FASHION

พลัสไซส์คืออะไรกันแน่! ตีแผ่ทุกแง่มุมของนางแบบพลัสไซส์ที่จะทำให้เข้าใจพวกเธอมากขึ้น

ตีแผ่ทุกแง่มุมของนางแบบพลัสไซส์ที่จะทำให้เข้าใจพวกเธอมากยิ่งขึ้น บรรทัดฐานความงามที่ถูกกำหนดโดยอุตสาหกรรมแฟชั่น

เนื้อหาสำคัญ

  • ย้อนรอยนิยามความสวยงามและพลัสไซส์กับการเริ่มต้นของวิถีทางนางแบบจนเป็นบรรทัดฐานของปัจจุบัน
  • นี่พลัสแล้วเหรอ...คำถามคาใจของใครหลายคนจะถูกเฉลยผ่านการตีความเรื่องบรรทัดฐานรูปร่างจากกรอบของแต่ละวัฒนธรรม
  • การเริ่มต้นของพลัสไซส์อย่างเต็มรูปแบบในยุคปัจจุบันเพื่อสร้างคุณค่าในตัวมนุษย์ทุกคน

____________________________________ 

 

   “ความหลากหลาย” คำยอดฮิตสำหรับยุคปัจจุบัน ทุกเรื่องเป็นเรื่องประตูความแตกต่างที่ทุกคนต้องการให้มันถูกเปิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศ ชาติพันธุ์ หรือเรื่องที่เรากำลังจะนำเสนออย่างรูปร่างของมนุษย์ ต้องบอกว่าทุกวันนี้มีการเรียกร้องถึงความเท่าเทียมในทุกๆ แง่มุม นางแบบพลัสไซส์เป็นประเด็นที่ฮอตฮิตอีกเรื่องหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่น วันนี้เราจะพาแฟนๆ รู้จักว่าแท้จริงแล้วบรรทัดฐานความพลัสไซส์ที่ทั้งถูกยอมรับและถูกปฏิเสธในเวลาเดียวกันมีที่มาที่ไปอย่างไร

รูปร่างของนางแบบแขนขาเรียวเล็กในแบบที่เราคุ้นตาจากโชว์ Miu Miu คอลเล็กชั่นรีสอร์ต 2020 / ภาพ: Vogue Runway

     อะไรคือนิยามความพลัสไซส์ ก่อนที่จะรู้จักกับพลัสต้องเข้าใจบรรทัดฐานความนิยมด้านความงามของแฟชั่นกันก่อน เริ่มทำความเข้าใจได้เลยว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นมักนิยมนางแบบที่มีรูปร่างเรียวยาวหรือที่เราเรียกกันว่าหุ่นนางแบบนั่นเอง โดยรูปแบบนี้จะแยกออกไปอีกเพราะไม่ใช่นางแบบชุดว่ายน้ำหรือสายกีฬาที่จะหุ่นฟิตแอนด์เฟิร์มวีไลน์เชป แต่เราหมายถึงคนที่จะสอดตัวเข้าไปเสื้อผ้าได้ทุกรูปแบบ เว้นแต่ว่าบางแบรนด์มีความสุดโต่งมากเช่นซูเปอร์สกินนี่ หรือการออกแบบเพื่อเสื้อผ้าแบบพลัสไซส์นั่นเอง

นางแบบขายาวเอวคอด ซิลูเอตที่คุ้นเคยจากลุคบุ๊กของ Victoria Beckham คอลเล็กชั่นรีสอร์ต 2020 / ภาพ: Vogue Runway

     นิยามความสวยในแต่ละที่ย่อมต่างกัน อเมริกันชอบแบบหนึ่ง อังกฤษก็แบบหนึ่ง ไทยเองก็แบบหนึ่ง ฉะนั้นการที่บรรทัดฐานแฟชั่นจะมีนิยามแบบของสายแฟก็ไม่ต่างกัน สุดยอดความสวยและความต้องการเป็นแบบเพรียวบางอย่างที่กล่าวไป ไซส์เท้าขนาด 36-37 พอๆ กันเพื่อง่ายต่อการเดินในแฟชั่นโชว์หรือถ่ายภาพในแฟชั่น ซึ่งถ้าเทียบกับความงามทีเป็นยูนิเวอร์แซลถือว่ารูปร่างแบบนี้มันช่างเล็กแสนเล็ก จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นเวลานานและหนักขึ้นๆ จนถึงปัจจุบัน



