FASHION

‘เมดูซ่าหิ้วหัวเพอร์ซิอุส’ ประติมากรรมพลิกขั้ว ที่พร้อมตั้งคำถาม และตีแสกหน้าสังคมชายเป็นใหญ่

ประติมากรรมดังกล่าวจะถูกนำไปจัดแสดง ที่บริเวณพื้นที่หน้าศาลอาญาแห่งมหานครนิวยอร์ก ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2020 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2021 ...

     กลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง หลังจากที่ศิลปินชาวอาร์เจนตินา-อิตาเลียน นามว่า Luciano Garbati ตัดสินใจนำประติมากรรมชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า MWTH (Medusa With The Head of Perseus หรือ เมดูซ่าและหัวของเพอร์ซิอุส) ไปจัดแสดงไว้ที่หน้าศาลอาญาแห่งมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์งานศิลปะประจำปี "Art in the Parks" ที่ได้รับการจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1967 ที่ตัวศิลปินเองสามารถเลือกสถานที่จัดแสดงผลงานของตัวเองได้ทั่วมหานครนิวยอร์ก โดยในครั้งนี้การ์บาติได้เลือกจัดแสดงผลงานของเขาที่บริเวณหน้าศาลอาญาแห่งมหานครนิวยอร์ก เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับงานประติมากรรมของตนเอง เนื่องจากศาลแห่งนี้เป็นสถานที่เดียวกันกับที่ใช้ตัดสินคดีล่วงละเมิดทางเพศมาแล้วหลายคดี หนึ่งในนั้นคือคดีสุดโด่งดังแห่งวงการสื่อ และวงการฮอลลีวู้ดอย่าง คดีการข่มขู่ และคุกคามทางเพศหญิงสาวนับสิบรายของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน...

ภาพวาดจิตรกรรม Head Of Medusa โดยศิลปิน Rubens, 1617 - 1618

 

     ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประติมากรรม Medusa With The Head of Perseus หรือ เมดูซ่าและหัวของเพอร์ซิอุส ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน เพราะหากได้ย้อนกลับไปในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา ผลงานประติมากรรมนี้ยังได้สร้างแรงสั่นสะเทือน และท้าทายต่อ “สังคมปิตาธิปไตย” มาแล้วครั้งหนึ่ง ในแกลลอรี่จัดแสดงงานศิลปะ ณ กรุงลอนดอน โดยผลงานชิ้นนี้ยังนับเป็นผลงานชิ้นกบฏตีกลับมุมมองแบบสลับขั้วของมหากาพย์ Metamorphosis ด้วยการนำเอาเรื่องราววีรกรรมการปราบปีศาจเมดูซ่าของวีรบุรุษเพอร์ซิอุสที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มาเล่าใหม่อีกครั้งผ่านประติมากรรแบบกลับตาลปัตร รื้อสร้างภาพจำใหม่ของประติมากรรมเมดูซ่าในฐานะผู้สยบเพอร์ซิอุส มิใช่เพอร์ซิอุสผู้สยบเมดูซ่าอย่างที่ปกรณัมปรัมปราได้เคยฝังหัวคนทั้งโลกมาเป็นเวลานาน พร้อมยืนหยัดอย่างท้าทายด้วยสายตา และท่าทางที่มุ่งมั่น เพื่อตั้งคำถามต่อสังคมโลกอีกครั้งว่า “แน่ใจหรือว่าสิ่งที่ปกรณัมเล่าต่อกันมาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และยุติธรรมแล้วจริงๆ”

     หากได้ย้อนกลับไปอ่านมหากาพย์ปกรณัมเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่าแนวคิดสำคัญของศิลปินการ์บาติมาจากต้นกำเนิดของเรื่องราวปกรณัมดังกล่าว ก่อนที่เมดูซ่าจะถูกสาปให้กลายเป็นปีศาจร้าย ซึ่งใน Metamorphosis ของโอวิดได้เล่าขานต้นกำเนิดของปีศาจเมดูซ่าเอาไว้อย่างไร้ความยุติธรรมว่า เมดูซ่าคือสาวรับใช้ในวิหารของอธีนา ผู้เป็นเทพีแห่งปัญญา ที่ถูกโพไซดอน เทพเจ้าแห่งท้องทะเลข่มขืน แต่เรื่องราวกลายเป็นว่าเมดูซ่าผู้ซึ่งเป็นเหยื่อกลับถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยความโกรธของอธีนาที่มองว่าเมดูซ่าทำให้วิหารของเธอนั้นแปดเปื้อน อธีนาจึงขับไล่เมดูซ่าออกจากวิหารดังกล่าว พร้อมยังสาปให้เธอกลายเป็นปีศาจร้ายในที่สุด หนำซ้ำในภายหลังโพไซดอน และอธีนา ยังเป็นผู้ช่วยเหลือให้เพอร์ซิอุสสามารถตามหา และกำจัดเมดูซ่าด้วยการตัดหัวของเธอจนได้ในที่สุด

     ซึ่งปกรณัมอันมีตรรกะอันบิดเบี้ยวนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงการปลูกฝัง "Rape Culture" และ "Victim Shaming" ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในหลายพื้นที่ กล่าวคือวัฒนธรรมการข่มขืน และวัฒนธรรมการประณามเหยื่อ ดังที่หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุข่มขืนขึ้นมา ผู้ที่ถูกสังคมมุ่งเป้ากลับเป็นเหยื่อ ที่ทุกคนพร้อมจะหาความว่าเหยื่อมีสิ่งยั่วยุต่างๆ นานาจนนำไปสู่เหตุข่มขืนดังกล่าว ในขณะที่ผู้ที่เป็นคนก่อเหตุกลับไม่ถูกสังคมมุ่งเป้าเท่าที่ควร ท้ายที่สุดการ์บาติยังตั้งคำถามสำคัญอิงจากปกรณัมดังกล่าวไว้ให้ขบคิดต่อไปอีกว่า “เพอร์ซิอุส และเหล่าทวยเทพในปกรณัมกล้าเรียกสิ่งนี้ว่าชัยชนะได้อย่างไร เมื่อเหยื่อถูกทำร้ายให้พ่ายแพ้”...



WATCH




     ประติมากรรม MWTH ความสูง 7 ฟุต ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเสียดสีประติมากรรมชิ้นสำคัญในศตวรรษที่ 16 อย่าง Perseus With The Head of Medusa ของ Benvenuto Cellini นั้น จะถูกนำไปจัดแสดงที่บริเวณพื้นที่หน้าศาลอาญาแห่งมหาครนิวยอร์กตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2020 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2021 

ข้อมูล : mwthproject.com

WATCH

คีย์เวิร์ด: #MedusaWithTheHeadOfPerseus