FASHION

Diversity สำหรับโว้กคืออะไร? พวกเธอเหล่านี้คือตัวแทนความแตกต่างที่งดงาม

ความเหมือนคือการจองจำ ความสมบูรณ์แบบคืออุดมคติอับแสง ความหลากหลายสร้างสีสัน ความแตกต่างสรรค์สร้างความสร้างสรรค์ สร้างชีวิตที่มีเอกลักษณ์

ความเหมือนคือการจองจำ ความสมบูรณ์แบบคืออุดมคติอับแสง ความหลากหลายสร้างสีสัน ความแตกต่างสรรค์สร้างความสร้างสรรค์ สร้างชีวิตที่มีเอกลักษณ์ มอบความหมายให้เธอแต่ละคน มอง จ้อง ดู ยล แล้วคุณจะเห็นตัวเองอยู่ในพวกเธอและมองเห็นความต่าง หลากหลาย แม้ไม่สมบูรณ์แบบ...แต่ล้วนเรียกว่า “งาม” โว้กพาคุณไปรู้จักกับผู้หญิงที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างถึง 8 คน พวกเธอมีอะไรอยากเล่าให้คุณฟังบ้าง?

 

Twin Peaks

 เอ็มม่า-ชาร์ล็อต ดูการ์ด นางแบบ

“เราสองคนอายุ 17 เพิ่งเรียนจบไฮสกูล ถ่ายแบบครั้งแรกก็คือโว้กฉบับนี้ ตื่นเต้นมากที่มีพี่ณัฐ ประกอบสันติสุขเป็นช่างภาพคนแรกของพวกเรา ทำให้เราชอบงานนางแบบมาก แต่ก่อนเรา 2 คนไม่เคยคิดว่าจะได้มาอยู่ตรงนี้ แถมเป็นเด็กที่ Insecure กับรูปร่างหน้าตาตัวเองมากๆ เพราะพวกเราโดนล้อมาตลอด เอ็มม่าโดนเรื่องขาว่าขายาวและผอมเหมือนขาไก่ ไม่เคยชอบขาตัวเองเลย แต่พอโตขึ้นมากลายเป็นว่าขาเป็นอวัยวะที่ชอบมากที่สุดในร่างกายตัวเอง ส่วนชาร์ล็อตเป็นคนหน้าเล็กมาก เลยจะโดนล้อเรื่องนี้บ่อย แต่พอโตขึ้นมีแต่คนบอกว่าชาร์ล็อตหน้าเหมือน Cara Delevingne มีความคมและเก๋เหมือนกัน แต่เอ็มม่าจะเป็นแนวหวานกว่า คนชอบบอกว่าดูเป็นผู้หญิง French/Parisienne"

 

"ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ของเรา 2 คนที่เป็นฝาแฝด แต่ว่าแตกต่างกันในทุกๆ อย่าง มีอย่างเดียวที่เหมือนกันคือความสูงที่ 165 เซนติเมตร “เวลาโดนล้อก็โกรธและร้องไห้บ่อยๆ แต่เราก็ผ่านความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้นมาได้ เพราะเพื่อนรักของพวกเรา Diversity มาก ทั้งคนที่ตัวเตี้ย ตัวสูง มีคนผอม คนอ้วน เวลาอยู่กับเพื่อนเลยไม่รู้สึกว่าเราผิดปกติ ทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ตัวเองเป็น แล้วถ้าสังเกตวงการแฟชั่นและบันเทิงของทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกาจะเห็นว่าตอนนี้มีความหลากหลายมากขึ้น เราเลยยิ่งมั่นใจ ยิ่งรู้สึกว่าเราไม่ต้องไปแคร์กับความคิดของคนอื่นว่าจะมองเราอย่างไร ในเมื่อสิ่งที่พวกเราเป็นทำให้เราเป็นนางแบบได้ในวันนี้”

 

