FASHION

เจาะลึกคนไทยผู้เผยว่าแบรนด์โอตกูตูร์ทำอย่างไรช่วงโควิดเพื่อลูกค้าที่ซื้อชุดหลักล้าน

คุณส้มกับโปรเจกต์ชุดแต่งงานพิเศษกับ Iris Van Herpen เผยวงในที่ทำให้รู้ว่าแบรนด์ดูแลลูกค้าอย่างไรเมื่อควักเงินจ่ายในราคาหลักล้าน

     ในสถานการณ์กำลังปั่นป่วนกันทั่วโลกจากหลากหลายประเด็น ธุรกิจบางอย่างหยุดนิ่ง ปิดบริการชั่วคราว(บางแห่งปิดถาวร) ธุรกิจแฟชั่นก็เช่นกัน ทั้งหมดชะลอตัวหรือหยุดนิ่งซึ่งย่อมส่งผลต่อหลายส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าคนสำคัญ แบรนด์ระดับโอตกูตูร์ได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะสินค้าไม่ใช่แค่ทำมาขายไปเป็นคอลเล็กชั่นเท่านั้น แต่ออเดอร์ส่วนใหญ่เป็นการสั่งตัดแทบทั้งสิ้น แต่ละชุดต้องใช้เวลาตัดเย็บพร้อมทั้งฟิตติ้งกับลูกค้าหลายรอบ รวมเวลานานนับเดือน เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้เงินหลักล้านบาทที่ลูกค้าจ่ายไปต้องคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์เช่นเดิม แบรนด์จะมีวิธีการดูแลลูกค้าอย่างไร วันนี้เราจะไปหาคำตอบพร้อมกับ คุณส้ม-วิภาพร จิระพัฒน์พิศาล ลูกค้าคนสำคัญผู้สั่งชุดแต่งงานโปรเจกต์พิเศษกับ Iris Van Herpen จนแบรนด์ต้องทดลองเทคนิคใหม่เพื่อสอดแทรกในชุดของเธอโดยเฉพาะ (อ่านเรื่องราวชุดแต่งงานสุดพิเศษของคุณส้มได้ ที่นี่)

บรรยากาศฟิตติ้งชุดแต่งงานครั้งแรกกับ Iris Van Herpen ก่อนโควิดระบาด

    ย้อนเรื่องราวกลับไปคุณส้มได้ติดต่อไอริสเกี่ยวกับโปรเจกต์ชุดแต่งงานที่ใช้วัสดุเลนส์แว่นตาจากธุรกิจที่ก่อตั้งร่วมกับสามี แบรนด์ได้ทดลองเทคนิคใหม่เพื่อประกอบชุดพิเศษให้สมบูรณ์แบบ ตามกำหนดเดิมทั้งคู่จะบินไปอัมสเตอร์ดัมเพื่อให้คุณส้มฟิตติ้งชุดรอบสองช่วงเดือนมีนาคม แต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้แผนการดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไป โดยสาวไทยต้นเรื่องของเราได้เล่าถึงผลกระทบตั้งแต่แรกว่า “ส้มไปร่วมชมโชว์ปารีสแฟชันวีคพอดีในช่วงเริ่มมีกระแสเกิดขึ้น ตอนนั้นเป็นช่วงปลายมกราคมซึ่งเป็นจังหวะที่คนทั่วโลกเริ่มตื่นตระหนก”

บรรยากาศการเลือกชมเสื้อผ้าโอตกูตูร์จากแบรนด์ Giambattista Valli ในกรุงปารีส ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

     การเผชิญชะตาชีวิตช่วงวิกฤติโลกไม่ได้ลุ้นระทึกน่าตื่นเต้นเคล้าความสนุกแบบในภาพยนตร์...คุณส้มเล่าประสบการณ์ระหว่างทริปยุโรปครั้งนี้ว่า “ตอนแรกดูโชว์เสร็จมีแผนเดินหน้าธุรกิจด้านเสื้อผ้าโอตกูตูร์กับแบรนด์อื่นๆต่อ” แต่แผนทั้งหมดต้องถูกพับเก็บโดยไวและเปลี่ยนแผนกลับกรุงเทพทันที “จำได้ว่าตอนวันที่ต้องไปสนามบิน ส้มตระเวนหาซื้อหน้ากากอนามัยตั้งแต่ย่านที่พักแถว L'École Militaire ไปจนถึงห้าง Lafayette แต่ทุกร้านไม่มีขายเลยค่ะ ตอนนั้นจึงเริ่มคิดแล้วว่าโรคระบาดไม่ใช่เรื่องเล็กๆ การตัดชุดต่างๆ ของเราต้องมีปัญหาแน่นอน” คุณส้มเล่าพร้อมแสดงความกังวลเรื่องแผนการเกี่ยวกับชุดโอตกูตูร์ของเธอ



WATCH




ความละเอียดชั้นครูในการตัดเย็บลูกไม้ของ Calais Caudry / ภาพ: Courtesy of Dentelle de Calais-Caudry

     จุดแข็งของห้องเสื้อโอตกูตูร์และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงนี้คือการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้เต็ม 100  เปอร์เซ็นต์ในทุกสถานการณ์ คุณส้มจึงไม่ยกเลิกออเดอร์สั่งตัดชุดโอตกูตูร์กับแบรนด์ต่างๆ แม้จะไม่สามารถเดินทางข้ามทวีปได้เหมือนเดิม นอกจากนี้เธอยังเดินหน้าโปรเจกต์ซื้อชุดโอตกูตูร์ชั้นครูของ Franck Sorbier จากพิพิธภัณฑ์ La Musée des Dentelles et Broderies ในเมืองเคาดรี ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเก็บสะสม ซึ่งเมืองเคาดรีโด่งดังจากการทำชุดลูกไม้ให้สุภาพสตรีระดับไอคอนแต่ละยุคทั้ง Marilyn Monroe, Elizabeth Taylor ไปจนถึง Kate Middleton แม้โรคระบาดจะทำให้คุณส้มไม่สามารถเดินทางไปชมชุดของจริงที่พิพิธภัณฑ์ได้ แต่เธอก็มั่นใจในคุณภาพสินค้าจนตัดสินใจสั่งซื้อชุดก่อนจะมีผู้ซื้อรายอื่นเสนอราคาสูงกว่ากับทางพิพิธภัณฑ์

แฟ้มรวบรวมชุดแต่งงานโอตกูตูร์สำหรับลูกค้าในอเตลิเยร์ของดิออร์

     “ความรับผิดชอบเพื่อการซื้อใจลูกค้า” สิ่งนี้สำคัญอย่างมากต่อแวดวงเสื้อผ้าโอตกูตูร์ โดยปกติแบรนด์ดังอย่างไอริสเองหรือแบรนด์เก่าแก่เช่นดิออร์จะมีบริการให้เจ้าหน้าที่บินมาฟิตติ้งให้ลูกค้าได้ทุกที่บนโลก โดยคุณส้มระบุว่า “เราต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนการเดินทางและที่พัก รวมถึงค่าบริการทั้งหมดเอง ระยะทางจึงไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับแบรนด์โอตกูตูร์ เพียงแต่ว่าถ้าเราไปฟิตติ้งที่อเตลิเยร์เองจะดีกว่าเพราะมีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ไปจนถึงบุคลากร” แม้ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์จะไม่ค่อยดีแต่คุณส้มก็ได้เห็นถึงความเอาใจใส่ของแบรนด์โอตกูตูร์ “สิ่งที่ทุกแบรนด์ทำเหมือนกันคือส่งอีเมลมาสอบถามเกี่ยวกับวันใช้ชุดและรายงานสถานการณ์ของห้องเสื้อ ณ ตอนนั้น พร้อมทั้งวางแนวทางผลิตชุดให้ทันตามที่ลูกค้ากำหนด แต่ส้มไม่รีบใช้ชุดเลยไม่ได้ขอให้เขาเร่งทำงานให้ค่ะ”

บรรยากาศขณะลองชุดโอตกูตูร์ของ Schiaparelli โดยชุดนี้เป็น Lobster Dress ไอคอนิกพีซของห้องเสื้อระดับตำนาน

