FASHION

เจาะทุกเรื่องราวกับเนื้อสีที่หายากที่สุดในโลก แรงบันดาลใจจากศาสตราจารย์ ณ ฮาร์วาร์ด

สีจากมัมมี่ในอียิปต์ สีแร่อันล้ำค่า เนื้อสีบางอย่างเหล่านี้ไม่สามารถหาได้อีกแล้ว

     สำหรับใครหลายคนสีสันอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้สำคัญกับชีวิตเพราะแค่แยกสีแดง เขียว เหลืองและอื่นๆ ได้ก็เป็นอันโอเค แต่สำหรับบางคนสีมีความสำคัญมากกว่านั้นคำว่า “เหลือง” อาจตีออกมาได้นับร้อยเฉด ความพิเศษของแต่ละเฉดถูกให้ความสำคัญอยู่ตลอด นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลเกี่ยวกับการสะสมสีธรรมชาตินั้นได้นำเสนอของหายากในวงการสีมานำเสนอเราให้ได้เห็นกัน และให้ข้อมูลว่าสีไหนเฉดอะไรที่หายากที่สุด มาติดตามกันว่าเขาเป็นใครและมีสีอะไรบ้างที่เขาระบุว่าเป็นสุดแสนจะหายาก

Narayan Khandekar ชายผู้หลงใหลในเรื่องสีที่ดูแลโปรเจกต์ล้ำค่า ณ พิพิธภัณธ์ศิลปะฮาร์วาร์ด / ภาพ: Harvard Art Museum

     Narayan Khandekar คือบุคคลต้นเรื่องที่บันดาลใจให้เราในวันนี้ เขาคือนักวิทยาศาสตร์เชิงอนุรักษ์ที่ดูแลโปรแกรมการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและควบคุมเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นการเก็บสีหายาก ซึ่งเขาคือบุคคลสำคัญทางวงการศิลปะเลยก็ว่าได้ เพราะนี่คือผู้พิสูจน์เสาะหาความจริงว่าสีต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไรและจำแนกออกมาเพื่อฟื้นฟูเฉดสีต่างๆ ออกมาอย่างอัจฉริยะ หรือแม้แต่สีที่นำมาใช้จะให้เฉดสีคล้ายคลึงแต่ถ้าไม่ใช่เนื้อสีจริงจากธรรมชาติเขาคนนี้ก็มีหน้าที่พิสูจน์เช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะมีใครพูดถึงเรื่องสีอย่างเจาะลึกก็ต้องเขาคนนี้นี่ล่ะ

โหลใส่รงควัตถุหายากต่างๆ ใน Forbes Pigment Collection / ภาพ: NPR

     “เมื่อสีต่างๆ เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์” เราคงเคยเห็นเนื้อสีต่างๆ กันมามากมายแต่รับประกันได้ว่าเรื่องราวความหายากของสีเหล่านี้ต้องพิเศษอย่างแน่นอน “Forbes Pigment Collection” คือคอลเล็กชั่นสีสำคัญที่เก็บรักษาอนุรักษ์สีระดับ “แรร์ไอเท็ม” ให้คงอยู่เป็นตัวอย่างต่อไป ซึ่งคอลเล็กชั่นนี้อยู่ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่นี่มีตัวอย่างสีหายากมากกว่า 2,500 สีเพื่อเป็นตัวอย่างเทียบเคียงในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสร้างงานศิลปะในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

 

“สีเหลืองฉี่วัว”