Blurred Line

กัลย์มิรา ไวทย์สมิทธ์ นางแบบและศิลปิน

“จะเรียกว่า ‘สวย’ คงไม่ได้ เพราะสิ่งที่เป็นไม่ได้เรียกว่าสวย คำว่ามีคาแร็กเตอร์และแตกต่างน่าจะใช่กว่า เพราะทำให้เรากลายเป็นจุดสนใจ เป็นจุดที่ทำให้เริ่มมองว่าทุกคนควรภูมิใจในการเป็นตัวเอง บางทีเราดีอยู่แล้วแต่ไปเพิ่มหรือลดทอนสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเรา โชคดีที่ตั้งแต่เด็กไม่เคยถูกล้อหรือถูกแกล้งเลย เพราะเราก็เป็นผู้หญิง แต่อาจจะมีความเข้มแข็งเหมือนผู้ชาย ไม่เคยทำตัวห้าวมากจนผู้ชายเขม่นหรือหมั่นไส้ มากสุดที่โดนล้อแค่คำว่าโอลีฟเพราะความผอม “เท่าที่เจอมากับตัว การทำงานในเมืองไทยค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ได้มองว่าคนนี้เป็นเพศอะไร แต่มองว่าเขาทำชิ้นงานออกมาได้ไหม ต้องนับถือดีไซเนอร์ที่ยอมเปิดใจให้กับสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว"

 

"ในโลกยุคนี้ งานไม่ได้เลือกเราจากเพศที่เราเป็น แต่เลือกจากสไตล์ของเรามากกว่า พิสูจน์มาแล้วว่ามีคำว่า ‘ไดญา’ อยู่ในวงการนี้ได้มา 10 กว่าปี เพราะเรามีสไตล์ไม่เหมือนคนอื่น ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่กับความเชื่อมั่น เวลาอยากได้อยากทำอะไรก็จะเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าเราจะใส่อะไรหรือเป็นอะไร ถ้าไม่มีความมั่นใจ เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับดีแค่ไหนก็ช่วยเราไม่ได้ แต่ไม่ใช่เชื่อมั่นจนเกินหน้าเกินตา ไม่ได้เอาความมั่นไปโยนใส่คนอื่นว่าเรามั่นใจ มันน่าจะเริ่มมาจากข้างใน ไม่ใช่การประกาศตัวว่าเรากล้า เราเซลฟ์”

 

The Rising Dusk



WATCH




ราดูวา แอลมาบรู๊ค นางแบบ

“วาเป็นลูกครึ่งไทย-ลิเบีย-เยเมน เรียนโรงเรียนไทยมาตลอด และตั้งแต่จำความได้ก็โดนเพื่อนล้อมาตลอดว่าดำ หยิก หย็อยแต่พีกสุดคือช่วงป.1-ป.6 เป็นอะไรที่แย่มาก ด่าเฉยๆ ไม่ค่อยรู้สึก แต่คนที่ว่าทำไมต้องทำหน้าทำตาดูถูกเรา แล้วไปไหนคนจะชอบมอง บางคนมองเราหัวจรดเท้าก็มี งงว่าทำไมต้องมาด่ากันหรือมองด้วยสายตาแบบนั้น เริ่มเป็นเด็กมีปัญหาหน่อยๆ ส่วนมากเป็นเด็กผู้ชายที่ล้อเรา โดน 3 เวลาหลังอาหาร ไม่ใช่แกล้งเพราะชอบแน่ๆ ไม่อย่างนั้นก็แปลว่าเพื่อนคงชอบวากันทั้งห้อง พอโตขึ้นยิ่งโดนแกล้งหนักข้อขึ้น ด่าอย่างเดียวไม่พอ แกล้งมาดึงผมแรงๆ"

 

