FASHION

มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ จากเด็กชอบเย็บเสื้อตุ๊กตา สู่ดีไซเนอร์ Slow Fashion ระดับสากล

ทำความรู้จักกับ Slow Fashion ผ่าน มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ อีกหนึ่งสาวเก่งที่กลายเป็นดีไซเนอร์ระดับสากลเจ้าของแบรนด์ Mook Attakanwong

     นอกจากปลุกปั้นแกลเลอรี ATT 19 ให้เป็นพื้นที่จรรโลงใจและหล่อหลอมทัศนคติผู้คนมากมายแล้ว สาวมากความสามารถอย่างพรทิพย์ อรรถการวงศ์ยังได้นำพาอีกหนึ่งความคิดล้ำค่ามาสู่โลกศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการแฟชั่น ผ่านงานดีไซน์ที่เต็มไปด้วยปรัชญา ภายใต้แบรนด์ Mook Attakanwong ในบทบาทครีเอทีฟไดเร็กเตอร์อย่างเต็มตัว ถือเป็นโชคดีที่เธอมาแชร์ให้โว้กฟังถึงความเป็นมาและไอเดียของงานดีไซน์ของเธอ

     Vogue: จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากอะไร

     Mook Attakanwong: ไม่อยากพูดคำนี้เลย เพราะมันก็คงจะเหมือนกับดีไซเนอร์อีกหลายคน แต่มุกรู้ตัวว่าอยากเป็นดีไซเนอร์ตั้งแต่เด็กจริงๆ เพราะเป็นคนที่ชอบเสื้อผ้า ชอบหยิบเสื้อผ้ามาตัด มาเปลี่ยนรูปแบบให้แตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเสื้อผ้าตุ๊กตา ต่อมาก็มีโอกาสออกแบบจิวเวลรีให้ครอบครัว อีกทั้งยังศึกษาและทำงานทางด้านเทกซ์ไทล์และดีไซน์มาโดยตลอด ก็เลยคลุกคลีอยู่กับแฟชั่นมาตั้งแต่เด็กๆ และเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมามาสร้างแบรนด์ในที่สุด

     Vogue: นิยามแบรนด์นี้ไว้ว่าอย่างไร

     Mook Attakanwong: เราวางแบรนด์เราไว้อยู่ในประเภท Slow Fashion เพราะหลังจากที่ได้ทำงานกับแบรนด์รุ่นพี่ดังๆ อย่าง Jason Wu และ Opening Ceremony มุมมองทางแฟชั่นก็เปลี่ยนไป เราว่าแฟชั่นเป็นสิ่งที่รุ่มรวยมากๆ เราไม่จำเป็นต้องมีเสื้อผ้าเยอะ ต้องตามติดทุกซีซั่น ก็เลยนำมุมมองมานี้มาปรับใช้กับแบรนด์ จึงออกเป็นคอลเล็กชั่นที่สามารถสั่งตัดส่วนตัวได้ด้วย ซึ่งแต่ละชุดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน เพราะเป็นงานทำมือทั้งหมด

 

     Vogue: เอกลักษณ์ของแบรนด์คืออะไร

     Mook Attakanwong: วัตถุดิบค่ะ เราจะเริ่มต้นจากเนื้อผ้าหรือวัสดุที่เราหามาได้ จากนั้นก็ลองเอาความคิดใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ให้มันแตกต่างไปจากเดิม อย่างคอลเล็กชั่น Libertine ที่เป็นเลื่อมกับสีสันที่สดมากๆ มันเกิดจากการนำผ้าตาดมาพิมพ์ลายทาร์ทัน ปักด้วยเลื่อมและคริสตัลตามลาย แล้วนำมาดีไซน์ในซิลูเอตที่สวมใส่ง่ายขึ้นอย่างเสื้อฮู้ดและกางเกงวอร์ม ซึ่งคอนเซปต์หลักของการดีไซน์ก็คือการสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้หญิงเพื่อลบภาพจำของผู้หญิงที่มีมานาน



WATCH




1 / 4

ภาพบรรยากาศภายในห้องทำงาน ที่ซ่อนตัวอยู่ที่ชั้นสองของ ATT 19


2 / 4

ภาพบรรยากาศภายในห้องทำงาน ที่ซ่อนตัวอยู่ที่ชั้นสองของ ATT 19


3 / 4

ภาพบรรยากาศภายในห้องทำงาน ที่ซ่อนตัวอยู่ที่ชั้นสองของ ATT 19


4 / 4

ภาพบรรยากาศภายในห้องทำงาน ที่ซ่อนตัวอยู่ที่ชั้นสองของ ATT 19


     Vogue: ช่วยเล่าถึงคอลเล็กชั่นล่าสุด

     Mook Attakanwong: สำหรับคอลเล็กชั่นล่าสุดเราโฟกัสที่ผ้ายีนส์ค่ะ ด้วยความอยากรู้ว่าวัตถุดิบชนิดนี้จะพาเราไปถึงจุดไหน เราสามารถให้มันเป็นมากกว่ากางเกงหรือเสื้อยีนส์ตัวเดียวได้ไหม ซึ่งเราก็ค้นพบแนวทางใหม่โดยการนำผ้ายืดและผ้าวูลที่ได้มาปะติดเข้ากับยีนส์ที่ได้มาจากร้านวินเทจและตลาดนัดต่างประเทศ นำมาตกแต่งด้วยคริสตัลสวารอฟสกี้ และออกแบบในซิลูเอตที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแบบของแก๊งมอเตอร์ไซค์ในแอลเอ

 

     Vogue: จุดเด่นของคอลเล็กชั่นล่าสุดนี้คืออะไร

     Mook Attakanwong: เทคนิคการตะกุยด้วยมือค่ะ ซึ่งเราเป็นคนเดียวที่สามารถทำได้เพราะเราต้องการลายยีนส์ที่เป็นเรามากที่สุด เหมือนกับฝีมือของศิลปินแต่ละคนที่มีลายเส้นแตกต่างกันออกไป ส่วนผ้ายีนส์ที่นำมาจากร้านวินเทจเป็นเพราะว่าเราอยากนำเสนอไอเดียของการนำกลับมาใช้ใหม่สู่วงการแฟชั่นซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรมากเป็นอันดับต้นๆ

     Vogue: แนวทางของแบรนด์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

     Mook Attakanwong: ก็คงจะเป็นไปในแบบที่เราเป็น เน้นเรื่องวัตถุดิบและกระบวนการทำมือเหมือนเดิม เพราะเราอยากให้ผู้สวมใส่รับรู้ถึงกระบวนการทำ พวกเขาจะได้ทราบว่าเสื้อผ้าแฟชั่นหนึ่งชิ้นจะคุ้มค่ากับเงินที่เขาจ่ายไปตรงจุดไหน อยากให้พวกเขาใกล้ชิดดีไซเนอร์มากขึ้น เพื่อที่จะได้เห็นคุณค่าของเสื้อผ้าในมุมที่แตกต่างออกไป

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueFocus #VogueNovember2019