WATCH




นางแบบกับสภาพที่ถูกนิยามว่า “เฮโรอีนชิก” / ภาพ: Fashion Atlas

     อะไรคือจุดแตกหักให้เรียกร้องความเท่าเทียมด้านรูปร่างในอุตสาหกรรม คำตอบก็มีอยู่หลายปัจจัยทั้งเรื่องความหลากหลายของผู้หญิงที่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องรีดหุ่นให้เหมือนนางแบบ ในอีกทางหนึ่งการที่ความงามในอุตสาหกรรมถูกตีตราเป็นเรื่องของ “ผอมบาง” เหล่านางแบบจึงอดอาหาร ทำร้ายตัวเองทางอ้อมต่างๆ เพื่อคงรูปร่างเช่นนี้ บางรายมันร้ายแรงถึงขนาดกลัวอ้วนจนเป็นโรค ทานอะไรแล้วต้องล้วงคออาเจียนออกมาเลยด้วยซ้ำ ถึงนี่ไม่ใช่เรื่องของความแตกต่างถึงขั้นพลัสไซส์แต่มันเป็นประเด็นให้คนพูดถึงแล้วว่านางแบบรูปร่าง “เฮโรอีนชิก” ไม่ควรเป็นกระแสหลักของสังคม (แฟชั่น) อีกต่อไป

โปสเตอร์โฆษณาเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงที่มีโครงร่างใหญ่กว่าปกติจาก Lane Bryant ถึงแม้มันจะไม่ได้พลัสมากแต่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของกระแสนี้ / ภาพ: Julia Starkey

     จุดเริ่มต้นของพลัสไซส์แห่งวงการ! เราต้องย้อนไปต้องต้นยุค ‘10s เลยทีเดียวเมื่อ Lane Bryant แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอเมริกันให้ความสำคัญกับรูปร่างผู้หญิงซึ่งอาจจะมีขนาดหน้าอกและช่วงตัวใหญ่กว่าปกติ ช่วงปี ’50s – 60s ทางแบรนด์ก็มีโปสเตอร์เป็นหลักฐานว่าพวกเขาดีไซน์มันเพื่อเข้าใจผู้หญิงกลุ่มนี้มากขึ้น ในฝั่งยุโรปก็เริ่มต้นที่อังกฤษช่วงประมาณยุค ‘30s โดยแบรนด์ Evans เรียกได้ว่าต้นกำเนิดของแฟชั่นพลัสไซส์มีมานานแล้วเพียงแต่ว่ากลับกลายเป็นกระแสรองของสังคมไปเสียอย่างนั้น มากไปกว่านั้นฝั่งเอเชียแทบไม่มีพื้นที่สำหรับนางแบบพลัสไซส์เลยด้วยซ้ำ

Robyn Lawley นางแบบพลัสไซส์ขั้นแรกในบรรทัดฐานอุตสาหกรรมแฟชั่น / ภาพ: The Telegraph

     เมื่อมีความสนใจย่อมมีสิ่งตอบสนอง...โมเดลลิ่งเฉพาะเพื่อนางแบบพลัสไซส์เกิดในอเมริกาและยุโรปช่วงยุค ‘70s และ ‘80s ตามลำดับ โดยเริ่มแรกนั้นคำว่า “พลัส” หมายถึงใหญ่กว่าขนาดทั่วไปของนางแบบ แต่ไม่ได้หมายถึงผู้ที่มีรูปร่างอวบอั๋นหรือพลัสไซส์สำหรับสังคมทั่วไป ฉะนั้นนางแบบจึงมีรูปร่างเหมือนสาวๆ ปกติทั่วไป อาจจะใหญ่กว่าเล็กน้อยในช่วงหน้าอก เอว สะโพกและไหล่ แต่โดยรวมถ้ามาอยู่ในยุคนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นหุ่นพิมพ์นิยมเลยก็ว่าได้ ต้องทำความเข้าใจว่านี่คือบรรทัดฐานของสังคมแฟชั่น มันอาจจะแตกต่างไปจากสังคมปกติ ความงามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศเรายังแตกต่างกันได้ ไม่แปลกที่การให้ความสำคัญด้านความงามกับบรรทัดฐานแบบนี้จะแปลกและแตกต่างออกไป คนเหล่านี้อยู่นอกแวดวงรันเวย์และถ่ายแบบอาจจะเป็นสาวฮอตสำหรับใครหลายคนก็เป็นได้