"แต่ช่วงม.ปลายคำด่าที่เคยโดนเริ่มไม่สะทกสะท้าน กลายเป็นคนหน้าชา เพื่อนปาปากกาบ้าง ลิควิดบ้างเข้ามาปักในผม เดินไปไหนกลายเป็นตัวตลกที่คนหัวเราะ แล้วเราไม่รู้ตัวเลยเพราะผมหนาและฟูมาก เพื่อนสนิทเห็นยังหัวเราะแล้วค่อยหันไปด่าคนแกล้งให้เรา “ครอบครัวกับเพื่อนสนิทจะคอยให้กำลังใจ ยิ่งพอเข้ามาเป็นนางแบบ เพื่อนจะพูดเสมอว่าวาสวย วาต้องมั่นใจ ครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) เคยสอนตอนประกวดไทยซูเปอร์โมเดลว่าวาเหมือนพี่นุ่น (ศิรพันธ์ อภิรักษ์ธนากร) เราสวยแบบนั้น ต้องแสดงความมั่นใจออกมา อย่าเก็บไว้ เริ่มมองตัวเองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่วาไม่เคยเปลี่ยนคือไม่เคยอยากผิวขาวและไม่อยากผมตรง เพราะทุกอย่างที่เป็นเราแบบนี้มันคือความเก๋

 

The Sharp Shaper

สัณห์สิตา ชีวธันย์ภาธร ดีไซเนอร์และอาจารย์พิเศษด้านธุรกิจแฟชั่นและบุคลิกภาพ

“ตอนอยู่เมืองไทยเราเคยคิดว่าความงามต้องสวยแบบพิมพ์นิยม เจอคำพูดมาตลอดว่าเธอสวยกว่านี้ได้อีกนะ หรือถ้าผอมกว่านี้เธอจะสวยกว่านี้ ทำให้เราไม่มั่นใจ ตัวหด ไม่อยากให้ใครมองเห็นติดลบกับตัวเอง ชีวิตดิ่งลงเหวที่คนอื่นขุดหลุมไว้ให้เรา แต่พอไปเรียนต่อที่มิลาน ถึงได้เห็นว่าความงามกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราตีกรอบความงามอยู่แค่ขาวสวยหมวยเอกซ์ ตัวเล็กดัดฟัน ก็ไม่พ้นตกอยู่ในกรอบรสนิยมที่ผู้ชายต้องการซึ่งผู้หญิงพยายามจะเป็น “สังคมไทยลักปิดลักเปิด สาวประเภทสองต้องอยู่ในที่ที่ถูกจัดไว้ วงการที่เกี่ยวกับความสวยความงามทรานส์ทำได้ แต่งานวิชาการ ราชการ หรือกฎหมาย ทรานส์ไม่ได้ทำ"

 

"รุ่นพี่เคยสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐก็โดนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเราผิดปกติ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่นักศึกษา ตัวเราเคยโดนไล่ออกจากโรงแรม ถูกการ์ดบล็อกไม่ให้เข้าผับ และเกือบโดนแท็กซี่ข่มขืน เพราะโดนเหมารวมไปกับสาวประเภทสองที่เคยทำเรื่องไม่ดี ประเทศนี้ถ้าทรานส์โดนข่มขืนมีค่าเท่ากับถูกทำร้ายร่างกาย แถมยังเจอคำพูดจากตำรวจว่าสาวประเภทสองเจอแบบนี้บ่อย บางคนก็สมยอม บางคนก็ไปขอเขา แล้วเราล่ะเป็นแบบไหน นี่เราไม่ใช่พลเมืองหรือ ฝรั่งที่อยู่เมืองไทยยังได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายมากกว่าคนไทยที่เป็นทรานส์ ไม่รู้ตัวเองจะโชคดีพอได้อยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนไหม ว่าจะเป็นหญิง ชาย หรือทรานส์ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันจริงๆ”

 

The Widest Dream

ใบบุญ อรุณปรีชาชัย นางแบบ

“แจนคิดว่าตัวเองหน้าตาปกติ ตอนเด็กๆ ดูจิ้มลิ้ม มีเบบี้แฟต แต่พอม.ต้นหน้าเริ่มแบน หน้าผากกว้าง บวกกับเรียนโรงเรียนไทย ต้องตัดผมเสมอติ่งหูแล้วติดกิ๊บ หน้ายิ่งดูแบนเข้าไปใหญ่ เพื่อนไม่สนิทชอบล้อว่าหน้าคนหรือไม้กระดานนี่พระอาทิตย์หรือเปล่า แสบตาจังเลย หน้าเหมือนนกทวิตตี้ อันหลังนี่คิดว่าเป็นคำชม เพื่อนผู้ชายบางคนล้อว่าหน้าผากกว้างเป็นลานบิน พับเครื่องบินกระดาษปามาจอดบนหน้าเรา แต่ไม่โกรธ ขำๆ ว่าคิดได้อย่างไร จนมาวันหนึ่งแอบชอบผู้ชาย อยากจีบเขาก็ไม่กล้าเพราะไม่เซลฟ์หน้าตาตัวเอง กลับมาบ้านเอากระจกมา 2 บานนั่งส่องเทียบกัน ถึงได้รู้ว่าหน้าเราแบนจริงๆ"