WATCH




ก้อนรงควัตถุสีเหลืองฉี่วัวที่หายากมากในยุคนี้ / ภาพ: Hyperallegic

     ชื่อนี้คงดูไม่น่าอภิรมย์ในการเสพผลงานทางศิลปะเท่าไหร่นัก บางคนอาจจะจินตนาการถึงกลิ่นตีจมูกจากของเสีย แต่สำหรับนารายันเขาไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะความสวยงามที่สีเหลืองเฉดนี้ผลิตได้มันหาไม่ได้จากไหนอีกแล้ว สีเหลืองสว่างอย่างมีเอกลักษณ์นั้นเชื่อกันว่าได้มาจากเมืองแถบอุตตรประเทศของอินเดีย โดยวิธีการได้สีนี้นั้นคือการเก็บเนื้อสีจากฉี่ของวัวที่ถูกป้อนอาหารด้วยใบของต้นมะม่วงเท่านั้น ซึ่งการตลกผลึกสีจากวิธีดังกล่าวจึงเป็นเนื้อสีขนาดเท่าลูกกอล์ฟซึ่งตอนนี้แทบหาไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งก้อนสีขนาดเท่าลูกกอล์ฟนั้นก็ได้ถูกพิสูจน์ตามข้อสันนิษฐาน และแล้วมันก็แสดงผลให้เห็นว่าก้อนนี้มีเมแทบอไลต์จากสัตว์และพืชจริง ถึงแม้มันยังยากจะฟันธงว่าเป็นตามเรื่องราวเล่าขานหรือไม่แต่นารายันก็เห็นด้วยว่ามันเป็นสีหายากที่ช่างสวยงาม และเต็มไปด้วยเรื่องราวจริงๆ

 

“สีเลือดมังกร”

ที่มาของสีเลือดมังกรจากต้น Dracaena draco / ภาพ: Sharktopus

     เรื่องราวของสีนี้อาจจะฟังดูง่ายสักหน่อยเพราะเกิดจากพืช แต่อย่าเพิ่งหลงดีใจว่ามันได้มันได้ง่ายแสนง่าย เพราะสำหรับเรซินที่ตกผลึกจากต้นไม้ไม่ได้เกิดได้จากการสกัดของมนุษย์ มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากต้นไม้ตระกูลปาล์มหวายต่างๆ ทว่าแท้จริงแล้วมีคนระบุว่าถึงคำว่า “เลือดมังกร” ของจริงว่าจะต้องมาจากต้นตระกูล Dracaena เท่านั้น และต้นไม้อย่าง Dracaena draco และ Dracaena cinnabari เกิดขึ้นในพื้นที่เฉพาะเท่านั้น ประกอบกับตำนานเล่าขานเรื่องการใช้เลือดมังกรและช้างในสนามรบมาผสมกันจึงเกิดสีนี้ทำให้การลงสีในงานศิลปะยุคเก่ามีการใช้สีนี้จริงเพื่อบบันทึกเรื่องราวเหนือจริงนี้ลงบนงานศิลปะต่างๆ ตอนนี้สีและเรซินของเนื้อสีดังกล่าวอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากที่สุดแต่ก็ไม่ใช่สีธรรมชาติจริงที่หาได้ทั่วไปอย่างแน่นอน

 

“สีน้ำตาลจากมัมมี่”

หลอดสีน้ำตาลมัมมี่จริงเพียง 2 หลอดในโลก(ตามการกล่าวอ้างของฮาร์วาร์ด) ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย Charles Robertson และทีมงาน / ภาพ: Harvard Art Museums

     สีนี้อาจจะฟังดูน่าสยดสยองเสียหน่อย เพราะสีน้ำตาลสุดพิเศษนี้นำมาจากศพห่อของมัมมี่จริงๆ สีน้ำตาลอันมีเอกลักษณ์นั้นมามัมมี่ในอียิปต์ซึ่งเรซินที่เกาะผลึกอยู่บนผ้าห่อศพนั้นคือเนื้อสีที่ตกผลึกมาอย่างยาวนานในสภาพแวดล้อมเฉพาะในแบบที่หาตัวอย่างเทียบเคียงไม่ได้อีกแล้ว จากข้อพิสูจน์งานศิลปะหลายชิ้นที่เคยกล่าวอ้างว่าใช้สีน้ำตาลมัมมี่วาดภาพนั้นก็ยังไม่เคยมีชิ้นไหนเลยที่เป็นความจริง ตอนนี้คงหาไม่ได้อีกแล้วจากเรื่องกฎหมายและการเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาวอียิปต์ เพราะฉะนั้นเนื้อสีจริงจากธรรมชาติของสีน้ำตาลมัมมี่มีเพียง 2 หลอดในโลกซึ่งเก็บตัวอย่างและรังสรรค์ขึ้นมาในรูปแบบหลอดจากฝีมือ Charles Robertson และทีมงานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่นารายันอยู่นี้เอง

