FASHION

เคล็ดลับจัดบ้านยามว่างช่วงกักตัวสไตล์ญี่ปุ่น ฝ่าวิกฤต COVID-19 แบบฉบับมารีเอะ คอนโดะ

   ก่อนจะเริ่มบทความเราขอเดาเอาไว้เล่นๆ ตรงนี้เลยว่า ทุกคนที่กำลังเปิดอ่านบทความนี้อยู่ ก็คงจะกำลังเอนกายอยู่บนโซฟา เตียง หรือที่ไหนสักแห่งในบ้านมาแล้วหลายวันเป็นแน่ จากมาตรการ Stay Home และ Work From Home เพื่อลดอัตราเสี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทว่าก็อย่าเพิ่งจมจ่อมไปกับสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ครั้งนี้โว้กประเทศไทยจึงขอชวนทุกคนมาพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสแสนง่าย ด้วยการจัดบ้านตามคำแนะนำของ Marie Kondo หญิงสาวชาวญี่ปุ่น เจ้าของทฤษฎีการจัดบ้านในหนังสือเรื่อง The Life-Changing Magic of Tidying Up ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก บุคคลที่ทรงอิทธิพลในปี 2015 มาดูกันว่าเคล็ดลับของเธอจะสามารถช่วยคุณได้มากแค่ไหน...

ภาพของ Marie Kondo หญิงสาวชาวญี่ปุ่น เจ้าของทฤษฎีการจัดบ้านในหนังสือเรื่อง The Life-Changing Magic of Tidying Up ที่โด่งดังไปทั่วโลก / ภาพ : asia.nikkie.com

 

เสื้อผ้า

     สำหรับสาวๆ สายแฟชั่นอย่างเราๆ เสื้อผ้าตัวเก่งนับเป็ฯสิ่งสำคัญของชีวิต จึงไม่แปลกใจที่เมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งนาน เสื้อผ้าที่มีก็จะยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ ฃจนตู้เสื้อผ้าของสาวๆรับไม่ไหว สิ่งแรกที่มาริเอะมักจะแนะนำเวลาไปช่วยจัดบ้านคือกลยุทธ์การ ‘ระเบิดตู้เสื้อผ้า’ โดยการนำเสื้อผ้าทุกตัวจากทุกแห่งที่มีอยู่ในบ้าน หรือในห้องออกมากองรวมกันเป็นกองเดียว ซึ่งจะทำให้เราเห็นได้ชัดว่า มีเสื้อผ้าอยู่มากมายขนาดไหน ก่อนที่จะทำการคัดเลือกทีละชิ้นตามทฤษฎี จุดประกายความสุข หรือSpark Joy คือความรู้สึกเชิงบวกเมื่อได้หยิบ หรือสัมผัสเสื้อผ้าแต่ละชิ้น หากชิ้นไหนจุดประกายความสุขให้กับเราได้ ให้เก็บชิ้นนั้นไว้ แต่หากชิ้นไหนเราไม่รู้สึกถึงจุดประกายความสุขนั้นเลยก็โยนทิ้งไปเสีย แต่ก่อนจะทิ้งให้พูดขอบคุณเสื้อผ้าชิ้นนั้นก่อนเสมอ 

หนังสือ และเอกสาร

     ไม่ใช่แค่ผู้อ่าน แต่ผู้เขียนเองก็กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่เช่นกัน และสำหรับการจัดการกับกองหนังสือนั้นก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยมาริเอะยังแนะนำอีกว่าให้หยิบหนังสือขึ้นมาพิจารณาทีละเล่ม แล้วหลังจากนั้นก็ให้ถามตัวเองว่า เล่มไหนที่เราต้องการจะนำติดตัวไปด้วยในอนาคต ใช้เวลาสัมผัสถึงจุดประกายความสุขตามทฤษฎีที่กล่าวไป แล้วเราจะรู้ได้ว่าเล่มไหนที่เราต้องการเก็บไว้จริงๆ ก่อนที่จะขอบคุณหนังสือเล่มที่เราจะทิ้งไป หรือส่งต่อให้กับผู้อื่นอีกด้วย เพียงแค่นี้เราก็จะได้ชั้นวางหนังสือที่มีระเบียบกลับมาแล้ว ในกลุ่มนี้เราขอรวมของจำพวก เอกสาร เอาไว้ด้วย โดยวิธการจัดการกับกระดาษที่เป็นกองพะเนินนั้น มาริเอะแนะนำให้แบ่งออกเป็น 3 หมวสำคัญด้วยกัน นั่นคือ เอกสารรอการดำเนินการ เช่น จดหมาย ใบเรียกเก็บเงิน, เอกสารสำคัญ ที่จำเป็นต้องเก็บไว้เป็นการถาวร เช่น สัญญา แบบฟอร์มประกัน และเอกสารจิปาถะ ที่เราอ้างอิงถึงบ่อยๆ หรือหยิบขึ้นมาดูบ่อยๆ เช่น สูตรอาหารจากนิตยสาร แค่นี้ก็หมดปัญหาแล้ว