Amy Lemons อีกหนึ่งนางแบบสาวพลัสไซส์ที่ถูกตั้งคำถามว่านี่คือพลัสแล้วหรือ / ภาพ: Plus Size All

     กระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นเพราะประโยคประมาณว่า “ไหนว่าพลัส” หรือ “นี่คือพลัสแล้วเหรอ” ทำให้คนเริ่มกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง ว่าตกลงแล้วนี่คือข้ออ้างของวงการแฟชั่นเกี่ยวกับนางแบบพลัสไซส์หรือไม่ เพราะสุดท้ายนางแบบที่เรียกว่าพลัสตัวอย่างเช่น Robyn Lawley และ Amy Lemons กลับไม่ได้ดูพิเศษกว่าผู้หญิงไซส์ปกติในสังคมทั่วไปมากนัก หนำซ้ำถ้าบางสังคมนิยมความมีเนื้อมีหนังหน่อยอาจจะเรียกตัวเล็กไปด้วยซ้ำ

Loren Duran และ Ronja Manfresson 2 นางแบบในนิยามของ Victoria's Secret / ภาพ: bluemarine - Vicky Drachmann

     แบรนด์ที่รับผลกระทบหนักที่สุดจากการเรียกร้องเรื่องนี้คือ Victoria’s Secret เหล่านางฟ้าวิกตอเรียทั้งหลายต่างมีรูปร่างในอุดมคติของสาวๆ ส่วนใหญ่ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน แต่ทว่ากระแสกลับโจมตีอย่างหนักในช่วงหลายปีหลังว่ามันคือบรรทัดฐานที่อาจจะกรอบทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่รู้สึกไม่สามารถเข้าถึงนิยามความสวยของโลกได้ และบนรันเวย์โชว์ซึ่งมีผู้ติดตามทั่วโลกพวกเขานำเสนอความงามด้านเดียวมาตลอดในสายตาใครหลายคน แต่พวกเขาไม่ผิดเพราะพวกเขามีบรรทัดฐานความงามเช่นนี้ ถึงแม้พวกเขาจะเคยมี Lorena Duran และ Ronja Manfredsson ที่ถูกนิยามว่าพลัสไซส์และก็ถูกตั้งคำถามทันที สาวคนอื่นอาจจะไม่ได้งามแบบวิกตอเรีย ซีเครต แต่สาวๆ อาจจะสวยในบรรทัดฐานความงามอื่นๆ อย่าเพิ่งน้อยใจ มันก็เหมือนกับความรักนั่นล่ะ หากเจอหนุ่มที่ใช่เราก็สวยที่สุดสำหรับเขาเสมอ...

นางแบบในแคมเปญ Savage x Fenty ที่นำเสนอความหลากหลายทั้งรูปร่างและสีผิว / ภาพ: Courtesy of Brand

     กลับมาที่เรื่องของความพลัสไซส์ในด้านแฟชั่นกันต่อ ถึงแม้เกือบทุกแบรนด์จะนิยมความเพรียวหุ่นนางแบบ แต่ก็มีอีกหลายแบรนด์เช่นกันที่สร้างสรรค์เสื้อผ้าโดยเฉพาะเพื่อสาวๆ กลุ่มนี้โดยเฉพาะ อย่างเช่น Navabi ซึ่งเคยมีประเด็นเกี่ยวโชว์เหล่านางฟ้า หรือ Max Mara เองก็เคยปล่อยไลน์สำหรับสาวหุ่นพลัสๆ มาตั้งแต่ปี 1980 ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ความแตกต่างด้านรูปร่างจะไม่ใช่อุปสรรคด้านแฟชั่น แต่มันเดินมาถึงปี 2019 ด้วยพัฒนาที่ช้ามากๆ เพราะสุดท้ายความสวยของหญิงสาวจะหลากหลายแค่ไหน บนรันเวย์กลับแทบไม่เปลี่ยนเลย ถึงแม้ลุคบุ๊กบางอันจะสร้างความหลากหลายขั้นสุดอย่างโปรเจกต์ Savage x Fenty ของ Rihanna นั่นเอง