 

“สีม่วงพิเศษจำนวน 1 กรัมที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตหอยทากทะเลจำนวน 5 หลัก”

สารสกัดสีม่วงธรรมชาติที่ได้จากหอยทากทะเล ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยากจะเลียนแบบ / ภาพ: Hi So You Are

     ในปัจจุบันมีการใช้สารสังเคราะห์เพื่อสร้างสีเฉดตามต้องการได้แทบจะทั้งหมด แต่มีสีม่วงเฉดหนึ่งที่เรียกว่า “Tyrian Purple” นั้นเป็นสีสุดแรร์ที่แทบจะหาไม่ได้ในยุคนี้อีกแล้ว เมื่อเปลือกหอยชนิดพิเศษโดยเฉพาะหอยทากทะเลจะจะมีสารที่หลั่งออกมาจากต่อมร่างกายเพื่อเคลือบไว้และเวลาโดนแสงแดดจะกลายเป็นสีม่วง ซึ่งกว่าจะได้สัดส่วนของวัตถุดิบในการสร้างสีจำนวน 1.4 กรัมต้องใช้จำนวนหอยมากกว่า 12,000 ตัวมาบดส่วนครีมเคลือบเปลือก โดยกรรมวิธีทำสีม่วงนี้ทำเพื่อสร้างสีม่วงที่พิเศษที่สุด สีม่วงที่เหล่ามหาเศรษฐีและบุคคลสำคัญในยุคโบราณใช้สะท้อนฐานะอันร่ำรวย แต่หลังจากมีผู้คิดค้นการทำสีม่วงเฉดนี้หรือใกล้เคียงขึ้นโดยใช้น้ำมันดิน สีม่วงไทเรียนก็สูญเสียความพิเศษและแทบไม่มีใครมาบดครีมบนเปลือกหอยทากทะเลอีกต่อไปแล้ว

*ชื่อ Tyrian Purple มาจากชื่อเมือง ไทร์ (Tyre) ของประเทศเลบานอน โดยหมายถึงสีม่วงเอกลักษณ์สำคัญประจำเมืองนั่นเอง

 

“สีฟ้าที่ล้ำค่าที่สุดในโลก”

หินแร่ Lapus lazuli ที่ถูกมาเป็นโต๊ะคู่กับคริสตัลตัวนี้มีราคาสูงถึง 79,500 ปอนด์ ลองจินตนาการว่าหากนำสิ่งนี้มาบดสกัดทำเนื้อสีจะมีมูลค่าเพียงใด / ภาพ: Robson Furniture