WATCH




สิ่งของจิปาถะ

     จริงๆแล้วถ้าได้มองไปรอบๆ บ้านในเวลานี้สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ จำพวกของจิปาถะที่เรากล่าวถึงกันอยู่ในเวลานี้ ดูจะเป็นสิ่งของที่กินพื้นที่ของที่พักของเรามากที่สุดเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็เกิดจากการที่เราเสียดายในรูปลักษณ์ และคิดเอาเองว่า “เดี๋ยวก็ได้ใช้” จนทุกวันนี้ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามีสิ่งของชิ้นนี้อยู่ในบ้าน มาริเอะจึงได้กล่าวเอาไว้ว่า การจัดการกับของเหล่านี้เป็นเรื่องแสนยากเสียเหลือเกิน นอกจากการโยนสิ่งของที่ไม่จุดประกายความสุขทิ้งไปตามที่แนะนำไปแล้วข้างต้น อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญคือ การเก็บของเหล่านั้นให้เป็นระเบียบด้วย ‘กล่อง’ และขอแนะนำว่าให้เป็น “กล่องใส” ที่จะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งของข้างในได้อย่างชัดเจน เป็นระเบียบ อีกทั้งยังสามารถกยิบใช้ได้อย่างง่ายดาย

สิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ

     เป็นเรื่องปกติที่เราจะพบสิ่งของเหล่านี้ในห้องส่วนตัว เพราะสิง่เหล่านี้เปรียบเสทือนความทรงจำครั้งหนึ่งของชีวิตทั้งจดหมาย ไดอารี่ ไปจนถึงภาพถ่ายเก่าๆ ที่ไม่กล้าตัดใจทิ้งเสียที โดยมาริเอะได้แนะนำให้จัดการกับสิ่งของจำพวกนี้เป็นลำดับสุดท้าย เพราะทุกคนจะต้องเสียเวลาไปกับการรำลึกถึงความทรงจำครั้งเก่าที่ติดมากับสิ่งของชิ้นนั้นด้วย ทว่าภูมิคุ้นกัน “ความเสียดาย” ที่ผ่านการจัดของหลายกลุ่มมาก่อนหน้านี้แล้วนี่เอง ที่จะสามารถทำให้เราตัดสินใจจัดการกับสิ่งของจำพวกสุดท้ายนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะมันจะสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองที่จะรู้ว่าอะไรที่สามารถจุดประกายความสุขให้กับเราได้จริงๆ และเราก็จะจัดการกับของที่มีคุณค่าต่อจิตใจเหล่านี้ได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น

     หากได้ถอดรหัสเคล็ดลับต่างๆ จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะพบว่า “ความรู้สึกในการจุดประกายความสุข” นับเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสรรว่าเราจะใช้ชีวิตกับสิ่งของชิ้นไหนต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตัดสินใจทิ้งสิ่งของชิ้นใดก็ตาม ควรไตร่ตรองให้ดีก่อนด้วยว่า สิ่งของชิ้นนั้นมีประโยชน์ต่อคนอื่นหรือไม่ เพราะการบริจาคหรือการส่งต่อสิ่งของที่ไม่จำเป็นกับตัวเราแล้วให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ขาดแคลนก็นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สุดท้ายแล้วในสถานการณ์เช่นนี้การทำความสะอาดทั้งร่างกาย และที่อยู่อาศัยก็ดูจะเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่น้อย

WATCH

คีย์เวิร์ด: #MarieKondo #Covid19 #Coronavirus