 

“นอกจากเรื่องหน้าแบน ยังโดนล้อว่าเป็นเสาไฟฟ้า ตะเกียบ ไข่ดาว ทำให้เราไม่อยากเป็นที่สังเกต แต่ไปไหนคนก็จำได้เพราะสูงมาก แถมชื่อจริงก็แปลก-ใบบุญ แต่ก่อนแจนอยากมีหน้าอก อยากเป็นคนสวยเซ็กซี่ แต่ไม่เคยคิดอยากเป็นนางแบบ เป็นอาชีพที่เราไม่เคยคิดฝัน นิตยสารแฟชั่นคืออะไร เคยอ่านแต่นิยายด้านหลัง สกุลไทย พอเข้าวงการมีแต่คนชมว่าทุกอย่างที่เป็นเราดูยูนีก เก๋ หน้าผากสวย หน้าเหมือนผืนผ้าใบ แต่งหน้าได้ทุกลุค เลยเริ่มมองตัวเองดีขึ้น จากที่เคยคิดว่าเราไม่สวยเลย ตอนนี้เริ่มมีบ้างที่คิดว่าบางทีเราก็รอด ชอบความสูงของตัวเอง หน้าอกแบน เป็นข้อดี ใส่เสื้อผ้าแล้วดูแพง แต่ข้างในเราก็ยังเป็นคนที่ไม่มีจริต ไม่ผ่านการปรุง และเป็นคนปกติมากๆ เหมือนเดิม”

 

The Real Slim Shady

อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2015 นางแบบ และนักแสดง

“คนเหนือส่วนใหญ่ผิวขาว แต่เราเป็นสาวผิวสีแปลกเหมือนกัน เพราะทั้งบ้านแทบไม่มีใครผิวแทน ยายกับพี่สาวก็ขาว แต่ตาผิวแทนเพราะไปตากแดด แนทสูง 177 ซม. แต่เพื่อนรอบตัวขาวและตัวแค่สะเอว แน่นอนว่าต้องโดนล้อว่าโค้กซีโร่หรือเม็ดนุ่น ไม่รุนแรงแต่โดนทุกวัน ในใจรู้สึก...สงสารเขา เรียนได้เกรดแค่ไหน สมองคิดได้แค่นี้ ถ้าเราสวนกลับก็ยิ่งไปจี้ใจดำเขา เวลาโดนล้อเลยจะยิ้มให้ ไม่อยากทะเลาะด้วย พอเป็นนางงามก็โดนหาว่าไปทำศัลยกรรม ฉีดคาง ทำหน้าเรียว ขอโทษนะ ช่วยมาดูเบ้าหน้าคนที่บ้านก่อน หน้าเหมือนกันหมด แปลว่าทำศัลยกรรมกันทั้งบ้านหรือ"

 