     ต้องบอกว่าการผสมสีในยุคโบราณไม่ได้ง่ายดายเหมือนสมัยนี้ การจะได้สีฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสีเหลือง สีแดง หรือแม้กระทั่งสีเขียวสามารถหาได้จากผืนดินและต้นไม้นานาพันธุ์ ทว่าสีฟ้าที่ได้จากธรรมชาติก็คงคุ้นเคยกับต้นคราม ทว่ามีสีฟ้าเฉดหนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่า “แพงกว่าทอง” นั้นเกิดขึ้นโดยใช้แร่อัญมณีมาทำสีเลยทีเดียว Lapis lazuli ชื่อของสีนี้เกิดขึ้นจากหินชื่อเดียวกัน หินล้ำค่าจากเขตภูเขาสูงในประเทศอัฟกานิสถาน ช่วงยุคศตวรรษที่ 14 – 15 มีการขนย้ายสิ่งนี้มาสู่ภาคพื้นยุโรปและเหล่านักเล่นแร่แปรธาตุก็นำชิ้นส่วนจากหินชนิดนี้มาทำเป็นรงควัตถุเพื่อสร้างสีสำหรับการรังสรรค์ผลงานศิลปะ ด้วยความหายากแสนสาหัสและมูลค่าอันสูงส่งของหินบนภูเขาสูงจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือนั้นทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ทั้งล้ำค่าและแทบจะหาเนื้อสีจริงๆ ไม่ได้แล้วตอนนี้

 

“สีเหลืองพิฆาต”

เนื้อสีแคดเมียมที่ปัจจุบันอาจจะพบเห็นทั่วไป แต่การผลิตเนื้อสีนี้แบบดั้งเดิมที่เป็นอันตรายอาจเห็นไม่ได้แล้วในปัจจุบัน / ภาพ: Alibaba

     อีกหนึ่งสีที่ความเลวร้ายของมันทำให้ตอนนี้มันหายากเหลือเกินเพราะแทบไม่มีใครผลิตมันขึ้นมาแล้ว Cadmium Yellow คือสีที่เรากำลังพูดถึงกันตอนนี้ ต้องบอกก่อนเลยว่าแคดเมียมเป็นสสารที่อันตรายอย่างมาก มีฤทธิ์เป็นพิษต่อร่างกายสูง แต่ด้วยสีสันอันล่อตาล่อใจมันจึงถูกนำมาทำเป็นของเล่นและกระจายอย่างแพร่หลายในช่วงยุค 1970s สีนี้ไม่ได้ทำออกมายากเย็นอะไรนัก ทว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง, ระบบไตล้มเหลว รวมไปถึงสร้างความผิดปกติให้กับกระดูกมนุษย์ สิ่งนี้จึงกลายเป็นภัยอันตรายจนถูกยกเลิกและมีการคิดค้นสีเลียนแบบหรือสีใกล้เคียงขึ้นมาแทน เพราะฉะนั้นรงควัตถุหรือวัตถุดิบในการทำสีเหลืองแคดเมียมจึงกลายเป็นของหายากจนพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะต้องเก็บรักษาเอาไว้

 

     ทั้งหมดนี้คือสีมหัศจรรย์ที่แทบจะไม่หลงเหลือในสารบบการทำเนื้อสีแล้ว เหลือเพียงรหัสสีให้เราใช้กันในโลกออนไลน์ การผลิตสีเหล่านี้เกือบจะไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ รงควัตถุเหล่านี้ถือเป็นของล้ำค่าที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์เพื่อเหตุผลต่างๆ นานาทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์เรื่อยไปถึงการพิสูจน์งานศิลปะและเทียบเคียงศึกษาประวัติศาสตร์ นอกจากในลิสต์นี้ยังมีสีระดับแรร์ไอเท็มอื่นๆ อีกทั้ง Brazilwood, Ultramarine, Cochineal Red, Emerald Green และอื่นๆ อีกพอสมควร ทว่าสีเหล่านี้หายากก็จริงแต่ก็ยังคงมีการผลิตขึ้นบ้างในปัจจุบัน มิได้สูญหายไปจากวงการสีเสียทีเดียว ต่อไปเราคงได้เห็นสีใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นจากเทคโลโนลยีล้ำสมัย ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าในประวัติศาสตร์โลกเคยมีวัตถุดิบในการสร้างสีอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของมวลมนุษยชาติ

 

ข้อมูล: Packaging Innovation, Fast Company, Public Art Dialogue, indy 100, Journal of Art in Society, The Conservation Center, และ Great Big Story (YouTube)

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueArts