่าถึงจะเป็นโรคนี้ไม่เห็นเป็นไร ความคิดเหล่านี้ถูกหล่อหลอมมาจากวิถีชีวิตแบบปัจเจกบุคคลนึกถึงตนเองเป็นลำดับแรก รวมถึงคาแรกเตอร์ความประมาทติดยียวนของใครหลายคนทำให้ผู้อื่นตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไม่น่าเชื่อ ดูตัวอย่างนักบาสเกตบอลชื่อดัง Rudy Gobert ที่ล้อเลียนติดตลกด้วยการสัมผัสไมโครโฟนบนโต๊ะสัมภาษณ์อย่างขำขัน วันต่อมาเขาถึงกับช็อกเมื่อทราบว่าตัวเขาติดเชื้อ นี่คือวิถีทางอเมริกันที่แท้จริง บางครั้งพวกเขาก็รอบคอบเสียเหลือเกิน บางครั้งพวกเขาก็เพิกเฉยต่อปัญหาอย่างน่าตกใจ ตัวเลขพุ่งสู่หลักหลายพันคนชาวอเมริกันอาจจะต้องทบทวนใหม่แล้วว่าพวกเขาเมินเฉยต่อปัญหาระดับโลกเกินไปหรือเปล่า

ความแออัดในการเข้าจุดคัดกรองโรคในสนามบิน / ภาพ: AFP

      และปิดท้ายกันด้วยประเทศไทยของเรา ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 100 กว่าคนทำให้เราอาจจะใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไป วัฒนธรรมผักชีโรยหน้าใช้อธิบายการกระทำของเหล่าผู้มีอำนาจได้เสมอ ความหละหลวมในการป้องกันและตรวจตราคือสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยเสมอมา ยกตัวอย่างเช่นการตรวจกระเป๋าที่รถไฟฟ้าใต้ดิน การตรวจอุณหภูมิ และอื่นๆ อีกมากมายดูหละหลวมอย่างน่าตกใจ อารมณ์ว่าทำแค่ทำให้จบๆ ไป กลายเป็นว่าประชาชนมิอาจรู้ถึงความเสี่ยงและไว้ใจในมาตรการต่างๆ ได้แม้แต่น้อย เรื่องนี้มันผักชีไปจนถึงจำนวนผู้ป่วย เพราะแท้จริงแล้วจากสถานการณ์คาดว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ด้วยตัวเลขเท่านี้หากไม่รู้ต้นตอคนภายนอกสามารถตัดสินได้ทันทีว่า “รับมือได้” แต่ความจริงเรายังเห็นสภาวะวิกฤติในหลายพื้นที่ จำนวนตัวเลขน้อยขนาดนี้จึงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีคนเป็น ด้วยปัจจัยหลายอย่างนี้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อหยุดนิ่ง...

ภาพสุดโด่งดังจากสำนักข่าว Reuters / ภาพ: Reuters/Stringer

     “ไม่ตรวจเท่ากับไม่เจอ” คือเรื่องจริง หลายครั้งเราอาจจะเล่นตลกโปกฮากันไป แต่สำหรับโควิด-19 วลีนี้กลับจริงที่สุด การตรวจเชื้อโควิด-19 นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมากเริ่มต้นที่ 3,000 ไปจนถึง 10,000 บาท ที่ประกาศกันว่าฟรีๆๆ ต้องตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อเท่านั้นจึงไม่เสียค่าใช้จ่าย ความโหดร้ายของวัฒนธรรมผักชีคือได้ภาพลักษณ์แต่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง หนำซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ตัวตนของวัฒนธรรมรากเหง้าแบบเก่าโบราณกลับมีผลอย่างมากในยุค 2020 นี้ เหมือนเรารู้ว่าทุกย่างก้าวคือความเสี่ยงแต่ไม่ได้รับความสำคัญเท่าผักชีอันสวยงามที่เป็นภาพลักษณ์จอมปลอม สิ่งนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน วันหนึ่งถ้าประเทศไทยไม่สามารถควบคุมโรคและเก็บเงียบต่อไปได้ การันตีได้เลยว่าตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งๆ ที่สามารถกันไว้ดีกว่าแก้ได้ แต่คนไทยอาจต้องเสี่ยงกับภาวะ “วัวหายล้อมคอก” แทน ถึงเวลานั้นเราอาจจะจัดการอะไรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะสถานการณ์หนักเกินรับมือไปเสียแล้ว วันนี้เราอาจจะต้องดูแลตัวเองเยอะขึ้น คิดถึงผู้อื่นมากขึ้น การติดเชื้อไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เราอาจจะแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้เหมาะสมขึ้น ปลอดภัยขึ้น และคำนึงถึงสังคมมากขึ้น แล้วเราจะผ่านความโหดร้ายนี้ไปด้วยกันทั้งโลก...

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19