“กว่าจะมีหุ่นแบบนี้ได้ต้องออกกำลังกายหนักมาก ไม่อยากสร้างค่านิยมผิดๆ ว่ามีหน้าท้องซิกซ์แพ็กถ่ายรูปลงไอจี แต่เดินขาเบียด แขนย้วย บางทีใส่รองเท้าส้นสูงเจ็บเลือดออกแค่ไหนก็ต้องเดินให้ได้ โดนจับแต่งหน้าทำผมเป็นเอเลี่ยน ซึ่งไม่มีใครชอบให้ตัวเองไม่สวย แต่เป็นงานก็ต้องทำ อาชีพเดิมเคยเป็นนางแบบฟิตติ้งให้แบรนด์ดังๆ ไปยืนให้เขาเอาเข็มหมุดมาปัก เอาชอล์กมาขีดบนตัว วันหนึ่งเปลี่ยน 80 ชุดก็ยืนไปสิ แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เรารักร่างกายตัวเองมันเป็นเครื่องมือต่อปากต่อท้องคนในครอบครัว และสิ่งที่เป็นตัวเรามาแต่ดั้งเดิมก็ทำให้เรามาถึงจุดนี้ โดนล้อแค่นี้ถึงไม่เคยสะเทือน ชีวิตมีเรื่องอื่นให้คิดอีกเยอะ”

 

Becoming Her

ณธฉัตร ชาญเชี่ยว นางแบบ

“ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชาย รู้สึกว่าเราเป็นของเราแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย จนมีวันหนึ่งตอนประถมบอกพ่อแม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ไม่ต้องพยายามทำอะไรให้เราเป็นผู้ชายแล้ว เถียงจนโดนพ่อตบหน้าหัน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็อยากให้ครอบครัวคุยกันดีๆ แล้วพ่อก็ไม่พูดด้วยเลย จนแม่ไปคุยกับพ่อว่าถึงขั้นนี้แล้ว...เมื่อก่อนเขาหวังว่าอาจจะมีโอกาสที่ลูกจะกลับมาเป็นผู้ชายเพราะยังเด็ก ยังเปลี่ยนได้ แต่ว่ามันไม่ได้แล้วจริงๆ ตอนอายุ 22 ฮาน่าขอขมาพ่อกับแม่ ขอบคุณที่ให้กำเนิด แต่วันนี้หนูจะเป็นผู้หญิงแล้ว ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ พ่อมาจากบ้านที่สุรินทร์มาเฝ้าที่กรุงเทพฯ พ่อไม่โอเคกับเรื่องนี้ แต่ว่าอยู่ดูแลฮาน่าทั้งเดือน

 

สังคมเหมือนจะเปิด แต่ไม่มีอาชีพหลากหลายให้สาวประเภทสองมากนัก เจ็บที่สุดคือพลาดงานที่อยากทำเมื่อลูกค้า รู้ว่าเราเป็นทรานส์เจนเดอร์ เพียงแค่เพศที่เราเกิดมากลายเป็นตัวกำหนดว่าเราทำสิ่งนี้ได้-ไม่ได้ โอกาสอยู่ตรงหน้า แต่เราคว้ามันไม่ได้ เจอแบบนี้บ่อยเลยเกลียดตัวเอง ทำไมไม่เกิดมาเป็นผู้หญิงให้มันจบๆ ไป แต่พี่เกด (เมทินี ชาร์พเพิร์ล) สอนว่าเราต้องสู้ ต้องยืนหยัดด้วยตัวของเราเอง ต้องอดทนกับคำพูดคน อะไรที่ผู้หญิงทำ เราต้องทำให้ได้มากกว่า 2 เท่า ฮาน่าเคยทำมาแล้วทุกอย่าง ทำงานร้านอาหาร ทำบาร์ เป็นเซลส์ แต่รู้สึกเหมือนทำสิ่งที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต สู้เรามี ความสุขที่จะทุกข์กับสิ่งที่เรารักตรงนี้ดีกว่า”

 
รายละเอียดเสื้อผ้าจากภาพบนสุด - (จากซ้าย) ราดูวา สวมชุด NARA / กุยช่าย สวมเสื้อโค้ตจาก MAX MARA / แนท สวมชุดจาก VATANIKA / ฮาน่า สวมเสื้อจาก VATANIKA และกางเกง ASAVA / ชาร์ล็อต สวมเสื้อจาก VICKTEERUT และกระโปรงจาก MILIN เอ็มม่า สวมชุดจาก NARA / แจน สวมจั๊มป์สูทจาก VICKTEERUT / ไดญา สวมสเวตเตอร์จาก JACQUEMUS และกางเกงจาก ASAVA

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : สุภักดิภา พูลทรัพย์

WATCH