FASHION

สหราชอาณาจักรประกาศแบนการซื้อ-ขาย 'ขนเฟอร์' ทุกรูปแบบหลัง BREXIT

หลังจากประกาศแบนฟาร์มเฟอร์มาตั้งแต่ปี 2000 วันนี้มีความคืบหน้าสำคัญในเรื่องนี้อีกครั้ง

     เมื่อเราพูดถึงเสื้อผ้าขนสัตว์ สมัยก่อนคงเป็นไอเท็มแสดงถึงความหรูหราสูงส่งของผู้สวมใส่ ในทางกลับกันสมัยนี้มนุษย์ผู้ตระหนักถึงความโหดร้ายได้เล็งเห็นและพยายามลด ละ เลิกการใช้สิ่งนี้อยู่เสมอ ทว่าการใช้อะไรสืบทอดกันมาเป็นเวลานานก็ย่อมยากจะเปลี่ยนแปลง บ้างก็เป็นเรื่องเหตุผลด้านความเคยชิน บ้างก็เรื่องของความจำเป็น(อากาศ) หรือแม้แต่การเสพค่านิยมเก่าที่สะท้อนตัวตนการอยู่เหนือกระแสสังคม ความเลิศหรูต่างๆ ผูกติดมากับ “เฟอร์” อยู่เสมอ แต่วันนี้ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพของเครื่องหนัง ขนสัตว์ และแฟชั่นลำดับต้นๆ ของโลกอย่างอังกฤษ(และประเทศในกลุ่มสหราชอาณาจักร) กำลังจะประกาศให้การค้าขายเฟอร์ผิดกฎหมายในไม่ช้า

เสื้อแจ๊กเก็ตเฟอร์เทียมจาก Burberry หลังแบรนด์ประกาศเลิกใช้เฟอร์จริงไม่นาน / ภาพ: Courtesy of Brand

     จากการพิจารณาของกรมสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มว่าประเทศในเครือจะแบนการข้องเกี่ยวกับขนเฟอร์ทุกรูปแบบหลังจาก Brexit ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจเด็ดขาดครั้งสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ถึงแม้จะมีการยกเลิกการใช้วัสดุประเภทนี้มาโดยตลอดจากหลายภาคส่วนตั้งแต่แบรนด์แฟชั่นไปจนถึงผู้บริโภค วันนี้เหมือนเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้าที่สุดหลังจากรณรงค์ต่อต้านสิ่งนี้มานานหลายปี แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Burberry, Prada, Gucci หรือแม้แต่ Tom Ford รวมถึงทุกแบรนด์ที่เข้าร่วมลอนดอนแฟชั่นวีกทั้งหมดประกาศไม่ใช้วัสดุนี้ในการรังสรรค์สินค้าแฟชั่นอีกต่อไป

การประท้วงที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการใช้ขนเฟอร์ / ภาพ: MARIUSZ GOSLICKI - ALAMY

     การเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังของสหราชอาณาจักรเป็นสัญญาณอันดีว่าต่อไปการผลิตขนเฟอร์อาจลดน้อยถอยลงทุกที เพราะตลาดความต้องการจากทั่วโลกรวมถึงมุมมองของคนยุคใหม่ไม่ได้ต้องการความอู้ฟู่ของมันอีกต่อไป และถ้าย้อนกลับไป 20 ปีก่อน เมื่อปี 2000 สหราชอาณาจักรก็เคยประกาศแบนการทำฟาร์มขนเฟอร์อย่างเป็นทางการ มีกฎหมายบังคับและโทษรุนแรง โฆษกของกรมสิ่งแวดล้อมก็มีแนวคิดว่าการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปทำให้กลุ่มประเทศตนมีอิสระในการตัดสินใจและก้าวเดินหน้าสู่อนาคตได้คล่องตัวกว่า ถึงกระนั้นก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแบนนั้นถูกให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่เจาะจงถึงการทารุณสัตว์เท่าไรนัก เพราะฉะนั้นหลังจากการแบนเต็มตัวอาจจะชูประเด็นนี้ให้คนตระหนักกันมากขึ้นอีก โดยการปิดประตูไม่ข้องเกี่ยวกับเฟอร์นั้นคาดว่าจะเริ่มต้นหลังการออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ (เริ่มออกจริงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 ตอนนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนก่อนจะพ้นสถานะอย่างแท้จริงวันที่ 31 ธันวาคม 2020)



WATCH




WATCH