Ashley Graham ในโชว์ของ Dolce & Gabbana คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2019 / ภาพ: Vogue Runway

     แต่เหมือนล่าสุดความพลัสจริงๆ ได้ถูกนำเสนอบนรันเวย์ระดับโลกเสียทีเมื่อ Ashley Graham นางแบบสาวหุ่นอวบชาวอังกฤษได้รับโอกาสในโชว์ของ Dolce & Gabbana นับเป็นการเปิดโอกาสให้กับเหล่าสาวหุ่นอวบได้มีจุดยืนบนรันเวย์ได้ไม่ต่างจากสาวร่างบางแบบที่อุตสาหกรรมนิยม แนวโน้มนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่สาวพลัสไซส์แต่หมายถึงความหลากหลายด้านอื่นๆ อีกด้วย

นางแบบและนายแบบซูเปอร์สกินนี่แบบฉบับของ Hedi Slimane ช่วงเวลาขณะรับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ Saint Laurent / ภาพ: Vogue Runway

     ความแตกต่างที่นอกเหนือจากความพลัสไซส์แล้วเรายังหมายถึงซูเปอร์สกินนี่ในแบบของ Hedi Slimane เหล่าเพศทางเลือก ชาติพันธุ์และอื่นๆ อีกมากมายถูกให้ความสำคัญและเท่าเทียมขึ้นในยุคปัจจุบัน อย่าเพิ่งมองว่าแบรนด์เลือกคนเหล่านี้มาเพื่อเป็นจุดขายและจุดสนใจ นั่นอาจจะเป็นมุมมองที่อคติจนเกินไป เพราะสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงของอุดมคติเรื่องเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนจากผู้มีพลังอำนาจและเหล่าแบรนด์นี่ล่ะคือสิ่งที่เรากำลังพูดถึง

แฟชั่นบล็อกเกอร์อย่าง Anna O'Brien ผู้ภูมิใจและให้คุณค่ากับรูปร่างของตนเอง / ภาพ: Teen Vogue

     สรุปแล้วบรรทัดฐานความพลัสไซส์ไม่ได้เท่ากันเสมอไป เราให้คนหลายคนมองรูปร่างแบบหนึ่งอาจจะได้คำตอบทั้ง ผอม อ้วน สูง หุ่นดี หุ่นแย่และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นเพราะบรรทัดฐานที่ใช้ตัดสินมันต่างกัน เวลาและกรอบสังคมต่างกันรูปแบบการนิยามมันก็ต่างแล้ว ครั้งหนึ่งนางแบบคนหนึ่งอาจจะดูอ้วนมากในสายตาอุตสาหกรรมแฟชั่นเพราะอยู่ในยุคเฮโรอีนชิก แต่ไม่แน่วันหนึ่งเขาอาจจะดูผอมมากเมื่อความสวยในอุดมคติของอุตสาหกรรมแฟชั่นกลายเป็นเรื่องของสาวอวบมีเนื้อหนังในแบบฉบับที่ถูกเรียกว่า “สาวพลัสไซส์” ในแวดวงแฟชั่น ณ เวลาปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะมีรูปร่างแบบไหนจงให้ค่ากับความเป็นมนุษย์และภูมิใจกับความเป็นตัวเองไว้เสมอ เราเรียกร้องหาความเท่าเทียมได้แต่ก็ต้องไม่ลืมเริ่มต้นจากมองคุณค่าในตัวเอง ถึงแม้เวลาฮิตของรูปร่างเรายังมาไม่ถึง เราก็ไม่ต้องน้อยใจอะไรอีกต่อไปเพราะอย่างน้อยเราก็ได้ภูมิใจกับมันแล้ว

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Plus Size