FASHION

เพราะดังเลยหลงระเริงจนเกือบเจ๊ง! 10 ปีของ 'หมู' ASAVA บทเรียนแบรนด์ไทยที่น่าภาคภูมิใจ

10 ปีที่พลพัฒน์ อัศวะประภานำพา Asava ถอยห่างจากการเป็น “แบรนด์แฟชั่นไทย” ไปเป็น “แบรนด์ไทย” ไม่ใช่งานง่าย เขาฉลอง 1 ทศวรรษของการตัดเย็บผืนฝันอันสวยสาหัสนี้ผ่านแฟชั่น ด้วยรัก อย่างลุ่มหลง เพื่อประเทศไทย

10 ปีที่พลพัฒน์ อัศวะประภานำพา Asava ถอยห่างจากการเป็น “แบรนด์แฟชั่นไทย” ไปเป็น “แบรนด์ไทย” ไม่ใช่งานง่าย เขาฉลอง 1 ทศวรรษของการตัดเย็บ ผืนฝันอันสวยสาหัสนี้ผ่านแฟชั่น ด้วยรัก อย่างลุ่มหลง เพื่อประเทศไทย

“เราเริ่มมาจากบริษัทที่มีแค่ 4 คน ทำกันในห้องที่บ้าน เย็บเสื้อเดือนละ 15 ตัว มีช่าง 2 คน หน้าบ้านมีคนเข้าคิวรอซื้อเสื้อ ถุงยังไม่มีจะใส่ให้เลยคอลเล็กชั่นแรกเป็นสีเบจทั้งหมด คนที่เห็นบอกว่า ‘This is the toast of fashion’ ณ วันนั้นเราทำเสื้อจากรสนิยมและความฝันของตัวเอง 100% ซึ่งมันกลายเป็นความแปลกใหม่และความชัดเจนในวงการแฟชั่นไทยเมื่อ 10 ปีก่อนที่ยังไม่มีใครทำเสื้อโมเดิร์นคลาสสิก” เขาพูดถึงเหตุการณ์หลังจากวันที่ 8-8-2008 ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นหมอดูให้ตัวเองและเลือกฤกษ์ที่มีเลข 8 อันโปรดปรานเป็นวันถือกำเนิดแบรนด์อาซาว่า

“เราฝันมานานหลาย 10 ปีว่าอยากมีแบรนด์” บัณฑิต Parsons School of Art and Design บอก “เราทำแฟชั่นมาเป็น 10 ปีที่นิวยอร์ก ทั้งที่ Max Mara และ Marc Jacobs ฝันถึงแบรนด์เราว่าจะเป็นเสื้อผ้าประมาณนั้น ส่วนผสมระหว่างโครงเสื้อแบบอิตาลีและอเมริกันสปอร์ตส์แวร์”

หลังจากดิ้นรนค้นนิยามของสไตล์ใหม่ที่เรียกว่า Bangkok Sportswear ซึ่งอาจกล่าวอย่างภาคภูมิได้ว่าอาซาว่าเป็นผู้แนะนำให้วงการแฟชั่นไทยได้รู้จัก “ผู้หญิงเอเชียชอบความหรูหราที่เป็น Real luxury เพราะมีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนผู้หญิงฝรั่งที่มีสตางค์แค่ไหนยังกระโดดขึ้นแท็กซี่ แต่เอเชียค่าแรงถูก ทุกอย่างถูก คนเลยโก้ได้เต็มที่ และผู้หญิงเอเชียยังชอบความเฟมินินติดกลิ่นอาย Sexy cute ที่เรียกว่า ‘แบ๊ว’

“คำที่เราใช้บ่อยในการทำงานคือ ‘เดี๋ยวไม่คุ้ม’ เราพอใจกับกระโปรงทรงดินสอกับเสื้อเชิ้ตขาวเรียบๆ ตัวนี้แล้ว มันคือ Universal beauty ที่ไม่ว่ารูปร่างแบบไหน สีผิวแบบไหน ใส่สวยหมด แต่ตายในเมืองไทย เพราะคำแรกที่ลูกค้าจะพูดคือ ‘เรียบไป ไม่คุ้ม’ เสื้อเชิ้ตสีขาวเรียบๆ มีไว้ทำไม เราก็บอกว่ามีไว้ใส่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน อะไรหลายๆ อย่างเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าต้องเติมความเป็นเฟมินินที่ดูดราม่าขึ้น ให้ดูไม่ใช่ชิ้นเบสิก มีการปาดป้าย มีโบผูก ใส่ลูกไม้ ติดระบาย แต่โดยรวมแล้วคำว่า ‘โป๊ะปัง’ อยู่ห่างไกลจากเสื้อผ้าของเรามาก สู่ขวัญ (บูลกุล) คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของการแต่งตัวแบบ Effortless คนใช้คำนี้กันเยอะแต่ทำไม่เป็น เขาเป็นผู้หญิงที่รู้ตัวว่าแต่งเท่านี้พอดีแล้วไม่ดูตั้งใจมากจนแน่นเหมือนต้องกลั้นหายใจอยู่ตลอดเวลา

 