     นอกจากคุณส้มจะบอกเราเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชุดแต่งงานไอริสของตัวเองแล้ว เธอยังเผยแง่มุมแบบเจาะลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ของห้องเสื้อตัดเย็บชั้นสูงเหล่านี้ “บางแบรนด์ติดต่อเรื่อยๆ เพื่อบอกสถานะขององค์กรและบ้านเมือง อย่างไอริสเองก็ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน แต่เหล่าช่างฝีมือยังคงต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่แทบทุกวัน พวกเขาหยิบงานกลับมาทำไม่ได้ ทุกคนต้องเตรียมพร้อมทำคอลเล็กชั่นอยู่เสมอ” จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้โลกชะลอตัวแต่ห้องเสื้อระดับนี้ยังต้องเดินหน้า ถึงแม้จะเดินได้ช้า ได้ลำบากกว่าปกติแต่ก็ต้องเดินเพื่อความเชื่อมั่นและลูกค้าอันเป็นที่รักของพวกเขา

รายละเอียดบนชุดแต่งงานที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

     เราจะยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่ส่วนโปรเจกต์ชุดแต่งงานของคุณส้มเอง และแล้วเทคโนโลยีออนไลน์ก็สอดแทรกเข้ามาในชีวิตมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกครั้ง ถึงแม้จะเลื่อนนัดรับชุดแต่แบรนด์ยังคงให้ความสำคัญดูแลลูกค้าตลอด “เดือนก่อนทีมงานไอริสได้พิมพ์ลวดลายลงชุดตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางในการวางชิ้นงาน 3 มิติบนชุดจริง และจัดส่งมาที่ไทยเพื่อให้ส้มได้ลองพร้อมนัดคุยกันผ่านวิดีโอคอลหลายฝ่ายเพื่อปรับแก้ชุดกันอย่างเป็นระบบ” ทั้งหมดอาจจะฟังดูง่ายแต่คุณส้มต้องหาช่างแพตเทิร์นมาช่วยเหลือในการระบุจุดต่างๆ รวมถึงทำการยืนยันความถูกต้องของชุดอีกครั้ง เพราะชุดราคา 7 หลักไม่ใช่เรื่องธรรมดา การตัดสินใจแต่ละครั้งต้องรอบคอบเข้าใจตรงกันเสมอ

ชุดผ้าดิบความละเอียดสูงจาก Iris Van Herpen จะกลายเป็นประสบการณ์พิเศษที่คนไทยจะมีโอกาสได้สัมผัสในอนาคตอันใกล้นี้

     คุณส้มยังมองถึงบทบาทของชุดแต่งงานที่จะโดดเด่นได้ในทุกวันไม่เฉพาะวันแต่งงานเท่านั้น ชุดโอตกูตูร์มีคุณค่าที่มากกว่าแค่ราคา รายละเอียดความประณีตและคุณค่าต่อความรู้สึกคือสิ่งที่คุณส้มอยากจะถ่ายทอดผ่านความตั้งใจในการเริ่มโปรเจกต์ชุดแต่งงานพิเศษนี้ขึ้นมาจริงๆ เพราะฉะนั้นคุณส้มจึงอยากให้คนอื่นมีโอกาสได้สัมผัสความพิเศษของชุดเหล่านี้ได้เต็มที่ อยากให้แวะมาเยี่ยมเยียนและใช้เวลาพูดคุยในเรื่องที่สนใจร่วมกัน ซึ่งคอนเซปต์นี้นำมาซึ่งการเริ่มโปรเจกต์ธุรกิจในอนาคตอีกหนึ่งอย่าง อยากให้แฟนโว้กรอติดตามว่าคู่รักโอตกูตูร์จะถ่ายทอดออกมาเป็นโปรเจกต์อะไรให้เราติดตามและมีส่วนร่วมกันในอนาคต แฟนโว้กห้ามพลาดเด็ดขาด!

สำหรับผู้อ่านที่ต้องการทราบประสบการณ์การตัดชุดโอตกูตูร์เพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ https://hautecoutureexp.com/

หรืออีเมลไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณส้มได้ที่ info@hautecoutureexp.com

 

ภาพ: วิศรุต อังคทะวานิช, ธีรเมธ แสนจิตร์

กราฟิก: ณัฎฐากร สุขสวัสดิ์, พชร ชุปวา

WATCH