Asava, ASV, Uniform by Asava, White Asava และ Sava Dining ผลิตผลจากต้นไม้เดียวกันที่ชื่อ Asava Group “ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่และเป็นบ่วงอันใหญ่มากในชีวิต” เขายิ้มมั่นใจ “ถ้ามองว่าเป็นบ่วงผูกคอจะรู้สึกหนัก แต่เรามองว่ามันคือสร้อยเพชรและเราภูมิใจที่ได้มีสร้อยเส้นนี้ (มองไปรอบๆ) นี่คือความฝันของเราทั้งหมด” เกือบจะลุกไปปัดกลีบกุหลาบออกจากหลังไหล่ให้เขาอยู่แล้วเชียว ถ้าไม่ได้ยินเรื่องเล่าต่อมาเสียก่อน…

ภาพฝันทั้งหมดนี้ไม่เฉียดกรายความเป็นไปได้จริงเลย หากคุณถามพลพัฒน์ถึงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว “เหมือนเอาเงินไปทิ้ง” คำรำพันของเขาคละเคล้ากับเสียงทอดถอนใจ “มันคือวิกฤตทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการค้าไปด้วย ตอนนั้นเรากำลังไปได้ดี ทำให้เราตักเข้าปากมากกว่าที่เราจะเคี้ยวได้ เลยสำลัก แบรนด์ใหม่ก็จะเปิด ร้านใหม่ก็จะทำ มาร์เกตติ้งก็รุมเร้าว่าเสื้อเราแก่มาก เราหน้ามืดตามัว ทำตามกระแสตลาด ถามว่าคิดอะไรอยู่ คำตอบคือไม่ได้คิด พูดง่ายๆ ว่าเราหลงระเริง อัตตาเราใหญ่ ด้วยวัยที่มองทุกอย่างเป็น ME, ME, ME

“เราต้องตั้งสติและกำจัดขยะทิ้งไป กลายเป็นช่วงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของแบรนด์ เริ่มจากประเมินสไตล์การเป็นผู้นำของเราใหม่ ไม่เอาแล้วกับการทำเสื้อคืบ กระโปรงคืบ เราต้องการทำเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงที่มีปัญญาและรู้จักเนื้อแท้ของตนเอง เราบอกฝ่ายมาร์เกตติ้งว่าขอทำในสิ่งที่เป็นเฮือกสุดท้ายของเราเถอะ ขอกลับมาเป็นตัวเอง ถ้าไม่สำเร็จ เราจะปิดแบรนด์”

เราโตมากับการโดนคนเกลียดมาตลอดชีวิต บุคลิกของเราเป็นที่หมั่นไส้อยู่แล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก แม้แต่นิวยอร์กที่รวมคนหลากหลาย คนที่นั่นยังมองว่าเรานี่มัน...สุดติ่ง คือเราเป็นคนไม่น่าคบน่ะ หน้าตากวนประสาท ชอบพูดจาเปรียบเปรย ไม่ได้คิดร้ายนะ แต่เป็นเซนส์ความตลกที่มัน Dry มากจนชวนเข้าใจผิด พี่ชายเรายังพูดเลยว่าช่วงแรกๆ ที่แบรนด์เธอขายยากเพราะมันเหมือนตัวเธอนั่นแหละ มันสวย มันดีทุกอย่าง แต่มันไม่น่าคบ ถ้าฉันไม่ใช่พี่ชายเธอ ฉันก็ไม่คบเธอ เราเฮิร์ตนะ เราร้องไห้เลยกับสิ่งที่พี่เราพูด แต่มันคือความจริง เราก็เอามาปรับ

“การทำแบรนด์ไทยทุกวันนี้ต้องต่อสู้กับไฮแบรนด์ ฟาสต์แบรนด์ แบรนด์ไทยด้วยกันเอง และโซเชียลมีเดียที่สร้างค่านิยม Speed is beauty แต่คู่ต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือค่านิยมของคนไทย เราถูกสอนว่าการทำตัวเหมือนคนอื่นเป็นเรื่องดี ทำตัวเด่นจะเป็นภัย เราเปิดรับวัฒนธรรมจากทุกประเทศโดยไม่แยกแยะ แต่เมื่อเรามีของดีในตัวก็ไม่อยากโชว์เพราะเราต้องเจียมเนื้อเจียมตัว เลยกลายเป็นดาบสองคมของคนประเทศนี้ ทำให้สุดท้ายแล้วอาหารไทยที่ได้มิชลิน คนไทยกลับไม่กิน แต่สปาเกตตีแพงได้ อาหารไทยต้องถูก แบรนด์ไทยต้องถูก ความคิดสร้างสรรค์หรือมันสมองของคนไทยต้องถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้กันไปอีกหลายชั่วอายุคน

 

ช่างภาพ: Aekarat Ubonsri  
สไตล์: จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล
นางแบบ: อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์,
นัฐลี ดูเชียง
แต่งหน้า: สุคนธ์ สีมารัตนกุล
ทำผม: ทูนธรรม ชาญชลสมุทร



WATCH




หากคุณคือแบรนด์ไทยที่มีความฝันอยากทำธุรกิจแฟชั่นในมาตรฐานระดับสากล สมัครมาร่วมโครงการกับ Vogue Who's On Next โครงการเฟ้นหาดีไซเนอร์ไทยหน้าใหม่กับโว้ก ปี 2020 ได้ที่นี่

WATCH